5 เทคนิคบริหารความเสี่ยงและเก็งกำไร ช่วงตลาดขาลง

โดย ณัฐพล คำถาเครือ ผู้อำนวยการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.หยวนต้า (ประเทศไทย)
2 Min Read
24 มีนาคม 2566
5.002k views
Inv_5 เทคนิคบริหารความเสี่ยงและเก็งกำไร ช่วงตลาดขาลง_Thumbnail
Highlights

หากนักลงทุนกำลังเผชิญกับการลงทุนที่ตลาดเป็นขาลง ราคาหุ้นทยอยปรับลดลง มีหลายเทคนิคที่ให้นักลงทุนได้เลือกใช้เพื่อบริหารความเสี่ยงหรือเก็งกำไรในช่วงที่ตลาดเป็นเช่นนี้ ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนในสัญญาซื้อขายล่วงหน้าผ่านตลาดอนุพันธ์ (SET50 Index Futures และ Single Stock Futures) การ Short Sales และการ Short Against Port เป็นต้น

ถ้าย้อนกลับไปในอดีต หากตลาดหุ้นปรับลดลงอย่างต่อเนื่องกลายเป็นภาวะตลาดหมี (Bear Market) นักลงทุนอาจขายหุ้นไม่ทัน ได้แต่นั่งรอว่าเมื่อไหร่หุ้นจะฟื้นตัวให้ได้ลดพอร์ตลงทุน ส่วนนักลงทุนที่ขายทันก็ต้องนั่งรอว่าเมื่อไหร่หุ้นจะลงมาถึงระดับที่น่าสนใจกลับเข้าไปลงทุนอีกครั้ง ถ้าตลาดไม่ย่อลงก็อาจพลาดโอกาสการลงทุนครั้งใหม่

 

อย่างไรก็ตาม สำหรับการลงทุนในยุคปัจจุบัน นักลงทุนสามารถสร้างผลตอบแทนได้ทั้งช่วงตลาดขาขึ้นและขาลง จึงเป็นการดีที่จะทำความเข้าใจเทคนิคบริหารความเสี่ยงหรือเก็งกำไรในช่วงตลาดขาลง เพื่อไม่ให้พลาดในทุกโอกาสและที่สำคัญเป็นการยกระดับพอร์ตลงทุนให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้นอีกด้วย

  

  1. การใช้อนุพันธ์ทั้งการ Short Futures และการ Long Put Options เพื่อถัวความเสี่ยงตลาดขาลง เช่น นักลงทุนที่ลงทุนกองทุนรวมหุ้นที่มีนโยบายลงทุนในดัชนี SET50 และประเมินว่าดัชนี SET50 จะปรับตัวลดลง ก็สามารถ Short SET50 Index Futures ในรุ่นที่ได้รับความนิยม (Active) ช่วงเวลานั้น ๆ ได้ โดย 1 สัญญาจะมีมูลค่าประมาณ 180,000 บาท (ดัชนี 1 จุด = 200 บาท ดังนั้น หากดัชนี SET50 อยู่ที่ 900 จุด มูลค่าสัญญาจะเท่ากับ 900 x 200 = 180,000 บาทต่อสัญญา) เช่น ถือกองทุนรวมที่มีนโยบายลงทุนหุ้นในดัชนี SET50 อยู่ 900,000 บาท ก็ให้ Short SET50 Index Futures จำนวน 5 สัญญา เป็นต้น

 

  1. การใช้อนุพันธ์ทั้งการ Short Futures และการ Long Put Options เพื่อเก็งกำไรตลาดขาลง เช่น นักลงทุนคาดว่าดัชนีหุ้นไทย และดัชนี SET50 จะปรับตัวลดลง จึงทำการ Short SET50 Index Futures รุ่นที่ Active สมมติว่าเป็น S50H23 ที่ระดับดัชนี SET50 อยู่ที่ 900 จุด ถ้าดัชนีปรับลดลงจริงตามคาด S50H23 ย่อมปรับตัวลงตาม เพราะราคา Futures จะเคลื่อนไหวใกล้เคียงกับราคาสินค้าอ้างอิง

 

ในกรณีนี้ สมมติว่าดัชนี SET50 ปรับตัวลดลง 5 จุด สำหรับการลงทุนใน Futures การเปลี่ยนแปลงดัชนี 1 จุด เท่ากับ 200 บาท นักลงทุนที่ Short SET50 Index Futures ไว้จะได้กำไร 1,000 บาท ต่อ 1 สัญญา (ก่อนหักค่า Commission) แต่ถ้าผิดทาง คือดัชนี SET50 ปรับตัวขึ้น นักลงทุนจะขาดทุน เท่ากับจำนวนจุดที่ขาดทุนคูณด้วย 200 บาท

 

  1. การใช้อนุพันธ์โดยการ Short Single Stock Futures ทั้งกรณีถัวความเสี่ยงให้กับหุ้นที่ถืออยู่ (ถ้ามี Single Stock Futures อ้างอิงหุ้นที่ถืออยู่พอดี) หรือใช้เก็งกำไรในช่วงตลาดเป็นขาลง ถ้าคิดว่าราคาหุ้นอ้างอิงนั้นจะพักตัวชั่วคราว

 

โดยในกรณีที่สภาพคล่องของการซื้อขายต่ำ นักลงทุนสามารถติดต่อไปยังโบรกเกอร์ และใช้บริการ Block Trade เพื่อเป็นคู่สัญญาให้โดยตรง แต่ราคาที่ได้อาจไม่ตรงกับราคาในกระดานซื้อขาย และต้นทุนในการทำธุรกรรมจะสูงขึ้น เพราะจะมีการนำดอกเบี้ยและภาษี (VAT 7%) เข้าไปคำนวณด้วย

 

  1. การ Short Sales ผ่านธุรกรรม SBL (Securities Borrowing and Lending) เป็นการยืมหุ้นจากโบรกเกอร์มาขายในตลาดก่อน แล้วค่อยซื้อคืนกลับมาเมื่อมีกำไร แม้ว่าวิธีนี้จะช่วยให้นักลงทุนทำกำไรในช่วงตลาดขาลงได้ แต่ต้องระมัดระวังในหลายประเด็น เช่น การ Short Sales ต้องเป็นไปตามกฎเกณฑ์ของตลาดหลักทรัพย์ฯ คือ Short Sales ได้ที่ราคาล่าสุดบวกเพิ่มไปอีก 1 ช่องราคา และถ้าหุ้นที่ยืมไปมีการจ่ายเงินปันผล ผู้ยืมจะถูกเรียกคืนหุ้นกลับมาให้เจ้าของตัวจริงถือไว้เพื่อรับเงินปันผล

 

อีกทั้ง อะไรที่ขึ้นชื่อว่ายืมก็จะมีดอกเบี้ยค่ายืมตามมาด้วย โดยจะคิดดอกเบี้ยเป็นรายวัน และถ้ายังซื้อหุ้นกลับมาคืนไม่ได้ ต้นทุนดอกเบี้ยก็จะเพิ่มขึ้นไปเรื่อย ๆ ดังนั้น หากไม่มั่นใจว่าหุ้นที่ยืมมา ราคาจะปรับลดลง ก็ไม่ควรใช้ธุรกรรมนี้เพื่อการลงทุน

 

  1. การ Short Against Port (SAP) เป็นการขายหุ้นที่ถืออยู่ออกไปก่อน แล้วซื้อหุ้นตัวเดิมกลับมาในราคาที่ถูกลง เปรียบเสมือนเป็นการเปลี่ยนต้นทุน เพื่อช่วยเพิ่มโอกาสทำกำไรในช่วงที่ราคาหุ้นกลับมาเป็นขาขึ้นอีกครั้ง

 

เช่น ถ้ามีต้นทุนอยู่ 150 บาท ตอนนี้ราคาลงมาเหลือ 130 บาท (ขาดทุน 20 บาท) หากประเมินแล้วว่า ราคาหุ้นจะปรับตัวลดลงไปอยู่ที่ 100 บาท อาจขายที่ราคา 130 บาทไปก่อน แล้วกลับไปซื้อใหม่ที่ราคา 100 บาท หากราคาหุ้นไม่ปรับตัวลงต่อและกลับมาฟื้นตัวขึ้นอีกครั้ง เช่น ราคากลับขึ้นมาที่ 130 บาท ก็จะได้กำไรจากการลงทุนรอบใหม่ 30 บาท และเมื่อหักกับขาดทุนรอบแรก (20 บาท) จะได้กำไรสุทธิ 10 บาท (ไม่รวมค่า Commission)

 

อย่างไรก็ตาม ทุกรูปแบบการลงทุนไม่ว่าจะเป็นขาขึ้นหรือขาลงย่อมมีความเสี่ยง แม้ว่าในช่วงตลาดเป็นขาลง หุ้นแต่ละตัวมีโอกาสเกิดความผันผวนต่อวันค่อนข้างแรง แต่ถ้าพิจารณาในแง่ของระยะเวลา พบว่าช่วงเวลาที่หุ้นเป็นขาขึ้นจะยาวนานกว่าช่วงเวลาที่ปรับลดลง เพราะฉะนั้น โดยธรรมชาติการเคลื่อนไหวของราคาสินทรัพย์ ไม่ได้เอื้อให้ลงทุนในฝั่งขาลงมากนัก การเก็งกำไรหรือป้องกันความเสี่ยงจึงควรทำเพียงช่วงเวลาสั้น ๆ หรือถ้าเป็นไปได้ นักลงทุนควรมองเป็นการบริหารความเสี่ยงให้กับพอร์ตลงทุนมากกว่าที่จะมองว่าเป็นเครื่องมือในการเก็งกำไร

 

หมายเหตุ: บทความนี้เพื่อใช้สำหรับศึกษาเบื้องต้นเท่านั้น มิได้มีเจตนาในการชี้นำการลงทุนแต่อย่างใด นักลงทุนควรศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนตัดสินใจลงทุน


สำหรับใครที่สนใจ เรียนรู้ลักษณะสัญญา สินทรัพย์อ้างอิง ผลตอบแทน ความเสี่ยง และกลยุทธ์การลงทุนใน SET50 Futures และ Stock Futures เพื่อป้องกันความเสี่ยงและทำกำไรในแต่ละสภาวะตลาด สามารถเรียนรู้ได้ผ่าน e-Learning หลักสูตร “รอบรู้ลงทุน SET50 & Stock Futures” ได้ฟรี!!! >> คลิกที่นี่

แท็กที่เกี่ยวข้อง: