ในภาวะเศรษฐกิจผันผวน ทั้งนักลงทุนและธุรกิจจำเป็นต้องแสวงหาหนทางในการบริหารจัดการความเสี่ยงอย่างมีประสิทธิภาพและสร้างผลตอบแทนได้ในระยะยาว ‘ความยั่งยืน’ จึงเป็นคำตอบที่หลายคนกำลังให้ความสนใจ เพราะไม่เป็นเพียงทางเลือกให้แก่ผู้ลงทุน แต่ยังเป็นทางรอดของธุรกิจอีกด้วย
"การดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน" เป็นเรื่องสำคัญที่ทุกธุรกิจต้องคำนึงถึง เพราะประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม (Environment) สังคม (Social) และบรรษัทภิบาล (Governance) หรือ ESG กลายเป็นกฎเกณฑ์ ข้อบังคับ หรือข้อกีดกันทางการค้า การทำธุรกิจโดยคำนึงถึง ESG จึงกลายเป็นทางรอด ไม่ใช่ทางเลือกอีกต่อไป หากธุรกิจไม่บริหารจัดการประเด็นด้าน ESG ให้ดีพอ ย่อมส่งผลต่อยอดขาย ความสามารถในการแข่งขัน ภาพลักษณ์ และชื่อเสียงของบริษัท ซึ่งล้วนส่งผลกระทบโดยตรงต่อมูลค่าของกิจการ
ในขณะที่ธุรกิจที่สามารถบริหารจัดการประเด็นด้าน ESG ได้เป็นอย่างดี ก็มีโอกาสได้รับเงินลงทุน เป็นที่สนใจของนักลงทุนมากขึ้น เพราะมีโอกาสเติบโตในระยะยาว นักลงทุนทุกวันนี้จึงให้ความสำคัญกับการเลือกลงทุนในธุรกิจที่มี ESG ซึ่งนอกจากจะช่วยสร้างสรรค์สังคมและสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังสามารถช่วยบริหารความเสี่ยงและสร้างผลตอบแทนจากการลงทุนได้ด้วย
นักลงทุนทั้งสถาบันและรายย่อยทั่วโลกหันมาสนใจและให้ความสำคัญกับการลงทุนอย่างยั่งยืนมากขึ้น และกำลังกลายเป็นกระแสหลักการลงทุนของโลก แม้ในช่วงที่ตลาดหุ้นมีความผันผวน นักลงทุนกลับเพิ่มการลงทุนในธุรกิจที่คำนึงถึง ESG มากขึ้น
จากรายงานของ Morningstar พบว่า ในปี 2021 มีเม็ดเงินลงทุนในธุรกิจยั่งยืนทำสถิติสูงเป็นประวัติการณ์กว่า 2.8 ล้านล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นจากปี 2020 ที่ 1.8 ล้านล้านดอลลาร์
นอกจากนี้ สถาบันการเงินหลายแห่งยังได้ประกาศนโยบายจะไม่ลงทุนในธุรกิจที่ไม่คำนึงถึง ESG เช่น โรงไฟฟ้าถ่านหิน ธุรกิจยาสูบ หรือสินค้าที่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม เป็นต้น
แม้ว่าสถิติตัวเลขจะแสดงให้เห็นว่าเทรนด์การลงทุนอย่างยั่งยืนกำลังเป็นที่ยอมรับ แต่ยังมีนักลงทุนหลายรายที่ยังสงสัยและเข้าใจว่าการลงทุนอย่างยั่งยืนคือการรักษ์โลก มุ่งช่วยสังคมและสิ่งแวดล้อม แต่ต้องยอมขาดทุนหรือไม่ได้รับผลตอบแทนอย่างที่หวัง ในความเป็นจริงแล้ว การลงทุนอย่างยั่งยืนสามารถลดความเสี่ยงและความผันผวนจากการลงทุนได้ในช่วงที่ตลาดมีความผันผวนสูง และยังช่วยสร้างโอกาสที่จะได้รับผลตอบแทนในระยะยาว
กระแสการลงทุนในธุรกิจที่คำนึงถึง ESG มากขึ้น ทำให้ผู้จัดทำดัชนีทั่วโลกพัฒนาดัชนีด้านความยั่งยืน เพื่อเป็นเครื่องมือช่วยนักลงทุนคัดเลือกหุ้น และใช้เป็น Benchmark เปรียบเทียบผลตอบแทนจากการลงทุนอย่างยั่งยืน เช่น SETTHSI Index โดยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย, MSCI ESG Index โดย MSCI และ DJSI World Index โดย S&P Global เป็นต้น
ดัชนีความยั่งยืนที่จัดทำและเผยแพร่มาตั้งแต่ปี 2561 โดยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย คัดเลือกหุ้นจากบริษัทจดทะเบียนในรายชื่อหุ้นยั่งยืน THSI (Thailand Sustainability Investment) ซึ่งผ่านการประเมินความยั่งยืนและมีผลการดำเนินงานด้าน ESG โดดเด่น และผ่านเกณฑ์การคัดเลือกและเกณฑ์การคำนวณดัชนี เช่น มีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (Market Capitalization) ไม่น้อยกว่า 5,000 ล้านบาท มีสัดส่วนผู้ถือหุ้นรายย่อย (Free-float) ไม่น้อยกว่า 20% เป็นต้น สมาชิกใน SETTHSI Index มีการทบทวนรายชื่อทุกเดือนมิถุนายนและธันวาคมของทุกปี โดยสามารถศึกษาเกณฑ์การคัดเลือกหุ้นและเกณฑ์การคำนวณ SETTHSI Index ได้ที่เว็บไซต์ตลาดหลักทรัพย์
Source: SETSMART (28/02/2023)
จะเห็นได้ว่าในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ดัชนี SETTHSI มีผลตอบแทนเฉลี่ย 3% สูงกว่าดัชนีอื่นที่มีผลตอบแทนติดลบ 18-19% สะท้อนให้เห็นชัดเจนว่าดัชนี SETTHSI สามารถสร้างผลตอบแทนที่ดีได้ นอกจากนี้ในช่วงปี 2563 ที่ตลาดหุ้นได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด ทุกดัชนีปรับตัวลดลงอย่างมาก แต่ดัชนี SETTHSI ปรับตัวลงไม่แรงเท่ากับดัชนีอื่นๆ สะท้อนว่าธุรกิจที่ดำเนินงานโดยคำนึงถึง ESG สามารถปรับตัวและรับมือกับความผันผวนในภาวะวิกฤตได้
ดัชนีความยั่งยืนที่จัดทำโดย MSCI ซึ่งพิจารณาบริษัททั้งขนาดกลางและขนาดใหญ่ที่มีการดำเนินงานด้าน ESG โดดเด่นครอบคลุม 24 ประเทศในกลุ่มตลาดเกิดใหม่ (Emerging Market)
Source: MSCI (28/02/2023)
จะเห็นได้ว่านับตั้งแต่ปี 2008 จนถึงปัจจุบัน ดัชนี MSCI EM ESG Leaders มีผลตอบแทนมากกว่าดัชนีทั่วไปถึง 64.81% โดยดัชนี MSCI EM ESG Leaders Index มีผลตอบแทน 89.32% ในขณะที่ดัชนี MSCI Emerging Markets ให้ผลตอบแทนเพียง 24.51%
ดัชนีความยั่งยืนที่จัดทำโดย S&P Global โดยคัดเลือกจากบริษัทขนาดใหญ่กว่า 2,500 แห่งทั่วโลกที่มีการดำเนินงานด้าน ESG โดดเด่น
Source: DJSI (9/03/2023)
จะเห็นได้ว่าในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ดัชนี DJSI World มีผลตอบแทน 4.26% ซึ่งใกล้เคียงกับอัตราผลตอบแทนของ Dow Jones Industrial Average ที่ 5.67% ตัวเลขผลตอบแทนดัชนีด้านความยั่งยืนข้างต้นถือเป็นบทพิสูจน์ว่า การลงทุนอย่างยั่งยืนไม่ใช่เพียงแค่การช่วยเหลือสังคมหรือสิ่งแวดล้อมเท่านั้น แต่ยังสามารถสร้างผลตอบแทนได้ใกล้เคียง หรือดีกว่าการลงทุนโดยทั่วไป และเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ช่วยบริหารความเสี่ยงและจัดพอร์ตการลงทุนให้นักลงทุนได้
บทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ข้อมูลสำหรับการศึกษาในเบื้องต้นเท่านั้น มิได้มีเจตนาในการชี้นำการลงทุนแต่อย่างใด นักลงทุนควรศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนตัดสินใจลงทุน
Credit: The Standards
อ้างอิง:
สามารถค้นหาความรู้ด้าน ESG เพิ่มเติมได้ที่ : SET ESG Academy
ตลาดหลักทรัพย์ฯ ขอแนะนำ Platform บ่มเพาะและเผยแพร่ความรู้ด้านความยั่งยืนในทุกมิติ เพื่อยกระดับ ESG Development ของตลาดทุนไทย และสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกในการพัฒนาความยั่งยืน ระดับบุคคลและองค์กรต่าง ๆ ของประเทศ (Click)
หรืออัพเดทความรู้ด้านความยั่งยืนประจำวันได้ที่ Line@ : setsustainability (Click ติดตาม)