ย้อนกลับไปเมื่อปี 1975 มีชายสองคนชื่อ บิล เกตส์ (Bill Gates) และ พอล อัลเลน (Paul Allen) ซึ่งในขณะนั้นทั้งคู่ยังเป็นเพียงนักศึกษามหาวิทยาลัยในสหรัฐอเมริกา แต่ทั้งคู่มีความสนใจในเรื่องของคอมพิวเตอร์เหมือนกัน ซึ่งหาได้ยากในสมัยนั้น จึงทำให้ทั้งสองคนมีความสนิทสนมกันอย่างรวดเร็วและทำให้ทั้งคู่ช่วยกันศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับคอมพิวเตอร์อยู่ตลอดเวลา ทั้งคู่จึงได้ร่วมกันก่อตั้งบริษัทซอฟต์แวร์ที่ชื่อว่า Microsoft Corporation
ช่วงเวลาสำคัญของ Microsoft เกิดขึ้นในปี 1985 เมื่อบริษัท IBM ได้เจรจาเพื่อขอซื้อระบบปฏิบัติการคอมพิวเตอร์ บริษัท Microsoft จึงได้เริ่มคิดค้นและพัฒนาระบบปฏิบัติการตัวแรกคือ MS-DOS และสร้างยอดขายให้แก่ IBM อย่างถล่มทลาย โดยนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา Microsoft ได้พัฒนามาอย่างต่อเนื่อง และเปลี่ยนระบบปฏิบัติการกลายเป็น Windows ที่คนเกือบทั่วทั้งโลกเลือกใช้และครองส่วนแบ่งการตลาดมากกว่า 70% ในปัจจุบัน
ในบทความนี้ ผู้เขียนจึงอยากจะพาทุกท่านมาทำความรู้จักกับบริษัท Microsoft ผู้เป็นเจ้าของระบบปฏิบัติการ Windows ซึ่งปัจจุบันจดทะเบียนซื้อขายอยู่ในตลาดหลักทรัพย์แนสแด็ก (Nasdaq) ประเทศสหรัฐอเมริกา มีมูลค่าตามราคาตลาด (Market Cap.) อยู่ที่ 2.6 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ นับเป็นบริษัทที่มีมูลค่าตลาดสูงเป็นอันดับสองของโลก รองจาก Apple ที่ 2.9 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ (ข้อมูล ณ วันที่ 22 มิถุนายน 2023)
ปัจจุบัน Microsoft ทำธุรกิจอะไรบ้าง?
ภายหลังจากที่เวลาล่วงเลยมากว่า 38 ปี นับตั้งแต่บริษัท Microsoft เริ่มก่อตั้ง บริษัทได้มีการพัฒนาสินค้าและบริการที่หลากหลายไม่เพียงแค่ระบบปฏิบัติการคอมพิวเตอร์ แต่ยังมีสินค้าและบริการประเภทอื่นอีก ซึ่งหากอ้างอิงจากงบการเงินปีบัญชี 2022 (กรกฎาคม 2021 – มิถุนายน 2022) จะเป็นไปดังนี้
รายได้จากกลุ่มสินค้าและบริการที่เกี่ยวข้องกับระบบเซิร์ฟเวอร์และการให้บริการคลาวด์สำหรับลูกค้าธุรกิจ โดยมีธุรกิจหลักคือ Microsoft Azure ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มการประมวลผลแบบคลาวด์ที่ให้บริการใน 3 รูปแบบ คือ Infrastructure as a Service (IaaS), Platform as a Service (PaaS) และ Software as a Service (SaaS)
2. Productivity and Business Processes (32%)
รายได้จากกลุ่มสินค้าและบริการที่เกี่ยวข้องกับการทำงานที่ช่วยให้บุคคลหรือองค์กรสามารถเพิ่มผลผลิต ปรับปรุงขั้นตอนการทำงานและบรรลุเป้าหมายทางธุรกิจ ยกตัวอย่างบริการ เช่น Microsoft Office ซึ่งประกอบไปด้วย Word, Excel, PowerPoint และ Outlook เป็นต้น อีกทั้งยังรวมไปถึงแพลตฟอร์ม Social Network ชื่อดังอย่าง LinkedIn
3. More Personal Computing (30%)
รายได้จากกลุ่มสินค้าและบริการที่ตอบสนองความต้องการในแต่ละบุคคล ประกอบไปด้วยการผลิตและจำหน่าย Software Windows และ Bing รวมไปถึง Hardware อื่น ๆ เช่น แท็ปเล็ต แล็ปท็อป และ Surface เป็นต้น
หากย้อนเวลากลับไปช่วงวิกฤติ Dot-Com Crisis เมื่อปี 2000 การลงทุนในหุ้นเทคโนโลยีอาจถูกมองเป็นการลงทุนที่มีความเสี่ยงสูง เนื่องจากบริษัทเทคโนโลยีหลายแห่งในขณะนั้นยังมีขนาดที่เล็กบ้าง หรือยังเป็นบริษัทที่ยังไม่มีกำไร อย่างไรก็ดี หากนำมาเปรียบเทียบกับในปัจจุบันอย่าง Microsoft จะเห็นได้ว่าเป็นบริษัทที่มีความแข็งแรงทางการเงินอย่างมาก โดยรายได้และกำไรในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา มีอัตราการเติบโตในระดับ Double Digit ติดต่อกัน ขณะที่อัตราการทำกำไรสุทธิ (NPM) ก็เฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 33% ซึ่งถือว่าสูงที่สุดในกลุ่มบริษัทเทคโนโลยี FAAMG หรือกลุ่ม Meta Platforms (Facebook), Apple, Amazon, Microsoft และ Google เนื่องจากสินค้าและผลิตภัณฑ์ของบริษัทเปรียบเสมือนเป็นโครงสร้างพื้นฐานในการทำงานขององค์กรทั่วโลกไปแล้วในปัจจุบัน
ประเด็นการลงทุนที่น่าสนใจของ Microsoft
การเกิดขึ้นของ Digital Transformation หรือ DX ทำให้บริษัทและองค์กร รวมทั้งรัฐบาลต้องปรับตัวอย่างรวดเร็ว ไม่เช่นนั้นต้องถูกทำให้หยุดชะงัก (Disrupt) การมี DX เกี่ยวข้องกับการใช้เทคโนโลยีมาปรับปรุงการทำงานเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพขององค์กรซึ่งหมายถึงการนำมาแทนที่เทคโนโลยีแบบดั่งเดิม โดยเทคโนโลยีที่นำมาใช้สำหรับ DX ในองค์กร ได้แก่ Internet of Things (IoT), Blockchain, Big Data, ปัญญาประดิษฐ์ (AI), Machine Learning (ML) และ Cloud Computing เป็นต้น
จาก Digital Transformation Spending Guide ของ IDC คาดการณ์ว่าระหว่างปี 2019 ถึงปี 2024 ค่าใช้จ่ายด้านซอฟต์แวร์ที่ผ่านการให้บริการ Public Cloud จะเติบโตในอัตรา 19% ต่อปี และในปี 2024 จะมีสัดส่วนเกือบครึ่งหนึ่งของยอดขายซอฟต์แวร์ทั้งหมด ขณะที่ข้อมูลจากบริษัทวิจัยและที่ปรึกษาด้านเทคโนโลยี Gartner เผยว่าการจับจ่ายของผู้ใช้งานคลาวด์มีแนวโน้มเติบโต 22% YoY สู่ 597.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2023
2. มีการกระจายสัดส่วนรายได้ของบริษัทเป็นอย่างดี : ดังที่ได้กล่าวไปก่อนหน้านี้ รายได้ของ Microsoft มีการกระจายไปใน 3 ธุรกิจในสัดส่วนที่ใกล้เคียงกัน ส่งผลให้บริษัทมีความเสี่ยงต่ำในแง่ของการกระจุกตัวของรายได้ โดยหากสังเกตจากงบการเงินในไตรมาสล่าสุด (1Q/2023) รายได้ธุรกิจ More Personal Computing หดตัว 8.7% YoY กดดันจากความต้องการสินค้าคอมพิวเตอร์ลดลง แต่มีรายได้ Productivity and Business Processes และ Intelligent Cloud ที่โต 10.9% YoY และ 15.9% YoY ตามลำดับ ช่วยพยุงให้รายได้รวมเติบโต 7.1% YoY
3. โอกาสเติบโตในธุรกิจโฆษณา : นักลงทุนเห็นได้ชัดว่า เวลาเราจะค้นหาข้อมูลเรามักใช้บริการแพลต์ฟอร์มที่คุ้นเคยมานาน อย่าง Google / YouTube หรือแม้กระทั่ง TikTok ในขณะที่ Microsoft Bing ซึ่งเป็น Search Engine ของ Microsoft ไม่ค่อยได้รับความนิยมเท่าไหร่ อย่างปี 2022 ที่ผ่านมามีส่วนแบ่งตลาดเพียง 3% ในขณะที่ Google นั้นครองส่วนแบ่งตลาดการค้นหาข้อมูลถึงเกือบ 93% ส่งผลให้ Alphabet บริษัทแม่ของ Google ทำรายได้จากธุรกิจค้นหาข้อมูลได้ถึง 1 แสน 5 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐในปี 2021 คิดเป็นสัดส่วน 92% ของรายได้รวม
ส่วน Microsoft ทำรายได้ส่วนนี้เพียงแค่ 1 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ แต่แล้วเมื่อช่วงต้นปี 2023 บริษัทมีการลงทุนเพิ่มใน OpenAI ผู้เป็นเจ้าของ Chatbot ที่ชื่อว่า ChatGPT ดังนั้น หาก Microsoft ได้รวมเอาผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ของ OpenAI มารวมในผลิตภัณฑ์ของตนเองโดยเฉพาะ ChatGPT ก็จะเป็นการติดปีกให้กับธุรกิจ Search Engine ของ Microsoft ให้สามารถแข่งขันกับคู่แข่งอย่าง Google ได้ ซึ่งบริษัทได้นำมาผนวกกับธุรกิจค้นหา Bing โดยหลังจากที่บริษัทได้นำมาผนวกกันได้ราว 1 เดือน ก็ส่งผลให้ยอดผู้ใช้งานรายวันของ Bing ทะลุ 100 ล้านคน ขณะที่ผู้บริหารตั้งเป้าว่าจะสามารถสร้างรายได้จากโฆษณาปีละ 2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ
4. หลายธุรกิจของบริษัทเป็น Cash Cow : สินค้าและบริการของบริษัทบางชนิดอยู่ในสถานะที่ผูกขาดในบางธุรกิจ เช่น Windows ที่คอมพิวเตอร์มากกว่า 80% ใช้งาน และ Microsoft Office ที่องค์กรเกือบทั่วโลกใช้ในการทำงานเช่นกัน
โอกาสลงทุนหุ้น Microsoft ผ่านตลาดหุ้นไทย
ปัจจุบัน นักลงทุนไทยสามารถลงทุนในต่างประเทศได้ง่ายและสะดวกมากขึ้น ผ่านการลงทุนในหลักทรัพย์จดทะเบียนที่ซื้อขายบนกระดานตลาดหุ้นไทย เช่น DRx (Fractional DR) ซึ่งเป็นตราสารแสดงสิทธิในหลักทรัพย์ต่างประเทศ โดยผู้ออก DRx จะเป็นคนไปซื้อหุ้นหรือหน่วยลงทุนต่างประเทศ แล้วนำมาเสนอขายให้กับนักลงทุนไทยในรูปสกุลเงินบาทอีกต่อหนึ่ง ซึ่งผู้ถือ DRx จะได้รับสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ เสมือนลงทุนหุ้นหรือหน่วยลงทุนต่างประเทศโดยตรง
ล่าสุด ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ได้ออกตราสารแสดงสิทธิในหลักทรัพย์ต่างประเทศของบริษัท ไมโครซอฟท์ คอร์ปอเรชั่น (Microsoft Corporation) หรือ DRx ของหุ้น Microsoft มีสัญลักษณ์ซื้อขาย คือ MSFT80X เพื่อให้นักลงทุนไทยสามารถซื้อขายหุ้น Microsoft ได้บนกระดานตลาดหุ้นไทย ซึ่งมีข้อดีคือ ไม่ต้องยุ่งยากในการไปลงทุนหุ้น Microsoft ในต่างประเทศโดยตรง มีเงินน้อยก็ลงทุนได้ เนื่องจาก DRx สามารถลงทุนขั้นต่ำโดยเริ่มต้นที่ 0.0001 หน่วยเท่านั้น และสามารถเลือกซื้อขายเป็นจำนวนเงินบาท หรือ จำนวนหน่วยของ DRx ก็ได้
นอกจากนี้ ยังสามารถซื้อขายตามเวลาทำการของตลาดหุ้นสหรัฐฯ ซึ่งจะเปิดซื้อขายในเวลา 2 ทุ่มถึงตี 4 ของวันถัดไป ทำให้การเคลื่อนไหวของราคา DRx จะสอดคล้องกับหุ้น Microsoft ที่ซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แนสแด็ก (Nasdaq) สหรัฐอเมริกา โดยนักลงทุนสามารถซื้อขาย DRx ได้อย่างสะดวกผ่านแอปพลิเคชัน Streaming เช่นเดียวกับการซื้อขายหุ้น เพียงแค่เปิดบัญชี DRx ซึ่งเป็นบัญชีย่อยภายใต้บัญชีซื้อขายหุ้นเพิ่มเติม หรือนักลงทุนที่มีบัญชีซื้อขายหุ้นอยู่แล้วสามารถขอเปิดบัญชี DRx ด้วยตนเองผ่านแอปพลิเคชัน Streaming ได้
หมายเหตุ : บทความนี้เพื่อใช้สำหรับศึกษาเบื้องต้นเท่านั้น มิได้มีเจตนาในการชี้นำการลงทุนแต่อย่างใด นักลงทุนควรศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนตัดสินใจลงทุน
สำหรับนักลงทุนมือใหม่และผู้ที่สนใจ เรียนรู้ลักษณะพื้นฐาน หลักการเลือกลงทุน และวิธีการลงทุน DRx ในต่างประเทศผ่านตลาดหุ้นไทย สามารถเรียนรู้เพิ่มเติมผ่าน e-Learning หลักสูตร “DRx ลงทุนไซซ์เล็ก เพื่อโอกาสใหญ่ในตลาดโลก” ได้ฟรี!!! >> คลิกที่นี่