ลงทุนอย่างไร เมื่อดอกเบี้ยถึงจุดพีค

โดย ภาคภูมิ พีรยวัฒนา, AFPT™ Wealth Manager ธนาคารทิสโก้
2 Min Read
15 พฤษภาคม 2566
15.305k views
Inv_ลงทุนอย่างไร เมื่อดอกเบี้ยถึงจุดพีค_Thumbnail
Highlights
  • หลังจากที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเร็วและแรงต่อเนื่อง คาดว่าถึงจุดที่จะหยุดการขึ้นอัตราดอกเบี้ย และจากนั้นจะค่อย ๆ ปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง โดยมีเหตุผลหลัก ๆ เช่น เงินเฟ้อได้ผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว และเศรษฐกิจสหรัฐฯ กำลังเข้าสู่ภาวะถดถอย เป็นต้น

  • เมื่ออัตราดอกเบี้ยนโยบายมีแนวโน้มปรับลดลง ราคาสินทรัพย์หลายประเภทก็มีโอกาสฟื้นตัวและเป็นโอกาสในการลงทุน อาทิ พันธบัตรรัฐบาล หุ้นกู้ หุ้นกลุ่มเทคโนโลยี เป็นต้น จึงต้องปรับกลยุทธ์การลงทุน เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ และแสวงหาผลตอบแทนจากราคาสินทรัพย์ที่ฟื้นตัว

ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา สหรัฐอเมริกาต้องเผชิญกับภาวะอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นที่เร็วที่สุดในรอบกว่า 40 ปีนับตั้งแต่ปี 1980 และส่งผลกระทบต่อการลงทุนในสินทรัพย์ลงทุน เช่น หุ้น พันธบัตรรัฐบาล กอง REITs ตลอดจนสินทรัพย์ทางการเงินอื่น ๆ ที่ผลตอบแทนปรับลดลงอย่างรุนแรง เนื่องมาจากการดำเนินนโยบายการเงินแบบตึงตัวของธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือเฟด เพื่อปราบเงินเฟ้อที่พุ่งทะยานสูงสุดในรอบ 40 ปี อย่างไรก็ตาม วัฏจักรดอกเบี้ยขาขึ้นดังกล่าวกำลังใกล้สิ้นสุดลงด้วย 3 เหตุผล ได้แก่

 

  1. เงินเฟ้อผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว และลดลงมาเป็นเดือนที่ 9 ติดต่อกัน สะท้อนจากดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ของสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดอัตราเงินเฟ้อเดือนมีนาคมที่ผ่านมาอยู่ที่ระดับ 5.00% ถือเป็นระดับที่ใกล้เคียงกับอัตราดอกเบี้ยนโยบายปัจจุบันของสหรัฐฯ ซึ่งอยู่ที่ระดับ 4.75 - 5.00%

 

นอกจากนี้ หากพิจารณาอัตราเงินเฟ้อล่าสุดที่ 5% เทียบกับประมาณการการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายของเฟด หรือที่เรียกว่า Dot Plot ที่บ่งชี้ว่าอัตราดอกเบี้ยสูงสุด (Terminal Rate) ที่เฟดคาดว่าจะปรับขึ้นไปที่ระดับ 5.00 - 5.25% หมายความว่า เฟดอาจจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกเพียงแค่ 1 ครั้งในปีนี้ และหยุดวัฏจักรการขึ้นดอกเบี้ยไว้เพียงเท่านี้ เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยได้กลับมาสูงกว่าอัตราเงินเฟ้อแล้ว

 

  1. เศรษฐกิจสหรัฐฯ กำลังมุ่งหน้าเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Recession) สะท้อนจาก Leading Economic Index (LEI) ซึ่งเป็นดัชนีที่ใช้พิจารณาการเกิด Recession ปรับตัวลงมาอยู่ในแดนลบและใกล้เคียงระดับในช่วงเกิดวิกฤติดอทคอม ในปี 2000 วิกฤติซับไพรม์ ในปี 2008 และวิกฤติโควิด-19 ในปี 2020 บ่งชี้ว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ มีความเสี่ยงที่จะเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยในอีก 12 เดือนข้างหน้า

 

  1. เมื่อเกิดเหตุการณ์ที่บ่งชี้ว่าเศรษฐกิจมีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะถดถอย เฟดจะเริ่มปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง เช่น การปรับขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องในอดีตจนเกิดวิกฤติซับไพรม์ ในปี 2008 ส่งผลให้เฟดจำเป็นต้องหยุดขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย และอีกไม่นานก็ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง เพื่อประคับประคองเศรษฐกิจจากภาวะวิกฤติ

 

โดยสถานการณ์ล่าสุดจากกรณีผู้คนแห่ถอนเงินจากธนาคาร (Bank Run) ถือเป็นสัญญาณเตือนว่าการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในช่วงที่ผ่านมา เริ่มส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ ทำให้เฟดจำเป็นต้องระมัดระวังมากขึ้นในการดำเนินนโยบายการเงินแบบเข้มงวด

 

กลยุทธ์การลงทุน

ในแง่ของกลยุทธ์การลงทุน ประเมินว่าตลาดได้มองข้ามการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายไปแล้ว และหันมาให้น้ำหนักกับการคงและปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตว่าจะมีแนวโน้มเป็นอย่างไร ดังนั้น เมื่อแรงกดดันจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเริ่มผ่อนคลาย ราคาสินทรัพย์หลายประเภทมีโอกาสฟื้นตัวและเป็นโอกาสในการลงทุนครั้งสำคัญสำหรับวัฏจักรเศรษฐกิจรอบนี้

 

โดยประเภทสินทรัพย์ที่น่าสนใจลงทุน คือ สินทรัพย์คุณภาพสูงที่ราคาปรับตัวลดลงแรงในช่วง 1 - 2 ปีที่ผ่านมา จากความกังวลต่อภาวะดอกเบี้ยขาขึ้น โดยมีธีม (Themes) การลงทุนที่น่าสนใจ ดังนี้

 

  • Hope for the last rate hike, prepare to the first rate cut คือ สินทรัพย์ที่ได้ประโยชน์จากการหยุดขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย และภาวะอัตราดอกเบี้ยเป็นขาลงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ได้แก่
    • พันธบัตรรัฐบาลและหุ้นกู้ที่มีอันดับความน่าเชื่อถือในระดับ Investment Grade ซึ่งให้อัตราผลตอบแทน (Yield) อยู่ในระดับที่น่าสนใจและราคามีแนวโน้มปรับตัวขึ้นได้ดี หากอัตราดอกเบี้ยกลับมาเป็นขาลงในอนาคต
    • หุ้นกลุ่มเทคโนโลยี ที่ราคาหุ้นได้รับผลกระทบจากภาวะอัตราดอกเบี้ยเป็นขาขึ้นในช่วงที่ผ่านมา แต่มีโอกาสกลับมาฟื้นตัวแรงเมื่อเข้าสู่วัฏจักรอัตราดอกเบี้ยขาลง โดยหุ้นกลุ่มนี้ที่น่าสนใจ คือ กลุ่มที่รายได้ยังมีแนวโน้มเติบโตสูงอย่างสม่ำเสมอตามเทรนด์ Digital Transformation เช่น กลุ่ม Cloud Computing และ Cybersecurity

 

  • Recession Fighter คือ หุ้นกลุ่มเติบโตที่มีคุณภาพ มีความแข็งแกร่งของกำไร กระแสเงินสดดี หนี้สินต่ำ ผลประกอบการยังสามารถเติบโตได้ แม้จะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย เช่น หุ้นกลุ่มเฮลท์แคร์ (Healthcare) ที่มีอัตราการเติบโตสม่ำเสมอตามเมกะเทรนด์สังคมผู้สูงอายุและเป็นกลุ่มผู้ผลิตนวัตกรรมการแพทย์ เช่น Biotechnology และ Digital Health

 

  • High potential growth countries เป็นตลาดหุ้นในกลุ่มประเทศเอเชียที่มีเศรษฐกิจเติบโตสูงกว่าค่าเฉลี่ยของเศรษฐกิจโลกและมีการดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ได้แก่
    • ตลาดหุ้นจีน โดยเศรษฐกิจกำลังฟื้นตัวจากการเปิดประเทศ และมีการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านนโยบายการเงินและการคลังอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้การขยายตัวของเศรษฐกิจมีแนวโน้มเติบโตมากกว่า 5% ในปีนี้ หากสนใจควรเลือกลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมที่อยู่ในเมกะเทรนด์ และได้รับการสนับสนุนจากแผนยุทธศาสตร์ชาติของรัฐบาลจีน เช่น กลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค พลังงานสะอาด
    • ตลาดหุ้นเวียดนาม โดยเศรษฐกิจมีแนวโน้มเติบโตสูงกว่า 6% ในปีนี้จากการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ภาคการท่องเที่ยวที่กลับมาฟื้นตัวและมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ

 

หมายเหตุ : บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และมิได้มีเจตนาในการชี้นำการลงทุนแต่อย่างใด นักลงทุนควรศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนตัดสินใจลงทุน


สำหรับนักลงทุนมือใหม่และผู้ที่สนใจ เรียนรู้พื้นฐานการวิเคราะห์ภาพรวมเศรษฐกิจแบบง่าย ๆ เพื่อจับทิศทางการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมต่าง ๆ และค้นหาหุ้นเด็ดในแต่ละช่วงเวลา สามารถเรียนรู้เพิ่มเติมผ่าน e-Learning หลักสูตร “Macro Analysis” ได้ฟรี!!! >> คลิกที่นี่

หรือเรียนรู้แนวทางการวิเคราะห์เศรษฐกิจมหภาคที่มีผลต่อการลงทุนรายกลุ่มอุตสาหกรรม พร้อมเจาะลึกเทคนิคในการจับจังหวะเปลี่ยนกลุ่มลงทุน เพื่อเพิ่มโอกาสทำกำไรจากการลงทุน สามารถเรียนรู้เพิ่มเติมผ่าน e-Learning หลักสูตร “Sector Rotation” ได้ฟรี!!! >> คลิกที่นี่

แท็กที่เกี่ยวข้อง: