บรรยากาศการลงทุนในช่วงต้นปี 2565 จะยังคงผันผวนต่อเนื่องจากปลายปี 2564 ด้วยความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก ผ่านปัจจัยที่นักลงทุนจะยังคงกังวล ได้แก่ ปัญหาอัตราเงินเฟ้อที่เร่งขึ้นแรงในสหรัฐฯ และปัญหาการระบาดของไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน โดยทั้งสองปัจจัยนี้ น่าจะมีผลกระทบต่อแนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ยุโรป และประเทศสำคัญ ๆ รวมทั้งประเทศไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
แม้ปัจจัยเสี่ยงจะรุมเร้าเช่นนี้ แต่ผมมองว่าเศรษฐกิจโลกในปี 2565 จะไม่เข้าสู่ภาวะวิกฤติ เพียงแต่อาจเติบโตช้าลงกว่าที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้า และผมมองว่ามาตรการทางการคลังในหลายประเทศจะสามารถนำมาใช้เพื่อบรรเทาปัญหาการชะลอตัวทางเศรษฐกิจได้ ซึ่งหากมีความชัดเจนในการแก้ปัญหา ก็มีโอกาสที่นักลงทุนจะฟื้นความเชื่อมั่นและกล้าที่จะกลับเข้ามาลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงได้ โดยเฉพาะกลุ่มที่มีพื้นฐานดี ราคาไม่แพงจนเกินไป และมีโอกาสในการเติบโต เช่น ในสหรัฐฯ ยุโรป จีน และเวียดนาม รวมทั้งกลุ่มดูแลสุขภาพ กลุ่มสินค้าแบรนด์เนม และกลุ่มพลังงานทดแทน ซึ่งนักลงทุนอาจหาจังหวะทยอยเข้าสะสมเมื่อราคาย่อลง เนื่องจากมองว่าในเดือนมกราคมนี้ แม้ยังต้องเผชิญความผันผวน แต่ก็จะผ่านไปได้เช่นในอดีต
โดยปัจจัยแรกที่จะส่งผลให้ตลาดผันผวนได้ คือ เงินเฟ้อที่สูงขึ้นเร็ว ให้นักลงทุนจับตาตัวเลขอัตราเงินเฟ้อเดือนธันวาคมของสหรัฐฯ ว่าจะเร่งขึ้นกว่า 6.8% จากเดือนก่อนหน้าหรือไม่ เพราะช่วงเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ Fed ได้เร่งถอนวงเงิน QE พร้อมส่งสัญญาณขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายถึง 3 ครั้งในปี 2565 แม้หลังประกาศมุมมองอัตราดอกเบี้ยและนโยบายการเงินที่จะตึงตัวมากขึ้นไปแล้ว แต่นักลงทุนในตลาดทุนกลับไม่ตกใจ อาจเป็นเพราะมองว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังขยายตัวได้ดี อัตราการว่างงานจะลดลงต่อเนื่อง และ Fed เองไม่น่าที่จะเร่งสกัดเงินเฟ้อด้วยการขึ้นอัตราดอกเบี้ยก่อนที่จะสิ้นสุดมาตรการ QE ซึ่งในมุมมองด้านการลงทุน นักลงทุนน่าจะรับรู้ข่าวสารเรื่องการเร่งถอนมาตรการ QE และการขยับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วขึ้นไปก่อนหน้านี้แล้ว ตลาดน่าจะคลายความกังวลว่า Fed เองน่าจะควบคุมอัตราเงินเฟ้อได้ และมองภาพการขยายตัวทางเศรษฐกิจในปีหน้าที่ยังไม่สะดุด
ในขณะที่ตลาดแรงงานยังสามารถที่จะมีการเพิ่มการจ้างงานทำให้อัตราการว่างงานลดลงต่อเนื่องได้ แต่หากตัวเลขการว่างงานที่อาจไม่ได้ลดลงเร็ว ตลอดจนตัวเลขอัตราเงินเฟ้อที่ยังคงพุ่งต่อเนื่อง ก็อาจทำให้นักลงทุนกลับมาเพิ่มความกังวลอีกว่า Fed จะต้องใช้ยาแรง หรือต้องเร่งการขึ้นดอกเบี้ยในไป 2565 เพื่อสกัดเงินเฟ้อหรือไม่ และคงรอรายงานการประชุมนโยบายการเงินในช่วงปลายเดือนมกราคมนี้
โดยในช่วงที่ผ่านมา เราน่าจะสังเกตได้ว่า ปัจจัยเสี่ยงทางเศรษฐกิจที่มีมาก ประกอบกับสภาพคล่องในระบบการเงินยังมีสูง น่าจะทำให้นักลงทุนเข้าซื้อพันธบัตรระยะยาวของสหรัฐฯ ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ 10 ปีแทบไม่เปลี่ยนแปลง ต่างกับอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ช่วง 2 ปีที่พุ่งขึ้นเร็วรับการเร่งขึ้นของอัตราดอกเบี้ยของ Fed ซึ่งภาพอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวที่ไม่ได้ปรับขึ้นเร็วจะช่วยให้นักลงทุนยังสามารถแสวงหาผลตอบแทนจากสินทรัพย์เสี่ยง เนื่องจากต้นทุนการระดมทุนยังต่ำ ซึ่งหากอัตราเงินเฟ้อยังพุ่งขึ้นต่อเนื่อง และอาจกดดัน Fed ให้เร่งมุมมองการขึ้นดอกเบี้ยในเดือนมีนาคมแทนที่จะเป็นเดือนมิถุนายนแล้ว ตลาดอาจผันผวนระยะสั้น ก่อนกลับไปดูว่าอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ยังเป็นที่น่าพอใจ และ Fed น่าจะควบคุมปัญหาเงินเฟ้อได้ในที่สุด ซึ่งในระยะยาว ผลตอบแทนจากการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงจะชนะอัตราดอกเบี้ยจากเงินฝากได้ แม้จะมีความผันผวนระหว่างทางที่นักลงทุนต้องระวัง
ปัจจัยที่สองที่จะส่งผลให้ตลาดผันผวนได้ คือ การระบาดของโอมิครอนที่มีผลให้ประสิทธิภาพของวัคซีนลดลง และมีการระบาดได้เร็วกว่าสายพันธุ์อื่น โดยตัวเลขจำนวนผู้ติดเชื้อรายวันที่เพิ่มขึ้นเร็วในต่างประเทศอาจสร้างความกังวลว่ารัฐบาลในประเทศต่าง ๆ จะกลับมาใช้มาตรการจำกัดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ เช่น ระงับการเดินทางระหว่างประเทศ การเพิ่มเงื่อนไขการกักตัว การเว้นระยะห่างที่เข้มงวดมากขึ้น ตลอดจนมีการจำกัดการเปิดสถานประกอบการ ซึ่งโดยรวมอาจคล้าย ๆ กับการกลับมาล็อกดาวน์กันอีกรอบ ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นในเดือนมกราคมแล้ว ก็มีผลต่อการบริโภคของคนในประเทศนั้น ๆ รวมทั้งต้องติดตามว่าปัญหานี้จะกระทบต่อภาคการผลิตทำให้เกิดปัญหาห่วงโซ่อุปทานชะงักงันด้วยหรือไม่ ซึ่งอาจส่งผลให้ต้นทุนวัตถุดิบ ต้นทุนการขนส่งสินค้า ค่าแรงงาน และค่าใช้จ่ายอื่น ๆ เพิ่มสูงขึ้นอีก อย่างไรก็ดี ผมยังเชื่อว่า แม้จำนวนผู้ติดเชื้อจะเพิ่มขึ้น แต่ด้วยการเร่งฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น และมาตรการเยียวยาจากภาครัฐในแต่ละประเทศ ผลกระทบทางเศรษฐกิจน่าจะไม่รุนแรง และน่าจะกลับมาฟื้นตัวได้เร็ว
โดยสรุป ผมยังเห็นว่าการลงทุนในกองทุนรวมหุ้นต่างประเทศที่มีโอกาสเติบโตได้ในระยะยาว แม้มีความผันผวนจากเรื่องเงินเฟ้อและการระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน แต่เรื่องพวกนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เป็นประเด็นเก่าที่ตลาดทุนเคยเผชิญมาก่อนหน้านี้แล้ว ซึ่งน่าจะปรับตัวได้เร็ว และเศรษฐกิจโลกเสี่ยงต่อการชะลอตัวในระยะสั้น ไม่ใช่การเกิดวิกฤติเศรษฐกิจรอบใหม่ ซึ่งกลยุทธ์การลงทุนด้วยการทยอยซื้อสะสมเมื่อราคาย่อลง ในกลุ่มที่แนะนำไปน่าจะให้ผลตอบแทนในระยะยาวได้ดีกว่าการถือเงินสด โดยเฉพาะในช่วงที่นักลงทุนกังวลมาก ๆ และสภาพคล่องในระบบยังมีสูง การปรับตัวของตลาดน่าจะเกิดขึ้นและสิ้นสุดได้เร็ว เพียงแต่นักลงทุนต้องหาทางกระจายความเสี่ยงเอาไว้ให้ดี
หมายเหตุ : บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และมิได้มีเจตนาในการชี้นำการลงทุนแต่อย่างใด นักลงทุนควรศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนตัดสินใจลงทุน
สำหรับนักลงทุนและผู้ที่สนใจ เรียนรู้พื้นฐานการวิเคราะห์ภาพรวมเศรษฐกิจแบบง่าย ๆ รวมไปถึงการใช้นโยบายการเงินและนโยบายคลังของภาครัฐ เพื่อจับทิศทางการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมต่าง ๆ และค้นหาหุ้นเด็ดในแต่ละช่วงเวลา สามารถเรียนรู้เพิ่มเติม ผ่าน e-Learning หลักสูตร “Macro Analysis” ได้ฟรี!!! >> คลิกที่นี่
หรือเรียนรู้แนวทางการวิเคราะห์เศรษฐกิจมหภาคที่มีผลต่อการลงทุนรายกลุ่มอุตสาหกรรม ตลอดจนเทคนิคในการปรับกลยุทธ์เปลี่ยนกลุ่มลงทุน ไม่ว่าจะเป็นการปรับเปลี่ยนตามวงจรเศรษฐกิจ การเติบโตของกลุ่มธุรกิจ หรือความสามารถในการทำกำไรของบริษัทนั้น ๆ เพื่อให้ได้ผลตอบแทนตามที่ต้องการและสามารถเอาชนะตลาดได้ในระยะยาว สามารถเรียนรู้เพิ่มเติม ผ่าน e-Learning หลักสูตร “Sector Rotation” ได้ฟรี!!! >> คลิกที่นี่