เมื่อดอกเบี้ยลง หุ้นจะปรับขึ้นหรือไม่ ?

โดย พงษ์ธร ถาวรธนากุล, CFA ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Lief Capital Asset Management
3 Min Read
12 มิถุนายน 2566
11.23k views
Inv_เมื่อดอกเบี้ยลง หุ้นจะปรับขึ้นหรือไม่_Thumbnail
Highlights
  • อัตราเงินเฟ้อได้ขึ้นถึงจุดสูงสุดและกำลังค่อย ๆ ปรับลดลง ส่งผลให้ตลาดประเมินว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีกไม่กี่ครั้ง จากนั้นก็จะคงอัตราดอกเบี้ยและจะเริ่มกลับทิศนโยบายหันมาปรับลดอัตราดอกเบี้ย

  • หากอัตราดอกเบี้ยนโยบายปรับลดลง ราคาสินทรัพย์หลายประเภทก็มีโอกาสฟื้นตัวและเป็นโอกาสในการลงทุน เช่น หุ้น และตราสารหนี้

  • ในสภาวะเช่นนี้ หุ้นไทยยังน่าสนใจลงทุน ด้วยหลายเหตุผล เช่น ดัชนีหุ้นไทยส่วนใหญ่เป็นหุ้นกลุ่มคุณค่า ซึ่งได้รับผลกระทบจากภาวะอัตราดอกเบี้ยและอัตราเงินเฟ้อน้อยกว่าหุ้นกลุ่มเติบโต เป็นต้น

หากพูดถึงปัจจัยสำคัญประการหนึ่งที่มีผลกระทบต่อการลงทุนอย่างชัดเจนในปีที่ผ่านมา คือ อัตราเงินเฟ้อ ซึ่งปรับขึ้นอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง โดยเฉพาะอัตราเงินเฟ้อในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว เช่น สหรัฐอเมริกา หรือสหภาพยุโรป ส่งผลให้ธนาคารกลางต่าง ๆ ดำเนินกลยุทธ์ด้วยการ “ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย” เพื่อควบคุมและปรับลดอัตราเงินเฟ้อ ซึ่งผลที่ตามมาอาจทำให้เกิดเศรษฐกิจถดถอย และเมื่อพิจารณาย้อนหลัง พบว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐอเมริกาในปี 2565 ถือว่าค่อนข้างเร็วและแรง โดยปรับขึ้นประมาณ 5% ภายใน 14 เดือน ส่งผลให้ผลตอบแทนตลาดหุ้นและตราสารหนี้ปรับลดลงอย่างรวดเร็วตามไปด้วย ขณะเดียวกันก็จะเห็นผลกระทบเชิงลบ เช่น ธนาคารขนาดเล็กล้มละลาย กำไรของบริษัทจดทะเบียนหดตัว เป็นต้น  

 

คำถามที่ตามมา คือ เมื่อธนาคารกลางทั่วโลก โดยเฉพาะธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) เริ่มหยุดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย และในอนาคตจะเริ่มใช้นโยบายปรับลดอัตราดอกเบี้ย ตลาดหุ้นจะกลับมาฟื้นตัวได้หรือไม่ ประเด็นนี้ Franklin Templeton องค์กรบริหารสินทรัพย์ระดับโลก ได้สรุปข้อมูลการเคลื่อนไหวของราคาสินทรัพย์ลงทุนในช่วงที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายกำลังจะกลับทิศ (จากระดับจุดสูงสุดและกำลังเริ่มปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย) ในแต่ละรอบของนโยบายตั้งแต่ปี 1971 – 2023 พบว่าภายในช่วง 1 ปีหลังจากอัตราดอกเบี้ยนโยบายเริ่มปรับลดลง มีรายละเอียดดังนี้

  • หุ้นและตราสารหนี้ ให้ผลตอบแทนโดยเฉลี่ยเป็นบวก โดยดัชนีหุ้น S&P 500 ปรับตัวขึ้นประมาณ 12.1% ขณะที่พันธบัตรรัฐบาลให้ผลตอบแทนดีที่สุด คือ ประมาณ 16.3% ตามมาด้วยตราสารหนี้ภาคเอกชนให้ผลตอบแทน 15.5%
  • ก่อนอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะทำจุดสูงสุด ราคาสินทรัพย์ลงทุนทุกกลุ่มมีความผันผวน และมีแนวโน้มปรับตัวลง (Sideway Down) เฉลี่ยประมาณ 2.50 – 5.00% ก่อนอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะปรับลดลงประมาณ 3 เดือน

 

หากมองสถิติดังกล่าว ดูเหมือนว่าช่วงที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายกำลังเปลี่ยนทิศเป็นจังหวะที่น่าลงทุน อย่างไรก็ตาม พบว่า การกลับตัวของอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่เกิดขึ้นในแต่ละครั้งจะมีความแตกต่างกัน โดยแบ่งเป็น 3 ประเด็น ได้แก่ อัตราดอกเบี้ยนโยบายก่อนปรับลดลงจะไม่เท่ากัน ประเด็นที่สอง การปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเกิดในช่วงที่อยู่ในสภาวะ Inverted Yield Curve (สถานการณ์อัตราผลตอบแทนหรือดอกเบี้ยของพันธบัตรระยะสั้นสูงกว่าระยะยาว โดยใช้ผลตอบแทนพันธบัตร 2 ปี และ 10 ปี มาเปรียบเทียบกัน โดย Inverted Yield Curve เป็นสัญญาณให้เฝ้าระวังโอกาสที่เศรษฐกิจจะชะลอตัวลง และอาจนำไปสู่เศรษฐกิจถดถอย เพราะในภาวะปกติอัตราดอกเบี้ยระยะยาวจะสูงกว่าระยะสั้น) หรือไม่ และประเด็นสุดท้าย เมื่อปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยตามมาหรือไม่ (ดูตาราง)

Inv_เมื่อดอกเบี้ยลง หุ้นจะปรับขึ้นหรือไม่_01

จากสภาวะการลงทุนในปัจจุบัน ประเมินว่า เฟดมีโอกาสปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายท่ามกลางสภาวะ Inverted Yield Curve และเมื่อปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายแล้ว อาจเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยตามมาในปีถัดไป ดังนั้น นักลงทุนควรระมัดระวังกับการลงทุน ด้วยการเน้นลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำ เช่น ตราสารหนี้หรือถือเงินสด

 

สภาวะแบบนี้ “หุ้นไทย” ยังน่าสนใจหรือไม่

ขณะที่กลุ่มประเทศพัฒนาแล้วยังเต็มไปด้วยปัจจัยเชิงลบ เช่น อัตราเงินเฟ้อสูง อัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับสูง และมีโอกาสเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวประเมินว่าหุ้นไทยยังน่าสนใจลงทุน หรืออย่างน้อย ๆ ก็ไม่เสียเปรียบ โดยแบ่งเป็นประเด็นต่าง ๆ ดังนี้ 

  • ประเทศไทยและกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา เตรียมตัวด้านการเงิน การคลัง ได้ค่อนข้างดีกับการรับมืออัตราดอกเบี้ยด้วยนโยบายเชิงรุก สังเกตจากระดับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย อัตราเงินเฟ้อ ค่าเงิน มีความผันผวนไม่มากนัก ขณะที่การขยายตัวทางเศรษฐกิจอยู่ในระดับที่น่าพอใจ
  • ดัชนีหุ้นไทย ส่วนใหญ่เป็นหุ้นกลุ่มคุณค่า เช่น การเงิน พลังงาน และบริการ ซึ่งได้รับผลกระทบจากภาวะอัตราดอกเบี้ยและอัตราเงินเฟ้อน้อยกว่าหุ้นกลุ่มเติบโต ทั้งในด้านการประเมินมูลค่า (Valuation) และความจำเป็นใช้ของสินค้าและบริการ ดังนั้น ไม่ว่าเศรษฐกิจจะอยู่ในช่วงใด เช่น ในปี 2565 เป็นปีที่ตลาดหุ้นโลกมีการปรับตัวลดลง แต่หุ้นไทยสามารถให้ผลตอบแทนเป็นบวก
  • ตลาดหุ้นไทย มีโอกาสได้รับประโยชน์จากการหันมาเน้นพัฒนาห่วงโซ่อุปทานในระดับภูมิภาค (De-Globalization) และเมื่อจีนและสหรัฐอเมริกา ออกมาตรการแข่งขัน กีดกันด้านเศรษฐกิจมากเท่าไหร่ ยิ่งมีโอกาสที่จะทำให้เม็ดเงินลงทุนและความต้องการใช้สินค้าและบริการ เพื่อสร้างกระบวนการผลิตใหม่ไหลเข้ามาในไทยและประเทศในอาเซียน เช่น ช่วง 3 ปีที่ผ่านมา บริษัท Apple ลดการผลิตชิ้นส่วนจากจีนและย้ายฐานการผลิตมายังอาเซียนมากขึ้น
  • ภายหลังจากการเลือกตั้งของไทยที่ถือว่ามีความราบรื่น ถึงแม้ว่าเสถียรภาพของรัฐบาลจะเป็นเรื่องที่ยังต้องจับตากันต่อไป แต่อย่างน้อยการเปลี่ยนผ่านดังกล่าวจะเป็นปัจจัยที่ทำให้นักลงทุนต่างชาติลดความกังวล มีมุมมองด้านการเติบโตที่ดีมากขึ้น และนำมาซึ่งเม็ดเงินลงทุนที่จะทยอยไหลเข้าประเทศได้ในที่สุด

 

หมายเหตุ : บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และมิได้มีเจตนาในการชี้นำการลงทุนแต่อย่างใด นักลงทุนควรศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนตัดสินใจลงทุน


สำหรับนักลงทุนมือใหม่และผู้ที่สนใจ เรียนรู้พื้นฐานการวิเคราะห์ภาพรวมเศรษฐกิจแบบง่าย ๆ เพื่อจับทิศทางการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมต่าง ๆ และค้นหาหุ้นเด็ดในแต่ละช่วงเวลา สามารถเรียนรู้เพิ่มเติมผ่าน e-Learning หลักสูตร “Macro Analysis” ได้ฟรี!!! >> คลิกที่นี่

 

หรือเรียนรู้แนวทางการวิเคราะห์เศรษฐกิจมหภาคที่มีผลต่อการลงทุนรายกลุ่มอุตสาหกรรม พร้อมเจาะลึกเทคนิคในการจับจังหวะเปลี่ยนกลุ่มลงทุน เพื่อเพิ่มโอกาสทำกำไรจากการลงทุน สามารถเรียนรู้เพิ่มเติมผ่าน e-Learning หลักสูตร “Sector Rotation” ได้ฟรี!!! >> คลิกที่นี่

แท็กที่เกี่ยวข้อง: