Sell in May and Go Away มักเป็นวลีที่คุ้นเคยกับนักลงทุนในเดือนพฤษภาคม ที่ตลาดหุ้นมีโอกาสปรับฐานลงทั่วโลก ทั้งจากความกังวลต่อการเปลี่ยนแปลงตัวเลขทางเศรษฐกิจ หรือผลประกอบการไตรมาสแรกที่น่าผิดหวัง หรือจากนโยบายการเงินที่ตึงตัวมากขึ้น ล้วนเป็นปัจจัยสำคัญให้นักลงทุนลดสัดส่วนการถือครองสินทรัพย์เสี่ยง
อย่างไรก็ดี ผมมองว่าสถานการณ์ในปีนี้มีความแตกต่างกับอดีตมาก นักลงทุนค่อนข้างกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจถดถอย ปัญหาสถาบันการเงินล้มหรือมีปัญหา และปัญหาเงินเฟ้อที่ลดลงช้า แต่ช่วงเดือนที่ผ่านมา เราได้เห็นพัฒนาการเชิงบวกมากขึ้น นักวิเคราะห์ปรับเพิ่มคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ขึ้น เศรษฐกิจจีนขยายตัวดีกว่าคาด การส่งออกในภูมิภาคเอเชียมีทิศทางสดใสมากกว่าในอดีต อัตราเงินเฟ้อสหรัฐฯ เริ่มเติบโตช้าลง ธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือเฟดมีท่าทีที่จะหยุดการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 5.25% ขณะที่นักลงทุนคาดว่า เฟดจะกลับมาลดอัตราดอกเบี้ยในช่วงครึ่งปีหลัง ซึ่งเดือนพฤษภาคมนี้น่าจะเป็นจังหวะกลับเข้าไปลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่ดีกว่าคาด และทยอยสะสมหุ้นขนาดใหญ่ คุณภาพดีที่กระจายการลงทุนทั่วโลก ซึ่งผมมองว่า หากตลาดหุ้นมีการย่อตัวจากความกังวลต่าง ๆ ในเดือนพฤษภาคมเช่นในอดีต กองทุนรวมหรือสินทรัพย์เหล่านี้ไม่น่าที่จะผันผวนรุนแรงเมื่อเทียบกับสินทรัพย์เสี่ยงที่เน้นการเติบโตมาก โดยมีคำแนะนำ 5 ธีมการลงทุนต้านแรงขายเดือนพฤษภาคม ดังนี้
ผมยังคงคำแนะนำการเข้าทยอยสะสมกองทุนรวมตราสารหนี้ต่างประเทศ ที่ให้ผลตอบแทนดี กลุ่ม Investment Grade เช่น พันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ หรือหน่วยงานที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลสหรัฐฯ ทั้งนี้ ผมมองว่าเฟดกำลังจบรอบการขึ้นอัตราดอกเบี้ย และมีท่าทีจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยได้ในปลายปีนี้หรือปีหน้า ซึ่งจะมีผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรมีโอกาสปรับตัวลดลงได้ในช่วงครึ่งปีหลัง และสามารถสร้างกำไรจากส่วนต่างของราคา (Capital Gains) ให้นักลงทุนในกลุ่มตราสารหนี้ได้ พร้อม ๆ กับการรับรู้รายได้จากดอกเบี้ยหรืออัตราผลตอบแทนตราสารหนี้เหล่านั้น
กองทุนรวมกลุ่ม Healthcare โดยเฉพาะกลุ่มที่ลงทุนในบริษัทผลิตยาและเวชภัณฑ์ เครื่องมือแพทย์ รวมทั้งกลุ่มโรงพยาบาลและผู้ให้บริการด้านสุขภาพมักผันผวนต่ำกว่าตลาดหุ้นโดยรวม แต่หากนักลงทุนที่รับความเสี่ยงในด้านความผันผวนได้มากขึ้น ก็อาจให้น้ำหนักการลงทุนในกลุ่มเทคโนโลยีการแพทย์ที่มีการเติบโตได้สูง แต่อาจเผชิญปัญหาขาดทุนในบางบริษัทได้ โดยเฉพาะช่วงที่อัตราดอกเบี้ยยังอยู่ในระดับสูง ทั้งนี้ ผมมองว่าโอกาสการลงทุนในกลุ่ม Healthcare น่าสนใจในช่วงที่ตลาดหุ้นมีความผันผวน หากตลาดมีการปรับฐานในเดือนพฤษภาคม ผลการดำเนินงานของบริษัทในกลุ่มนี้ยังน่าสนใจ และโดยมากเป็นบริษัทขนาดใหญ่ที่มีพื้นฐานดี
แม้สถานการณ์ตลาดการเงินโลกยังมีความน่ากังวลหลังปัญหาแบงก์ล้มในสหรัฐฯ และยุโรป รวมทั้งการเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อเพื่อลดความเสี่ยงของภาคธนาคารและสร้างความน่าเชื่อถือให้กลับมา แต่ผมมองว่าผลประกอบการของธนาคารขนาดใหญ่ทั่วโลกออกมาดีกว่าที่คาด รวมทั้งนักลงทุนได้กลับเข้ามาลงทุนหุ้นกลุ่มภาคธนาคารมากขึ้นหลังราคาหุ้นย่อตัวลงช่วงเดือนมีนาคมที่มีปัญหา ทำให้มูลค่าบริษัทด้านการเงินน่าสนใจ นอกจากนี้ จากการที่อัตราดอกเบี้ยยังอยู่ระดับสูง จึงน่าจะมีโอกาสที่ธนาคารพาณิชย์จะทำกำไรจากส่วนต่างระหว่างอัตราดอกเบี้ยเงินกู้และเงินฝากได้ รวมทั้งการลงทุนในภาคธนาคารฝั่งเอเชียและแปซิฟิกยังมีความน่าสนใจจากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ
ผลประกอบการของบริษัทขนาดใหญ่ที่มีพื้นฐานดี เน้นรายได้ที่มาจากทั่วโลกยังเป็นที่น่าสนใจของการลงทุนในช่วงที่ตลาดผันผวน โดยเฉพาะช่วงที่ผ่านมาที่ผลการดำเนินงานไตรมาสแรกดีกว่าคาด อีกทั้งหลากหลายบริษัทเป็นแบรนด์ขนาดใหญ่ที่มีความน่าเชื่อถือ นักลงทุนอาจให้น้ำหนักด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล หรือ ESG เข้าร่วมด้วย ซึ่งช่วงที่ผ่านมา กลุ่ม ESG มักมีความผันผวนน้อยกว่าตลาดโดยรวม และพร้อมเปิดโอกาสให้เกิดการเติบโตในการลงทุนระยะยาว
หมายเหตุ : บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และมิได้มีเจตนาในการชี้นำการลงทุนแต่อย่างใด นักลงทุนควรศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนตัดสินใจลงทุน
สำหรับนักลงทุนมือใหม่และผู้ที่สนใจ เรียนรู้พื้นฐานการวิเคราะห์ภาพรวมเศรษฐกิจแบบง่าย ๆ เพื่อจับทิศทางการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมต่าง ๆ และค้นหาหุ้นเด็ดในแต่ละช่วงเวลา สามารถเรียนรู้เพิ่มเติมผ่าน e-Learning หลักสูตร “Macro Analysis” ได้ฟรี!!! >> คลิกที่นี่
หรือเรียนรู้แนวทางการวิเคราะห์เศรษฐกิจมหภาคที่มีผลต่อการลงทุนรายกลุ่มอุตสาหกรรม พร้อมเจาะลึกเทคนิคในการจับจังหวะเปลี่ยนกลุ่มลงทุน เพื่อเพิ่มโอกาสทำกำไรจากการลงทุน สามารถเรียนรู้เพิ่มเติมผ่าน e-Learning หลักสูตร “Sector Rotation” ได้ฟรี!!! >> คลิกที่นี่