มีคำถามเกือบตลอดเวลาเกี่ยวกับตลาดหุ้นไทยว่า “ช่วงนี้ตลาดหุ้นเป็นตลาดกระทิงหรือหมี” ถึงแม้จะเป็นคำถามที่กว้างและไม่มีใครฟันธงได้อย่างแม่นยำ แต่หากประเมินได้ว่าตลาดหุ้นมีแนวโน้มไปในทิศทางใด ย่อมทำให้สามารถวางกลยุทธ์ลงทุนเพื่อลดความเสี่ยง และเพิ่มโอกาสสร้างผลตอบแทนได้อย่างมีประสิทธิภาพ
โดยทั่วไปภาวะตลาดหุ้นแบ่งออกเป็น 2 ลักษณะ คือ ตลาดเป็นขาขึ้น หรือที่รู้จักกันดีว่า ตลาดกระทิง (Bull Market) และตลาดเป็นขาลง หรือเรียกกันว่าตลาดหมี (Bear Market) แต่ยังมีตลาดอีกรูปแบบหนึ่ง คือ ตลาดที่ยังไม่มีความแน่ชัด โดยขึ้นไม่มากและลงไม่มาก ไม่มีทิศทางการปรับตัวที่ชัดเจน หรือเรียกกันว่าตลาด Sideway
ซึ่งสองปัจจัยสำคัญที่จะเป็นตัวบ่งบอกว่า ภาวะตลาดนั้นจะเป็นไปในลักษณะใด ได้แก่ ปัจจัยพื้นฐาน (Fundamental) เช่น สภาวะเศรษฐกิจโดยรวม ภาวะของอุตสาหกรรม และบริษัทจดทะเบียนในตลาด ส่วนปัจจัยที่สอง คือ เม็ดเงินที่ไหลเข้า (Fund Flow) ถ้ามีปัจจัยหนุนทั้งสอง หากภาวะเศรษฐกิจสดใส อุตสาหกรรมดูดีมีการเติบโต และบริษัทจดทะเบียนสามารถทำกำไรได้ดี นักลงทุนมีความเชื่อมั่น เม็ดเงินลงทุนก็จะไหลเข้ามา ก็จะเป็นลักษณะของตลาดขาขึ้นหรือตลาดกระทิง
ในทางตรงกันข้าม หากสภาวะเศรษฐกิจดูไม่ค่อยสดใส อุตสาหกรรมก็ดูไม่ค่อยดี ผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนอาจจะไม่ค่อยหวือหวา นักลงทุนขาดความเชื่อมั่น เม็ดเงินลงทุนไหลออก ก็จะเป็นตลาดขาลงหรือตลาดหมี ในขณะที่ ตลาด Sideway เป็นตลาดที่ดูแล้วมีความสดใสในภาวะปัจจัยพื้นฐาน แต่นักลงทุนดูแล้วยังไม่มีความเชื่อมั่น ถึงแม้ว่าราคาจะย่อลงแล้วก็ตาม แต่ก็ไม่มีคนเข้าไปซื้อ หรืออีกกรณีหนึ่งคือ ภาวะที่ตลาดดูแล้วไม่ค่อยสดใส ตลาดค่อนข้างผันผวน ภาวะแบบนี้อาจเกิดการเก็งกำไรได้
โดยหากนักลงทุนสามารถที่จะรู้ได้ว่าตลาด ณ เวลานี้ มีแนวโน้มที่จะเป็นขาขึ้น ขาลง หรือ Sideway ก็จะสามารถมีข้อมูลประกอบการตัดสินใจ และเดินหน้าในการลงทุนได้อย่างมั่นใจ แต่โลกของการลงทุนก็ไม่มีอะไรแน่นอน นักลงทุนจึงควรเตรียมพร้อมที่จะรับมือและปรับเปลี่ยนแผนการลงทุนอยู่เสมอ เพราะจากนี้ไปภาวะตลาดหุ้นไทยมีโอกาสเกิดได้ทั้งหมด จึงต้องมีแผนรับมืออย่างรัดกุม
ตลาดหุ้นไทยปรับขึ้น
ปัจจัยภายนอกที่ทำให้ตลาดหุ้นไทยเป็นขาขึ้น ได้แก่ ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ยุติการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายได้เร็ว อัตราเงินเฟ้อลดลงอย่างต่อเนื่อง รวมถึงเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ฟื้นตัวได้ดีกว่าที่ตลาดประเมิน (เศรษฐกิจไม่ได้เข้าสู่ภาวะถดถอย) ซึ่งปัจจัยบวกดังกล่าวส่งผลดีต่อตลาดหุ้นสหรัฐฯ และตลาดหุ้นทั่วโลก
หากสถานการณ์เกิดขึ้นตามที่ประเมินกันในลักษณะนี้ จะทำให้นักลงทุนต่างชาติกลับมา “ซื้อ” หุ้นไทยอีกครั้ง ขณะเดียวกันเมื่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ ฟื้นตัวจะส่งผลดีต่อภาคธุรกิจของไทย เพราะสหรัฐฯ เป็นตลาดส่งออกหลักของไทย ผลที่ตามมา คือ เศรษฐกิจไทยโดยรวมดูดีตามไปด้วย
นอกจากนี้ หากปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ไม่รุนแรงหรือยืดเยื้อ เช่น สงครามรัสเซียกับยูเครนคลี่คลาย จีนกับไต้หวันลดความขัดแย้ง จะทำให้เป็น “ข่าวดี” ต่อบรรยากาศการลงทุนในตลาดหุ้นไทย
สำหรับปัจจัยภายในประเทศ คือ การเลือกตั้งในเดือนพฤษภาคมนี้ หากมีการจัดตั้งรัฐบาลได้ราบรื่น จะเป็น “ข่าวดี” ต่อตลาดหุ้นไทยเช่นกัน ที่สำคัญเมื่อไม่มีปัจจัยลบเพิ่มเข้ามา อาจทำให้ผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนเติบโตได้
หากตลาดหุ้นไทยเป็นขาขึ้นจากปัจจัยเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัว หุ้นกลุ่มที่นักลงทุนต่างชาติและรายย่อยให้ความสนใจเป็นอันดับแรก คือ กลุ่มท่องเที่ยว กลุ่มพาณิชย์ กลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค รวมถึงหุ้นที่มีความสามารถในการจ่ายเงินปันผลสม่ำเสมอ ถือเป็นหุ้นพิมพ์นิยมเมื่อมีสัญญาณว่าตลาดเริ่มเป็นขาขึ้น
อย่างไรก็ตาม เมื่อตลาดเริ่มเป็นขาขึ้น จะสังเกตเห็นเม็ดเงินลงทุนเริ่มไหลกลับเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็ว ก็จะส่งผลกระทบต่อหุ้นกลุ่มส่งออก แต่เป็นผลดีต่อธุรกิจที่มีหนี้เป็นสกุลเงินตราต่างประเทศเยอะ ๆ ดังนั้น นักลงทุนควรเลือกหุ้นให้สอดคล้องกับสถานการณ์ดังกล่าว
ตลาดหุ้นไทยปรับลดลง
ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ตลาดหุ้นเป็นขาลง คือ เศรษฐกิจสหรัฐฯ เข้าสู่ภาวะถดถอย เศรษฐกิจโลกชะลอตัวมากกว่าที่ตลาดประเมิน อัตราเงินเฟ้อยังคงอยู่ระดับสูงหรือปรับลดลงช้ามาก กำลังซื้อของผู้บริโภคอ่อนแอ รวมถึงปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ทวีความรุนแรง (ทั้งกรณีสงครามรัสเซียกับยูเครน และจีนกับไต้หวัน) ซึ่งกดดันให้ผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนเติบโตช้า ขณะที่ต้นทุนยังคงอยู่ระดับสูง
เมื่อทุกคนกำลังมองเห็นลวดหนามอยู่ข้างหน้า ก็ไม่ควรจะเดินต่อไปเพราะอาจจะเหยียบและอาจบาดเจ็บได้ จึงควรหยุดเดิน เช่นเดียวกันหากมั่นใจว่าตลาดหุ้นเป็นขาลงก็ต้องหยุดการลงทุนเพิ่ม ขณะเดียวกันควรลดพอร์ตลงทุนหุ้นลงเพื่อลดความเสี่ยง ด้วยการหันไปถือสินทรัพย์ที่มีความปลอดภัย นอกจากนี้ นักลงทุนสามารถใช้อนุพันธ์เพื่อลงทุนด้วยการ Short Futures และ Long Put Options ซึ่งมีข้อดี คือ เป็นกลยุทธ์เพื่อถัวความเสี่ยงและเก็งกำไรเมื่อตลาดเป็นขาลง
ตลาดหุ้นไทย Sideway
ตลาด Sideway เป็นสภาวะตลาดที่มีความเคลื่อนไหวในกรอบแคบ ๆ เป็นสภาวะที่ประเมินได้ค่อนข้างยากว่าราคาหุ้นจะเป็นขาขึ้นหรือขาลง หรือเป็นช่วงที่ภาวะตลาดลังเล โดยปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดภาวะลักษณะนี้มาจากปัจจัยลบสำคัญ ๆ ได้สะท้อนเข้ามาแล้ว ขณะเดียวกันยังมีปัจจัยกังวลหรือความไม่แน่นอนที่ทำให้นักลงทุนไม่กล้าตัดสินใจลงทุน รวมถึงไม่มีปัจจัยบวกเข้ามากระตุ้นให้ตลาดปรับขึ้นไปได้ เช่น ตลาดรับรู้การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 หมดแล้ว แต่ยังกังวลว่าไม่รู้ว่าการแพร่ระบาดจะสิ้นสุดเมื่อไหร่ หรือรับรู้ว่าเศรษฐกิจของสหรัฐฯ จะถดถอย แต่ไม่แน่ใจว่าจะถดถอยรุนแรงกว่าที่ประเมินไว้หรือไม่ และจะถดถอยเมื่อไหร่ หรือรับรู้ว่าจะมีการเลือกตั้งในเดือนพฤษภาคมนี้ แต่ไม่แน่ว่าหลังจากเลือกตั้งแล้วการจัดตั้งรัฐบาลจะราบรื่นมากน้อยแค่ไหน เป็นต้น
เมื่อตลาด Sideway ทำให้นักลงทุนมีความคาดหวังต่อการปรับขึ้นของกำไรส่วนต่างของราคาหุ้น (Capital Gain) ได้ยาก ดังนั้น ควรมองหาหุ้นที่จ่ายเงินปันผลสม่ำเสมอ แต่ต้องจับจังหวะการลงทุนให้แม่นยำ เพราะหากเข้าผิดจังหวะอาจซื้อหุ้นในราคาสูง ซึ่งไม่คุ้มกับเงินปันผลที่จะได้รับในอนาคต
หมายเหตุ : บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และมิได้มีเจตนาในการชี้นำการลงทุนแต่อย่างใด นักลงทุนควรศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนตัดสินใจลงทุน
สำหรับใครที่สนใจ เรียนรู้พื้นฐานการวิเคราะห์ภาพรวมเศรษฐกิจแบบง่ายๆ เพื่อจับทิศทางการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมต่าง ๆ และค้นหาหุ้นเด็ดในแต่ละช่วงเวลา สามารถเรียนรู้ได้ผ่าน e-Learning หลักสูตร “Macro Analysis” ได้ฟรี!!! >> คลิกที่นี่