เทคนิควิเคราะห์ DRx เทรดทำกำไรหุ้นระดับโลก (Apple และ Tesla) ต้องดูอะไร

โดย SET
5 Min Read
14 มีนาคม 2566
3.519k views
Apple_ vs_Tesla banner

ผู้เขียน คุณวิศกรณ์ คีรีวรรณ, CFA

ตำแหน่ง ผู้อำนวยการวิจัยเศรษฐกิจและกลยุทธ์การลงทุน

ฝ่าย กลยุทธ์และพัฒนาผลิตภัณฑ์
สังกัด บริษัทหลักทรัพย์ ดาโอ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน)

          นักลงทุนทุกคนที่ก้าวเข้ามาสู่โลกของการลงทุนล้วนแล้วต้องมีคุณสมบัติหนึ่งที่สำคัญ "ความพร้อมในการเรียนรู้" เพราะโลกของการลงทุนนั้นเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ทั้งปัจจัยทางด้านเศรษฐกิจ การเมือง สังคม ตลอดจนกลยุทธ์การลงทุน  ความรู้ที่ถูกถ่ายทอดมาจากหนังสือ ตลอดจนแนวคิดทฤษฎีต่างๆ นั้นอาจจะใช้ได้ในการลงทุนเพียงบางเวลาและอาจจะมีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ ดังนั้นในโลกที่นักลงทุนเปรียบเสมือนกับนักเรียนผู้ใฝ่รู้ตลอดเวลา ย่อมต้องพัฒนาตนเอง แสวงหาโอกาสการลงทุน ตลอดจนผลิตภัณฑ์ทางการเงินใหม่ๆ เพื่อเพิ่มโอกาสในการลงทุนต่างๆ หนทางหนึ่งที่ได้รับความนิยมในช่วงที่ผ่านมาคือการหาโอกาสการลงทุนในต่างประเทศ ในด้านการลงทุนทั้งส่วนตัวและการในด้านการทำงาน ผู้เขียนมักจะใช้วิธีการศึกษาสินค้าที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวัน เช่น โทรศัพท์มือถือ (APPLE) แอพพลิเคชั่นประชุมออนไลน์ (ZOOM, MSFT) และใช้เป็นโจทย์หลักในการค้นหาโอกาสการลงทุนใหม่ๆเสมอ ซึ่งในยุคปัจจุบันต้องยอมรับว่าสินค้าในชีวิตประจำวันของเรานั้น มักจะเป็นบริษัทข้ามชาติและมีการจดทะเบียนซื้อขายในต่างประเทศ ดังนั้นการเพิ่มโอกาสในการลงทุนด้วยการลงทุนต่างประเทศจึงเป็นคำตอบหนึ่ง สำหรับผู้ที่สนใจจะเป็นเจ้าของกิจการที่น่าสนใจในระยะยาว

 

          ในปัจจุบันการลงทุนทั่วโลกไม่ได้เป็นเรื่องที่ยากอีกต่อไป โดยผู้ให้บริการทางการเงินต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นธนาคารพาณิชย์ บริษัทหลักทรัพย์ ตลอดจนบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม ได้มีการนำเสนอผลิตภัณฑ์ทางการเงินหลากหลายรูปแบบ โดยรูปแบบที่กำลังได้รับความนิยมในปัจจุบันจะอยู่ใน 2 รูปแบบ

 

  1. กองทุนรวม
  2. การซื้อขายหุ้นทางตรงซึ่งรวมถึงการซื้อหุ้นเป็นเศษส่วนไม่เต็มจำนวนหุ้น (Fractional Share)

            เครื่องมือทางการเงิน (Financial Vehicle) ที่มากขึ้น จะช่วยนักลงทุนให้สามารถเข้าใกล้เป้าหมายของการลงทุนได้ง่ายมากขึ้น อย่างไรก็ดี เราก็ต้องยอมรับด้วยว่าในปัจจุบันการที่จะซื้อกองทุนรวมหรือการซื้อขายหุ้นทางตรงนั้นมีข้อดีข้อเสียที่แตกต่างกันออกไป

 

ข้อดีของกองทุนรวม

 

  1. ผลิตภัณฑ์เข้าใจง่ายตรงไปตรงมา
  2. เหมาะกับผู้ไม่มีเวลาติดตามการลงทุนอย่างใกล้ชิด การฝากเงินให้เงินทำงานผ่านผู้จัดการกองทุนจึงเป็นทางเลือกหนึ่ง
  3. การซื้อกองทุนไม่จำเป็นต้องระบุเป็นหุ้น แต่ระบุเป็นจำนวนเงิน ซึ่งต่างจากการซื้อหุ้น

ข้อจำกัดของกองทุนรวม

 

  1. ค่าธรรมเนียมในการซื้อขายกองทุนต่างประเทศอาจจะสูงได้ถึง 1.5% - 2%
  2. กองทุนบางกองไม่มีนโยบายป้องกันความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน
  3. มีระยะเวลาซื้อขายเป็นช่วงเวลา ไม่ได้เปิดการซื้อขายตลอดเวลา
  4. เหมาะกับการถือลงทุนในช่วงระยะเวลาหนึ่ง เนื่องจากมีค่าธรรมเนียมที่สูงกว่าการซื้อขายหุ้นปกติในไทย
รูปประกอบบทความ 1

ในด้านผลิตภัณฑ์การลงทุนซื้อขายหุ้นต่างประเทศทางตรงนั้น จะมีข้อดีข้อเสียแตกต่างจากการลงทุนผ่านกองทุนรวมต่างประเทศ โดยการลงทุนซื้อหุ้นต่างประเทศทางตรงนั้น เหมาะสมกับนักลงทุนที่มีประสบการณ์ในการลงทุนมาแล้วในระดับหนึ่ง เนื่องจากมีความเสี่ยงของอัตราแลกเปลี่ยนและระยะเวลาในการซื้อขาย (Time Zone) นั้นมีความแตกต่างกับของประเทศไทย

 

การลงทุนต่างประเทศทางตรง คือ การเปิดบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ต่างประเทศ เพื่อทำการซื้อขายหลักทรัพย์นั้นๆ โดยตรง ตามเวลาทำการของตลาดใดๆ ที่นักลงทุนสนใจ

 

ข้อดีของการลงทุนหุ้นต่างประเทศทางตรง

  1. นักลงทุนได้เป็นเจ้าของบริษัทจดทะเบียนในต่างประเทศได้เสมือนการถือครองหุ้นไทย
  2. นักลงทุนสามารถกะจังหวะการลงทุน (Market Timing) ได้ง่ายกว่าการลงทุนผ่านกองทุนรวม
  3. การลงทุนต่างประเทศมีให้เลือกซื้อในหลายตลาด โดยมากมักจะเป็นสหรัฐอเมริกา ยุโรป ตลอดจนฮ่องกงและสิงคโปร์ ทำให้การกระจายลงทุนทำได้ง่ายกว่าการลงทุนเพียงหุ้นไทย
  4. ผู้ให้บริการในบางรายอนุญาตให้นักลงทุนสามารถเลือกแลกเงินตราต่างประเทศล่วงหน้าไว้ได้ ทำให้นักลงทุนมีข้อได้เปรียบในช่วงของค่าเงินบาทแข็งค่าและสามารถซื้อลงทุนในหุ้นต่างประเทศได้ปริมาณมากขึ้น

 

ข้อจำกัดของการลงทุนหุ้นต่างประเทศตรง

  1. Time Zone ของนักลงทุนในไทยและการลงทุนในต่างประเทศนั้นไม่ตรงกัน โดยเฉพาะในตลาดทางฝั่งตะวันตก เช่น สหรัฐอเมริกาและยุโรป
  2. การซื้อขายหุ้นต่างประเทศจะมีความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน หากนักลงทุนไม่มีประสบการณ์ด้านการลงทุนระหว่างประเทศหรือถือลงทุนได้นานพออาจจะกระทบกับผลตอบแทนโดยรวมได้ และการแสดงผลของราคาหุ้นมักจะอยู่ในรูปแบบสกุลเงินตราต่างประเทศ (บางผู้ให้บริการมีการแปลงค่าให้เป็นไทยบาท แต่นักลงทุนก็ต้องไปนั่งเทียบอัตราแลกเปลี่ยนอีกครั้งหนึ่งอยู่ดี เนื่องจากมีอัตราแลกเปลี่ยนเงินต่างประเทศที่แตกต่างกันไปในแต่ละผู้ให้บริการ
  3. บางตลาด/ผู้ให้บริการ อาจจะไม่อนุญาตให้นักลงทุนซื้อขายในรูปแบบ Fractional Share (ซื้อไม่เต็มหุ้น เช่น 0.0001หุ้น)

            ดังนั้นหากพิจารณาผลิตภัณฑ์ทางการเงินทั้ง 2 ประเภทแล้ว แม้ว่าจะมีจุดมุ่งหมายคือเพื่อการลงทุนในต่างประเทศเหมือนกัน แต่นักลงทุนต้องยอมรับว่าทั้ง 2 วิธีนั้นมีข้อดีข้อเสียที่แตกต่างกันออกไป การเลือกผลิตภัณฑ์ให้เหมาะสมกับเป้าหมายการลงทุนของนักลงทุนจึงเป็นตัวแปรที่สำคัญเช่นกัน

 

วันที่ 29 กันยายน 2565 ทางตลาดหลักทรัพย์และธนาคารกรุงไทยได้ทำการออกผลิตภัณฑ์เพื่อเป็นทางเลือกสำหรับนักลงทุนอย่าง DRx หรือ Fractional Depositary Receipt ซึ่งเป็นตราสารแสดงสิทธิในหลักทรัพย์ต่างประเทศที่ช่วยให้ผู้ลงทุนสามารถซื้อหุ้นหรือหลักทรัพย์ต่างประเทศ โดยนักลงทุนสามารถซื้อขายผ่าน Application Streaming แต่จะต้องทำขอเปิดบัญชีเพิ่มเติมผ่าน Streaming เดิมได้ทันที (อาจจะต้องมีการลงนามในเอกสารเพิ่มเติมตามขั้นตอนของแต่ละบริษัทหลักทรัพย์) ซึ่งผู้เขียนจะขออนุญาตไม่ลงในรายละเอียด

 

            กลับมาคุยกันถึงลักษณะผลิตภัณฑ์ของ DRx นั้นมีข้อดีข้อเสียอะไรบ้าง เมื่อเทียบกับการลงทุนต่างประเทศผ่านกองทุนและการลงทุนต่างประเทศทางตรง

ข้อดี

  1. การซื้อขายเป็น Time Zone เดียวกับประเทศไทยและ Session ต่างประเทศด้วยเช่นกัน แบ่งเป็น 2 ช่วงเวลาตามตลาดที่หลักทรัพย์อ้างอิงมีการจดทะเบียนซื้อขายไว้
  2. การซื้อขายอยู่ในรูปแบบสกุลเงินบาท

ข้อจำกัด
  1. ปัจจุบัน DRx นั้นมีหลักทรัพย์อ้างอิงเพียงหุ้นบริษัทแอปเปิล (AAPL) และ หุ้นบริษัทเทสลา (TSLA) เท่านั้น อาจจะไม่ได้มีทางเลือกลงทุนมากนักในระยะแรก
  2. การซื้อขาย DRx แม้ว่าจะอยู่บน App Streaming แต่จะเป็นบัญชีลักษณะ Pre - Paid ต่างหาก
  3. ตัวย่อของหลักทรัพย์อาจจะสร้างความสับสนให้กับนักลงทุนได้ เนื่องจากมีตัวย่อที่ยาวและมีรายละเอียดค่อนข้างมากซึ่งอาจจะทำให้นักลงทุนสับสนกับ DR ได้

 

          เมื่อผู้อ่าน อ่านมาถึงจุดนี้น่าจะเริ่มพอเข้าใจถึงข้อดีข้อเสียของการลงทุนผ่าน DRx, กองทุนและการลงทุนต่างประเทศทางตรงอย่างคร่าวๆ ไปบ้างแล้ว ก่อนที่ผู้เขียนจะพาผู้อ่านเข้าไปสู่กลยุทธ์การลงทุนและการนำ DRx มาใช้ในการบริหาร Portfolio นั้น ทางผู้เขียนอยากจะให้นักลงทุนเข้าใจข้อแตกต่างระหว่าง DR และ DRx ก่อน โดยผลิตภัณฑ์ DR นั้นจะมีความแตกต่างกันในรายละเอียด ทั้งเรื่องขนาดการซื้อขายขั้นต่ำที่สูงกว่า และระยะเวลาการซื้อขายที่มีเพียงแค่ช่วงเดียว อย่างไรก็ดี สิ่งที่น่าสังเกตก็คือหลักทรัพย์อ้างอิงของ DR นั้นมีตั้งแต่ ETF ดัชนีตลาดหุ้นต่างประเทศ ไปจนถึงหุ้นรายตัว ซึ่งส่วนมากมักจะเป็นหุ้นของประเทศจีน เช่น BYD , XIAOMI ดังนั้นถ้าใครที่อยากจะได้ DR ในหุ้นอย่าง AAPL ตลอดจน TSLA นั้นอาจจะต้องขยับไปมองทาง DRx แทนที่จะเป็น DR

รูปประกอบบทความ2

รูปภาพที่ 2 : เปรียบเทียบระหว่าง DR vs DRx

รูปประกอบบทความ3
รูปประกอบบทความ4

บทบาทของ DRx นั้นเหมือนหรือต่างจาก DW อย่างไร?

            นักลงทุนบางท่านอาจจะเข้าใจว่าการลงทุนใน DRx นั้นมีลักษณะคล้ายคลึงกับการลงทุนใน DW (Derivative warrant) โดยทั้ง 2 ตราสารแม้ว่าจะมีการซื้อขายบน Streaming Application เหมือนกัน แต่ในการใช้งานและหน้าที่บน

Portfolio นั้นแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง โดย DRx สามารถใช้ได้ในด้านการหากำไรและการกระจายความเสี่ยงบน portfolio (Diversification) ในขณะที่ DW นั้นสามารถใช้ได้ใช้ในด้านการเก็งกำไรและการป้องกันความเสี่ยงบน Portfolio (Hedging)

การนำ DRx ไปใช้ในการบริหารความมั่งคั่ง

            ในด้านการบริหารความมั่งคั่ง ตลอดจน Portfolio Management แล้ว ในทางปฏิบัตินั้น DRx นั้นไม่ได้มีลักษณะเฉพาะที่แตกต่างไปจากการลงทุนในหุ้นต่างประเทศเท่าใดนัก (หากไม่สนใจในประเด็นค่าธรรมเนียมและรายละเอียดอื่นๆ) ดังนั้นการใส่ DRx ใน Portfolio จำเป็นจะต้องมีการระบุวัตถุประสงค์ที่ชัดเจน เช่น เป็นการลงทุนระยะยาว, เป็นการกระจายความเสี่ยงในระยะสั้น หรือเป็นการเก็งกำไรในเหตุการณ์สำคัญต่างๆ เป็นต้น โดยปกติก่อนที่เราจะทำการลงทุนในตัวของ DRx แล้ว ทางผู้เขียนมักจะทำการเปรียบเทียบการเคลื่อนไหวของราคาหุ้นและ DRx ก่อนเสมอ ว่าการเคลื่อนไหวนั้นมีความสอดคล้องกันหรือไม่ ซึ่งเป็นขั้นตอนการลงทุนขั้นพื้นฐานก่อนที่จะเริ่มทำการลงทุนในหลักทรัพย์ที่มีการอ้างอิงกับหลักทรัพย์หลัก หลังจากนั้นจึงเริ่มทำการกำหนดกลยุทธ์ในการลงทุนเพื่อให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์

รูปประกอบบทความ5
รูปประกอบบทความ6
รูปประกอบบทความ7

วิธีการใช้ DRx สำหรับกลยุทธ์การลงทุนระยะสั้น

 

            สำหรับกลยุทธ์การลงทุนในระยะสั้น ทางผู้เขียนขออ้างอิงราคาหลักทรัพย์แม่เป็นหุ้น AAPL ซึ่งในด้านกลยุทธ์ที่นักลงทุนรู้จักกันดีคือ “เก็งงบ” หรือการคาดหวังว่างบการเงินของบริษัทดังกล่าวจะออกมาดี อย่างไรก็ดี จากการทดสอบกลยุทธ์ดังกล่าวทาง DAOL พบว่าการลงทุนในหุ้น AAPL หลังงบออกมักจะให้ผลตอบแทนได้ดีกว่าตลาดหุ้นโดยรวม (S&P500) และอีกกลยุทธ์ที่มักจะได้รับความนิยมในการลงทุน AAPL ก็คือการซื้อเก็งการเปิดตัวโทรศัพท์รุ่นใหม่ (หรือไอแพดรุ่นใหม่) โดยทางบริษัทแอปเปิ้ลเองนั้น มักจะมีการประกาศวันที่จะนำเสนอผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ให้กับนักลงทุน โดยจากการศึกษาของ DAOL พบว่ากลยุทธ์ดังกล่าวมักจะให้ผลตอบแทนที่สูงกว่าดัชนีอ้างอิงอย่าง S&P 500 ใน 1 สัปดาห์ก่อนที่จะมีงานดังกล่าวเกิดขึ้น ซึ่งนักลงทุนสามารถใช้กลยุทธ์ดังกล่าวผ่านการลงทุน DRx ได้เพื่อใช้ในการเก็งกำไรและสร้างความมั่งคั่ง โดยกลยุทธ์ดังกล่าวที่ทางผู้เขียนนำเสนอนั้น ไม่ได้นำเรื่องค่าธรรมเนียม, การจับจังหวะตลาด เข้ามาใช้ในการประเมินด้วย ตลอดจนการคิดราคาซื้อขายนั้นมองในรูปแบบราคาปิดเทียบกันเท่านั้น ซึ่งหากนักลงทุนมีประสบการณ์ในการจับจังหวะตลาดจะยิ่งสามารถช่วยให้การซื้อขายระยะสั้นมีประสิทธิภาพมากขึ้น

รูปประกอบบทความ8
รูปประกอบบทความ9

วิธีการใช้ DRx สำหรับกลยุทธ์การลงทุนระยะกลาง - ยาว

 

            ในการลงทุนระยะยาว ทางผู้เขียนคิดว่าการใช้ DRx เข้ามาจัด Portfolio โดยรวมนั้นมองได้ 2 รูปแบบเช่นกัน รูปแบบแรกเป็นการทำ DCA ในระยะยาว (Dollar Cost Average) โดยจะทำการซื้อ DRx ดังกล่าวเข้าไปด้วยจำนวนเงินเท่าๆกันทุกเดือน เพื่อสร้างผลตอบแทนในระยะยาวได้เช่นเดียวกับการลงทุนในหุ้นแม่ของ AAPL เช่นเดียวกัน

รูปประกอบบทความ10
รูปประกอบบทความ11
รูปประกอบบทความ12

           สำหรับอีกกลยุทธ์สำหรับนักลงทุนที่มีการซื้อขายหรือปรับ Portfolio เป็นระยะๆ นั้น การใช้ DRx สำหรับการบริหารความเสี่ยงย่อมสามารถทำได้ด้วยเช่นกัน ดังที่ผู้เขียนได้นำเสนอแนวคิดการกระจายความเสี่ยงไปในช่วงก่อนหน้านี้ (Diversification) โดยพบว่าการกระจายการลงทุนนั้นตามหลักทฤษฎีมีเป้าประสงค์เพื่อลดความเสี่ยง (Volatility) และเพิ่มประสิทธิภาพของ Portfolio ซึ่งจะสะท้อนผ่าน Sharpe Ratio ที่มีค่าสูงขึ้น (เป็นการเทียบระหว่างผลตอบแทนที่หักผลตอบแทนที่ปราศจากความเสี่ยงต่อความเสี่ยงของ Portfolio โดยรวม) จากการจำลองการจัด Portfolio พบว่า การเพิ่ม DRx ในหุ้นต่างประเทศลงไปช่วยให้ประสิทธิภาพของนักลงทุนในระยะยาวเพิ่มสูงขึ้นตามหลักทฤษฎีและช่วยให้โอกาสรอด ชีวิตของนักลงทุน (Portfolio Surviving Probability) ในตลาดทุนสูงขึ้นด้วย

 

การลงทุนใน DRx นักลงทุนควรต้องศึกษาอะไรจากหุ้นแม่อย่าง AAPL  และ TSLA บ้าง?

การลงทุนใน DRx ระยะสั้นนั้นอาจจะเป็นลักษณะ Technical trading (ซื้อขายตามกราฟเทคนิคอล) ซึ่งเป็นสิ่งที่นักลงทุนส่วนมากคุ้นเคยกันดี ทางผู้เขียนนั้นมองว่าการลงทุนในระยะกลาง – ยาว หุ้นต่างประเทศอย่าง AAPL และ TSLA นั้นจำเป็นจะต้องมีการวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานเป็นตัวแปรหลัก ซึ่งทางผู้เขียนขออนุญาตยกการวิเคราะห์ของทางบริษัทหลักทรัพย์ DAOL มาเป็นตัวอย่าง ว่าปัจจัยใดบ้างที่มีความสำคัญ

Apple (AAPL US)          
Bloomberg Consensus: Target Price: $169.03

Price: $148.50  (Upside 12.42%)

 

          Apple (AAPL US) หนึ่งในบริษัทที่ใหญ่ที่สุดในโลกเป็นเจ้าของ iPhone ซึ่งเป็น Smartphone ระดับ High - End ที่มีส่วนแบ่งทางตลาด (Market Share) อันดับหนึ่ง ทั้งยังเป็นเจ้าของผลิตภัณฑ์ชั้นนำอย่าง iMac, iPad, MacBook, Airpod และ Accessories อื่นๆอีกมากมาย ปัจจุบันบริษัทเริ่มเน้นธุรกิจบริการอย่าง Apple Music, Apple TV Plus, Apple Pay และ Apple Store ทั้งยังมีรายได้จากการโฆษณาผ่านช่องทางต่างๆของบริษัทอีกด้วย


มุมมองเชิงบวก
(Bull Says) 

  • หากดูส่วนแบ่งทางตลาดของ Smartphone ทั้งหมด Apple จะเป็นอันดับ 2 โดยอันดับ 1 คือ Samsung และมีส่วนแบ่งทางการตลาดทิ้งห่างกันไม่มาก แต่หากมองแค่เฉพาะ Premium Smart Phone (>$400) แล้ว Apple ถืออันดับ 1 โดยมีส่วนแบ่งทางการตลาด มากกว่า 60% ซึ่งถือเป็นจุดแข็งของ Apple เพราะลูกค้ากลุ่มบนนั้นมีกำลังซื้อมากกว่าทำให้การเพิ่มราคานั้นเป็นไปได้ง่ายกว่า Smartphone ราคาถูก

 

  • iPhone เป็นสินค้าที่มีความภักดีในตราสินค้า (Brand Loyalty) ค่อนข้างสูงมาก น้อยคนที่ใช้ iPhone จะสลับกลับไป Smartphone Android
รูปประกอบบทความ13
  • ยอดคำสั่งซื้อในไตรมาส 1 เป็นไปด้วยดี โดยมียอดคำสั่งซื้อมากกว่ายอดผลิตถึง 2 เท่าตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา หลังมีการประกาศลดราคาไปหลายครั้ง ซึ่งบริษัทชี้แจ้งว่าการลดราคานั้นเกี่ยวกับสิทธิประโยชน์ทางภาษีมากกว่า ไม่ได้มาจากความต้องการที่อ่อนแอแบบที่หลายคนคาด

 

  • จุดหลักที่ Apple จะโฟกัสต่อจากนี้ คือ ธุรกิจบริการ โดยปัจจุบันรายได้จากฝั่งการ คิดเป็น 5% ของรายได้รวม เพิ่มขึ้นมาจาก 5 ปีก่อน (FY17) ที่ Apple มีสัดส่วนรายได้จากฝั่งการบริการประมาณ 12%

 

  • ผลิตภัณฑ์ที่ต้องจับตา คือ อุปกรณ์ AR/VR ที่ถูกคาดว่าเปิดในปีนี้หรือปีหน้า

มุมมองเชิงลบ (Bear Says)  

  • รายได้ของ Apple เกือบ 50% มาจาก iPhone ซึ่งถือว่าสูงมากสำหรับบริษัทใหญ่ขนาดนี้ โดยถึงแม้ iPhone จะเป็นสินค้าขายดีที่ลูกค้ามีความภักดีในตราสินค้า (Brand Loyalty) สูงมากๆ แต่หากเกิดปัญหาที่คาดไม่ถึงขึ้น รายได้จะกระทบค่อนข้างมาก อย่างไรก็ดีผู้บริหารพยายามออกผลิตภัณฑ์ใหม่ๆมา เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว รวมถึงการเน้นเพิ่มรายได้ของฝั่งการบริการด้วยเช่นเดียวกัน

 

  • ด้วยความที่ Apple เป็นบริษัทขนาดใหญ่มาก และมีส่วนแบ่งทางการตลาดในหลายๆธุรกิจค่อนข้างสูงทำให้มักจะมีปัญหาเรื่องกฎหมายต่อต้านการผูกขาด (Antitrust Law) อยู่เป็นประจำ

 

  • ปัญหาการ Lockdown ของจีนเป็นระยะๆ กระทบกระบวนการการผลิตของบริษัทต่อการผลิตสินค้าภายใต้ธุรกิจของ Apple พอสมควร

 

  • เนื่องจากผู้ผลิตชิป Apple M1 และ M2 คือ Taiwan Semiconductor Manufacturing Company ทำให้เรื่องความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitical Risk) อาจกระทบต่อการผลิตสินค้าของ Apple ได้

 

โอกาสเติบโต (Growth Opportunities)

          ยอดขาย iPhone ในระยะยาวจะเติบโตจากราคาที่สูงขึ้นมากกว่าจำนวนที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากตลาด Smartphone นั้นเริ่มอิ่มตัวแล้ว ในขณะที่ส่วนที่โตมากที่สุดในระยะสั้น - กลาง จะเป็นรายได้จากฝั่งการบริการ จากการเพิ่มบริการโฆษณาแฝงเข้าไปใน App Store และรายได้จากค่า Subscription บริการต่างๆ ในระยะยาวต้องติดตามผลิตภัณฑ์ใหม่ๆของ Apple ว่าจะมีอะไรที่สร้าง S - Curve ใหม่ให้แก่บริษัทได้บ้าง ซึ่งหนึ่งผลิตภัณฑ์ที่ต้องจับตาในช่วงนี้คือแว่น AR/VR ที่อาจมีการเปิดตัวในปีนี้ - ปีหน้า

รูปประกอบบทความ13
รูปประกอบบทความ14
B4

Tesla, Inc. (TSLA US)

Bloomberg Consensus: Target Price: $211.71*     

Price: $173.44 (Upside 18%)

          Tesla (TSLA US) บริษัทออกแบบ ผลิต และจำหน่ายรถพลังงานนำไฟฟ้า นอกจากนั้นยังมีธุรกิจพลังงานทั้ง Solar Roof, Powerwall, Battery ปัจจุบันมีโรงงานทั้งหมด เป็น Tesla Factory ที่ Fremont และเป็น Giga Factory ที่เนวาดา สหรัฐฯ เซี่ยงไฮ จีน และเท็กซัส สหรัฐฯ ปี 2020 Tesla กลายเป็นบริษัทรถยนต์ที่มีมูลค่าสูงที่สุด และมีกำลังการผลิตกว่า 2 ล้านคันต่อปี นอกจากนั้นบริษัทได้นำเทคโนโลยี AI มาพัฒนาระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติ (Autopilot)

รูปประกอบบทความ15

มุมมองเชิงบวก (Bull Says)

  • บริษัทยังคงความเป็นผู้นำในธุรกิจ EV โดยยังมีส่วนแบงทางการตลาดเป็นอันดับต้นๆ (หากนับแค่ Battery EV ยังคงเป็นอันดับ 1 อยู่) และบริษัทยังคงเป้าหมายในการผลิตรถเพิ่มขึ้น 50% ต่อปีอยู่ อีกทั้งการผลิตรถรุ่นใหม่ๆอย่าง รถบรรทุกขนาดเล็ก / รถกระบะขนาดใหญ่ที่เป็นรถพลังงานไฟฟ้าทั้งคันและใช้พลังงานจากแบตเตอรี่ (Cybertruck) และรถบรรทุกพ่วง (Semi - Truck) อีกด้วย

 

  • นอกจากธุรกิจรถแล้ว ธุรกิจอื่นๆก็ยังมีโอกาสในการเติบโตอีกมาก ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจเช่าซื้อ ธุรกิจแหล่งผลิตและกักเก็บพลัง และบริการหลังการขายอื่นๆ

 

  • ยอดคำสั่งซื้อในไตรมาส 1 เป็นไปด้วยดี โดยมียอดคำสั่งซื้อมากกว่ายอดผลิตถึง 2 เท่าตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา หลังมีการประกาศลดราคาไปหลายครั้ง ซึ่งบริษัทชี้แจ้งว่าการลดราคานั้นเกี่ยวกับสิทธิประโยชน์ทางภาษีมากกว่าไม่ได้มาจากความต้องการที่อ่อนแอแบบที่หลายคนคาด

 

  • รายงานยอดขายในจีนในช่วงต้นเดือนมกราคมก็ออกมาดีเช่นเดียวกัน (ตั้งแต่ 9 - 15 ม.ค. ขายได้กว่า 12,000 คัน)

 

  • หากแบ่งยอดขายตาม Model แล้ว Model 3/Y ส่งมอบได้ 388k คัน เพิ่มขึ้น 31%YoY ในขณะที่รถรุ่นราคาสูงอย่าง Model S/X ส่งมอบได้ 17k คัน เพิ่มขึ้น 46%YoY

 

มุมมองเชิงลบ (Bear Says)  

  • บริษัทต่างๆเริ่มผลิตรถ EV ออกมามากขึ้น ทำให้ผู้บริโภคเริ่มมีทางเลือกมากขึ้น และตลาดดังกล่าวมีการแข่งขันที่ดุเดือดขึ้นเมื่อเทียบกับในอดีต (โดยเฉพาะในจีน)

 

  • CEO ของ Tesla อย่าง Elon Musk นั้นเป็นนวัตกรที่เก่งและมักจะคิดนอกกรอบเสมอ ทำให้บางครั้งก็นำพาผลกระทบทางอ้อมมาสู่ Tesla ได้

 

โอกาสเติบโต (Growth Opportunities)

  • การเปิดโรงงานใหม่ในเท็กซัส สหรัฐฯ และเยอรมนี คาดว่าจะช่วยเพิ่มกำลังการผลิตให้กับ Tesla ในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2022 และปีต่อๆ ไป รวมถึงบริษัทยังมีแผนที่จะเปิดโรงงานใหม่ในอินเดีย ตามเป้าหมายระยะยาวเพื่อเพิ่มกำลังการผลิตให้ถึง 20 ล้านคันต่อปี ในปี 2030 (เพิ่มขึ้น 40 เท่าจากระดับการผลิตในปี 2020)

 

  • รถรุ่นใหม่ อย่างรถบรรทุกขนาดเล็ก / รถกระบะขนาดใหญ่ (Cybertruck), รถบรรทุกพ่วง (Semi), รถสปอร์ตเปิดประทุน (Roadster) และหุ่นยนต์รูปทรงมนุษย์ (Optimus Robot) คาดว่าจะเริ่มส่งมอบได้เร็วกว่าคาดในปี 2023 จากการขยายโรงงาน รวมถึงปัญหากระบวนการการผลิต (Supply Chain) และการ Lock Down ในประเทศจีนที่มีแนวโน้มจะคลี่คลายลง

 

คำแนะนำและมุมมอง (Guidance & Outlook)

          บริษัทมีการแจงยอดส่งมอบรถในปี 2023 ไว้ที่ 1.8 – 2 ล้านคัน นอกจากนี้ยังมีการเริ่มส่งมอบ Tesla Semi Truck ไปแล้วพร้อมประกาศขยายไลน์การผลิตรถบรรทุกพ่วง (Semi – Truck) ในเนวาดา สหรัฐฯ ด้วยงบลงทุนกว่า $3.5Bn นอกจากนั้นจะเริ่มผลิตรถ Tesla Semi Truck ในช่วงกลางปีนี้ และจะส่งมอบให้ลูกค้าได้ภายในปี 2024

รูปประกอบบทความ16
รูปประกอบบทความ17
B5

          สุดท้ายนี้การใช้ DRx สำหรับการบริหารการลงทุนยังสามารถทำได้อีกหลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการค้ากำไรโดยปราศจากความเสี่ยง (Arbitrage) ในกรณีที่ DRx กับหุ้นแม่มีการถ่างออกของราคา หรือ การทำ Statistical Arbitrage ซึ่งเป็นเทคนิคการลงทุนขั้นสูงไปอีกขั้น โดยในวันนี้ผู้เขียนขออนุญาตนำเสนอเพียงแค่การนำไปใช้ในเบื้องต้นเท่านั้น ไม่ขอลงลึกในรายละเอียด หากมีโอกาสนำเสนอเพิ่มเติมในอนาคตคงจะได้นำมาแบ่งปันความรู้และเทคนิคให้กับนักลงทุนเพิ่มเติม

          แม้ว่าปัจจุบัน DRx จะมีเพียงไม่กี่หลักทรัพย์ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ของไทย แต่การเพิ่มทางเลือกให้กับนักลงทุนไม่ว่าจะเป็น 0.1% หรือ 1% ก็ตาม ย่อมทำให้ทางเลือกและความหลากหลายในการลงทุนนั้นเพิ่มสูงขึ้น หากเรามองไปในอนาคต โดยภาพรวมแล้วทางผู้เขียนคาดหวังว่าหากผลิตภัณฑ์ทางการเงินดังกล่าวมีความนิยมเพิ่มขึ้น และถูกนำมาใช้ในการสร้างความมั่งคั่งและบริหารความเสี่ยงควบคู่ไปกับการซื้อขายหุ้นไทยตลอดจนสินทรัพย์อื่นๆ ในอนาคต ย่อมต้องมี DRx หรือผลิตภัณฑ์ทางการเงินใหม่ๆ ออกมาเพื่อช่วยให้การลงทุนของนักลงทุนไทยง่ายขึ้น สะดวกขึ้นและทันสมัยมากขึ้นอย่างแน่นอน

ปุ่มแจ้งความประสงค์-DRx-for-LP-Final-Wording-how
แท็กที่เกี่ยวข้อง: