ESG กับการเป็น Good Companies

โดย ดร.กฤษฎา เสกตระกูล, CFP® รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานพัฒนาความยั่งยืนตลาดทุน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
3 Min Read
26 พฤศจิกายน 2564
11.897k views
Inv_ESG กับการเป็น Good Companies_Thumbnail
Highlights

การดำเนินธุรกิจโดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล (ESG) เปรียบเสมือนกระจกที่สะท้อนภาพการดำเนินธุรกิจในระยะยาวของบริษัท เพราะถ้าบริษัทใดมีความโดดเด่นในการทำ ESG ได้ดี นั่นแปลว่ามีรูปแบบการดำเนินธุรกิจและกระบวนการบริหารจัดการความเสี่ยงที่ได้มาตรฐานทั้งในเชิงคุณภาพและปริมาณ ช่วยลดความเสี่ยงในการลงทุน จึงเป็นธุรกิจที่น่าสนใจลงทุน

เวลาพูดถึงการดำเนินธุรกิจโดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล (Environmental, Social, Governance : ESG) หมายถึง ตัวบริษัทที่ทำธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบ โดยดูจากกรอบการดำเนินธุรกิจที่คำนึงถึง ESG ซึ่งในมุมมองนี้ ESG จึงไม่ใช่ Investment Style แต่หมายถึงบริษัทที่มุ่งมั่นทำธุรกิจโดยมุ่งให้เกิดผลกระทบทางบวกใน 3 ประเด็นดังกล่าว ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงในการทำธุรกิจลงได้

 

ในมุมมองของนักลงทุนปัจจุบันและอนาคตอีกไม่ไกล กระแสการหาหุ้นที่ทำเรื่อง ESG ได้ดี จะเป็นที่ต้องการมากขึ้นอย่างยิ่ง ซึ่งมีการออกแบบแนวการลงทุนในชื่อต่าง ๆ ดังนี้

 

  • Sustainable and Responsible Investing (SRI) เป็นแนวการลงทุนโดยพยายามค้นหาบริษัทที่ก่อให้เกิดผลกระทบเชิงลบ (Negative Screening) ออกจากพอร์ตการลงทุน เช่น หุ้นเกี่ยวกับธุรกิจยาสูบหรือหุ้นที่ธุรกิจได้สร้างผลกระทบเชิงลบและเป็นอันตรายต่อส่วนรวม เช่น หุ้นของบริษัทที่ธุรกิจทำให้เกิดมลพิษ หรือละเมิดสิทธิมนุษยชน เป็นต้น

 

  • Ethical Investing มีบางอย่างที่คล้ายกับกรณี SRI เช่น การไม่ลงทุนในหุ้นกลุ่มที่สร้างผลกระทบทางด้าน ESG แต่สิ่งที่แตกต่าง คือ การระบุประเด็นด้าน ESG (Issued – based) ที่ชัดเจน เช่น ยาสูบ แรงงานเด็ก เป็นต้น

 

  • Impact Investing เป็นการลงทุนที่ให้ความสนใจทั้งด้านอัตราผลตอบแทนที่ดีและธุรกิจที่สามารถสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อสังคมไปพร้อมกัน โดยการลงทุนแนวนี้ต้องการหลักฐานที่ชัดเจน เช่น รายงานที่เปิดเผยให้เห็นถึงการกระทำและผลลัพธ์ในเรื่องดังกล่าว และเริ่มมีการกำหนดขอบเขตของการรายงานที่มีความลึกขึ้น เช่น ด้าน Renewable Energy, Sustainable Agriculture, Water Management และ Clean Technology เป็นต้น

 

ในการวัดผลกระทบด้าน ESG เป็นเรื่องที่ค่อนข้างยากสำหรับนักลงทุน โดยได้มีการพัฒนามาตราฐานการวัดขึ้นมา เช่น The Impact Reporting and Investment Standard (IRIS) ซึ่งให้ความรู้และเครื่องมือโดยไม่คิดค่าใช้จ่ายผ่านการบริหารโดย Global Impact Investing Network (GIIN) (ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่นี่ >> คลิกที่นี่)

 

การวิเคราะห์ข้อมูล ESG ของบริษัทเป็นส่วนที่นิยมทำเพิ่มเติมเข้าไปในส่วนของการวิเคราะห์หลักทรัพย์โดยใช้ปัจจัยพื้นฐาน ถือว่าเป็นพัฒนาการด้านการวิเคราะห์หลักทรัพย์เพื่อการลงทุน เช่น กรณีของ BlackRock บริษัทจัดการลงทุนขนาดใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ประกาศว่าการวิเคราะห์เรื่อง Sustainability ผ่าน ESG Performance ของบริษัทเป้าหมาย เป็นมาตรฐานใหม่ในการลงทุนที่ต้องยึดถือ โดยบริษัทที่มีความเสี่ยงด้าน ESG (ESG Risk) ที่สูงเมื่อทำการวิเคราะห์แล้วก็จะถูกหลีกเลี่ยงเข้าไปลงทุน แต่ขณะที่บริษัทที่สามารถบริหาร ESG Risk ได้ดีก็จะถูกกำหนดให้เป็น Good Companies” ซึ่งเป็นเป้าหมายที่จะเพิ่มน้ำหนักการลงทุน

 

จากการประเมินหลังยุค COVID-19 ประเด็นการลงทุนที่นักลงทุนเพิ่มความสนใจ ก็คือ ธุรกิจที่ช่วยแก้ปัญหาโลกร้อนและธุรกิจที่มีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคม

 

ธุรกิจกับเป้าหมายการลดภาวะโลกร้อน

การประกาศของรัฐบาลประเทศต่าง ๆ ว่าจะช่วยทำให้การปล่อยก๊าซเรือนกระจกลดลงจนไปสู่ Net Zero Emissions ภายใน 2050 นั้น แปลว่าการร้องขอและกดดันให้ภาคธุรกิจที่ผลิตสินค้าและบริการต้องมีส่วนช่วยลดปัญหาโลกร้อน โดยกำหนดเป้าหมายและวิธีดำเนินการด้วย โดยในฝั่งนักลงทุนก็เช่นกันทั้งมีความตระหนักและรับรู้มากขึ้น รวมทั้งมีพลังจากเงินทุนที่ตัวเองมีอยู่ก็จะเป็นอีกแรงสำคัญที่กดดันภาคธุรกิจด้วย ซึ่งบริษัทจัดการลงทุนขนาดใหญ่ เช่น BlackRock ถึงกับประกาศว่า Climate risk is an investment risk” ซึ่งต้องพิจารณาและวิเคราะห์ข้อมูลที่เกี่ยวข้องในเรื่องนี้ แปลว่าเวลาจะลงทุนในบริษัทใด ๆ ก็ตาม ผู้จัดการกองทุนบางกองทุนจะตามหา Clean Energies Policies and Investment ของบริษัทเป้าหมาย เพื่อต้องการเห็นว่าธุรกิจมีแผนปรับเปลี่ยนหันมาใช้พลังงานสะอาดมากขึ้น ซึ่งจะดีต่อโลก

 

ธุรกิจกับการแก้ปัญหาสังคม

ปกติประเทศต่าง ๆ ก็เต็มไปด้วยปัญหาสังคมในมิติต่าง ๆ ซึ่งหลังจากยุค COVID-19 ถูกคาดหมายว่าจะได้รับผลกระทบทางลบ ซึ่งซ้ำเติมให้ปัญหาสังคมบนโลกนี้ย่ำแย่ไปกว่าเดิมอีก นักลงทุนสไตล์ Responsible Investment หลายแห่งจึงพากันกำหนดแนวทางความเร่งด่วนที่จะต้องพิจารณาการลงทุน เช่น สนใจว่าบริษัทเป้าหมายมีการดำเนินการอะไรที่ดูแลเรื่องคน ซึ่งรวมถึงพนักงาน คู่ค้า ลูกค้า ชุมชน และสังคมอย่างไร โดยเฉพาะประเด็นสิทธิมนุษยชน ความสัมพันธ์กับชุมชน ความปลอดภัยและสุขภาพของพนักงาน มาตรฐานการดูแลลูกค้า และการมีส่วนร่วมช่วยเหลือผู้ยากไร้ในชุมชนและสังคม ซึ่งอาจมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือลดมาตราฐานลงได้จากผลกระทบวิกฤติ COVID-19

 

ธุรกิจกับบรรษัทภิบาล

แม้ผลกระทบหลังยุค COVID-19 อาจทำให้ผลประกอบการของธุรกิจมีระดับลดลงไปบ้าง แต่บริษัทก็ไม่ควรย่อหย่อนในการกำกับดูแลกิจการและยังต้องยึดมั่นการบูรณาการ ESG เข้าไปในกระบวนการทำธุรกิจต่อไป นักลงทุนก็จะยังคงประเมินในประเด็นต่าง ๆ ด้านบรรษัทภิบาล (Corporate Governance : CG) ต่อไป ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง CG Structure บทบาทของกรรมการ การกำหนดค่าตอบแทนของคณะกรรมการและฝ่ายจัดการที่เหมาะสมกับสถานการณ์ การมีระบบงานที่เข้มแข็ง การบริหารความเสี่ยง และการตรวจสอบภายใน เป็นต้น


สำหรับนักลงทุนหรือผู้ที่สนใจการลงทุนอย่างยั่งยืน และต้องการสร้างโอกาสการลงทุนในหุ้นยั่งยืน หรือ หุ้น ESG สามารถเรียนรู้เพิ่มเติมผ่าน e-Learning หลักสูตร “รอบรู้ลงทุนหุ้น ESG ฉบับมือใหม่” ได้ฟรี!!! >> คลิกที่นี่

 

หรือดูรายชื่อหุ้นยั่งยืน (Thailand Sustainability Investment: THSI) ปีล่าสุด >> คลิกที่นี่

แท็กที่เกี่ยวข้อง: