ตั้งแต่ต้นปี 2566 ภาพรวมของการลงทุนมีปัจจัยแวดล้อมที่เข้มข้นและร้อนแรงเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะปัจจัยในต่างประเทศที่มีหลากหลายประเด็นให้ต้องติดตามกันอย่างใกล้ชิด
บทความนี้จึงได้สรุปมุมมองของผู้เชี่ยวชาญด้านการลงทุนชั้นนำของไทย จากเสวนา “ทิศทางเศรษฐกิจ และการลงทุนปี 2566” เพื่อให้นักลงทุนได้ปรับกลยุทธ์ พร้อมวางแผนรับมือได้อย่างทันท่วงที
วิกฤตตอนนี้ส่วนหนึ่งมาจากที่ Fed ใช้นโยบาย QE อัดฉีดเงินเข้าระบบ แล้วถอนออกช้าเกินไป ทำให้เกิด Inflation expectation หรืออัตราเงินเฟ้อที่คาดจะสูงขึ้นในอนาคต ซึ่งตามมาด้วยการขึ้นดอกเบี้ยอย่างรวดเร็ว ทว่าการล้มของ Silicon Valley Bank ในสหรัฐฯ ทำให้ความคาดหวังต่อการขึ้นดอกเบี้ยกลับทิศทันที แสดงเห็นถึงความผันผวนที่ยังมีอยู่ อีกทั้งยังส่งผลต่อธนาคารในต่างประเทศที่ถือตราสารหนี้ระยะยาวจำนวนมาก อย่างไรก็ดี ปัญหาส่วนหนึ่งก็มาจากการบริหารงานของธนาคารที่ผิดพลาดด้วย จึงเชื่อว่าคงไม่ลุกลามไปทั่วอุตสาหกรรม และเมื่อรอเวลาสักพักผู้คนก็จะเริ่มคลายความกังวล
โดยภาพการลงทุนของตลาดหุ้นไทยในปี 2023 ยังเผชิญกับปัจจัยลบจากต่างประเทศ ทั้งดอกเบี้ยและเงินเฟ้อ รวมถึงปัจจัยในประเทศที่เศรษฐกิจไทยเพิ่งจะ Take off ซึ่งเมื่อเจอปัจจัยภายนอกมากระทบ ก็อาจจะซวนเซไปพักนึง แต่สิ่งที่จะหนุนให้เติบโตนั่นคือ นักท่องเที่ยวต่างชาติ หลังการเปิดประเทศ โดยเฉพาะจีนที่เปิดประเทศเร็วกว่าคาด ดังนั้น จึงมองว่าเวลานี้เป็นจังหวะดีในการซื้อลงทุน
ขณะที่ผลการเลือกตั้งจะเป็นตัวตัดสินภาพรวมตลาดในไตรมาส 2 เพราะเชื่อว่าเมื่อการเมืองมีความชัดเจน สุดท้ายนักลงทุนต่างชาติก็จะมีความมั่นใจและกลับมาเข้ามาลงทุน ส่วนเรื่องนโยบายทางการเงินของแบงก์ชาติ ก็จะมีผลต่อตลาดหุ้นไทยเช่นกัน โดยมองว่าการคงดอกเบี้ยให้อยู่ในระดับที่ต่ำต่อไป จะเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ และพยุงไม่ให้เศรษฐกิจที่กำลังฟื้นต้องฟุบลงไป
สำหรับหุ้นที่จะได้รับประโยชน์ คือ กลุ่ม Critical Domestic Sector ที่ธุรกิจมีวัฏจักร และเน้นสร้างการเติบโตภายในประเทศเป็นหลัก ซึ่งเหมาะกับสถานการณ์ปัจจุบันที่ต่างประเทศวุ่นวาย แต่ในประเทศยังดี และหากเรากังวลว่าแบงก์ชาติมีโอกาสขึ้นดอกเบี้ยตามต่างประเทศ ก็แนะนำให้หลีกเลี่ยงหุ้นที่มี Gearing สูงๆ หันมาเน้นหุ้นที่บริหารงานแบบ Conservative เน้นเติบโตในประเทศ
มุมมองและกลยุทธ์การลงทุน แนะนำให้น้ำหนัก (Overweight) ไปที่ “หุ้นธนาคาร” เพราะที่ผ่านมาราคาย่อตัวลงมาเยอะ เพราะกังวลปัจจัยภายนอก แต่เรามองว่าธนาคารไทยยังมั่นคง ดังนั้น จึงเป็นโอกาสเข้าลงทุนได้
นอกจากนี้ ยังมีกลุ่ม Domestic Sector ที่น่าสนใจ ทั้งหุ้นค้าปลีก หุ้นโรงแรม และหุ้นอสังหาริมทรัพย์ เนื่องจากเป็นผู้ได้ประโยชน์ชัดเจนจากการขยายตัวของเศรษฐกิจในประเทศ ทำให้ยังเดินหน้าไปต่อได้ในช่วงตลาดผันผวน
สุดท้ายนี้ ยอมรับว่าการหาหุ้นเพื่อลงทุนในระยะยาวเป็นเรื่องยาก เพราะประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ทำให้การบริโภคชะลอตัว โตน้อยลง เม็ดเงินที่จะเข้ามาลงทุนก็น้อยลงด้วย รัฐบาลจึงต้องปรับกลยุทธ์นโยบาย หันมาผลักดันอุตสาหกรรมที่เรามีความสามารถทางการแข่งขัน เช่น EV และ Medical Tourism เป็นต้น ซึ่งจุดสำคัญคือนักลงทุนต้องเฝ้าดูว่าภาคอุตสาหกรรมไหน จะได้ประโยชน์อย่างต่อเนื่องจากการสนับสนุนของภาครัฐ
ปัจจัยที่น่าห่วงมากสุดตอนนี้ คือ สงครามรัสเซีย-ยูเครน ด้วยสถานการณ์ตึงเครียดขึ้นเรื่อยๆ ตรงกันข้ามกับวิกฤติธนาคาร ซึ่งเชื่อว่าเป็นเพียงโฆษณาคั่นเวลาเท่านั้น เพราะหากย้อนดูวิกฤตระดับโลกอื่นๆ จะมาจาก 3 เหตุการณ์สำคัญ ได้แก่ 1.) Liquidity Risk 2.) Event Market Risk และ 3.) Credit Risk แต่ว่าครั้งนี้ยังขาดเรื่อง Credit Risk หรือความเสี่ยงจากการผิดนัดชำระหนี้ ซึ่งปัญหานี้ยังห่างไกล
หันกลับมาที่เศรษฐกิจไทย เราคาดว่า GPD ปีนี้จะโต 3.7% ดีขึ้นจากปีก่อนที่ทำได้ 2.7% แต่คำถามคือเศรษฐกิจไทยดีจริงไหม? เพราะว่าแม้ตัวเลขจะสูงขึ้น แต่ก็มาจากฐานที่ต่ำในปีก่อน เพราะฉะนั้น จึงต้องมองไปถึง 2024-2025 ที่จะสะท้อนศักยภาพของเราได้จริงๆ
ส่วนตัวมองว่าว่าเศรษฐกิจไทยยังไม่ได้แข็งแกร่งนัก ด้วยการเติบโตที่กระจุกตัวแค่บาง sector เช่น การท่องเที่ยว เป็นต้น แต่โจทย์ใหญ่ที่สำคัญคือการทรานฟอร์มของอุตสาหกรรมหลักๆ ของประเทศไปสู่อนาคต เช่น ยานยนต์ที่จะเปลี่ยนผ่านไปสู่ EV รวมไปถึงอุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซฯ ที่กำลังมุ่งสู่ Green Energy
ทั้งนี้ อีกปัจจัยที่อยากให้นักลงทุนติดตาม คือ ตัวเลข NPL formation ที่แสดงการก่อตัวของสินเชื่อที่กลายเป็นหนี้เสียในแต่ละไตรมาส ข้อมูลที่น่าสนใจพบว่าในช่วงไตรมาส 3 และ 4 ของปี 2565 NPL formation กระชากขึ้นมาแรง สาเหตุมาจากการกลับมาจ่ายหนี้ปกติ หลังหมดนโยบายช่วยเหลือจากทางธนาคาร ซึ่งจุดนี้เรามองว่ายังน่าเป็นห่วงและควรระวัง
สำหรับกลยุทธ์การลงทุนในตลาดหุ้นไทย แนะนำธีมหลัก ดังนี้ 1.) Reopening Play ซึ่งได้ประโยชน์จากนักท่องเที่ยวที่จะเข้าไทยกว่า 30 ล้านคน 2.) K-Shaped economics คือธุรกิจที่เจาะกลุ่มกำลังซื้อสูง เป็นสินค้า Luxury ที่มีความยืดหยุ่นต่อราคาต่ำ 3.) กลุ่มที่ได้ผลประโยชน์จากดอกเบี้ยขาขึ้น เช่น ธนาคารขนาดใหญ่ พร้อมกันนี้ยังสามารถเก็งกำไรในกลุ่มที่ได้ประโยชน์จากประเด็น Geopolitical Risk, NPL Cycle และ Yield Curve ที่ยังเหลือช่องว่างให้ขึ้นอีกมาก
ส่วนตัวคิดว่า Silicon Valley Bank ไม่ใช่ธนาคาร แต่เป็น Private Equity Fund มากกว่า โดยธุรกิจค่อนข้างกระจุกตัว ทำให้เมื่อเกิดปัญหาจุดนึง เลยกระทบไปอย่างรวดเร็ว ซึ่งมั่นใจว่า Fed จะบรรเทาผลกระทบลงได้ แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อผลกระทบเกิดขึ้นแล้ว Recession ก็คงจะตามมาแน่นอน
สิ่งที่นักลงทุนควรจับตามองหลังจากนี้ คงหนีไม่พ้นแนวโน้มการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่ยังไม่จบ เพราะ Fed ยังกลัวเรื่องเงินเฟ้อมากกว่า Recession โดยปัจจัยที่ต้องดูประกอบกัน คือ อัตราการว่างงาน ตัวเลขค่าแรง และยอดขายที่อยู่อาศัย ซึ่งเชื่อว่าในระยะยาวทั้งหมดนี้จะเป็นขาลง ทำให้จะมีการลดดอกเบี้ยตามมา
อีกประเด็นคือสงครามรัสเซีย-ยูเครน ซึ่งตอนนี้ยังยืดเยื้อไม่จบสักที แต่ปัจจุบันยูเครนกำลังบุกชิงดินแดนทางด้านใต้ไปถึงไครเมีย ซึ่งเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญ และจะเป็นตัวชี้ชะตาว่าสงครามจะจบหรือไปต่อ คาดจะเห็นความชัดเจนประมาณเดือนเมษายน-พฤษภาคม
ขณะที่ตลาดหุ้นไทย ถือว่ายังเป็น Fund Flow Market ที่ขึ้นลงตามเม็ดเงินลงทุนต่างชาติ ส่วนการเลือกตั้ง หากเกิดความเปลี่ยนแปลงก็เชื่อว่าจะเป็น Sentiment ที่ดีต่อตลาดหุ้น ทว่าปัญหาของหุ้นไทยเป็นเรื่องของ EPS โดยปี 2023 คาดอยู่ 87.8 บาทต่อหุ้น ซึ่งระดับนี้ค่อนข้างยากที่ SET Index ที่พุ่งทะยานไปถึง 1700 - 1800 จุด
ในแง่ของการคัดเลือกหุ้น จึงโฟกัสกลุ่มหุ้น Big Cap. ที่จะมาหนุนดัชนีช่วงเลือกตั้ง และหลังจากนั้นหาก Recession เกิดขึ้น คงต้องมาไล่วิเคราะห์ Bottom Up เพื่อหาหุ้นที่มีเสถียรภาพในช่วงที่ตลาดต่างประเทศย่ำแย่
จากข้อมูลดังกล่าวกลยุทธ์การลงทุนจึงวิเคราะห์บนพื้นฐานว่า 1.) SET ฟื้นตัวผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว และขึ้นรอเลือกตั้ง ก่อนจะเข้าสู่ Global recession 2.) รัฐบาลใหม่ที่เข้ามา ล้วนต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ 3.) ดอกเบี้ยขาขึ้นใกล้พีคแล้ว และจะเริ่มปรับลง
ดังนั้น มองว่าผู้ได้ประโยชน์ คือ หุ้นธนาคาร โดยระยะสั้นจะได้รับประโยชน์จาก Fund Flow ที่ไหลเข้าก่อนกลุ่มอื่น ส่วนระยะยาวเมื่อดอกเบี้ยขาลง จึงค่อยกลับมาดูปัจจัยพื้นฐาน
กลุ่มที่สองคือการบริโภคในประเทศ และการท่องเที่ยว ปัจจุบันนักท่องเที่ยวจีนกลับมาอยู่ที่ 15-20% ของ Pre-Covid ซึ่งเดือนตุลาคมนี้ที่เป็นช่วง Golden Week จะเป็นบทสอบแรกว่าคนจีนจะกลับมาขนาดไหน อย่างไรก็ดี ประเด็นนี้ยังมี Growth Story ต่อไปได้อีก 1-2 ปี นอกจากนี้ แนะนำการเล่นในธีม Bottom Fishing หรือซื้อหุ้นที่ราคาอยู่โซนจุดต่ำสุด โดยเข้าถือเพื่อลงทุนในระยะยาว
สุดท้ายนี้แม้การเลือกหุ้นในระยะยาว 3-5 ปี จะวิเคราะห์ได้ยาก แต่ทางเราก็มองว่าไอเดียการลงทุนในกลุ่มที่เป็น Long Term Sustainable Growth อย่างเช่นกลุ่ม Healthcare Pharma นั้นถือว่าเป็นอะไรที่น่าสนใจทีเดียว
สำหรับใครที่คิดจะซื้อหุ้นสักตัวในช่วงนี้ สิ่งสำคัญคือข้อมูลอย่างรอบด้าน ตลาดหลักทรัพย์ฯ สำนักงาน ก.ล.ต. และสมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน ได้ร่วมดำเนินโครงการจัดทำบทวิเคราะห์สำหรับผู้ลงทุน ให้มีความครอบคลุมหลักทรัพย์มากขึ้น เพื่อเป็นข้อมูลช่วยประกอบตัดสินใจลงทุน เห็นโอกาสชัดเจนขึ้น
สุดท้ายนี้หากนักลงทุนสนใจเริ่มต้นลงทุนในหุ้นกลุ่มต่าง ๆ และต้องการข้อมูลเพื่อนำไปวิเคราะห์เชิงลึก ตลาดหลักทรัพย์ฯ นักลงทุนสามารถสมัครใช้บริการ SETSMART ได้เพียงในราคา 250 บาทต่อเดือน คลิกที่นี่
นอกจากนี้ นักลงทุนยังสามารถค้นหาข้อมูลหุ้นที่น่าสนใจแบบครบทุกมิติจากบทวิเคราะห์หลักทรัพย์ คลิกที่นี่