จัดพอร์ตครึ่งปีหลัง 2566 ในมุมมองนักลงทุนไทย

โดย กรรณ์ หทัยศรัทธา นักกลยุทธ์ ฝ่ายวิเคราะห์เศรษฐกิจและการลงทุน สายงานวิจัย บล.ซีจีเอส-ซีไอเอ็มบี
3 Min Read
5 กรกฎาคม 2566
20.97k views
TSI_Article_494_Inv_จัดพอร์ตครึ่งปีหลัง 2566 ในมุมมองนักลงทุนไทย_Thumbnail
Highlights
  • ภาพรวมเศรษฐกิจโลกในครึ่งปีหลัง เงินเฟ้อเป็นขาลง ขณะที่ความเสี่ยงเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังต้องจับตา เนื่องจากผลที่แท้จริงของดอกเบี้ยสูง กำลังจะมาถึงใน 6 – 12 เดือน ดังนั้น ช่วงไตรมาส 4 ของปีนี้ จึงต้องระวังมากที่สุด

  • ครึ่งหลังของปี 2566 แม้การเลือกตั้งใหญ่จะผ่านไปแล้ว นักลงทุนไทยยังต้องติดตามทิศทางการเมืองตั้งแต่การเลือกประธานสภา นายกรัฐมนตรี ไปจนถึงหน้าตาของรัฐบาลชุดใหม่ และที่สำคัญคือนโยบายของรัฐบาล โดยเฉพาะนโยบายด้านเศรษฐกิจ ซึ่งจะมีผลต่อตลาดเงินและตลาดทุน

  • 3 กลยุทธ์ที่สามารถนำมาปรับใช้จัดพอร์ตในครึ่งปีหลัง ได้แก่ Late Cycle Tortoise Rally, Markets Amid Uncharted Monetary Policy และ Move Cautiously Forward with Thai Equities

ปี 2566 เดินทางมาถึงกลางปีอย่างรวดเร็ว โดยในปีนี้เป็นหนึ่งในปีที่ผลตอบแทนของสินทรัพย์ทั่วโลกมีความแตกต่างกันอย่างมาก ใครที่เลือกลงทุนกลุ่มเทคโนโลยีสหรัฐฯ หรือกลุ่มเติบโตสูง กำลังยิ้มอย่างมีความสุข เพราะการลงทุนทำผลตอบแทนดีในระดับ 15 – 30% แต่บางท่านที่ลงทุนในกลุ่มพลังงาน หุ้นเอเชีย หรือหุ้นไทยอาจกำลังสับสนเพราะผลตอบแทนไม่เป็นไปอย่างที่หวัง

 

สำหรับนักลงทุนไทยอย่างเรา เศรษฐกิจและตลาดการเงินครึ่งปีหลังยังคงเต็มไปด้วยคำถาม และแนวโน้มการลงทุนดูจะซับซ้อนขึ้นอีก เราจึงควรเตรียมตัวปรับพอร์ตให้พร้อมตั้งแต่ตอนนี้ โดยคำถามแรกและสำคัญที่สุดคงหนีไม่พ้นภาพเศรษฐกิจ ว่านักลงทุนยังต้องกังวลเงินเฟ้อขาขึ้น เศรษฐกิจถดถอย หรือการเมืองต่อไปหรือไม่

 

ในมุมมองของผม ภาพรวมเศรษฐกิจครึ่งหลังปี 2566 เงินเฟ้อขาลง เป็นเรื่องบวกกับการลงทุน

ล่าสุดกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ เริ่มรายงานเงินเฟ้อที่ชะลอตัวลงเหลือต่ำกว่า 5% เมื่อเทียบกับปีก่อน ขณะที่เงินเฟ้อฝั่งยุโรปแม้จะยังสูงแต่ก็ผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว ส่วนในเอเชียและไทยยิ่งเห็นได้ชัดว่าเงินเฟ้อไม่ใช่ปัญหาใหญ่ แนวโน้มเงินเฟ้อจะลดลงอย่างเห็นได้ชัดในไตรมาสที่ 3 ทำให้กำลังซื้อทั่วโลกจะฟื้นตัว ต้นทุนการประกอบธุรกิจจะลดลง หุ้นมีโอกาสปรับตัวขึ้น ขณะที่ตราสารหนี้ก็จะมีแรงกดดันจากนโยบายการเงินที่น้อยลง

 

อย่างไรก็ดี ความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจถดถอยในสหรัฐฯ ยังเป็นประเด็นที่ต้องจับตา

สำคัญที่สุดคือตลาดแรงงานที่เติบโตสวนคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ การว่างงานในสหรัฐฯ อยู่ที่ 3.6% ต่ำที่สุดในรอบกว่า 50 ปี ขณะที่ดอกเบี้ยนโยบายสูงถึง 5.25% ตัวเลขเศรษฐกิจนี้ชี้ว่าความเสี่ยงที่การเติบโตจะทยอยปรับลดลงยังมีอยู่สูง พร้อมกันนี้ ระดับดอกเบี้ยที่เคยสร้างปัญหาในภาคธนาคารพาณิชย์ช่วงครึ่งแรกของปีก็ยังคงอยู่ โดยนักวิเคราะห์สหรัฐฯ หลายท่านมองว่าผลที่แท้จริงของดอกเบี้ยสูง กำลังจะมาถึงใน 6 – 12 เดือนหลังจากที่เริ่มเห็นเงินฝากไหลออกจากธนาคารพาณิชย์ ดังนั้น ไตรมาสที่ 4 ของปีนี้ จึงเป็นช่วงที่ต้องระวังมากที่สุด

 

สำคัญไม่แพ้เศรษฐกิจโลก สำหรับนักลงทุนไทยคือหน้าตาของรัฐบาลใหม่ และนโยบายเศรษฐกิจที่กำลังจะมาถึง

ในครึ่งหลังของปีนี้นอกจากจะต้องติดตามทิศทางการเมืองตั้งแต่การเลือกประธานสภา นายกรัฐมนตรี ไปจนถึงหน้าตาของรัฐบาลชุดใหม่แล้ว เป้าหมายนโยบายเศรษฐกิจก็จะเริ่มเห็นเป็นรูปเป็นร่างในไตรมาสที่ 4 โดยสิ่งที่นักลงทุนต้องติดตามคือการให้ลำดับความสำคัญของแต่ละนโยบาย ดีที่สุดสำหรับตลาดการเงินและตลาดทุนคือเริ่มที่นโยบายเศรษฐกิจก่อน ขณะที่ความผันผวนจะมีมากที่สุดในกรณีที่เกิดปัญหาทางการเมือง หรือเน้นนโยบายด้านสังคมและการปกครองมาเป็นอย่างแรก

 

เมื่อรู้อย่างนี้ เราจะสามารถจัดพอร์ตครึ่งปีหลัง 2566 ได้ด้วย 3 กลยุทธ์หลัก

 

1. Late Cycle Tortoise Rally

ด้วยเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่เข้าสู่โหมดชะลอตัว ครึ่งหลังของปีอาจเป็นเวลาของตลาดผู้ตามอย่าง ยุโรป ญี่ปุ่น หรืออินเดีย แม้หุ้นสหรัฐฯ จะทำผลงานได้ดีมากในช่วงครึ่งปีแรก แต่ Valuation ของดัชนี S&P 500 เริ่มตึงตัวเหนือระดับ 4,000 จุด ถ้าเศรษฐกิจไม่ขยายตัวต่อจนทำให้รายได้ของบริษัทจดทะเบียนเติบโตสูง อาจเป็นจังหวะของตลาดอื่น ๆ

 

ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ตลาดหุ้นจีนมักเป็นกระต่ายตัวที่สอง หรือทางเลือกแรกในการกระจายการลงทุนจากตลาดหุ้นสหรัฐฯ แต่ในปีนี้นโยบายเศรษฐกิจจีน วิกฤติในภาคอสังหาริมทรัพย์ และการว่างงานของคนหนุ่มสาวดูจะยังไม่เป็นใจกับการฟื้นตัว

 

โดยรวม ผมจึงเลือกกลุ่มประเทศที่เคยเป็น เต่า ตามสหรัฐฯ ไม่ว่าจะเป็น หุ้นญี่ปุ่นที่มีการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจด้วยนโยบายทุนนิยมรูปแบบใหม่ของนายกรัฐมนตรีฟูมิโอะ คิชิดะ หรือยุโรป ที่อาจได้รับแรงสนับสนุนจากค่าเงินยูโรถ้าธนาคารกลางสหรัฐฯ หยุดขึ้นดอกเบี้ย หรือ อินเดีย เศรษฐกิจขนาดใหญ่เติบโตสูงที่ไม่ได้มีปัญหาการเมืองกับสหรัฐฯ ครึ่งปีหลัง 2566 จะเป็นเวลาที่กระต่าย (สหรัฐฯ จีน) พักและเต่าขึ้นนำบ้าง

 

2. Markets Amid Uncharted Monetary Policy

ผมมองว่านโยบายการเงินทั่วโลกเดินทางมาถึงจุดที่ทิศทางเริ่มไม่ไปในทางเดียวกัน และระดับของดอกเบี้ยก็แตกต่างจากช่วงทศวรรษที่ผ่านมาอย่างมาก ตามทฤษฎีแล้วในช่วงท้ายของการขึ้นนั้น คุณสามารถสะสมตราสารหนี้ได้ด้วยความหวังว่าธนาคารกลางจะลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย แต่ครั้งนี้บางประเทศอาจมีความแตกต่างกันที่เงินเฟ้ออยู่ในระดับสูง เราจึงไม่ควรคาดหวังการลดดอกเบี้ยเหมือนในอดีตที่ผ่านมาได้ในทุกประเทศ

 

ครึ่งหลังของปี ผมจึงยังไม่ชอบตราสารหนี้ในประเทศกลุ่มพัฒนาแล้ว เช่น สหรัฐฯ หรือยุโรปมากนัก แต่ให้น้ำหนักตราสารหนี้ของประเทศตลาดเกิดใหม่ (Emerging Market) ที่สามารถลดดอกเบี้ยได้มากกว่า หรือถ้านักลงทุนสามารถรับความเสี่ยงของสินค้าโภคภัณฑ์ได้ ทองคำก็อาจเป็นหนึ่งตัวเลือกที่น่าสนใจ เนื่องจากเป็นการลงทุนที่มักจะปรับตัวขึ้นเมื่อดอกเบี้ยเป็นขาลงหรือเมื่อเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงอย่างมีนัย

 

3. Move Cautiously Forward with Thai Equities

สำหรับการลงทุนในหุ้นไทยนั้น แม้จะมีความเสี่ยงเรื่องการเมือง แต่ผมเชื่อว่าความผันผวนนี้สร้างโอกาสลงทุนในหุ้นดีที่ Valuation ไม่แพงได้ ผมให้เป้าหมายดัชนี SET Index ในครึ่งปีหลังที่ 1,600 จุด ภายใต้สมมติฐานว่ารัฐบาลชุดใหม่จะเลือกใช้นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจพร้อมกับปรับโครงสร้างสังคมอย่างค่อยเป็นค่อยไป กำไรต่อหุ้นของตลาดจึงอาจไม่เติบโตทันที แต่ Multiple คาดว่าจะกลับมาที่ระดับเฉลี่ยของ SET Index ระยะยาวที่ 18 เท่า ธีมลงทุนและหุ้นเด่นครึ่งปีหลังประกอบด้วย

  • Defensive Growth หุ้นกลุ่มโรงพยาบาลที่เน้นผู้ป่วยต่างชาติตะวันออกกลางไม่ใช่จีน และเลือก BDMS เป็นหลุมหลบภัยได้ท่ามกลางความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก จุดแข็งคือ การเป็นโรงพยาบาลเครือข่ายที่ใหญ่ที่สุดในไทยที่สามารถปรับราคาค่าบริการตามเงินเฟ้อได้ CGS-CIMB มองเป้าหมายสิ้นปีที่ 32 บาท
  • New Hope from Government แม้การเมืองอาจไม่ใช่เรื่องที่คาดเดาได้ง่าย แต่การได้มีสิทธิ์ออกเสียง และการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นแล้ว อย่างน้อยจะสร้างความหวังกับเศรษฐกิจและหนุนกำลังซื้อฐานราก จึงเลือก CPALL เพราะระดับ Valuation ไม่แพง และแม้จะมีความเสี่ยงจากนโยบายทลายทุนผูกขาดของพรรคก้าวไกล แต่เชื่อว่าบริษัทจะสามารถหาทางประกอบธุรกิจภายใต้ระเบียบใหม่ได้ในระยะยาว CGS-CIMB มองเป้าหมายสิ้นปีที่ 78 บาท
  • Move Forward Stimulus เลือก KTB ธนาคารขนาดใหญ่ที่รายได้แข็งแกร่งในช่วงดอกเบี้ยสูง อนาคตนอกจากจะเป็นผู้เล่นหลักของการส่งผ่านนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐแล้ว การปรับเปลี่ยนสัดส่วนสินเชื่อมาเป็นภาคธุรกิจมากขึ้น ก็กำลังช่วยหนุนอัตรากำไรให้เติบโตระยะยาว CGS-CIMB มองเป้าหมายสิ้นปีที่ 30 บาท

 

หมายเหตุ : บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ใช้เพื่อสำหรับศึกษาเบื้องต้นเท่านั้น มิได้มีเจตนาในการชี้นำการลงทุนแต่อย่างใด นักลงทุนควรศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมและพิจารณาให้ดีก่อนตัดสินใจลงทุน


สำหรับนักลงทุนมือใหม่และผู้ที่สนใจ เรียนรู้หลักการวิเคราะห์ผลตอบแทนของพอร์ตลงทุน และแนวทางการปรับพอร์ตให้เหมาะกับตนเองและสถานการณ์ สามารถเรียนรู้เพิ่มเติมผ่าน e-Learning หลักสูตร “Portfolio Rebalancing” ได้ฟรี!!! >> คลิกที่นี่

 

หรือเรียนรู้แนวทางการวิเคราะห์เศรษฐกิจมหภาคที่มีผลต่อการลงทุนรายกลุ่มอุตสาหกรรม พร้อมเจาะลึกเทคนิคในการจับจังหวะเปลี่ยนกลุ่มลงทุน เพื่อเพิ่มโอกาสทำกำไรจากการลงทุน สามารถเรียนรู้เพิ่มเติมผ่าน e-Learning หลักสูตร “Sector Rotation” ได้ฟรี!!! >> คลิกที่นี่

แท็กที่เกี่ยวข้อง: