วางแผนการเงินครอบครัว ด้วยกลยุทธ์ 2 มั่น 1 มั่ง

โดย ฐิติเมธ โภคชัย ฝ่ายพัฒนาความรู้ผู้ลงทุน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
3 Min Read
18 มกราคม 2565
4.772k views
PF_วางแผนการเงินครอบครัว ด้วยกลยุทธ์ 2 มั่น 1 มั่ง_Thumbnail
Highlights

ปัญหาที่อาจทำให้ครอบครัวทะเลาะเบาะแว้งกันเป็นอันดับต้น ๆ หนึ่งในนั้น คือ ปัญหาด้านการเงิน เมื่อสภาพเศรษฐกิจภายในครอบครัวไม่ดี ก็จะก่อให้เกิดความเครียดและจะลงเอยด้วยการโต้เถียงหรือขัดแย้ง นำไปสู่ปัญหาอื่น ๆ ดังนั้น การวางแผนการเงินของครอบครัวถือเป็นปัจจัยพื้นฐานสำคัญในการที่จะให้ครอบครัวมีความมั่นคง มั่งคั่ง และมีความสุขอย่างยั่งยืน

การวางแผนการเงินของครอบครัวจะต้องมีเป้าหมายร่วมกัน และอาจมีเป้าหมายหลายระดับ เช่น เป้าหมายระยะสั้น (เพื่อเก็บเงินไว้ใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน เพื่อดาวน์รถมอเตอร์ไซค์) เป้าหมายระยะกลาง (เพื่อดาวน์บ้าน เพื่อการศึกษาของบุตร) และเป้าหมายระยะยาว (เพื่อการเกษียณ)

 

โดยเป้าหมายการวางแผนการเงิน ก็ต้องขึ้นอยู่กับระดับเป้าหมายของแต่ละครอบครัว และความเสี่ยงที่ยอมรับได้ อีกทั้งการแบ่งเงินในการวางแผนการเงินก็ต้องให้สอดคล้องกับค่าใช้จ่าย ซึ่งสามารถแบ่งได้เป็น 2 มั่น 1 มั่ง

  1. มั่นใจ โดยในครอบครัวจะต้องมีเงิน 3 ก้อนหลัก ๆ คือ ค่าใช้จ่าย เงินสำรองฉุกเฉิน และเงินสำหรับผู้มีอุปการะ
  2. มั่นคง ต้องวางแผนว่าจะซื้อทรัพย์สินอะไร เช่น บ้าน รถยนต์ และวางแผนการออม การลงทุน
  3. มั่งคั่ง เป็นเรื่องระยะยาว คือ เก็บออมสำหรับการเกษียณ

 

ซึ่งถ้าจะให้ดี แต่ละครอบครัวควรแบ่งเงินให้ครบถ้วนดังที่กล่าวข้างต้น

 

สำหรับพอร์ตการออม การลงทุนนั้น ให้คำนึงถึงเป้าหมายและความเสี่ยง และต้องไม่ลืมคำนึงถึงระยะเวลาในการลงทุนด้วย เพราะเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่มีผลต่อการวางแผนการเงิน เช่น หากมีระยะเวลาในการลงทุนนานก็จะสามารถลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงได้ แต่ถ้าระยะเวลาในการลงทุนสั้น ควรลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำ

 

ดังนั้น ก่อนวางแผนการเงิน คนในครอบครัว (สามี ภรรยา) ต้องนั่งคุยกัน กำหนดเป้าหมายร่วมกัน กำหนดงบประมาณร่วมกัน รวมทั้งปรึกษากันว่าจะต้องแบ่งเงินในสัดส่วนเท่าไรใน 3 ข้อข้างต้น

 

สำหรับการออมเงินในแต่ละเดือน โดยหลักการออมทั่วไปจะแนะนำว่าให้ออมเงินทุก ๆ เดือน ในสัดส่วน 10 - 15% ของรายได้ แต่ในความเป็นจริงแล้วการออมเงินระดับนี้อาจ “ไม่เพียงพอ” เพราะสูตรสำเร็จไม่ได้ขึ้นอยู่กับ “เงินออม” แต่ขึ้นอยู่กับ “การใช้จ่าย” และเมื่อรู้การใช้จ่ายของครอบครัวแล้ว ก็ต้องมาวางแผนการออมให้สอดคล้องกับการใช้เงิน ซึ่งจะไปเชื่อมโยงกับผลตอบแทนและระยะเวลาในการลงทุน

 

โดยหากครอบครัวไหนมองที่ฝั่งรายได้ก่อน จะทำให้การวางแผนการเงินเกิดความผิดพลาดได้สูง ดังนั้น ต้องมองฝั่งรายจ่ายก่อน และที่สำคัญการวางแผนการเงินเมื่อมีแผนแล้ว ต้องทำตามแผนและทำอย่างมีวินัย ทำให้ได้ตามแผนนั้น

 

อย่างไรก็ตาม เมื่อวางแผนการเงินร่วมกันแล้ว ประเด็นหนึ่งที่แต่ละครอบครัวจะต้องให้ความสำคัญ คือ สภาพคล่องของเงินฉุกเฉินที่จะต้องนำรายจ่ายของครอบครัวมารวมกัน โดยครอบครัวไหนที่ยังไม่มีลูก สภาพคล่องยามฉุกเฉินควรเป็น 5 เท่าของค่าใช้จ่ายทั้งหมดของครอบครัว เช่น ถ้ามีค่าใช้จ่ายต่อเดือน 10,000 บาท ก็ต้องมีเงินไว้ใช้สำหรับใช้จ่ายฉุกเฉิน 50,000 บาท หรือถ้ามีมากกว่านี้ก็ยิ่งอุ่นใจมากขึ้น

 

ถ้ามีลูกแล้ว ครอบครัวนั้นต้องมีสภาพคล่องเงินฉุกเฉินขยับขึ้นเป็น 6 เท่าของค่าใช้จ่ายทั้งหมด และถ้าครอบครัวไหนที่เข้าสู่ความมั่นคงในหน้าที่การงานและเตรียมพร้อมเพื่อการเกษียณควรมีสภาพคล่องยามฉุกเฉินมากยิ่งขึ้น เช่น 7 – 8 เท่า เป็นต้น

 

สภาพคล่องเงินฉุกเฉินนี้ ควรเก็บออมไว้ในช่องทางที่สามารถเปลี่ยนเป็นเงินสดได้อย่างรวดเร็ว เช่น ฝากออมทรัพย์ ลงทุนกองทุนรวมตลาดเงิน ซึ่งข้อดีของการมีเงินไว้ใช้ยามฉุกเฉิน คือ หากเกิดตกงานและกำลังหางานทำก็ยังมีเงินใช้จ่ายได้

 

ตัวเลขดังกล่าวถือเป็นขั้นพื้นฐานหรือเป็นขั้นต่ำ โดยครอบครัวไหนที่มีเงินเดือนประจำและรู้ว่ารายได้ในเดือนถัดไปจะเป็นเท่าไร อาจจะไม่เป็นปัญหากับระดับสภาพคล่องเงินฉุกเฉิน แต่ครอบครัวไหนที่มีรายได้ไม่สม่ำเสมอ ตัวเลขสภาพคล่องฉุกเฉินก็อาจจะต้องเพิ่มสูงขึ้นมากกว่านี้


สำหรับใครที่สนใจ เรียนรู้เทคนิคและแนวทางการวางแผนการเงินเพื่อความมั่นคงในชีวิต ทั้งรู้หา รู้เก็บ รู้ใช้ และรู้ขยายดอกผล ตลอดจนสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับการวางแผนการเงินของตนเอง เพื่ออนาคตที่ดีในวันข้างหน้า สามารถเรียนรู้เพิ่มเติม ผ่าน e-Learning หลักสูตร “คัมภีร์ 4 รู้ วางแผนดีชีวิตมั่นคง” ได้ฟรี!!! >> คลิกที่นี่

 

หรือผู้ที่สนใจ เรียนรู้เทคนิคการจัดสรรเงินออมและการลงทุนแบบ DCA เพื่อสร้างวินัยในการออมให้สามารถบรรลุเป้าหมายทางการเงิน สามารถเรียนรู้เพิ่มเติม ผ่าน e-Learning หลักสูตร “วางแผนสร้างเงินออมเพื่ออนาคต” ได้ฟรี!!! >> คลิกที่นี่

แท็กที่เกี่ยวข้อง: