มูลค่าทางบัญชี vs. มูลค่าตลาด แตกต่างกันอย่างไร

โดย เจษฎา เจริญสันติพงศ์ Assistant Manager Branch Banking Client Marketing บลจ.ธนชาต
3 Min Read
25 พฤศจิกายน 2564
55.341k views
Inv_มูลค่าทางบัญชี vs. มูลค่าตลาด แตกต่างกันอย่างไร_Thumbnail
Highlights

มูลค่าทางบัญชี คือ มูลค่าสินทรัพย์สุทธิของบริษัทตามงบดุล ขณะที่มูลค่าตลาด คือ มูลค่าของบริษัทตามราคาหุ้น (ในปัจจุบัน) ซึ่งทั้งสองถือเป็นเครื่องมือสำคัญในการคัดเลือกหุ้นและนำมาใช้ประกอบการวิเคราะห์ โดยเมื่อคำนวณหามูลค่าทางบัญชีและมูลค่าตลาดแล้ว ผลลัพธ์ที่ได้อาจมีความแตกต่างกันหรืออาจเหมือนกันก็ได้ จึงต้องพิจารณาให้ถ้วนถี่ก่อนตัดสินใจลงทุน

หากเอ่ยชื่อ วอร์เรน บัฟเฟตต์ (Warren Buffett) นักลงทุนคงรู้จักกันดี โดยเฉพาะนักลงทุนหุ้นคุณค่า (Value Investor) ซึ่งเทคนิคสำคัญหนึ่งที่บัฟเฟตต์ใช้ในการเลือกหุ้นเพื่อสร้างความมั่งคั่ง ก็คือ การเลือกหุ้นที่มีมูลค่าตลาดต่ำกว่ามูลค่าทางบัญชี

 

คำถามที่ตามมา ก็คือ มูลค่าทางบัญชี (Book Value) และมูลค่าตลาด (Market Value) แตกต่างกันอย่างไร และช่วยให้นักลงทุนบรรลุเป้าหมายการลงทุนได้อย่างไร

มาเริ่มกันที่มูลค่าทางบัญชี หมายถึง มูลค่าสินทรัพย์สุทธิของบริษัท (Net Asset Value : NAV) ตามงบดุลล่าสุดของบริษัทผู้ออกหลักทรัพย์ ดังนั้น มูลค่าทางบัญชีจะเท่ากับจำนวนเงินที่ผู้ถือหุ้นจะได้รับหากบริษัทตัดสินใจที่จะเลิกกิจการ โดยคำนวณได้จากการนำสินทรัพย์รวมหักด้วยหนี้สินรวม

มูลค่าทางบัญชี = สินทรัพย์รวม - หนี้สินรวม

ตัวอย่าง

บริษัท ABC มีสินทรัพย์รวมทั้งหมด 200 ล้านบาท และมีหนี้สินรวม 90 ล้านบาท มูลค่าทางบัญชีของบริษัทจะเท่ากับ 110 ล้าน (200 – 90) ดังนั้น ถ้าหากบริษัทมีการยกเลิกกิจการและทำการขายสินทรัพย์เพื่อชำระหนี้ มูลค่าสุทธิของบริษัทจะอยู่ที่ 110 ล้านบาท
 

โดยสินทรัพย์รวมที่นำมาใช้คำนวนเพื่อหามูลค่าทางบัญชีจะครอบคลุมสินทรัพย์ทางการเงินทุกประเภท รวมถึงเงินสด เงินลงทุนระยะสั้น ลูกหนี้การค้า สินทรัพย์ทางกายภาพ เช่น สินค้าคงคลัง ที่ดิน อาคารและอุปกรณ์ ก็เป็นส่วนหนึ่งของสินทรัพย์รวมเช่นกัน และสินทรัพย์ที่ไม่มีตัวตนอย่าง เช่น เครื่องหมายการค้า ทรัพย์สินทางปัญญา ก็จะถูกคำนวนเป็นหนึ่งในสินทรัพย์รวมเช่นกันถ้าหากมีการลงบัญชีอยู่ในงบการเงิน

 

ส่วนหนี้สินรวม คือ หนี้สินของธุรกิจที่มีทั้งหมด เช่น เจ้าหนี้การค้า หนี้สินทั้งหมดจากทุกสถาบันการเงิน ภาษีเงินได้รอตัดบัญชี และค่าใช้จ่ายค้างจ่ายอื่น ๆ

 

ซึ่งการหาตัวเลขเพื่อนำมาคำนวณมูลค่าทางบัญชีของบริษัทสามารถทำได้ง่าย โดยการดูสินทรัพย์และหนี้สินจากงบดุลในงบการเงิน
 

หลังจากได้มูลค่าทางบัญชีของบริษัทแล้ว ถ้าต้องการรู้ว่ามูลค่าทางบัญชีต่อหุ้นเป็นเท่าใด ก็สามารหาได้จากการนำมูลค่าทางบัญชีหารด้วยจำนวนหุ้นสามัญทั้งหมดที่บริษัทออกและเรียกชำระแล้ว ก็จะได้มูลค่าทางบัญชีต่อหุ้น (Book Value per Share) ซึ่งจะช่วยให้สามารถเปรียบเทียบกับมูลค่าตลาดของหุ้นได้

 

ข้อจำกัดของมูลค่าทางบัญชี

มูลค่าทางบัญชีของหุ้นก็มีข้อจำกัด ประเด็นสำคัญประการหนึ่งเกี่ยวกับมูลค่าทางบัญชี คือ บริษัทต่าง ๆ รายงานตัวเลขเป็นรายงวด (รายไตรมาสหรือรายปี) หลังจากนั้นนักลงทุนจะไม่สามารถทราบถึงการเปลี่ยนแปลงได้จนกว่าบริษัทจะเปิดเผยตัวเลขในงวดถัดไป

การประเมินมูลค่าทางบัญชีเป็นแนวคิดทางบัญชี ดังนั้น จึงต้องมีการปรับตัวเลขบางอย่าง เช่น ค่าเสื่อมราคาที่อาจจะเข้าใจและประเมินได้ยาก หากบริษัทคิดค่าเสื่อมราคาสินทรัพย์นักลงทุนอาจใช้เวลานานในการทำความเข้าใจผลกระทบกับมูลค่าทางบัญชี

 

นอกจากนี้ ค่าเสื่อมราคาและแนวปฏิบัติทางบัญชีสามารถสร้างปัญหาอื่น ๆ ได้ เช่น บริษัทอาจรายงานมูลค่าอุปกรณ์บางอย่างที่สูงเกินไปหากใช้การคำนวนค่าเสื่อมราคาด้วยวิธีแบบเส้นตรง หรือข้อจำกัดอีกประการ คือ มูลค่าทางบัญชีไม่ได้รวมผลกระทบทั้งหมดของทรัพย์สินและต้นทุนในการขาย ทำให้การประเมินมูลค่าทางบัญชีอาจสูงเกินไปหากบริษัทล้มละลายและมีสิทธิโดยยึดทรัพย์สิน ยิ่งไปกว่านั้นสินทรัพย์จะขายไม่ได้ในราคาที่ดีหากเจ้าหนี้ขายในช่วงที่ตลาดซบเซาหรือเศรษฐกิจถดถอย

 

สำหรับมูลค่าของสินทรัพย์ที่จับต้องไม่ได้ เช่น ลิขสิทธิ์ก็มีความยากลำบากในการกำหนดมูลค่า ทำให้เกิดคำถามเกี่ยวกับมูลค่าทางบัญชีอันเนื่องจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี หรือปัจจัยต่าง ๆ เช่น ทรัพย์สินทางปัญญามีบทบาทสำคัญในการกำหนดผลกำไร ส่งผลให้นักบัญชีต้องคิดหาวิธีการประเมินมูลค่าสิ่งที่จับต้องไม่ได้อย่างสม่ำเสมอเพื่อให้มูลค่าทางบัญชีเป็นปัจจุบันอยู่เสมอ

 

ขณะที่มูลค่าตลาด หมายถึง มูลค่าของบริษัทตามราคาหุ้น (ในปัจจุบัน) พูดง่าย ๆ ก็คือ มูลค่าตลาดเท่ากับมูลค่าหุ้นตามราคาตลาด โดยคำนวณได้จากราคาตลาดต่อหุ้นคูณด้วยจำนวนหุ้นสามัญทั้งหมด

มูลค่าตลาด = ราคาตลาดต่อหุ้น x จำนวนหุ้นสามัญทั้งหมด

ตัวอย่าง

บริษัท XYZ มีหุ้นสามัญทั้งหมด 100 ล้านหุ้น ราคาหุ้นของบริษัทมีการซื้อขาย ณ ปัจจุบันอยู่ที่ 0.75 บาทต่อหุ้น ดังนั้น มูลค่าบริษัทอยู่ที่ 100 ล้านบาทคูณด้วย 0.75 บาท เท่ากับบริษัท XYZ มีมูลค่าตลาดที่ 75 ล้านบาท

 

ข้อจำกัดของมูลค่าตลาด

แม้ว่ามูลค่าตามราคาตลาดจะแสดงถึงการรับรู้ของตลาดเกี่ยวกับการประเมินมูลค่าของบริษัท แต่อาจไม่ได้แสดงถึงภาพจริงเสมอไป เพราะโดยปกติแล้วราคาหุ้นจะเคลื่อนไหวขึ้นหรือลงระหว่างวันได้ตลอดเวลา หรือหุ้นมักจะซื้อหรือขายมากเกินไปในช่วงระยะเวลาสั้น ๆ เป็นต้น

 

ดังนั้น นักลงทุน (โดยเฉพาะผู้ที่เน้นลงทุนระยะยาว) ควรระมัดระวังความเคลื่อนไหวของราคาหุ้นในระหว่างวันหรือปัจจัยที่เข้ามากระทบในช่วงสั้น ๆ เป็นครั้งคราวซึ่งอาจกระทบกับมูลค่าตลาด เช่น มูลค่าตลาดหุ้นเทคโนโลยีพุ่งสูงกว่าการประเมินมูลค่าทางบัญชีในช่วงปี 1920 และเมื่อเกิดวิกฤติฟองสบู่ดอทคอม ในปี 2000 มูลค่าตลาดของหลายบริษัทก็ลดต่ำลงกว่ามูลค่าทางบัญชีในช่วงปี 1929 ดังนั้น การพึ่งพามูลค่าตลาดเพียงอย่างเดียวอาจไม่ใช่วิธีที่ดีที่สุดในการประเมินศักยภาพของหุ้น

 

ส่งท้าย
ถ้ามูลค่าทางบัญชีมากกว่ามูลค่าตลาด

เป็นเรื่องปกติที่บริษัทจะซื้อขายด้วยมูลค่าตลาดที่ต่ำกว่ามูลค่าทางบัญชี เมื่อเกิดกรณีนี้มักบ่งชี้ว่าตลาดสูญเสียความมั่นใจในบริษัทไปชั่วขณะ อาจเป็นเพราะปัญหาทางธุรกิจ การแพ้คดีความที่สำคัญ พูดง่าย ๆ คือ ตลาดไม่เชื่อว่าบริษัทมีมูลค่าทางบัญชีที่น่าสนใจ โดยนักลงทุนหุ้นคุณค่ามักจะชอบบริษัทที่มีมูลค่าตลาดต่ำกว่ามูลค่าทางบัญชี เพราะมองว่าเป็นสัญญาณของการประเมินมูลค่าที่ต่ำเกินไปและหวังว่าการรับรู้ของตลาดจะไม่ถูกต้อง ในสถานการณ์นี้ อาจมองว่าตลาดกำลังเปิดโอกาสให้นักลงทุนลงทุนในบริษัทที่ราคาต่ำกว่ามูลค่าสุทธิที่ระบุไว้ แต่อย่าลืมไม่มีการรับประกันว่าราคาหุ้นจะเพิ่มขึ้นในอนาคต

ถ้ามูลค่าตลาดมากกว่ามูลค่าทางบัญชี

มูลค่าตลาดของบริษัทมักสูงกว่ามูลค่าทางบัญชี โดยตลาดมองว่าบริษัทส่วนใหญ่มีโอกาสในการสร้างรายได้มากกว่าสินทรัพย์ที่ตัวเองมี สะท้อนถึงนักลงทุนเชื่อว่าบริษัทมีโอกาสขยายตัวและสร้างผลกำไรที่ดีในอนาคต จึงประเมินว่ามูลค่าตลาดของบริษัทสูงกว่ามูลค่าทางบัญชีที่แสดงไว้ในปัจจุบัน (บริษัทที่มีกำไรดีมักมีมูลค่าตลาดมากกว่ามูลค่าทางบัญชี) อย่างไรก็ตาม อาจบ่งชี้ว่าเป็นหุ้นที่ราคาสูงเกินไปหรือนักลงทุนเข้ามาลงทุนมากเกินไป การซื้อขายจึงสะท้อนด้วยราคาที่สูงเกินไปเช่นกัน


สำหรับนักลงทุนและผู้ที่สนใจ เรียนรู้องค์ประกอบต่าง ๆ ของงบการเงิน และเทคนิคการอ่านงบการเงินแบบง่าย เพื่อประเมินศักยภาพของกิจการประกอบการตัดสินใจลงทุน สามารถเรียนรู้เพิ่มเติม ผ่าน e-Learning หลักสูตร Financial Statement Analysis ได้ฟรี!!! >> คลิกที่นี่

 

หรือเรียนรู้วิธีการประเมินมูลค่าหุ้นที่เหมาะสมกับลักษณะของกิจการ ตลอดจนการคำนวณราคาหุ้นที่เหมาะสมเพื่อใช้ในการตัดสินใจลงทุน สามารถเรียนรู้เพิ่มเติม ผ่าน e-Learning หลักสูตร Stock Valuation : Relative Valuation ได้ฟรี!!! >> คลิกที่นี่

แท็กที่เกี่ยวข้อง: