เทคนิคลงทุนใน RMF ให้ได้ทั้งแผนเกษียณและภาษี

โดย อุมาพันธุ์ เจริญยิ่ง, CFP® รองกรรมการผู้จัดการ บมจ.เมืองไทยประกันชีวิต
3 Min Read
14 พฤศจิกายน 2564
6.661k views
Inv_เทคนิคลงทุนใน RMF ให้ได้ทั้งแผนเกษียณและภาษี_Thumbnail
Highlights

ก่อนตัดสินใจลงทุนในกองทุนรวม RMF หากทำความเข้าใจและวางแผนจัดสรรเงินลงทุนอย่างรอบคอบ เลือกลงทุนตามนโยบายการลงทุนที่สนใจและสอดคล้องกับความสามารถในการรับความเสี่ยง รวมถึงผลตอบแทนที่คาดหวังในระยะยาว ขณะเดียวกันก็ไม่ทำผิดเงื่อนไขในระหว่างที่ลงทุน เพียงเท่านี้ก็จะช่วยให้สามารถออมเงินได้ในระยะยาวและได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยจากกองทุนรวม RMF อีกด้วย

เข้าสู่ช่วงสุดท้ายปลายปี ก็ถึงฤดูกาลซื้อกองทุนรวมประหยัดภาษีกันแล้ว ปัจจุบันมีกองทุนรวมสองประเภทที่ได้รับสิทธิลดหย่อนภาษี ประกอบด้วย กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) ซึ่งถูกจัดตั้งขึ้นมาตั้งแต่ปี 2544 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นทางเลือกของการออมเพื่อการเกษียณสำหรับคนที่มีอาชีพอิสระ มนุษย์เงินเดือนที่นายจ้างไม่ได้มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือไม่ได้เป็นข้าราชการที่มีกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) นอกจากนี้ ยังเป็นทางเลือกในการออมเพิ่มให้กับคนที่ต้องการออมเพื่อการเกษียณนอกเหนือจากการออมในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ หรือกองทุนการออมแห่งชาติที่มีอยู่อีกด้วย ส่วนอีกกองทุนหนึ่ง ก็คือ กองทุนรวมเพื่อการออม (SSF) ที่เพิ่งเริ่มจัดตั้งมาในปี 2563 และสามารถลงทุนลดหย่อนภาษีได้ไปจนถึงปี 2567

 

ใครบ้างที่เหมาะกับกองทุนรวม RMF

เป็นคำถามที่ได้ยินกันบ่อย ๆ แต่ความจริงแล้วกองทุนรวม RMF เหมาะกับทุกคน เพราะมีหลากหลายนโยบายการลงทุนให้เลือก ไม่ว่าจะเป็นนโยบายการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงต่ำอย่างตลาดเงิน ตราสารหนี้ ไปจนถึงสินทรัพย์เสี่ยงสูง เช่น หุ้นไทย หุ้นต่างประเทศ อสังหาริมทรัพย์และทองคำ และเนื่องจากการลงทุนในกองทุนรวม RMF เป็นการออมระยะยาวเพื่อเก็บไว้ใช้ยามเกษียณ จึงจูงใจนักลงทุนผ่านการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี โดยนักลงทุนต้องมีวินัยในการออมสม่ำเสมอ และต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขให้ครบถ้วน จึงจะได้ประโยชน์ทั้งการวางแผนเกษียณและวางแผนภาษีในคราวเดียวกัน โดยเงื่อนไขที่ต้องปฏิบัติในการลงทุน มีดังนี้

  • ต้องซื้อทุกปี เมื่อเริ่มตั้งใจเก็บออมเงินเพื่อการเกษียณแล้ว กองทุนรวม RMF ต้องลงทุนต่อเนื่องทุกปี ถ้าเกิดเหตุที่ปีใดไม่สามารถซื้อได้ สามารถหยุดได้แบบปีเว้นปี ตัวอย่างเช่น หากลงทุนในปี 2562 ถ้าปี 2563 ไม่ได้ลงทุนในกองทุนรวม RMF ยังไม่ถือว่าผิดเงื่อนไข แต่ปี 2564 ต้องลงทุน จึงจะถือว่า ปฏิบัติตามเกณฑ์ ไม่ผิดเงื่อนไขของกองทุนรวม RMF
  • ลงทุนได้ไม่เกิน 30% ของเงินได้พึงประเมิน ทั้งนี้ เมื่อรวมกับเงินออมเพื่อการเกษียณในกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ประกันชีวิตแบบบำนาญ เงินกองทุนสงเคราะห์ครูโรงเรียนเอกชน กองทุนการออมแห่งชาติ และกองทุนรวมเพื่อการออม SSF สูงสุดได้ไม่เกิน 500,000 บาทต่อปี
  • ต้องลงทุนในกองทุนรวม RMF จนอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ และลงทุนอย่างน้อย 5 ปี (นับวันชนวัน) จึง
    จะครบกำหนดเงื่อนไขและขายคืนได้โดยไม่เสียภาษี

 

ข้อพึงรู้ก่อนลงทุนในกองทุนรวม RMF

  • การออมสม่ำเสมอต่อเนื่องทุกปี ปัจจุบันไม่มีเกณฑ์ขั้นต่ำ ดังนั้น จำนวนเงินลงทุนขั้นต่ำจึงขึ้นอยู่กับข้อกำหนดของแต่ละกองทุน เช่น 500 บาท เป็นต้น
  • กรณีที่หยุดลงทุน ปีที่หยุดจะไม่นับเป็นปีที่ลงทุน เช่น ปี 2562 ซื้อกองทุนรวม RMF ต่อมาปี 2563 หยุดซื้อ และกลับมาซื้อในปี 2564 จะนับว่า ลงทุนในกองทุนรวม RMF เพียง 2 ปี
  • ควรเลือกนโยบายการลงทุนให้เหมาะกับความเสี่ยงที่นักลงทุนยอมรับได้ หรืออาจจะปรับนโยบายการลงทุนให้สอดคล้องกับช่วงอายุหรือระยะเวลาที่ใกล้เกษียณ เช่น ถ้าอายุเข้าใกล้ช่วงเตรียมเกษียณ ก็อาจเลือกสับเปลี่ยนจากกองทุนรวม RMF ที่มีนโยบายลงทุนในหุ้น มาเป็นกองทุนรวม RMF ที่มีนโยบายผสม คือ มีทั้งหุ้นและตราสารหนี้ เป็นต้น
  • เมื่อครบกำหนดอายุ 55 ปีบริบูรณ์ และลงทุนมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี สามารถถอนหน่วยลงทุนทั้งหมดออกมาได้ หรือเลือกที่จะถือครองต่อก็ได้หากยังไม่ต้องการใช้เงิน กรณีที่ตัดสินใจขาย หากต่อมาอยากกลับมาซื้อใหม่ ก็สามารถทำได้ โดยต้องเริ่มนับหนึ่งใหม่ หมายความว่า ต้องลงทุนต่อเนื่องทุกปี และลงทุนอย่างน้อย 5 ปี นับแบบวันชนวัน ซึ่งหากผิดเงื่อนไขควรรีบชำระคืนภาษี เบี้ยปรับ เงินเพิ่มโดยพลัน มินั้นจะเสียค่าเบี้ยปรับเพิ่มตามระยะเวลาที่ผิดเงื่อนไข
  • สามารถเปลี่ยนนโยบายการลงทุนหรือเปลี่ยนกองทุนรวม RMF ที่ถืออยู่ได้ ผ่านการสับเปลี่ยนกองทุน (Switch) ทั้งนี้ จะสับเปลี่ยนภายในบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนเดียวกันหรือจะย้ายไปบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนอื่นก็ได้ แต่ต้องเป็นการสับเปลี่ยนไปในประเภทกองทุนรวม RMF เท่านั้น จะข้ามไปกองทุนรวมทั่วไป กองทุนรวม SSF ไม่ได้ มิฉะนั้น จะเข้าข่ายผิดเงื่อนไขขายคืนหน่วยลงทุนก่อนเวลาที่กำหนด

 

ในการคำนวณว่า ปีนี้ควรซื้อกองทุนรวม RMF เท่าไรดีนั้น มีเทคนิคให้เริ่มจากปีนี้มีการออมในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการเท่าไหร่ ใช้สิทธิไปมากน้อยแค่ไหน จะซื้อประกันแบบบำนาญด้วยหรือไม่ วงเงินส่วนที่เหลือก็จะสามารถคำนวณได้ว่า จะวางแผนเกษียณและวางแผนภาษีในกองทุนรวม RMF และ SSF สูงสุดได้เท่าไร

 

ตัวอย่างที่ 1 : นายออม เป็นมนุษย์เงินเดือน มีรายได้ 600,000 บาทต่อปี ต้องการวางแผนเกษียณผ่านกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนรวม RMF และกองทุนรวม SSF สูงสุดได้เท่าไร

Inv_เทคนิคลงทุนใน RMF ให้ได้ทั้งแผนเกษียณและภาษี_01

ตัวอย่างที่ 2 : นายลงทุน เป็นมนุษย์เงินเดือน มีรายได้ 1,000,000 บาทต่อปี จะเลือกออมผ่านกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนรวม RMF และกองทุนรวม SSF สูงสุดได้เท่าไร

Inv_เทคนิคลงทุนใน RMF ให้ได้ทั้งแผนเกษียณและภาษี_02

แม้ว่ากองทุนรวม RMF จะมีเงื่อนไขในการลงทุนที่ค่อนข้างเยอะและระยะเวลาการถือครองที่ยาวนาน แต่การวางแผนลงทุนอย่างชาญฉลาด ก็เชื่อได้ว่า กองทุนรวม RMF จะช่วยตอบโจทย์การวางแผนเกษียณและวางแผนภาษีในคราวเดียวกันได้อย่างแน่นอน


สำหรับผู้ที่สนใจลงทุนในกองทุนรวม SSF & RMF แต่ไม่รู้จะเริ่มต้นอย่างไร ลองมาทำความรู้จักกองทุนทั้ง 2 แบบเข้าใจง่าย และเจาะลึกมากขึ้น ทั้งในแง่ของภาพรวมกองทุน กลยุทธ์การลงทุน ตลอดจนเทคนิคประหยัดภาษีอย่างฉลาด ด้วย “คู่มือ SSF&RMF แฝดคู่ใหม่ใช้ลดหย่อนภาษี” ดาวน์โหลดและอ่านฟรี!! >> คลิกที่นี่

 

และสำหรับผู้ที่สนใจ เรียนรู้สิทธิประโยชน์และเงื่อนไขต่าง ๆ ในการลดหย่อนภาษี เพื่อให้สามารถวางแผนภาษีและเพิ่มเงินออมได้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถเรียนรู้เพิ่มเติม ผ่าน e-Learning หลักสูตร “วางแผนภาษี สไตล์มนุษย์เงินออม” ได้ฟรี!!! >> คลิกที่นี่

 

นอกจากนี้ การวางแผนภาษีในปัจจุบันไม่ได้เป็นเรื่องยากอีกต่อไป เพราะมีโปรแกรมคำนวณที่จะช่วยวางแผนประหยัดภาษี พร้อมคำนวณให้อย่างเสร็จสรรพว่าต้องลงทุนเพิ่มอีกเท่าไหร่ จึงจะประหยัดภาษีได้ ผู้ที่สนใจสามารถคำนวณได้ฟรี!!! >> คลิกที่นี่

แท็กที่เกี่ยวข้อง: