การลงทุนในหุ้นต่างประเทศเริ่มได้รับความสนใจและเป็นที่นิยมจากนักลงทุนมากขึ้นเรื่อย ๆ เนื่องจากหุ้นกลุ่มดังกล่าว มีอัตราการเติบโตที่สูง มีเทรนด์การลงทุนที่น่าสนใจและหลากหลาย อีกทั้งเป็นทางเลือกในการกระจายความเสี่ยงนอกเหนือจากหุ้นไทย
ในปัจจุบันหากนักลงทุนต้องการลงทุนในหุ้นต่างประเทศ ก็มีทางเลือกในการลงทุนให้เลือกมากมายและตอบโจทย์นักลงทุนมากยิ่งขึ้น ยิ่งไปกว่านั้น สำหรับนักลงทุนที่มีบัญชีซื้อขายหุ้นไทย สามารถใช้บัญชีดังกล่าวลงทุนในหุ้นต่างประเทศได้อีกด้วย โดยสามารถลงทุนผ่านกองทุนรวมดัชนีอย่าง ETF หรือตราสารแสดงสิทธิในหลักทรัพย์ต่างประเทศอย่าง DR ส่วน DRx ผู้ลงทุนต้องแจ้งความประสงค์ว่าต้องการซื้อขาย DRx ใน My Menu บน Streaming App
แต่ด้วยทางเลือกที่หลากหลายนี้ นักลงทุนหลาย ๆ คนคงจะสงสัยว่า แล้วมันแตกต่างกันอย่างไร ? เราเหมาะกับสินทรัพย์ประเภทไหน ? ซึ่งบทความนี้ จะไขข้อกระจ่างให้เห็นภาพมากยิ่งขึ้น …
ความแตกต่างระหว่าง หุ้นต่างประเทศ, ETF, DR และ DRx
1. หุ้นต่างประเทศ
การจะลงทุนในหุ้นต่างประเทศโดยตรงได้ อย่างแรกจะต้องเปิดบัญชีซื้อขายหุ้นต่างประเทศ แล้วแลกเงินเป็นสกุลเงินของประเทศที่เราต้องการจะลงทุน ซึ่งสามารถซื้อขายได้ในเวลาทำการของตลาดหลักทรัพย์ในประเทศนั้น ๆ
ข้อควรพิจารณาก่อนลงทุน
การลงทุนในหุ้นต่างประเทศโดยตรง นอกจากจะต้องใช้เงินลงทุนที่สูงแล้ว ยังต้องคำนึงถึงภาษีจากการลงทุน ซึ่งจะแตกต่างกันออกไปในแต่ละประเทศ นอกจากนี้หากเราอยู่ในประเทศตั้งแต่ 180 วันขึ้นไป และนำกำไรจากการขายหุ้นดังกล่าวเข้ามาในประเทศไทยในปีเดียวกัน เช่น ในเดือนมีนาคม 2565 เรานำเงินไปลงทุนในตลาดหุ้นต่างประเทศ 1 ล้านบาท แล้วในเดือนมิถุนายนของปีเดียวกัน มูลค่าพอร์ตเพิ่มขึ้นเป็น 4 ล้านบาท จึงตัดสินใจขายหุ้นและนำกำไร 3 ล้านบาทกลับเข้ามาในไทยในปีภาษีเดียวกัน แสดงว่าจะต้องนำกำไรก้อนดังกล่าวไปคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของไทย
2. ETF (Exchange Traded Fund)
กองทุน ETF ถือเป็นทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจสำหรับนักลงทุนที่ชื่นชอบการลงทุนแบบกระจายลงทุน และเป็นกองทุนประเภทหนึ่งที่มีค่าธรรมเนียมถูก โดยในปัจจุบันกองทุนดังกล่าวในไทยมีกองทุนที่มีนโยบายลงทุนในกลุ่มหุ้นต่างประเทศให้เลือกลงทุน ไม่ว่าจะเป็น กองทุน CHINA ของ บลจ.กรุงไทย ที่มีนโยบายลงทุนในหุ้นจีนที่อยู่ในดัชนี CSI300 Index หรือกองทุน UHERO ที่ลงทุนในบริษัทที่เป็นผู้จัดจำหน่ายหรือพัฒนาเกม และกองทุน UBOT ที่ลงทุนในอุตสาหกรรม Robotics & AI ชั้นนำทั่วโลก ซึ่งทั้ง 3 กองทุนสามารถซื้อขายผ่านบัญชีหุ้นไทยได้ นอกจากนี้ยังได้รับยกเว้นภาษีกำไรจากการขายหลักทรัพย์อีกด้วย
3. DR (Depositary Receipt)
เป็นตราสารแสดงสิทธิในหลักทรัพย์ต่างประเทศที่จดทะเบียนให้ซื้อขายได้เหมือนหุ้น โดยผู้ออก DR ที่ได้รับอนุญาตจากสำนักงาน ก.ล.ต. จะเป็นผู้ที่ไปซื้อหุ้นต่างประเทศมา แล้วเสนอขายหุ้นต่างประเทศนั้นให้กับผู้ลงทุนไทยในรูปสกุลเงินบาท
สำหรับนักลงทุนที่ต้องการลงทุนในต่างประเทศ การลงทุนใน DR ก็เป็นอีกทางเลือกที่น่าสนใจ ซึ่งจุดเด่นของหลักทรัพย์ดังกล่าว คือ
4. DRx (Fractional DR)
ทางเลือกสำหรับผู้ที่ต้องการลงทุนในหุ้นหรือหน่วยลงทุนต่างประเทศที่ง่ายและสะดวกมากขึ้น ถือว่ามีความยืดหยุ่นในการซื้อขายมากกว่าผลิตภัณฑ์ลงทุนประเภทอื่น เป็นตราสารแสดงสิทธิในหลักทรัพย์ต่างประเทศเช่นเดียวกับ DR หรือเรียกได้ว่าเป็น DR ไซซ์เล็กเลยก็ว่าได้ แต่มีข้อแตกต่างกัน ดังนี้
เรื่องต้องรู้ก่อนลงทุน ETF, DR และ DRx
หลังจากที่เรารู้จักกับเครื่องมือดังกล่าวแล้ว ก่อนจะเริ่มต้นซื้อหุ้นต่างประเทศผ่านกองทุน ETF DR หรือ DRx เรามาทำความเข้าใจเบื้องต้นกันก่อนว่า มีเทคนิคการลงทุนหรือเรื่องอะไรบ้างที่เราต้องรู้ก่อนเริ่มต้นการลงทุนในสินทรัพย์เหล่านี้
สิ่งที่นักลงทุนควรดูก่อนตัดสินใจลงทุนในกองทุนประเภท ETF มีดังนี้
1. สินทรัพย์อ้างอิง
สิ่งสำคัญที่เราควรรู้เป็นอย่างแรกก่อนเริ่มต้นลงทุนผ่านกองทุน ETF คือต้องรู้ว่า สินทรัพย์อ้างอิงของ ETF ที่เราสนใจคืออะไร นำเงินไปลงทุนในอะไรบ้าง เพราะการลงทุนใน ETF ที่อ้างอิงหุ้นต่างประเทศ ก็มีดัชนีอ้างอิงให้เลือกมากมายและมีรายละเอียดแตกต่างกัน พร้อมกับคอยตรวจสอบว่า ETF สามารถสร้างผลตอบแทนได้ใกล้เคียงกับดัชนีอ้างอิงมากน้อยแค่ไหน เราจึงควรศึกษาให้ละเอียด เพื่อจะได้เลือก ETF ที่เหมาะกับเป้าหมายและสไตล์การลงทุนของเรา
2. Tracking Error
เป็นอีก 1 ค่าที่ใช้เปรียบเทียบผลตอบแทนของกองทุน ETF และดัชนีชี้วัด (Benchmark) ว่าใกล้กันแค่ไหน หากค่าดังกล่าวน้อย แสดงให้เห็นว่าผลตอบแทนของกองทุนและดัชนีมีค่าใกล้เคียงกัน ตรงกันข้าม หากค่านี้เยอะ ผลตอบแทนของกองทุนจะคลาดเคลื่อนจากดัชนีอ้างอิงได้ ซึ่งเป็นความเสี่ยงจากการลงทุน
3. iNAV และสภาพคล่อง
เนื่องจากในช่วงเวลาซื้อขายระหว่างวัน เราจะยังไม่รู้ NAV ของกองทุนทั่วไป รวมถึงกองทุน ETF ซึ่งจะต้องรอจนถึงสิ้นวัน แต่อย่างไรก็ตาม กองทุน ETF มีความแตกต่างจากกองทุนทั่วไปที่มีค่าประมาณการของ NAV เรียกว่า iNAV ซึ่งใช้ในการประกอบการตัดสินใจซื้อขาย โดยหากค่าดังกล่าวถูกกว่าราคาซื้อขายบนกระดาน ตีความได้ว่า ETF มีมูลค่าที่แพงกว่ามูลค่าที่ประมาณการโดย INAV
แต่อย่างไรก็ตาม อีกปัจจัยที่ควรพิจารณาก่อนซื้อ คือ สภาพคล่อง หาก ETF ที่เราลงทุนมีสภาพคล่องสูง จะทำให้สามารถซื้อขายได้ง่าย โดย ETF ทุกกองอย่างน้อยต้องมีผู้ดูแลสภาพคล่อง 1 รายเสมอ เพื่อให้นักลงทุนมีความมั่นใจในการซื้อหรือขาย ETF นั้นๆ
สิ่งที่นักลงทุนควรดูก่อนตัดสินใจลงทุนใน DR และ DRx มีดังนี้
1. สินทรัพย์อ้างอิง
การลงทุนใน DR หรือ DRx เสมือนกับการยกหุ้นต่างประเทศหรือกองทุน ETF ต่างประเทศที่น่าสนใจเป็นตัว ๆ มาให้นักลงทุนในประเทศได้ซื้อง่ายขายคล่องในรูปแบบของตราสาร DR หรือ DRx ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เราควรติดตามว่า ปัจจุบันราคาของสินทรัพย์ที่เราเลือกลงทุนนั้นอยู่ที่เท่าไหร่ ซึ่งจะขึ้นอยู่กับผลประกอบการของบริษัทนั้น ๆ ที่จะเป็นตัวกำหนดทิศทางราคาของสินทรัพย์ว่าเป็นอย่างไร นอกจากปัจจัยเฉพาะตัวแล้วยังมีผลจากสภาพตลาดและเศรษฐกิจของประเทศที่สินทรัพย์อ้างอิงนั้นทำการซื้อขายอยู่อีกด้วย
2. ราคาของ DR และ DRx
การเคลื่อนไหวของราคา DR และ DRx ที่ซื้อขายกันก็ขึ้นกับว่าอ้างอิงกับหลักทรัพย์ใด ราคาก็ควรเคลื่อนไหวไปในทิศทางเดียวกันกับหลักทรัพย์นั้น ๆ แต่ปรับด้วยความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนตามสกุลเงินที่หลักทรัพย์ต่างประเทศนั้น ๆ ซื้อขายกันด้วย แต่ในส่วนของ DRx จะมีอัตราส่วน DRx ต่อหลักทรัพย์อ้างอิงต่างประเทศเพิ่มเข้ามาด้วย ซึ่งขึ้นอยู่กับการกำหนดของผู้ออก (Issuer) โดยผู้ลงทุนสามารถศึกษาข้อมูลได้จากสรุปข้อสนเทศ
3. การซื้อขาย DR และ DRx
การซื้อขาย DR จะเหมือนกับการซื้อขายหุ้นในกระดานหลักของตลาดหลักทรัพย์ฯ แต่ประเภทของคำสั่ง DRx สามารถส่งคำสั่งซื้อขายได้ทั้ง จำนวนหน่วย หรือ จำนวนเงิน
4. อัตราแลกเปลี่ยน
นอกจาก DR และ DRx อ้างอิงราคาของหุ้นหรือสินทรัพย์อื่น ๆ ในต่างประเทศแล้ว ยังอ้างอิงกับสกุลเงินของสินทรัพย์ที่จดทะเบียนอีกด้วย ซึ่งเป็นอีกปัจจัยที่ทำให้ราคาของ DR และ DRx มีราคาที่ถูกหรือแพงกว่าในบางช่วงเมื่อเทียบกับราคาของหุ้นอ้างอิง
กลยุทธ์ลงทุนผ่านเครื่องมือ ETF, DR และ DRx
รูปแบบของผลตอบแทนที่เกิดขึ้นจาก ETF, DR และ DRx นั้นมีรูปแบบที่เหมือนกัน โดยสามารถสร้างผลตอบแทนในรูปแบบของส่วนต่างราคา (Capital Gain) และเงินปันผล (Dividend) สำหรับกลยุทธ์การลงทุนในสินทรัพย์ดังกล่าว จะแตกต่างกันออกไปตามสไตล์การลงทุนของแต่ละคน ซึ่งมีวิธีการลงทุนหลัก ๆ อยู่ด้วยกัน 2 วิธี ดังนี้
1. Market Timing เป็นการลงทุนด้วยเงินก้อนเพื่อซื้อและขายในราคาที่ดีที่สุด โดยจับจังหวะลงทุนผ่านเครื่องมือทางเทคนิคและการวิเคราะห์เศรษฐกิจเพื่อประกอบการตัดสินใจ เหมาะสำหรับนักลงทุนที่มีความเชี่ยวชาญ สามารถจับจังหวะในการลงทุนได้
2. DCA เป็นการทยอยลงทุนด้วยเงินจำนวนเท่า ๆ กันทุกเดือน เหมาะสำหรับการลงทุนในระยะยาว ไม่มีความเชี่ยวชาญหรือไม่มีเวลาในการจับจังหวะลงทุน แถมยังเป็นการสร้างวินัยการลงทุนไปในตัวอีกด้วย
จากที่กล่าวมาทั้งหมด ทำให้เห็นว่า การลงทุนต่างประเทศมีทางเลือกให้ลงทุนมากมาย และเข้าถึงได้ง่ายขึ้นมากกว่าเดิม สำหรับนักลงทุนคนไหนที่สนใจลงทุนใน ETF, DR, และ DRx สามารถเปิดบัญชีผ่านบริษัทสมาชิกได้ที่นี่ คลิก
ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติม ETF, DR และ DRx ได้ตาม Link ด้านล่าง