ตั้งแต่ต้นปี 2566 เป็นต้นมา มีเหตุการณ์มากมายที่ส่งผลกระทบต่อการเคลื่อนไหวของราคาทองคำ โดยเฉพาะการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นผลมาจากการชะลอตัวของอัตราเงินเฟ้อในสหรัฐฯ ทำให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) มีความจำเป็นน้อยลงที่จะต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายแบบเร่งตัว โดยประเมินว่าปีนี้เฟดอาจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 1 ครั้งที่ระดับ 0.25% และอาจเห็นการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในปีหน้า
จากมุมมองดังกล่าว ส่งผลให้ราคาทองคำนับตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาปรับขึ้นสู่ระดับ 2,048 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ เช่นเดียวกับราคาทองคำในประเทศไทยทำระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ระดับ 33,000 บาทต่อบาททองคำ โดยค่าเงินบาทเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าถึง 35.38 บาทต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐ และนอกจากประเด็นดังกล่าว ยังมีปัจจัยอื่น ๆ ที่ส่งผลกระทบต่อราคาทองคำ ได้แก่
ความต้องการซื้อขายทองคำ เช่นเดียวกับสินค้าประเภทต่าง ๆ หากมีอุปสงค์ต่อทองคำเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ราคาทองคำปรับตัวขึ้น สังเกตจากราคาทองคำมักจะปรับตัวขึ้นก่อนช่วงเทศกาลตรุษจีน เนื่องจากประชาชนนิยมซื้อทองคำเป็นของขวัญในวันปีใหม่จีน เป็นต้น
ดัชนีค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ (Dollar Index) เป็นดัชนีที่วัดค่าของสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐเทียบกับสกุลเงินต่าง ๆ ในตะกร้าเงิน ซึ่งประกอบไปด้วย 6 สกุลเงิน ได้แก่ เงินยูโร เงินเยนญี่ปุ่น เงินปอนด์อังกฤษ เงินดอลลาร์แคนาดา เงินโครนาสวีเดน และเงินฟรังก์สวิส หากดัชนีค่าเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้น ทำให้ผู้ที่ถือครองเงินสกุลอื่นต้องซื้อทองคำในราคาที่แพงขึ้น โดยนับตั้งแต่ปี 2565 ทองคำกับดัชนีค่าเงินดอลลาร์สหรัฐมีความสัมพันธ์กันในทิศทางตรงกันข้ามสูงถึง 73% กล่าวคือ หากดัชนีค่าเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่า ราคาทองคำมีโอกาสที่จะเพิ่มสูงขึ้น โดยดัชนีค่าเงินดอลลาร์สหรัฐทำระดับสูงสุดในรอบ 20 ปีที่ระดับ 114.7 จุดในปี 2565 ก่อนจะปรับตัวลดลงต่อเนื่อง หากนับตั้งแต่ต้นปี 2566 ที่ผ่านมา ดัชนีค่าเงินดอลลาร์สหรัฐปรับลดลงกว่า 1.8% ส่งผลให้ราคาทองคำเริ่มปรับสูงขึ้น
ปริมาณการซื้อขายทองคำของกองทุน SPDR Gold Trust ซึ่งเป็นกองทุนทองคำแท่งที่ใหญ่ที่สุดในโลก หากความต้องการทองคำเพิ่มขึ้นจะสะท้อนผ่านการถือครองทองคำของกองทุน SPDR โดยถ้านับตั้งแต่สิ้นปี 2563 ปริมาณการถือครองทองคำมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี ปัจจุบันกองทุน SPDR มีแรงซื้อทองคำเพิ่มขึ้น โดยปริมาณการถือครองทองคำอยู่ที่ 930.6 ตัน เพิ่มขึ้นประมาณ 13 ตัน หรือ 1.4% จากสิ้นปี 2563
ดัชนีความผันผวน (Volatility Index : VIX) หากดัชนีความผันผวนมีค่าสูงขึ้น สะท้อนให้เห็นว่านักลงทุนมีความกังวลต่อสภาวะตลาดและเกิดแรงซื้อทองคำในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย เช่น ช่วงเกิดวิกฤติซับไพรม์ปี 2551 ดัชนีความผันผวนปรับขึ้นแตะ 96.4 จุด ทำระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์และราคาทองคำปรับขึ้น 5% เป็นต้น
ตัวเลขเศรษฐกิจสำคัญของสหรัฐอเมริกา เช่น ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม อัตราการว่างงาน ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เป็นต้น สะท้อนถึงความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจในประเทศ หากตัวเลขเศรษฐกิจดี ส่งผลให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้น ซึ่งเป็นปัจจัยลบต่อราคาทองคำ
หากมองย้อนกลับไปในอดีต ภาพรวมราคาทองคำยังมีแนวโน้มเป็นขาขึ้น โดยเพิ่มจากระดับ 40 ดอลลาร์สหรัฐในปี 2513 (ค.ศ. 1970) มาทำระดับสูงสุดที่ 2,074 ดอลลาร์สหรัฐในปี 2563 ด้วยปัจจัยหนุนต่าง ๆ เช่น การแทรกแซงอัฟกานิสถานของสหภาพโซเวียตในปี 2523 วิกฤติซับไพรม์ในปี 2551 วิกฤตหนี้สาธารณะยุโรปในปี 2554 และสงครามระหว่างยูเครนและรัสเซียในปี 2565 เป็นต้น
สำหรับช่วงครึ่งหลังของปี 2566 ประเมินว่าราคาทองคำยังมีโอกาสทำจุดสูงสุดใหม่ เนื่องจากเฟดมีโอกาสหยุดการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปีของสหรัฐฯ และดัชนีค่าเงินดอลลาร์สหรัฐมีแนวโน้มชะลอตัวต่อเนื่อง
สำหรับการลงทุนทองคำในปัจจุบัน นอกจากการซื้อขายทองคำแท่งหรือทองรูปพรรณโดยตรงแล้ว นักลงทุนยังสามารถเลือกลงทุนทองคำผ่านการซื้อขายสินทรัพย์ประเภทต่าง ๆ เช่น กองทุนรวมที่ลงทุนในทองคำ หรือกองทุนที่สร้างผลตอบแทนตามราคาทองคำ เช่น SPDR Gold Shares (GLD) ซึ่งเป็น ETF ที่ถือครองทองคำแท่งมากที่สุดในโลก และมีมูลค่าสินทรัพย์ทั้งหมดภายใต้การจัดการ (AUM) ใหญ่ที่สุดในกลุ่มสินค้าโภคภัณฑ์ที่อ้างอิงทองคำ ประมาณ 60,093 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และสามารถซื้อขายผ่านตลาดหุ้นสหรัฐอเมริกา
นอกจากนี้ นักลงทุนยังสามารถเก็งกำไรทองคำผ่านสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (Futures) ที่อ้างอิงทองคำผ่านตลาดอนุพันธ์ (บมจ.ตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (ประเทศไทย) หรือ TFEX) ได้อีกด้วย โดยทองคำถือเป็นหนึ่งในสินค้าอ้างอิงที่ได้รับความนิยมในการซื้อขาย ซึ่งปัจจุบันสินค้า Futures ที่อ้างอิงทองคำใน TFEX แบ่งออกเป็น 3 ประเภท
โดยสรุป นักลงทุนที่ต้องการทำกำไรจากส่วนต่างของราคาทองคำทั้งในระยะสั้นและระยะยาว การซื้อขายผ่านสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (Futures) ที่อ้างอิงทองคำในตลาด TFEX ถือเป็นอีกทางเลือกหนึ่ง และหากต้องการเก็งกำไรจากการเคลื่อนไหวของราคาทองคำในตลาดโลกโดยตรง ควรเลือกซื้อขายผ่านสินค้า Gold Online Futures
สำหรับผู้ที่รับความเสี่ยงจากค่าเงินได้หรือต้องการป้องกันความเสี่ยงจากทองคำที่ถืออยู่ การซื้อขาย Gold Futures จะมีความเหมาะสมมากกว่า ส่วนผู้ที่ต้องการถือครองทองคำจริงก็ควรเลือกซื้อขายผ่านสินค้า Gold-D ดังนั้น การตัดสินใจว่าจะเลือกซื้อขาย Futures ที่อ้างอิงทองคำในตลาด TFEX จะขึ้นอยู่กับเป้าหมายการลงทุนของคุณ
อย่างไรก็ตาม การลงทุนทองคำผ่านสัญญาซื้อขายล่วงหน้า เป็นการลงทุนที่มีความเสี่ยงสูง เนื่องจากหากนักลงทุนคาดการณ์ราคาทองคำผิดทาง เช่น ซื้อสัญญาซื้อขายทองคำล่วงหน้า โดยคาดว่าราคาทองคำจะปรับขึ้น แต่ราคาทองคำกลับอ่อนตัวลง นักลงทุนมีโอกาสถูกเรียกเงินหลักประกันเพิ่ม (Margin Call) ซึ่งจะต้องเพิ่มเงินลงทุน ดังนั้น นักลงทุนจะต้องติดตามราคาและข้อมูลเกี่ยวกับทองคำอย่างใกล้ชิด
หมายเหตุ : บทความนี้เพื่อใช้สำหรับศึกษาเบื้องต้นเท่านั้น มิได้มีเจตนาในการชี้นำการลงทุนแต่อย่างใด นักลงทุนควรศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนตัดสินใจลงทุน
สำหรับนักลงทุนมือใหม่และผู้ที่สนใจ เทรดสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (Futures) ที่อ้างอิงทองคำ แต่ไม่รู้จะเริ่มต้นอย่างไร สามารถเรียนรู้กลยุทธ์การลงทุน กลยุทธ์การเก็งกำไร และข้อควรระวังในการลงทุน ผ่าน e-Learning หลักสูตร “รอบรู้กลยุทธ์ลงทุน Futures” ได้ฟรี!!! >> คลิกที่นี่