เดือนเมษายนนี้ นับเป็นความท้าทายค่อนข้างมากสำหรับนักลงทุนหลังเหตุการณ์ธนาคารล้มในสหรัฐฯ และกรณีที่ธนาคาร เครดิต สวิส (Credit Suisse) ถูกควบรวมไปกับธนาคาร ยูบีเอส (UBS) โดยนักลงทุนในหุ้นกู้แปรสภาพเป็นทุน (Additional Tier 1 : AT1) ได้รับความเสียหายจากการถูกหักลบทั้งหมดทางบัญชี (Write off) ขณะที่เหตุการณ์ใกล้สงบลง แต่นักลงทุนกลับไม่เชื่อมั่นในระบบธนาคารในยุโรปอีกครั้งหลังธนาคาร ดอยซ์แบงก์ (Deutsche Bank) ถูกนักลงทุนเทขายอย่างหนัก ทั้ง ๆ ที่ธนาคารต้องการสร้างความเชื่อมั่นให้นักลงทุนเห็นว่า ธนาคารมีกระแสเงินสดมากพอที่จะไถ่ถอนหุ้นกู้ประเภท AT2 ได้ก่อนกำหนด แต่ปรากฏว่าตลาดตีความว่าธนาคารอาจมีปัญหา
โดยสรุป ภาพความผันผวนในเดือนมีนาคมในภาคธนาคารยังมีอยู่มาก และธนาคารกลางอย่างธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) และธนาคารกลางยุโรป (ECB) ได้อัดฉีดสภาพคล่องเพื่อดูแลปัญหาในภาคธนาคารและป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาธนาคารล้มและลามเป็นลูกโซ่ อีกทั้ง เฟด และ ECB ต่างไม่ลังเลที่จะขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่องเพื่อสกัดปัญหาเงินเฟ้อ แต่นักลงทุนก็ตีความว่า อัตราดอกเบี้ยนโยบายใกล้ถึงจุดสูงสุดแล้ว และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรของรัฐบาลสหรัฐฯ น่าจะปรับตัวลดลงได้อย่างต่อเนื่องในช่วงที่เหลือของปีนี้
ทิศทางการลงทุนในเดือนเมษายน ผมมองว่า ตลาดน่าจะคลายความกังวลมากขึ้นในกรณีแบงก์ล้ม และหากจะมีธนาคารที่มีปัญหาในสหรัฐฯ อีก ก็น่าจะเป็นแบงก์ขนาดเล็กในภูมิภาคที่ไม่กระทบต่อเศรษฐกิจ แต่นักลงทุนน่าจะจับจังหวะการลงทุนตามตัวเลขเศรษฐกิจที่จะประกาศออกมา เช่น อัตราการว่างงาน อัตราเงินเฟ้อ และยอดค้าปลีก ว่าจะปรับตัวในทิศทางที่ชี้ว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะชะลอได้มากน้อยเพียงใด โดยรวมผมมองว่า เงินดอลลาร์สหรัฐน่าจะปรับตัวในทิศทางอ่อนค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินสำคัญ ความน่าสนใจในสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐลดลงได้เมื่ออัตราผลตอบแทนพันธบัตรย่อลง เงินไหลมาลงทุนในเอเชียแปซิฟิกมากขึ้น โดยเฉพาะจีนที่ยังได้ประโยชน์จากการเปิดเมืองอยู่ต่อเนื่อง ทั้งนี้ นักลงทุนอาจหาจังหวะเข้าสะสมสินทรัพย์ในกลุ่มดังต่อไปนี้
นับเป็นจังหวะที่ดีที่นักลงทุนจะเข้าทยอยสะสมในกองทุนรวมตราสารหนี้ที่ลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ หรือตราสารหนี้ที่อยู่ในกลุ่มระดับลงทุน (Investment Grade) โดยนักลงทุนน่าจะได้รับผลตอบแทนที่สูงจากอัตราผลตอบแทนที่น่าดึงดูด และจากกำไรส่วนต่างของราคา (Capital Gains) เมื่ออัตราผลตอบแทนพันธบัตรย่อลงทำให้มูลค่าสินทรัพย์สูงขึ้น
จากความกังวลต่อการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยง โดยเฉพาะในตลาดประเทศพัฒนาแล้วที่อาจได้รับผลกระทบจากความผันผวนในภาคธนาคาร นักลงทุนอาจเลือกลงทุนในกองทุนรวมที่กระจายการลงทุนไปทั่วโลก และลงทุนในหุ้นพื้นฐานดี มีความผันผวนต่ำ โดยเฉพาะในหุ้นที่ราคายังถูก ซึ่งน่าจะพอเป็นกันชนให้นักลงทุนสบายใจได้ในระดับหนึ่งในช่วงที่ตลาดผันผวน แต่ก็เปิดรับโอกาสในช่วงที่ตลาดรีบาวด์จากการหยุดขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดในเดือนพฤษภาคม
หุ้นจีนขนาดใหญ่ที่มีพื้นฐานดีน่าจะได้รับประโยชน์จากรายได้ที่เติบโตขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะหลังผู้บริโภคจีนกลับมาใช้จ่ายมากขึ้น รวมทั้งมีการผ่อนคลายมาตรการทางการเงินเพิ่มเติม เพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจหลังอัตราเงินเฟ้อลดลง นอกจากนี้ นักลงทุนอาจหาจังหวะเข้าทยอยสะสมหุ้นจีนในกลุ่มเทคโนโลยีที่มีขนาดเล็ก และมีมูลค่าที่น่าสนใจและน่าจะได้ประโยชน์ของการกลับมาของนักลงทุนต่างชาติ โดยเฉพาะหลังความน่าสนใจในเงินดอลลาร์สหรัฐลดลง และเงินน่าจะไหลกลับเข้ามาลงทุนในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก
ในช่วงที่ความน่าสนใจในรูปของเงินดอลลาร์สหรัฐลดลง แต่ปัญหาเงินเฟ้อยังมีอยู่ในระยะกลาง นักลงทุนอาจเข้าสะสมกองทุนรวมประเภททองคำที่ป้องกันความเสี่ยงค่าเงินไว้บ้าง โดยเฉพาะเมื่อปัญหาสงครามในยูเครนยังไม่สิ้นสุดและมีข่าวที่ปัญหาอาจรุนแรงและยืดเยื้อขึ้นอีก ซึ่งอาจมีผลทำให้ราคาทองคำขยับขึ้นไปต่อได้
หมายเหตุ : บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และมิได้มีเจตนาในการชี้นำการลงทุนแต่อย่างใด นักลงทุนควรศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนตัดสินใจลงทุน
สำหรับนักลงทุนมือใหม่และผู้ที่สนใจ เรียนรู้พื้นฐานการวิเคราะห์ภาพรวมเศรษฐกิจแบบง่าย ๆ เพื่อจับทิศทางการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมต่าง ๆ และค้นหาหุ้นเด็ดในแต่ละช่วงเวลา สามารถเรียนรู้เพิ่มเติมผ่าน e-Learning หลักสูตร “Macro Analysis” ได้ฟรี!!! >> คลิกที่นี่
หรือเรียนรู้แนวทางการวิเคราะห์เศรษฐกิจมหภาคที่มีผลต่อการลงทุนรายกลุ่มอุตสาหกรรม พร้อมเจาะลึกเทคนิคในการจับจังหวะเปลี่ยนกลุ่มลงทุน เพื่อเพิ่มโอกาสทำกำไรจากการลงทุน สามารถเรียนรู้เพิ่มเติมผ่าน e-Learning หลักสูตร “Sector Rotation” ได้ฟรี!!! >> คลิกที่นี่