สำนักงานสถิติแห่งชาติ ทำการสำรวจจำนวนผู้สูงอายุคนไทย พบว่า ณ สิ้นปี 2564 กลุ่มประชากรที่มีอายุมากกว่า 60 ปี มีสัดส่วนสูงถึง 20% ของประชากรทั้งหมด และที่น่าสนใจ คือ ประชากรสูงอายุดังกล่าวมีแหล่งรายได้หลักมาจากการทำงาน 32% มาจากบุตรหลาน 32% เบี้ยยังชีพข้าราชการ 19% บำเหน็จ/บำนาญ 8% ขณะที่มาจากการออมเงินเพียง 2% สะท้อนว่าการวางแผนการเงินเพื่อเก็บไว้ใช้ยามเกษียณอยู่ในระดับที่ต่ำมาก ซึ่งถือเป็นความเสี่ยงสำคัญที่ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุในระยะยาว โดยเฉพาะค่าใช้จ่ายในการดูแลสุขภาพหรือรักษาพยาบาล ที่มีแต่จะเพิ่มสูงขึ้นสวนทางกับรายได้ที่ปรับตัวลง
สำหรับผู้ที่เพิ่งเริ่มต้นวางแผนการเงินเพื่อเกษียณ สามารถเข้าไปคำนวณจำนวนเงินที่ต้องการใช้หลังเกษียณได้ที่ >> คลิกที่นี่ ก็จะทราบว่าตัวเองควรออมเงินเท่าไหร่ จึงจะสามารถเกษียณได้อย่างมีคุณภาพโดยที่ไม่ต้องรบกวนลูกหลาน
โดยคำถามแรก สำหรับผู้ที่เริ่มต้นวางแผน คือ จะนำเงินที่ไหนมาเก็บออม และจะเริ่มลงทุนเมื่อไหร่ดี แม้ว่ายังไม่สามารถออมเงินต่อเดือนได้ตามที่ปรากฎในโปรแกรมคำนวณ แต่ถ้าเริ่มช้าก็ยิ่งต้องไปเร่งเก็บออมในช่วงใกล้เกษียณ ซึ่งเป็นวัยที่ไม่ควรต้องเคร่งเครียดกับการวางแผนการเงิน เพราะจะเป็นผลเสียต่อสุขภาพกายและใจ และอาจทำให้ต้องนั่งทำงานต่อไปอีกหลายปี ดังนั้น ควรเริ่มลงมือวางแผนการเงินเพื่อวัยเกษียณตั้งแต่อายุน้อย ๆ ด้วยการมองหาแนวทางการลงทุนที่เหมาะกับตัวเอง ถ้าทำได้ก็จะพบว่าการจัดพอร์ตลงทุนเพื่อเกษียณอายุแบ่งเป็น 2 ช่วงเวลาสำคัญ
1. ช่วงลงทุนเพื่อออมเงินไว้ใช้ ตามเป้าหมายหลังเกษียณอายุ ในกรณีนี้ นักลงทุนต้องคำนวณออกมาให้ได้ก่อนว่าต้องการใช้เงินหลังเกษียณจำนวนเท่าไหร่ เช่น ถ้ามีค่าใช้จ่ายเดือนละ 20,000 บาท (ปีละ 240,000 บาท) และคาดว่าจะใช้ชีวิตถึงอายุ 80 ปี แสดงว่าต้องมีเงิน ณ วันที่เกษียณ 4,800,000 บาท (ยังไม่คำนึงถึงเงินเฟ้อ และผลตอบแทนจากการลงทุน)
สมมติว่า มีเวลาออมเงิน 15 ปี (180 เดือน) และคาดว่าจะได้รับผลตอบแทนเฉลี่ยปีละ 5% ก็ต้องเริ่มลงทุนให้ได้เดือนละ 18,000 บาท (โดยที่ยังไม่ได้รวมผลกระทบจากเงินเฟ้อและความเสี่ยงในการลงทุน ซึ่งอาจกระทบต่อผลตอบแทนที่ได้รับจริง) ก็จะมีเงินเก็บออมตามเป้าหมายที่วางไว้ 4,800,000 บาท
2. ช่วงลงทุนเพื่อสร้างรายได้จากสินทรัพย์ (Recurring Income) และรักษามูลค่าของเงินที่ต้องใช้ในยามเกษียณ เพื่อไม่ให้ถูกกระทบจากภาวะเงินเฟ้อและเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝัน ซึ่งอาจทำให้มูลค่าเงินลงทุนเหลือน้อยกว่าที่ตั้งใจไว้ใช้ในช่วงเกษียณอายุ การลงทุนในช่วงนี้จะเน้นรักษาเงินลงทุนเป็นหลัก หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง คือ เป็นการให้ความสำคัญกับความเสี่ยงในการลงทุนมากกว่าผลตอบแทน ซึ่งต่างจากกรณีแรกที่จะให้ความสำคัญกับผลตอบแทนมากกว่าความเสี่ยง
โดยในช่วงแรกที่ลงทุนเพื่อเก็บเงินไว้ใช้หลังเกษียณ พอร์ตลงทุนที่ประกอบไปด้วยหุ้นคุณค่า (Value Stock) และหุ้นเติบโต (Growth Stock) ถือว่ามีความเหมาะสม เพราะยังมีระยะเวลาลงทุนอีกหลายปีและเพียงพอที่จะทำให้มูลค่าเงินลงทุนเพิ่มขึ้น (ภายใต้ความเสี่ยงในการลงทุนที่ถูกหักล้างด้วยระยะเวลาในการลงทุนที่นานเพียงพอ)
โดยระดับผลตอบแทนที่ต้องการ เช่น เฉลี่ยปีละ 5% ถือว่าเป็นเรื่องที่ไม่ยากจนเกินไป เช่น ดัชนีหุ้นไทยให้ผลตอบแทนเฉลี่ยแบบทบต้นในช่วง 20 ปีย้อนหลัง เฉลี่ย 7% ต่อปี จึงประเมินว่าการลงทุนระยะยาวในตลาดหุ้นไทย สามารถช่วยให้บรรลุเป้าหมายเพื่อการเกษียณได้
คำแนะนำในการลงทุน
การลงทุนในตลาดหุ้นไทย ควรเน้นลงทุนในหุ้นขนาดใหญ่ เช่น SET100 ที่มีปัจจัยพื้นฐานแข็งแกร่ง เพราะเป้าหมายเพื่อเกษียณมีความสำคัญมาก จึงไม่ควรไปลงทุนในหุ้นขนาดกลางและขนาดเล็กที่มีความผันผวนค่อนข้างสูง โดยนักลงทุนควรใช้กลยุทธ์เลือกกลุ่มอุตสาหกรรม (Sector Selection) และเลือกหุ้น (Stock Selection) รวมถึงติดตามและปรับพอร์ตลงทุนสม่ำเสมอ เพื่อเพิ่มโอกาสในการบรรลุเป้าหมายการเกษียณได้เร็วขึ้น
เมื่อเกษียณไปแล้ว จะเป็นช่วงเน้นลงทุนเพื่อรักษาเงินต้นพร้อมกับสร้างรายได้ที่เข้ามาต่อเนื่อง (Recurring Income) ไปในตัว แนะนำให้ลงทุนในหุ้นกลุ่มที่มีความปลอดภัย (Defensive Stock) หุ้นจ่ายเงินปันผล (Dividend Stock) หรือหุ้นที่ดำเนินธุรกิจโดยคำนึงถึงความยั่งยืน หรือหุ้น ESG เพราะเป็นการลงทุนที่ให้ความสำคัญกับความเสี่ยงในการลงทุน ตรงกับวัตถุประสงค์การลงทุนในช่วงหลังเกษียณที่ควรให้ความสำคัญกับการปกป้องเงินลงทุน มากกว่าการมุ่งเพิ่มมูลค่าของเงินลงทุน
โดยหุ้นกลุ่มที่มีความปลอดภัย จะเป็นบริษัทที่ผลประกอบการไม่ผันผวนตามภาวะเศรษฐกิจมากนัก มีอัตราการเติบโตไม่สูง แต่เติบโตอย่างมั่นคง และสร้างกระแสเงินสดได้อย่างสม่ำเสมอ เช่น กลุ่มค้าปลีก อาหารและเครื่องดื่ม สื่อสาร และโรงไฟฟ้า เป็นต้น
ขณะที่หุ้นจ่ายเงินปันผล จะเป็นบริษัทที่จ่ายเงินปันผลสม่ำเสมอ และพยายามรักษาอัตราผลตอบแทนจากเงินปันผล (Dividend Yield) ให้ใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยในอดีต เพื่อเป็นการจูงใจให้นักลงทุนถือหุ้นในระยะยาว ซึ่งจะทำให้ราคาหุ้นมีความผันผวนน้อย และจะวนกลับมาช่วยให้บริษัทสามารถรักษาระดับผลตอบแทนจากเงินปันผลที่ดีได้ในระยะยาว แต่อัตราการเติบโตของบริษัทเหล่านี้มักจะไม่สูง เพราะผลจากการจ่ายเงินปันผลในอัตราที่มากเมื่อเทียบกับกำไรสุทธิ (Dividend Payout Ratio) จะทำให้บริษัทไม่เหลือเงินไปลงทุนเพื่อยกระดับการเติบโต ซึ่งบริษัทในกลุ่มนี้จะอยู่ในช่วงเติบโตเต็มที่ หรือเปรียบได้กับ Cash Cow Company ที่สามารถสร้างกระแสเงินสดได้สม่ำเสมอ แต่ยังไม่เจอ New S-Curve ที่น่าสนใจ โดยสามารถคัดเลือกหุ้นปันผลที่เหมาะกับสไตล์การลงทุนได้จากดัชนี SETHD หรือ SET High Dividend 30 Index ที่ประกอบไปด้วยหุ้น 30 หลักทรัพย์ ที่มีมูลค่าตามราคาตลาดสูง มีสภาพคล่องในการซื้อขายดี และมีอัตราผลตอบแทนจากเงินปันผลสูงอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ ชุดหุ้นที่เหมาะกับการลงทุนในแต่ละช่วงอายุ อาจแบ่งเป็น 6 ประเภท คือ Blue Chip, Value Stock, Growth Stock, Defensive Stock, Dividend Stock, และ Cyclical Stock ซึ่งการคัดเลือกหุ้นก็ควรให้เหมาะสมกับสไตล์การลงทุนของตัวเอง และสิ่งสำคัญประการหนึ่งไม่ว่าจะเพื่อเป้าหมายทางการเงินในรูปแบบใด คือ ควรตระหนักถึงความเสี่ยง เพราะเป็นปัจจัยที่ช่วยให้บรรลุเป้าหมายทางการเงินได้เร็วขึ้น และช่วยลดความกังวลในการลงทุน ที่ถือเป็นสาเหตุหนึ่งในการยกเลิกแผนการลงทุนก่อนกำหนด
โดยวิธีที่ง่ายที่สุด คือ การเพิ่มเกณฑ์คัดเลือกหลักทรัพย์ทุกประเภทโดยใช้ปัจจัยด้าน ESG ซึ่งบริษัทที่ให้ความสำคัญกับการลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม การดูแลพนักงานและช่วยเหลือสังคมเป็นอย่างดี รวมถึงมีบรรษัทภิบาลในการดำเนินธุรกิจ มักเป็นบริษัทที่มีความเสี่ยงในการดำเนินธุรกิจต่ำ และการเคลื่อนไหวของราคาหุ้นมักมีความผันผวนน้อยกว่าเมื่อเทียบกับการเคลื่อนไหวของดัชนีหุ้นโดยภาพรวม
เช่น ในช่วงก่อนเกษียณ นักลงทุนจัดพอร์ตการลงทุนที่รับความเสี่ยงได้ระดับกลาง ประกอบด้วยหุ้น 50% พันธบัตรรัฐบาลหรือหุ้นกู้ 30% และกองทุนรวมตลาดเงิน 20% โดยในขั้นตอนการคัดเลือกสินทรัพย์ลงทุน สามารถเลือกเฉพาะสินทรัพย์ลงทุนที่มีคะแนนด้าน ESG สูง ๆ เช่น สัดส่วนของหุ้น 50% ของพอร์ตการลงทุน เริ่มต้นจากการคัดเลือกหุ้นคุณค่าที่น่าสนใจ 10 หลักทรัพย์ แล้วนำมาพิจารณาต่อด้วยคะแนนด้าน ESG (ศึกษาข้อมูลจาก www.settrade.com) เพื่อคัดเลือกให้เหลือ 5 หลักทรัพย์ที่มีคุณสมบัติทั้งความเป็นหุ้นคุณค่าและหุ้น ESG ที่มีความเสี่ยงต่ำไปในตัว
ขณะที่ การลงทุนในตราสารหนี้หรือสินทรัพย์ในตลาดเงิน สามารถคัดเลือกจากกองทุนรวมที่ให้ความสำคัญด้าน ESG เป็นทางเลือกในการลงทุน และเมื่อได้พอร์ตการลงทุนที่มีประสิทธิภาพแล้ว ให้ติดตามมูลค่าของพอร์ตลงทุนและคอยปรับพอร์ตเมื่อเงื่อนไขเปลี่ยนแปลงไป เช่น ราคาหุ้นปรับตัวขึ้นถึงราคาเหมาะสมแล้ว หรือคะแนนด้าน ESG ปรับตัวลงจากความเสี่ยงด้านบรรษัทภิบาลที่เพิ่มสูงขึ้น ก็ให้เปลี่ยนไปยังหลักทรัพย์ที่ราคาหุ้นยังไม่สะท้อนมูลค่าที่เหมาะสม และมีคะแนนด้าน ESG ในระดับสูงแทน
กล่าวโดยสรุป สำหรับการคัดเลือกสินทรัพย์ลงทุนเข้ามาอยู่ในพอร์ตเกษียณอายุ นักลงทุนสามารถคัดเลือกสินทรัพย์ลงทุนประเภทใดก็ได้ ที่สอดคล้องกับสไตล์การลงทุนและระดับการยอมรับความเสี่ยงของตัวเอง เพียงแต่ขอให้นำองค์ประกอบด้าน ESG เข้ามาเป็นเครื่องมือในการช่วยลดความเสี่ยงในการลงทุนควบคู่ไปด้วย เพื่อช่วยให้สามารถบรรลุเป้าหมายทางการเงินเพื่อเกษียณง่ายขึ้น
หมายเหตุ: บทความนี้เพื่อใช้สำหรับศึกษาเบื้องต้นเท่านั้น มิได้มีเจตนาในการชี้นำการลงทุนแต่อย่างใด ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนตัดสินใจลงทุน
สำหรับใครที่สนใจ เรียนรู้วิธีการสร้างและบริหารพอร์ตหุ้นอย่างมืออาชีพ พร้อมเจาะลึกเทคนิคจัดทำแผนการลงทุนทั้งระยะสั้นและระยาว เพื่อสร้างพอร์ตลงทุนให้เติบโตอย่างยั่งยืน สามารถเรียนรู้เพิ่มเติมผ่าน e-Learning หลักสูตร “Portfolio Strategy” ได้ฟรี!!! >> คลิกที่นี่