Money Management สิ่งที่ขาดไม่ได้ หากคิดจะเริ่มลงทุน

โดย เจษฎา เจริญสันติพงศ์ Assistant Manager Branch Banking Client Marketing บลจ.ธนชาต
2 Min Read
23 พฤศจิกายน 2564
11.375k views
Inv_Money Management สิ่งที่ขาดไม่ได้ หากคิดจะเริ่มลงทุน_Thumbnail
Highlights

อาวุธสำคัญที่นักลงทุนควรมี คือ Money Management หรือการบริหารจัดการเงินลงทุนอย่างเป็นระบบ เพื่อจำกัดความเสี่ยงของพอร์ตลงทุน โดยส่วนใหญ่จะแบ่งเงินออกเป็นเงินสำรองและเงินหมุนเวียนในการรักษาขนาดของพอร์ตลงทุน และใช้เงินซื้อหุ้นแต่ละตัวอย่างมีแบบแผนเพื่อจำกัดวงเงินขาดทุนและโอกาสในการขาดทุน ซึ่งขึ้นอยู่กับกลยุทธ์การลงทุนของนักลงทุนแต่ละคน

นักลงทุนมือใหม่ที่เข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นอาจได้ยินนักลงทุนผู้มีประสบการณ์พูดว่า “ถ้าทำ Money Management ไม่เป็น ก็ยากที่จะประสบความสำเร็จกับการลงทุนในระยะยาว”

 

นักลงทุนที่ลงทุนในตลาดหุ้นโดยเฉพาะมือใหม่อาจได้บทเรียนจากเหตุการณ์ “ลงทุน 10 ครั้ง ได้กำไร 7 ครั้ง ขาดทุน 3 ครั้ง แต่เมื่อดูพอร์ตลงทุนโดยรวมกลับขาดทุน” ด้วยบทเรียนนี้ทำให้ Money Management เป็นปัจจัยสำคัญและกลายเป็นอาวุธที่นักลงทุนทุกคนต้องมีติดตัว

 

Money Management คือ การบริหารจัดการเงินลงทุนอย่างเป็นระบบ โดยปัจจัยสำคัญที่ต้องคำนึงถึงเป็นอันดับต้น ๆ คือ เรื่องความเสี่ยงและผลตอบแทน ซึ่งสามารถสรุปออกมาเป็นประเด็นสำคัญ 3 ขั้นตอน ดังนี้
 

1. การควบคุมความเสี่ยง

นักลงทุนเคยได้ยินก่อนการลงทุนว่าควรวางแผนในการซื้อขายทุกครั้ง เพราะไม่มีใครล่วงรู้อนาคตได้ว่าตลาดหรือหุ้นที่เล็งไว้จะเป็นอย่างไร โดยสิ่งที่ต้องปฏิบัติในการควบคุมความเสี่ยง คือ การวาง Risk & Reward โดย Risk คือ วางจุดที่จะตัดขาดทุน (Stop Loss) ไว้ล่วงหน้าเพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นกับพอร์ตลงทุนหรือถ้าเกิดความเสียหายก็ให้เกิดขึ้นน้อยที่สุด และรักษาเงินต้นไว้เพื่อต่อยอดโอกาสการลงทุนในอนาคตได้ ส่วน Reward คือ โอกาสที่นักลงทุนได้สร้างผลตอบแทน ส่วนโอกาสจะมากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่กับสถานการณ์

 

2. การจัดสรรเงินลงทุน

การจัดสรรเงินเพื่อลงทุนในแต่ละครั้งควรให้เหมาะสมกับขนาดพอร์ตลงทุนของตัวเอง (โดยเฉพาะหากมีเงินทุนที่จำกัด) ยกตัวอย่างเช่น ถ้ามีเงินลงทุน 1 แสนบาท ก็ไม่ควรทุ่มเงินไปลงทุนในหุ้นตัวเดียว แต่ควรแบ่ง 10 - 25% ของเงินลงทุนทั้งหมดสำหรับการลงทุนหุ้น 1 ตัว นอกจากเป็นการกระจายความเสี่ยงแล้วก็ยังเหลือเงินเพื่อรอโอกาสการลงทุนในหุ้นตัวอื่น ๆ หรืออาจซื้อหุ้นตัวเดิมในกรณีที่หุ้นตัวนั้นมีความน่าสนใจมากยิ่งขึ้น
 

3. การวางแผนการลงทุน

หากวางแผนก่อนลงทุนทุกครั้งจะช่วยให้สามารถจัดการกับทุกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้อย่างเป็นระบบ เช่น ช่วงตลาดหุ้นไทยผันผวนและปรับฐานลงจากผลกระทบต่างประเทศ นักลงทุนที่มีการวางแผนก็จะเข้าซื้อสะสม เพราะประเมินว่าตลาดได้รับผลกระทบจากปัจจัยภายนอก ดังนั้น หลังจากเหตุการณ์ Panic Sell ผ่านไปแล้ว ราคาหุ้นก็จะปรับขึ้นได้ แต่หากไม่มีการวางแผนเอาไว้อาจเทขายตามตลาดในช่วง Panic Sell ก็เป็นได้

ดังนั้น Money Management จึงมีส่วนช่วยให้นักลงทุนบรรลุเป้าหมายและทำให้การลงทุนซื้อขายเกิดความคุ้มค่า อย่างไรก็ตาม คำว่า Money Management ไม่ใช่การบริหารความเสี่ยง ไม่ใช่การกำหนดขนาดปริมาณการซื้อขาย แต่เป็นการจัดการความเสี่ยงรวมถึงระบุปริมาณความเสี่ยงที่ได้รับในการซื้อขาย หรือเรียกว่า Position Sizing  คือการกำหนดความเสียหายล่วงหน้าว่าหุ้นตัวนี้จะยอมขาดทุนได้แค่ไหน นั่นคือกำหนดแผนการขาดทุนเอาไว้ล่วงหน้า ซึ่งแผนดังกล่าวมักกำหนดเป็นจำนวนหุ้นที่ควรซื้อ (การคำนวณหา Position Sizing สามารถปรึกษาเจ้าหน้าที่การลงทุนที่นักลงทุนเปิดบัญชีซื้อขาย)

 

Money Management จะเป็นตัวกำหนดว่าควรเพิ่มหรือลดขนาดการลงทุน ที่สำคัญกลยุทธ์การลงทุนจะทำงานได้ดีมีประสิทธิภาพ นักลงทุนจะต้องมีวินัยในการลงทุน ถ้าทำได้จะช่วยให้พอร์ตลงทุนเติบโตในระยะยาว


สำหรับนักลงทุนและผู้ที่สนใจ เรียนรู้แนวคิดและขั้นตอนในการทำ Money Management ที่ละเอียดมากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการคำนวณโอกาสอยู่รอดในการลงทุน (Expectancy) และการกำหนดสัดส่วนเงินลงทุน (Position Sizing) เพื่อจำกัดการขาดทุนครั้งละมาก ๆ จากการซื้อขายในแต่ละครั้ง สามารถเรียนรู้เพิ่มเติม ผ่าน e-Learning หลักสูตร Money Management” ได้ฟรี!!! >> คลิกที่นี่

แท็กที่เกี่ยวข้อง: