เทรนด์ "NET ZERO" กับโอกาสการลงทุนที่ยั่งยืนในไทย

โดย SET X The Standard
5 Min Read
24 เมษายน 2566
2.774k views
1200x600 px

"โลกรวน" ก่อกวนถึงเศรษฐกิจ

ดร.กวินทร์ ภู่พกสกุล ระบุว่า จากข้อมูลปี 2020 มูลค่าความเสียหายจากภัยธรรมชาติมากถึง 2.1 แสนล้านดอลลาร์ สูงกว่าปี 2019 ถึง 5 หมื่นล้านดอลลาร์ และทั่วโลกมุ่งสู่พันธสัญญาอุณหภูมิโลกภายในปี 2030 หรือ 2050 ไม่ควรเกิน 1.5 องศาเซลเซียส โดยอย่าให้ถึงระดับ 2 องศาเซลเซียส เพราะจะสร้างความเปลี่ยนแปลงที่เข้าขั้นวิกฤตหรือหายนะได้ อีกทั้งข้อมูลของ WWF ระบุว่า ถ้าอุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้น 1.5 องศาเซลเซียส มีโอกาสที่น้ำจะท่วม 100% และถ้า 2 องศาเซลเซียส มีโอกาสน้ำท่วมถึง 170% และส่งผลให้สัตว์หลายประเภทรวมถึงแมลงต่างๆ หายไปถึง 18% รวมทั้งพืชพันธ์ุหายไป 6% และผลจากภัยแล้ง น้ำแข็งขั้วโลกละลาย จะทำให้เกิดผลกระทบมูลค่าสูงถึง 410 ล้านดอลลาร์

 

“จากกรณีศึกษาที่ดีสุดภายใต้เทคโนโลยีปัจจุบัน โอกาสที่โลกจะมีอุณหภูมิสูงขึ้นน่าจะอยู่ที่ 2 องศาเซลเซียส จากที่เคยคาดการณ์ว่าภายในปี 2030 หรือ 2050 จะช่วยกันให้อุณหภูมิโลกไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียส จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้ผู้นำหลายประเทศปรับเป้าหมายและหาวิธีการเข้าสู่ Carbon Neutrality กับ Net Zero” 

 

ก่อนลงทุนต้องเข้าใจ Carbon Neutrality กับ Net Zero

"Carbon Neutrality" คือการพยายามลดการปล่อยคาร์บอนลงให้ได้ เพื่อควบคุมปริมาณการปล่อยคาร์บอนเข้าสู่ชั้นบรรยากาศ ส่วนที่เหลือที่ลดไม่ได้ต้องทำการชดเชยหรือกักเก็บด้วยวิธีอื่น เช่น การใช้คาร์บอนเครดิตและการปลูกป่า 

 

ขณะที่ "Net Zero" คือการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ หรือการไม่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเลย โดยคำนึงถึงการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตลอดทั้งห่วงโซ่การผลิต หรือตั้งแต่ต้นน้ำไปยังปลายน้ำ

 

ไทยเพิ่งเริ่ม "Carbon Neutrality" แต่ทั่วโลกกำลังเป็น "Net Zero"

ปัจจุบันไทยปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์และก๊าซเรือนกระจกอยู่อันดับ 20 กว่าของโลก แม้ไทยไม่ได้เป็นประเทศที่ปล่อยคาร์บอนอันดับต้นๆ ของโลก แต่เมื่อดูผลกระทบด้าน Climate Change ไทยกลับเป็นอันดับที่ 9 ของโลกที่ได้รับผลกระทบในระยะยาว เนื่องจากเป็นประเทศที่ต้องพึ่งพาภาคเกษตรเป็นหลัก และมีพื้นที่ประมาณ 40% เป็นพื้นที่ป่าไม้ โดยไทยมีกำหนดสู่ Carbon Neutrality ปี 2050 และ Net Zero ปี 2065 เมื่อเทียบกับประชาคมโลกที่รักษาคำมั่นสัญญา Carbon Neutrality ปี 2030 และ Net Zero ปี 2050

 

เทรนด์ Net Zero มาแรง

ต้องยอมรับว่าตลอด 10-15 ปี ทั่วโลกผ่านการปรับเรื่อง ESG ได้ตามเป้าหมาย 80-90% อย่างบริษัทเทคยักษ์ใหญ่ในโลกที่กำลังก้าวสู่ Net Zero คือ Google และ Amazon เป็น 2 บริษัทแรกที่ประกาศว่า ถ้าประเทศไหนอยากให้บริษัททั้ง 2 แห่งไปตั้งสาขาในประเทศนั้น ต้องสามารถ Supply พลังงานทางเลือกให้ได้ก่อน

 

หรือมุมด้านการลงทุนก็มีตัวอย่างให้เห็นแล้วว่า บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์มีการกดดันให้แบงก์ใหญ่ในยุโรปอย่าง Barclays-BNP ยุติการให้สินเชื่อกับบริษัทผลิตน้ำมันภายในปี 2023 หรือกรณีที่ Man Group-Amundi-HSBC ใช้สิทธิผู้ถือหุ้นรายใหญ่ไปกดดันบริษัท J-Power บริษัทผลิตไฟฟ้าด้วยถ่านหินของญี่ปุ่นให้ปรับเปลี่ยนวิธีการผลิตไปใช้พลังงานทางเลือกมากขึ้น 

 

โอกาสการลงทุนใน Net Zero

 เมื่อบริษัททั่วโลกเริ่มเอาเรื่อง Net Zero มาเป็นเป้าหมายหลักที่ต้องไปให้ถึง ย่อมเป็นโอกาสของการลงทุนได้เช่นกัน โดยปี 2022 แม้เป็นปีที่แย่สำหรับภาคการลงทุน แต่กลับมีเม็ดเงินไหลเข้ากลุ่ม Net Zero สูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ประมาณ 1,110 ล้านดอลลาร์ ซึ่งโดยหลักเข้ามาในกลุ่มประเทศเอเชีย-แปซิฟิก

 

“ปัจจุบันบริษัทขนาดใหญ่ทำเรื่อง Carbon Neutrality ไปหมดแล้ว ดังนั้นนักลงทุนไทยควรปรับมุมมองการลงทุนให้อยู่ในกระแสที่เป็น Net Zero มากขึ้น”

 

ข้อดี

  1. การเลือกหุ้นที่มีเป้าหมาย Net Zero เท่ากับเป็นการลดความเสี่ยงทางด้านนโยบายแล้วครึ่งหนึ่ง โดยนักลงทุนต้องเข้าใจว่าการหาหุ้นที่มีความเสี่ยงด้าน ESG ต่ำ เพื่อลดความเสี่ยงต่อนโยบายที่จะเกิดขึ้นในอนาคต มากกว่าการหาหุ้นที่มีอัตราการเติบโตหรือกำไรสูงสุด เพราะถ้าเทียบกับปัจจุบันปี 2023 กับปี 2030 ที่เป็นปีเป้าหมายที่ทั่วโลกพยายามเข้าถึง Carbon Neutrality เท่ากับเหลืออีกเพียง 7 ปีเท่านั้น 


  2. การใช้พลังงานทางเลือกจะช่วยลดต้นทุนการใช้พลังงานระยะยาว ซึ่งเท่ากับเป็นการเพิ่มอัตรากำไรระยะยาวให้บริษัท แล้วส่งผลต่อผลการดำเนินงานที่ดีได้เช่นกัน


  3. หลังจากนี้กระแสกดดัน Net Zero จะเพิ่มขึ้น ถ้าไม่ลงทุนหุ้นกลุ่มนี้หรือไม่ได้เอาเรื่อง ESG มาอยู่ในการลงทุน จะเสมือนถูกกันออกจากอะไรบางอย่าง และถ้าเลือกลงทุนที่มี Net Zero และ ESG จะได้ประโยชน์อื่นมากกว่าตัวเงินเพียงอย่างเดียว

 

ข้อเสีย

การจะลงทุนตามเทรนด์ Net Zero หรือ ESG ต้องระมัดระวังเรื่องการฟอกเขียว (Greenwashing) ที่อาจทำให้เกิดความเข้าใจผิดได้ว่าสิ่งที่ลงทุนนั้นเป็นการมุ่งสู่ Net Zero ทั้งที่ความจริงอาจไม่ได้ดำเนินการจริง นักลงทุนอาจต้องศึกษารายชื่อหุ้นที่ผ่านการตรวจสอบอย่างชัดเจนจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) 

 

เทรนด์ Net Zero มีผลิตภัณฑ์การลงทุนหลากหลาย

  1. หุ้น: แม้ว่าบริษัทจดทะเบียนในประเทศไทยจะมีเป้าหมาย Net Zero ยังค่อนข้างน้อย แต่นักลงทุนสามารถพิจารณาได้จากรายชื่อหุ้นยั่งยืน THSI หรือ Sustainability Investment ที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยจัดทำทุกปี ซึ่งล้วนเป็นบริษัทที่มีการดำเนินงานด้าน ESG ที่ดี หรือสามารถไปดูรายงานประจำปี 56-1 One Report ของแต่ละบริษัท ซึ่งจะมีการรายงานความยั่งยืนด้วย 

  2. กองทุนที่ลงทุนใน ESG: สำหรับกองทุนไทยเป็นกองทุน SRI Fund ที่อยู่ภายใต้การกำกับของ ก.ล.ต. ซึ่งมีรายชื่อหุ้นและกลุ่มการลงทุนแบบยั่งยืนที่ผ่านการตรวจสอบอย่างชัดเจน และยังสามารถตรวจสอบการปฏิบัติการฟอกเขียวเบื้องต้นได้จาก Morningstar Analytic เพิ่มเติมได้อีกทางหนึ่ง


  3. ดัชนี: ช่วง 10 ปีที่ผ่านมาหลายบริษัทจัดอันดับดัชนีไม่ว่าจะเป็น MSCI, Nikkei หรือ S&P พยายามจะปรับตัวดัชนีเข้ากับ Net Zero หรือ Climate Change เพื่อดึงดูดให้นักลงทุนให้ความสนใจเรื่องนี้มากขึ้น เช่น Nikkei 225 Climate Change 1.5°C Target Index เป็นดัชนีพิจารณามาร์เก็ตแคปควบคู่ไปกับปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของบริษัท หากบริษัทใดมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงจะถูกปรับสัดส่วนน้ำหนักในดัชนีนี้ลดลง ในทางกลับกัน บริษัทที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำอาจมีสัดส่วนน้ำหนักที่มากกว่า 


  4. ตราสารหนี้: ตราสารหนี้ในประเทศไทยส่วนใหญ่คือ ตราสารหนี้สีเขียว หรือที่เรียกกันว่า Green Bond ส่วนใหญ่จะนำไปลงทุนในโครงการพลังงานหมุนเวียนหรือพลังงานทางเลือกที่ออกโดยบริษัทจดทะเบียนไทย นักลงทุนสามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติม อาทิ อัตราผลตอบแทน วัตถุประสงค์การใช้เงิน อายุของตราสาร รวมถึงมาตรฐานในการออก Green Bond ได้จากสรุปข้อมูลสำคัญของตราสาร (Fact Sheet) 

 

โอกาสการลงทุน Net Zero ในไทย

ปัจจุบันไทยยังไม่มีอุตสาหกรรมไหนที่เข้าสู่ Net Zero อย่างสมบูรณ์แบบ ดังนั้นพอร์ตการลงทุนจะเป็นลักษณะผสมผสานระหว่างการลงทุนในพลังงานฟอสซิลอย่างน้ำมันหรือไฟฟ้าที่ผลิตจากถ่านหิน ก๊าซธรรมชาติ กับการลงทุนในพลังงานทางเลือก แต่สัดส่วนพลังงานทางเลือกจะค่อยๆ เพิ่มสัดส่วนขึ้น เพราะบริษัทในประเทศไทยส่วนใหญ่มีการปรับตัวไปสู่พลังงานทางเลือก ยกตัวอย่างเช่น ธุรกิจโรงไฟฟ้า มีการสร้างโรงไฟฟ้าจากพลังงานทางเลือก หรือจะเป็นลักษณะการไปควบรวมหรือซื้อกิจการ (M&A) ที่มีการดำเนินงานด้านพลังงานทางเลือกอยู่แล้ว

 

กลุ่มพลังงานและกลุ่มขนส่งไทยต้องเร่งปรับตัว

อุตสาหกรรมที่จะได้รับผลกระทบจากการควบคุมนโยบายแรกๆ คือ กลุ่มพลังงาน และกลุ่มขนส่ง เนื่องจากเป็น 2 กลุ่มธุรกิจที่มีการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์มากที่สุด ทำให้ต้องเร่งปรับตัวในการทำธุรกิจมากขึ้น ทั้ง 2 กลุ่มธุรกิจปัจจุบันอยู่ระหว่างการปรับเปลี่ยนจากการใช้พลังงานฟอสซิลเป็นพลังงานทางเลือก เพื่อเดินทางสู่ Carbon Neutrality ภายในปี 2030 และ Net Zero ปี 2050 

 

ภาคครัวเรือนมีการติดตั้งโซลาร์รูฟหรือการใช้รถไฟฟ้ามากขึ้น ขณะที่ผู้บริโภคน้ำมันรายใหญ่อย่างเครื่องบินหรือการเดินเรือยังต้องรอเวลาในการปรับเปลี่ยน เพราะการใช้พลังงานไฟฟ้าหรือโซลาร์อาจจะไม่ใช่คำตอบ แต่จะเป็นลักษณะกรีนไฮโดรเจนแทน ทั้งนี้ ตัวแปรที่ทำให้บริษัทเหล่านี้มีการเปลี่ยนแปลงมาใช้พลังงานทางเลือกมากขึ้นเกิดจาก 2 ปัจจัย คือ ความต้องการใช้ที่เปลี่ยนไป และราคาการซื้อขายคาร์บอนเครดิต 

 

ถึงจังหวะลงทุนหุ้นเกี่ยวกับรถไฟฟ้าในไทยจริงหรือ

แม้ความต้องการใช้รถยนต์ไฟฟ้าในไทยปรับตัวสูงขึ้นในปี 2022 เพิ่มขึ้นถึง 206% แต่ปัจจุบันอาจจะไม่ใช่ช่วงเวลาที่ดีที่สุดในการซื้อรถไฟฟ้า เพราะต้นทุนยังไม่ได้ถูกกว่ารถยนต์สันดาปทั่วไป โดยราคาแบตเตอรี่ถือเป็น 30-40% ของต้นทุนรถทั้งหมด ซึ่ง McKinsey คาดการณ์ว่าราคาต้นทุนรถไฟฟ้าจีนและยุโรปจะใกล้เคียงกับรถยนต์ประเภทสันดาปภายในปี 2030 อีกทั้งโครงสร้างพื้นฐานในเรื่องการติดตั้งสถานีจ่ายไฟในไทยยังไม่รองรับได้ทั้งหมด ดังนั้นหุ้นที่มีความเกี่ยวข้องกับรถยนต์ไฟฟ้าอาจยังเป็นเพียงกระแสระยะสั้น เพราะทั้งหมดนี้ต้องรอดูนโยบาย

 

“อีก 2 ปีจะมีรถยนต์ไฟฟ้านำเข้าจากจีน และเริ่มมีการติดตั้งฐานการผลิตที่ไทยโดยมีเรื่องประโยชน์ทางภาษี ซึ่งหุ้นที่มีความเกี่ยวข้องอาจต้องมีการปรับตัว แต่ต้องอย่าลืมว่าหุ้นที่เกี่ยวกับการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ในไทยส่วนใหญ่ยังเป็นฐานการผลิตจากค่ายยักษ์ใหญ่ของญี่ปุ่นเป็นหลัก”

 

ทั้งนี้ กลุ่มชิ้นส่วนผลิตยานยนต์ไทยยังพึ่งพายอดขายของค่ายรถยนต์ญี่ปุ่น ซึ่งยังเป็นรถยนต์ประเภทสันดาปอยู่ ทำให้หุ้นไทยยังไม่ได้รับประโยชน์ในส่วนนี้ อีกทั้งถ้าปรับเปลี่ยนชิ้นส่วนรถยนต์ในไทยมาเป็นรถไฟฟ้าเลย จากที่มีชิ้นส่วนประกอบทั้งหมด 30,000 ชิ้น จะเหลือ 1,500-3,000 ชิ้น ทำให้หุ้นบริษัทผู้ผลิตเดิมที่เป็นซัพพลายเออร์ไทยต้องมีการปรับตัว รวมทั้งมูลค่าเพิ่มของอุตสาหกรรมรถยนต์จะเปลี่ยนไป เพราะมีเรื่องของวัตถุดิบในการผลิตอย่างลิเธียมและนิกเกิล ซึ่งอินโดนีเซียประกาศแล้วว่ามีแร่ลิเธียมที่เพียงพอต่อการผลิตแบตเตอรี่ไฟฟ้า และพร้อมเป็นศูนย์กลางแห่งใหม่ ขณะที่เวียดนามชูด้านค่าแรงที่ถูกกว่าในไทย ซึ่งในระยะยาวอยู่ที่การปรับตัวว่าไทยจะรับประโยชน์กับการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ได้อย่างไร

 

“ปัจจุบันราคาหุ้นที่เกี่ยวเนื่องกับรถยนต์ไฟฟ้ามีมูลค่าสูงกว่าผู้ผลิตรถยนต์รายเก่าไปเป็นที่เรียบร้อยแล้วตั้งแต่ปี 2019-2020 และเมื่อเทรนด์ชัดเจนจะมีการเติบโตอีกหลายเท่า คิดว่าเล่นได้ต่อ แต่เป็นในระยะยาว ขณะที่หุ้นชิ้นส่วนยานยนต์ที่เข้าสู่การลดคาร์บอนหรือ Net Zero ยังมีน้อย แต่ต้องดูว่าเมื่อใดที่บริษัทแม่ผู้ผลิตรถยนต์ยุโรปและญี่ปุ่นประกาศให้ Supply Chain ต้องใช้พลังงานทดแทนให้ได้กี่เปอร์เซ็นต์ ก็อาจเป็นความเสี่ยงที่เกิดขึ้นกับกลุ่มผู้ผลิตชิ้นส่วนได้ ดังนั้นควรมีการศึกษาหรือเริ่มมองการลงทุนในบริษัทที่เริ่มมีการปรับตัวไว้ก่อน”

 

แม้ไทยจะขับเคลื่อนเรื่อง Net Zero ได้ช้า แต่เชื่อว่าอีกไม่เกิน 5 ปี กระแสความกดดันทั่วโลกจะบังคับให้เกิดการปรับเปลี่ยนอย่างรวดเร็ว ดังนั้นนักลงทุนควรศึกษา ทำการบ้าน และตามเทรนด์เพื่อวางแผนการลงทุนไว้ เพราะสุดท้ายในะระยะยาว ทุกองค์กรต้องปรับแผนการดำเนินงานเพื่อเข้าสู่สังคมคาร์บอนต่ำที่นักลงทุนก็ยังสามารถหาผลตอบแทนจากการลงทุนในระยะยาวได้

 

อ้างอิง: 

 

อ้างอิง

สามารถค้นหาความรู้ด้าน ESG เพิ่มเติมได้ที่ : SET ESG Academy
ตลาดหลักทรัพย์ฯ ขอแนะนำ Platform บ่มเพาะและเผยแพร่ความรู้ด้านความยั่งยืนในทุกมิติ เพื่อยกระดับ ESG Development ของตลาดทุนไทย และสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกในการพัฒนาความยั่งยืน ระดับบุคคลและองค์กรต่าง ๆ ของประเทศ (Click)

หรืออัพเดทความรู้ด้านความยั่งยืนประจำวันได้ที่  Line@ : setsustainability (Click ติดตาม)

แท็กที่เกี่ยวข้อง: