อยากเริ่มลงทุน แต่ควรเริ่มลงทุนอะไรดี ?? เรียกได้ว่าเป็นคำถามที่ผุดขึ้นมาในใจเป็นอันดับแรก ๆ สำหรับนักลงทุน ซึ่งไม่ว่านักลงทุนคนนั้น เริ่มคิดที่อยากจะลงทุน หรือกำลังลงทุนอยู่แล้ว และจะอยู่ในช่วงวัยไหนก็ตาม นักลงทุนที่อยู่ใน ‘วัยที่แตกต่างกัน’ นั้น ก็อาจมีเป้าหมาย เงื่อนไข และข้อจำกัดในการลงทุนที่ ‘แตกต่างกัน’ ไป
‘ช่วงอายุ’ จึงถือเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญ ที่จะใช้กำหนดเป้าหมายและทางเลือกในการลงทุน เพราะอย่าลืมว่า
การวางแผน การกำหนดเป้าหมายการลงทุนหรือสินทรัพย์ที่ลงทุน และการรับความเสี่ยงของแต่บุคคลในแต่ละวัย
ก็จะมีความแตกต่างกันออกไป
แต่ไม่ว่าคุณจะอยู่ใน ‘วัยไหน’ ก็สามารถเริ่มต้นลงทุนง่าย ๆ ได้ไม่แตกต่างกันโดยผ่านเครื่องมืออย่าง “กองทุนรวม” นั่นเอง ซึ่งเป็นเครื่องมือการลงทุนที่สร้างมาเพื่อนักลงทุนทั่วไปอย่างแท้จริง และจะพาคุณเปิดประตูไปสู่ “จักรวาล
การลงทุน” ในสินทรัพย์การลงทุนประเภทต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศ ด้วย “เงินลงทุนน้อยหลักร้อยก็ลงทุนได้” สะดวกและเข้าใจง่าย ที่สำคัญมีผู้เชี่ยวชาญมืออาชีพอย่าง “ผู้จัดการกองทุน” ทำงานเต็มเวลาในด้านการลงทุน
มาดูแลการลงทุนของกองทุนให้เป็นไปตามนโยบายการลงทุนที่กองทุนนั้นๆ ได้ระบุเอาไว้ ช่วยให้คุณลงทุนได้
อย่างสบายใจ
กลุ่มคนวัย ‘Gen-Z’ หรือกลุ่มคนที่เกิด พ.ศ. 2541 - ปัจจุบัน หรือช่วงอายุต่ำกว่า 23 ปี เป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่เกิดมาในยุคที่มีสิ่งอำนวยความสะดวกรอบด้าน เรียนรู้รูปแบบการดำเนินชีวิตในสังคมแบบดิจิทัล ดำเนินชีวิตแบบ
มีการติดต่อสื่อสารไร้สาย และ Social Media เข้ามามีส่วนสำคัญในการดำเนินชีวิต
“คน ‘Gen Z’ จัดอยู่ใน ‘วัยเริ่มต้นการทำงาน’ รายได้จะยังไม่สูงมาก แต่ได้เปรียบเรื่องระยะเวลาในการออมและการเรียนรู้เรื่องการลงทุน เพราะอยู่ในช่วงเริ่มต้นชีวิตการทำงานที่ยังมีเวลาสำหรับความผิดพลาดได้มาก ยังมีเวลาที่จะกลับมาเริ่มต้นใหม่ ในกรณีที่เกิดความผิดพลาดขึ้น จึงสามารถลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูงได้ เพราะหากนำเงินไปวางไว้ ‘ผิดที่ผิดทาง’ เอาเงินไปออมไว้ในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำความมั่นคงสูง อาจทำให้เงินเติบโตงอกเงยไม่ทันใช้ได้ ด้วยกฎของเลข 72 อย่าลืมว่าเงินคุณจะโตเป็น 2 เท่า ในระยะเวลาเพียง 7.2 ปีเท่านั้น ที่ผลตอบแทนเฉลี่ย 10% ต่อปี ซึ่งเป็นสิ่งที่คาดหวังได้จากการลงทุนในกลุ่มสินทรัพย์เสี่ยง แต่จะใช้เวลาถึง 72 ปี หากคุณลงทุนได้ผลตอบแทนเฉลี่ย 1% ต่อปี เรียกว่าทำงานจนเกษียณเงินลงทุนคุณยังโตไม่ถึง 2 เท่าเลย หากไปลงทุนไว้
ผิดที่ผิดทาง”
คน ‘Gen-Z’ มีข้อได้เปรียบในการพัฒนาทักษะและประสบการณ์การลงทุนได้ยาวนานกว่า Gen อื่นๆ ยิ่งเริ่มลงทุนได้เร็วเท่าไหร่ยิ่งดี กล้าที่จะทดลองสิ่งใหม่ๆ ในชีวิต และหมั่นเรียนรู้เพื่อเพิ่มทักษะด้านการเงินให้กับตัวเอง ซึ่งปัจจุบัน
มีหลากหลายช่องทางให้นักลงทุนวันนี้สามารถศึกษาหาข้อมูลได้ง่ายและรวดเร็ว โดยเฉพาะช่องทางออนไลน์ ที่จะตอบโจทย์การใช้ชีวิตที่มีไลฟ์สไตล์ของคน ‘Gen-Z’ นี้ได้เป็นอย่างดี หนึ่งในช่องทางในการหาข้อมูลเรื่องการลงทุนที่สะดวกและง่ายดายของคน ‘Gen Z’ คือ เว็บไซต์ของตลาดหลักทรัพย์ฯ (www.setinvestnow.com)
เป้าหมายชีวิตของกลุ่มคน ‘Gen-Z’ นี้ จะเป็นไปเพื่อตอบโจทย์การใช้ชีวิตแบบอินเทรนด์ เก็บเงินท่องเที่ยว ซื้อ Item ที่ต้องมี หรืออยากสร้างเงินตามความฝัน
การลงทุนที่เหมาะกับคน ‘Gen-Z’ จึงเป็นกลุ่มกองทุนที่มีความเสี่ยง ด้วยวัยของคนกลุ่มนี้ที่ยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นทำงาน เน้นการสร้างความมั่งคั่งเพื่อทำให้เงินงอกเงยเติบโตได้ในระยะยาวเป็นสำคัญ ไม่ว่าจะเป็น ‘กองทุนหุ้น’, ‘กองทุนที่ลงทุนในต่างประเทศ’ หรือ ‘กองทุน Thematic’ เช่น Technology, Health Care, ESG เป็นต้น ซึ่งเป็นกลุ่ม ‘กองทุนที่มีความเสี่ยงสูง’ แน่นอนว่าผลตอบแทนคาดหวัง (Expected Return) ในระยะยาวจึงสูงกว่าการลงทุนในสินทรัพย์ประเภทอื่นด้วยเช่นกัน
ถัดมาเป็นกลุ่มคนวัย ‘Gen-Y’ กลุ่มคนที่เกิดในช่วง พ.ศ. 2523-2540 หรือมีอายุตั้งแต่ 24 – 41 ปี ซึ่งจะเป็นกลุ่มวัยทำงานมาได้ระยะหนึ่งแล้ว หรือกำลังเริ่มต้นธุรกิจ ไปจนถึงกำลังสร้างครอบครัว เป็นช่วงที่มีรายได้ค่อนข้างสูง
แต่ภาระค่าใช้จ่ายก็สูงเช่นกัน จึงเป็นวัยที่ต้องวางแผนทางเงินและการลงทุนที่ดีแบบระยะยาวอย่างจริงจังเพื่อสร้างความมั่นคงในอนาคต
“เป้าหมายการลงทุนของคนในกลุ่ม ‘Gen-Y’ จึงต้องมองไปที่ความมั่นคง สร้างครอบครัว ต้องการมีอิสรภาพ
ทางการเงิน เน้น ‘การจัดพอร์ตลงทุน (Asset Allocation)’ เพื่อสร้างผลตอบแทนที่สม่ำเสมอในระยะยาว ต่อยอดความมั่งคั่งให้กับพอร์ตการลงทุน จึงควรจัดสรรเงินลงทุนกระจายไปในสินทรัพย์ต่าง ๆ อย่างเหมาะสม แบ่งเงินลงทุนอย่างสม่ำเสมอ และใช้ประโยชน์จาก ‘กองทุนประหยัดภาษี’ ที่จะมีประโยชน์มากสำหรับคนกลุ่มนี้ ได้ทั้งผลตอบแทนและประโยชน์ทางภาษีควบคู่กันไปด้วย
โดยจะนำเงินลงทุนใน “กองทุนประหยัดภาษี” ไปหักจากเงินได้ นอกเหนือจากค่าลดหย่อนต่างๆ ที่รัฐให้มา
ตามปกติแล้ว ก็จะทำให้ “เงินได้สุทธิ” ของเราเหลือลดลง และจ่ายภาษีลดลงด้วยนั่นเอง
ปัจจุบัน “กองทุนประหยัดภาษี” มีให้เลือกลงทุนอยู่ 2 ประเภท ด้วยกัน ได้แก่ “กองทุนรวมเพื่อการออม (SSF)” และ “กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF)” โดย ‘SSF’ ลงทุนได้ ‘ไม่เกิน 30%’ ของเงินได้พึงประเมิน แต่ไม่เกิน 200,000 บาท ไม่ต้องลงทุนทุกปีใช้สิทธิในปีที่ลงทุน โดยต้องถือครอง 10 ปี นับแต่วันที่ลงทุน และใช้สิทธิได้
ช่วง 5 ปี (พ.ศ. 2563-2567)
ในขณะที่ ‘RMF’ นั้น ลงทุนได้ ‘ไม่เกิน 30%’ ของเงินได้พึงประเมิน และเมื่อรวมกับการออมเพื่อเกษียณอื่นๆ ต้องไม่เกิน 500,000 บาท และต้องลงทุนต่อเนื่อง เว้นได้ไม่เกิน 1 ปีติดต่อกัน ต้องลงทุน ‘ไม่น้อยกว่า 5 ปี’ และต้อง ‘อายุครบ 55 ปีบริบูรณ์’ จึงจะขายได้แบบไม่ผิดเงื่อนไข
“ดังนั้น ‘SSF’ จึงเหมาะกับคนอายุ 45 ปี หรือน้อยกว่า ที่มีเป้าหมายการเก็บเงินในระยะเวลา 10 ปี ในขณะที่ ‘RMF’ นั้น จะเหมาะกับคนที่อายุ 45 ปี หรือมากกว่า เพราะหากอายุ 45 ปี แล้ว จะลงทุนในกองทุนประเภทใดระยะเวลา
การลงทุนก็จะไม่แตกต่างกัน ที่สำคัญทั้ง ‘SSF’ และ ‘RMF’ นั้น ผู้ลงทุนสามารถลงทุนเพื่อประโยชน์ทางภาษีได้สูงสุดเมื่อรวมกับ PVD, กบข., กอช., ประกันชีวิตแบบบำนาญ หรือ กองทุนสงเคราะห์โรงเรียนเอกชน เมื่อรวมกันแล้วต้องไม่เกิน 500,000 บาท สามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ‘คู่มือ SSF & RMF แฝดคู่ใหม่ใช้ลดหย่อนภาษี’ คลิก
สำหรับกลุ่มคน ‘Gen-Y’ ที่มีภาระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาแล้ว กลุ่ม “กองทุนประหยัดภาษี” จึงเป็นทางเลือก
อันดับต้นๆ ในการเลือกลงทุนเลยทีเดียว ทั้ง ‘SSF’ และ ‘RMF’ ลงทุนได้ทุกประเภทสินทรัพย์ตั้งแต่ที่มีความเสี่ยงต่ำไปจนถึงความเสี่ยงสูง ซึ่งหากมองในแง่ของ “การจัดสรรเงินลงทุน (Asset Allocation)” หากจัดสรรเงินลงทุน
อย่างเหมาะสมจะช่วยเพิ่มโอกาสในการสร้างผลตอบแทนที่ดีในระยะยาว ในขณะเดียวกันก็ช่วยลดความผันผวนในระหว่างทาง ช่วยให้ผลตอบแทนจากพอร์ตการลงทุนมีเสถียรภาพมีความสม่ำเสมอของผลตอบแทนเฉลี่ยในระยะยาวได้ดียิ่งขึ้น
“หากแบ่งเป็นกลุ่มใหญ่ ๆ ‘กองทุนหุ้น’ ก็เป็นตัวแทนของฝั่งสินทรัพย์เสี่ยงช่วยเพิ่มโอกาสในการทำให้เงินงอกเงยเติบโตได้ดีในระยะยาว ในขณะที่ฝั่งของ ‘กองทุนตราสารหนี้’ ก็จะเน้นความมั่นคงของเงินต้นและผลตอบแทนที่สม่ำเสมอ ส่วนกลุ่ม ‘กองทุนทองคำ’ และ ‘กองทุนอสังหาริมทรัพย์’ นั้น จัดอยู่ในกลุ่มการลงทุนทางเลือก ที่จะมาช่วยเติมเต็มพอร์ตการลงทุนให้มีสุขภาพของพอร์ตที่ดีขึ้นเพราะมีความสัมพันธ์กับสินทรัพย์ 2 ประเภทแรกไม่มากนัก เมื่อเอามาจัดเป็นพอร์ตการลงทุนก็จะตอบโจทย์เป้าหมายการเงินของคุณได้เป็นอย่างดี แต่สำหรับผู้ลงทุนที่ไม่ถนัด
ในการจัดสรรเงินลงทุนด้วยตัวเอง ก็ยังมีกลุ่ม ‘กองทุนผสม’ ที่มีการผสมสินทรัพย์ต่างๆ เอามาไว้ให้เลือกได้ง่ายๆ ตามระดับความสามารถในการรับความเสี่ยงของตัวเองให้ได้เลือกกันสะดวกและง่ายดายยิ่งขึ้นให้เลือกลงทุนอยู่แล้ว ก็เป็นอีกทางเลือกที่น่าสนใจเช่นเดียวกัน”
กลุ่มสุดท้าย กลุ่มคนวัย ‘Gen-X’ เป็นกลุ่มคนเกิดอยู่ในช่วงปี พ.ศ. 2508-2522 หรืออายุตั้งแต่ 42-56 ปี ซึ่งเป็น
กลุ่มคนที่ผ่านโลกมามากและกำลังเข้าสู่ช่วงปัจฉิมวัย เป็นวัยใกล้เกษียณ โค้งสุดท้ายของการทำงานมีตำแหน่ง
รายได้สูง แต่ระยะเวลาในการออมและลงทุนเหลือน้อย ต้องพยายามรักษาเงินต้น เพื่อเตรียมเอาไว้ใช้ในช่วงชีวิตหลังเกษียณ คน ‘Gen-X’ เกิดมาในยุคที่เทคโนโลยีและสิ่งอำนวยความสะดวกยังไม่ก้าวล้ำอย่างเช่นในปัจจุบัน วัตถุประสงค์การลงทุนของกลุ่มนี้ จึงจะมีความแตกต่างออกไปจาก 2 กลุ่มก่อนหน้า
“คนวัย ‘Gen-X’ จะมีเป้าหมายการลงทุนเพื่อสร้างและออมผลตอบแทนเอาไว้ใช้ในยามเกษียณ หรือไว้ใช้จ่ายเพื่อหาความสุขให้กับตัวเองในช่วงปลายของชีวิต คนวัยนี้..อาจจะเป็นวัยที่ไม่คิดเรื่องการลงทุนมากนัก แต่ถ้ามีการออมเงินและลงทุนอย่างมีวินัย ก็จะช่วยให้การใช้ชีวิตในวัยเกษียณมีความสบาย หรือ Happy Retirement นั่นเอง”
สำหรับการลงทุนที่มีความเหมาะสมกับกลุ่มนี้ จึงต้องเน้นในเรื่องของ ‘ความมั่นคง’ ของเงินต้นที่ลงทุนตลอดจนสามารถสร้างกระแสเงินสดออกมาให้ได้อย่างสม่ำเสมอ ได้แก่กลุ่ม ‘กองทุนตราสารหนี้’ ที่มีความผันผวนในราคาสินทรัพย์ค่อนข้างต่ำและรักษาเงินต้นได้เป็นอย่างดี ในแง่ผลตอบแทนก็อาจจะสู้กับกองทุนรวมหุ้นได้ไม่ดีนักแต่ก็ยังสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก ถัดมาเป็นกลุ่ม ‘กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์’ ที่จะช่วยสร้างกระแสรายได้กลับมาในรูปของเงินปันผลที่สม่ำเสมอจากค่าเช่า และสุดท้าย ‘กองทุนประหยัดภาษี’ เป็นตัวช่วยออมที่ดีมาก เช่น ‘RMF’ เพราะมีหลายประเภทกองทุนให้เลือกลงทุน นอกจากจะได้ออมเงินแล้วยังได้ลดหย่อนภาษีด้วย ถือเป็นกำไร 2 ต่อสำหรับคน ‘Gen-X’ ที่มีรายได้สูงนั่นเอง
สำหรับคน ‘Gen-X’ ควรปรับพอร์ตการลงทุนโดยลดน้ำหนักของกลุ่มสินทรัพย์เสี่ยงให้ลดลง แต่ยังคงต้องลงทุนอยู่เพื่อสร้างความมั่งคั่งให้เงินเติบโตด้วย เพียงแต่อาจจะขยับปรับมาสู่ ‘กองทุนหุ้นปันผล’ ที่มีโอกาสได้รับกระแสรายได้ในรูปของ ‘เงินปันผล’ กลับคืนมาในระหว่างที่ลงทุน หรือกลุ่ม ‘กองทุนดัชนี (Index Fund)’ ที่มีการบริหารเชิงรับ (Passive Fund) กระจายการลงทุนในตะกร้าหุ้นของดัชนีอ้างอิง เช่น SET หรือ SET50 เป็นต้น ช่วยลดความเสี่ยงจากการลงทุนในหุ้นตัวใดตัวหนึ่ง และมีต้นทุนการลงทุนที่ถูกกว่าด้วย
ถือเป็นทางเลือกในกลุ่มสินทรัพย์เสี่ยงที่น่าสนใจสำหรับคนวัยนี้
“ช่วงอายุ ก็ถือเป็นปัจจัยสำคัญอีกหนึ่งอย่าง ที่สามารถใช้เป็นแนวทางหรือตัวกำหนดสินทรัพย์ที่จะนำเข้ามาในพอร์ตการลงทุนได้ เพราะคนในแต่ละช่วงวัย หรือต่าง Generation ย่อมมีเป้าหมายทางการเงินที่แตกต่างกันออกไป
แต่ไม่ว่าคุณจะเป็นคนใน Gen ไหน ก็สามารถบรรลุถึงเป้าหมายการลงทุนได้ไม่ยาก แค่เริ่มลงทุนเท่านั้นเอง ถ้าใครยังไม่เคยลงทุน ไม่สำคัญว่าคุณเป็น Gen อะไร ไม่ต้องกลัวที่จะเริ่มช้าไป เพียงแค่ “เลือกกองทุน” ที่เหมาะสมกับความสามารถในการรับความเสี่ยงของคุณ ‘จัดสรรเงินลงทุน (Asset Allocation)’ อย่างเหมาะสม และเลือกใช้เครื่องมืออย่าง ‘กองทุนรวม’ มาเป็นตัวช่วยให้บรรลุ ‘เป้าหมายทางการเงิน’ เพราะเริ่มง่ายใช้เงินน้อย หลักร้อยก็ลงทุนได้”
>>สนใจเปิดบัญชีกองทุนรวม: คลิกเลย!!
คำเตือน: ผลตอบแทนในอดีต มิได้รับประกันถึงผลตอบแทนในอนาคต ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน ความเสี่ยง และศึกษาคู่มือสิทธิประโยชน์ทางภาษี ก่อนตัดสินใจลงทุน