ถึงเวลา ‘ผู้นำองค์กร' ต้องเคาะระฆัง ESG ด้วยตัวเอง

โดย SET X The Standard
5 Min Read
10 มีนาคม 2566
2.462k views
ESG

เพราะทุกคนไม่ได้เข้าใจเรื่อง ESG อย่างชัดเจน แต่เมื่อโลกกำลังเผชิญวิกฤตที่นับวันมีความซับซ้อนมากขึ้น การจะทำให้เกิดการปฏิบัติอย่างในวงกว้างจึงจำเป็นต้องอาศัยผู้นำขององค์กรในการขับเคลื่อน เพราะผู้นำคือคนที่กำหนดนโยบาย วางกลยุทธ์ และผลักดันให้เกิดการปฏิบัติจริงจากภายในองค์กรที่สามารถกระจายสู่วงกว้างได้ และที่สำคัญ ทำให้ฝ่ายปฏิบัติงานและพนักงานเห็นว่าเมื่อหัวเรือใหญ่เอาจริงเอาจังกับเรื่องนี้ ก็ย่อมเป็นสิ่งที่เขาไม่สามารถเพิกเฉยได้อีกต่อไป

 

ESG รอไม่ได้ เพราะยิ่งนานปัญหายิ่งซับซ้อน

ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ประธานกรรมการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) จากการเปิดเผยในงาน SET Sustainability Forum ครั้งที่ 1/2566 หัวข้อ ‘Sustainability Transformation – The Real Test for Leadership’ ว่าปัจจุบันต่างสัมผัสได้ว่าภาวะโลกรวนนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงหลายอย่างมาก หลายสิ่งที่เคยอธิบายได้ก็อธิบายไม่ได้ เกิดวิกฤตที่ซ้อนวิกฤตมากขึ้น โลกกำลังอ่อนแอลง เศรษฐกิจก็ชะลอตัว ยังมีปัญหาหลายอย่างรุมเร้า ปัญหาสังคมก็รุนแรง ธรรมาภิบาลก็บิดเบี้ยว โจทย์ความยั่งยืนกำลังถูกผลักดันให้มีความเข้มแข็งมากขึ้น เมื่อมีหลากปัญหาที่วิ่งเข้ามาทดสอบผู้นำองค์กรอย่างต่อเนื่อง จึงถึงเวลาที่ผู้บริหารองค์กรต่างๆ ต้องพิสูจน์ และเลือกว่าจะรบ หลบ หรือยืนรอความพ่ายแพ้ เพราะถ้ายิ่งช้าจะยิ่งเสียเปรียบ

 

“ปัจจุบันปัญหาไม่ใช่ What & Why แต่เป็นเรื่องของ How & When โดยโจทย์วันนี้ไม่ใช่เรื่องของการตระหนัก แต่เป็นเรื่องของการเร่งลงมือทำเพื่อแข่งกับเวลา ซึ่งนับวันกฎกติกาด้าน ESG ก็มีแต่จะเปลี่ยนไปหรือเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะการเปิดเผยข้อมูล ESG ด้านต่างๆ เพราะสิ่งเหล่านี้จะช่วยให้ธุรกิจมีแนวทางในการเดินได้ง่ายและเร็วขึ้น ไม่ใช่เป็นเพียงแค่ข้อบังคับที่ต้องทำให้เสร็จและสอบให้ผ่านเท่านั้น เมื่อสถานการณ์และความต้องการของตลาดส่วนใหญ่ให้ความสำคัญกับ ESG มากขึ้น คำตอบคือองค์กรจะต้องกำหนดนโยบาย ยุทธศาสตร์ แผนกลยุทธ์ โมเดลธุรกิจใหม่ โครงการและตัวชี้วัดอะไรที่ทำให้เราต้องริเริ่มเพื่อรับมือและคว้าโอกาสใหม่ๆ ที่เข้ามา”

 

เชื่อว่ายังมีพื้นที่ให้ภาคเอกชนและภาครัฐสามารถประสานพลังเพื่อสร้างประโยชน์ให้สังคม โดยเฉพาะเรื่องการวิจัยและพัฒนานวัตกรรม ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญและอุปสรรคของภาคธุรกิจ แต่ปัจจุบันภาครัฐมีงบวิจัยปีละกว่า 1 แสนล้านบาท ถ้าเอกชนสามารถเอาโจทย์ไปทำงานร่วมกับนักวิจัย หรือเสนอเป็นโครงการวิจัยเพื่อรับทุนเพื่อเข้าสู่การทำเศรษฐกิจแบบ BCG ที่จะช่วยหลายฝ่าย รวมถึงยังสร้างอิมแพ็กให้กับธุรกิจหรือวิสาหกิจชุมชนเล็กๆ ได้ เพราะสิ่งเล็กๆ ก็สามารถสร้างอิมแพ็กที่ยิ่งใหญ่ได้ถ้าคิดแบบองค์รวม ทั้งเรื่องรายได้ เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมไว้ในเป้าหมายเดียวกัน

 

ตอนนี้ภาคธุรกิจไทยกำลังต้องการผู้นำมากที่สุด เพื่อพาองค์กรและอุตสาหกรรมให้เท่าทันกับสถานการณ์โลก เพราะโลกมีกติกาและองค์ความรู้ใหม่ที่กำลังเปลี่ยนไปทุกวัน โดยผู้นำที่จะพาองค์กรคิดนอกกรอบ คิดไกล และคิดแบบองค์กร ผู้นำที่พร้อมรับฟังกับทุกฝ่ายทุกคนให้เกิดความร่วมมือ และดึงศักยภาพให้ 1+1 เท่ากับ 10 หรือ 100 ให้ได้ การจะฟันฝ่าอุปสรรคเหล่านี้ได้กัปตันหรือแม่ทัพเรือต้องทำหน้าที่อย่างเข้มข้นและรอบคอบยิ่งขึ้นในการกำกับดูแลความเสี่ยงที่ท้าทาย โดยต้องสื่อสารใกล้ชิดและสนับสนุนทรัพยากรที่เพียงพอ เพื่อจัดการความเสี่ยงได้อย่างมีประสิทธิภาพจนกลายเป็นวัฒนธรรมองค์กรที่มีเป้าหมายเดียวกัน

 

“วันนี้ผู้นำต้องเลือก เพราะปัญหาไม่รอเราและนับวันปัญหายิ่งหนัก โจทย์ยิ่งซับซ้อน เวลายิ่งน้อยลงทุกที เชื่อว่าปัจจัยความสำเร็จที่มั่นคงที่สุดในการขับเคลื่อนธุรกิจสู่ความยั่งยืนด้วยการพลิกสถานการณ์จากลบเป็นบวกได้ ต้องขับเคลื่อนทั้งองค์กรไปพร้อมกัน จาก Purpose (เป้าประสงค์) สู่ Impact (ผลกระทบ) ก็เพื่อรักษาความสามารถในแข่งขันและการเติบโตอย่างต่อเนื่องให้องค์กร นั่นคือต้องเริ่มจากผู้นำองค์กรที่เป็นคณะกรรมการและผู้บริหารระดับสูงที่เข้าใจ มีความรู้ ความเข้าใจ ริเริ่ม และสนับสนุนอย่างชัดเจน”

 

อุปสรรค ESG ในองค์กร เพราะบทบาทผู้นำยังใส่ใจน้อย

ศ.พิเศษ กิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์ ประธานกรรมการ สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย และกรรมการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ให้มุมมองว่า ถึงวันนี้ต้องเปลี่ยนวิธีคิดใหม่เรื่อง ESG และต้องเริ่มจากกรรมการและผู้บริหารบริษัท จากเดิมเพียงส่งพนักงานเข้าคอร์สมาเรียนและอบรมโดยที่ผู้บริหารไม่ได้มีความตระหนักหรือเข้าใจเรื่องนี้อย่างจริงจัง แต่เมื่อสถานการณ์เปลี่ยนไป ESG จึงเป็นเรื่องที่ต้องทำวันนี้ เพราะจะกระทบทั้งผลกำไรและความยั่งยืนของบริษัท

 

ตัวอย่างจากบริษัทในต่างประเทศมีความจริงจังเรื่อง ESG กับบริษัทที่ดำเนินธุรกิจส่งผลกระทบกับ ESG โดยมีทั้งถูกฟ้องให้ชดใช้ค่าเสียหายหรือโดนกดดันจากสังคมให้เห็นชัดเจน เช่น ด้านสิ่งแวดล้อม (E) มีบริษัทที่น้ำมันรั่ว ทำให้เกิดมูลค่าความเสียหายกว่า 6.2 แสนล้านบาท ด้านสังคม (S) อย่าง H&M มีการใช้โฆษณาที่ออกไปทางเหยียดสีผิว และส่งผลกระทบต่อมูลค่าหุ้นที่หายไปถึง 2.9 แสนล้านบาท และด้านบรรษัทภิบาล (G) อย่างกรณี Facebook โดนโทษปรับเรื่องข้อมูลรั่วไหลถึง 1.55 แสนล้านบาท หรือ Toshiba โดนปรับถึง 1,200 ล้านบาท หลังพบว่ามีการทำบัญชีปลอม หรือกรณีที่โบอิ้งตกที่อินโดนีเซียและเอธิโอเปีย โดนฟ้องเรียกค่าเสียหายไปทั้งหมด 6,600 ล้านบาท และคณะกรรมการบริษัทยังถูกฟ้องในคดีอาญาด้วย

 

จากตัวเลขค่าปรับหรือการเรียกร้องค่าเสียหายเป็นหลักแสนล้านบาทสำหรับบริษัทในประเทศไทยถือเป็นมูลค่าที่สูงมาก จนอาจเข้าขั้นฟื้นฟูกิจการได้เลย แต่ความเอาจริงเอาจังของประเทศไทยวันนี้หากไม่ได้คำนึง ESG ยังไม่เห็นผลกระทบจากตัวเลขที่จริงจัง หรือถ้าโดนก็เพียงเล็กน้อย และส่วนใหญ่ก็เพียงแค่เสียชื่อเสียง แต่เพราะไทยต้องค้าขายกับทั่วโลก จึงควรมีการเตรียมตัว

 

ประเทศไทยเพิ่งเริ่มเรื่อง ESG ได้ประมาณ 5 ปี และส่วนใหญ่เป็นเรื่องสิ่งแวดล้อม เช่น บริษัทกระเบื้องตราเพชร (DRT) ที่มีความเสี่ยงเรื่องต้นทุนวัตถุดิบที่สูงขึ้นและเพื่อช่วยลดการเกิดฝุ่น PM2.5 ในโรงผลิต จึงปรับกระบวนการผลิตใหม่ที่นำเอาของเสียหรือฝุ่นมาใช้ในการผลิตใหม่จากการแปรรูปเป็นอิฐตัวหนอน สามารถเพิ่มรายได้อีก 4 ล้านบาท หรือการนำเศษกระดาษที่ใช้แล้วทำเป็นเยื่อกระดาษที่ช่วยลดต้นทุน 25 ล้านบาทต่อปี แต่เท่าที่เห็นบริษัทต่างๆ ยังให้ความสำคัญกับเรื่องของสังคมหรือ S น้อยเกินไป ซึ่งทำให้เห็นความเหลื่อมล้ำมาก และตัว S วัดเป็นมูลค่าเป็นตัวเงินได้น้อย แต่กลับเป็นสิ่งที่มีคุณค่ามากจริงๆ

 

“อุปสรรคการขับเคลื่อน ESG ขององค์กรมีอยู่หลายปัจจัย โดยหลักคือบทบาทของผู้นำที่ไม่ได้ลงมือทำเองแต่เป็นการให้ฝ่ายหรือหน่วยงานด้านนี้เป็นคนทำ ซึ่งหลังจากนี้คณะกรรมการบริษัทควรเป็นคนกำหนดวิสัยทัศน์และเป้าหมายเรื่องนี้ให้ชัดเจน และต้องเกิดจากความเข้าใจของตัวเอง อีกทั้งต้องพยายามผลักดันส่งต่อเพื่อสร้างความเข้าใจกับพนักงานให้มีทิศทางเดียวกัน ไม่ใช่มีเพียงแต่กำหนดนโยบายเท่านั้น”

 

ผู้นำต้องพร้อมรีเซ็ตทุกอย่างเพื่อเข้าถึง ESG

ดร.เยาวลักษณ์ ชาติบัญชาชัย กรรมการสภาวิชาชีพในพระบรมราชูปถัมภ์ และประธานคณะกรรมการวิชาชีพบัญชี ด้านการวางระบบบัญชี มองว่าเมื่อทุกการดำเนินธุรกิจย่อมมีความเสี่ยงที่เกิดขึ้นโดยทั่วไปอยู่แล้ว แต่จุดที่จะทำให้เกิดความแตกต่างของแต่ละหน่วยงาน นั่นคือการที่ผู้นำองค์กรสามารถมองเห็นปัญหาอย่างเข้าใจและลึกซึ้งในบทบาท ที่สำคัญคือต้องสามารถเลือกใช้โซลูชันอย่างชาญฉลาดว่าจะทำอย่างไรให้ไม่ส่งผลกระทบต่อ ESG และยังช่วยสร้างความยั่งยืนให้องค์กรด้วย เพราะแม้องค์กรแต่ละแห่งอาจเจอปัญหาหรือความเสี่ยงที่คล้ายกัน แต่การแก้ปัญหาและผลที่ได้จะต่างกัน ขึ้นอยู่กับกำลังแก้ปัญหาอะไร และอยากจะทายาตรงจุดไหน

 

ผู้นำและบอร์ดถือเป็นหัวใจขององค์กรที่ควรมีแพสชันทำ ESG เพราะจะเป็นสิ่งที่สะท้อนวัฒนธรรมและตัววัดผลงาน โดยต้องมีเป้าหมายและการสื่อสารให้ชัดเจนทั้งคำพูดและการกระทำที่รู้สึกฝังหรืออินกับสิ่งที่ทำตั้งแต่ต้นจนจบหรือ ‘ESG By Design’ โดยเริ่มตั้งแต่การออกแบบผลิตภัณฑ์ตลอดไปจนถึงสายพานสุดท้ายที่ทำให้ได้ลูกค้ามา

 

“การที่ผู้นำหรือบุคลากรเห็นโอกาสที่ดีกับธุรกิจต้องรีเซ็ตมุมมอง ความรู้บางเรื่องที่เกิดขึ้นใหม่ รวมถึงการรีเซ็ตจินตนาการและการดีไซน์ใหม่ ซึ่งหมายถึงการคิดหาวิธีการใหม่ในการทำกระบวนการนั้น รวมทั้งสร้างผลิตภัณฑ์หรือกระบวนการใหม่ที่ในอดีตไม่เคยทำมาก่อน และที่สำคัญคือผู้นำต้องสร้างวัฒนธรรมนี้ให้เกิดขึ้นให้ได้ หาข้อจำกัดที่เกิดขึ้นให้เจอ แล้วรวบรวมพลังทั้งหมดในองค์กรทำให้เกิดขึ้น”

 

เพราะผู้นำถือว่ามีบทบาทสำคัญมากในการกำหนดทิศทางและกำกับดูแลให้โครงการต่างๆ ดำเนินไปโดยคำนึงถึง ESG ที่สอดรับกับกลยุทธ์และวิสัยทัศน์ขององค์กร และเมื่อเห็นภาพนี้แล้วก็ต้องหาแนวทางการจัดการบนประเด็นที่ถูกต้อง ไม่ใช่ไปแก้ไขบนปัญหาที่ไม่ถูกต้อง เพราะนี่คือหัวใจในการสร้างความแตกต่างของการทำธุรกิจ

 

อย่างกรณีที่ปกติทุกบริษัทจะมีคอลเซ็นเตอร์และหลายแห่งได้นำ AI มาช่วยตอบคำถามทางออนไลน์ ผลที่ได้คือผู้ติดต่อส่วนใหญ่กลับต้องกด 0 เพื่อต้องการพูดคุยกับเจ้าหน้าที่มากกว่า บางแห่งยิ่งใช้ AI กลับดูยิ่งแย่เพราะสร้างความไม่เข้าใจกับผู้ใช้บริการ สิ่งที่ควรให้เกิดขึ้นคือผู้นำควรแก้ไขปัญหาให้ถูกจุดโดยไปหาคำตอบต้นตอของสาเหตุว่าทำไมคนต้องมาติดต่อคอลเซ็นเตอร์มากกว่า เช่น การที่ลูกค้าได้รับโบรชัวร์แล้วไม่เข้าใจจึงสอบถาม ก็ควรไปแก้ไขการสื่อสารบนเอกสารนั้น เมื่อการแก้ปัญหาถูกจุด ผลคือคอลเซ็นเตอร์จะต้องรับเรื่องน้อยลง

 

ซัพพลายมี แต่ดีมานด์กองทุน ESG ยังมีน้อย

ชวินดา หาญรัตนกูล นายกสมาคมบริษัทจัดการลงทุน กล่าวว่า กองทุน ESG หรือกองทุนเพื่อความยั่งยืนในเมืองไทยยังอยู่ในช่วงการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันมีสัดส่วนเพียง 1% จากกองทุนทั้งหมด ทั้งในแง่ของกองทุนตราสารทุนและกองทุนตราสารหนี้ เพราะเพิ่งเริ่มต้นเพียง 5 ปี หากเทียบกับต่างประเทศที่เป็นพี่ใหญ่อย่างกลุ่มประเทศยุโรปที่มีความแอ็กทีฟเรื่องนี้มาก

 

อย่างปี 2565 ตลาดหุ้นทั่วโลกมีความผันผวนในเชิงลบมาก โดยเฉพาะช่วงไตรมาส 4 หุ้นยุโรปตกหมด แต่กลับมีการระดมทุนกองทุน ESG ถึง 208 กองทุน และมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ (AUM) ทั้ง 208 กองทุนก็ปรับขึ้นสวนทางกับกองทุนทั่วไปชัดเจน ขณะที่การระดมทุนและมูลค่าของ ESG Fund ก็ขึ้นมาเท่าตัวเมื่อเทียบกับกองทุนหุ้นทั่วไป และขึ้นมาเกือบเท่าตัวเมื่อเทียบกับกองทุนตราสารหนี้ แสดงให้เห็นว่าคนให้ความสำคัญกับ ESG อย่างต่อเนื่อง

 

“ตลาดทุนไทยเริ่มต้นจากการทำ CSR ก่อนเป็น ESG ซึ่งนักลงทุนให้ความสำคัญทั้งแง่บวกและแง่ลบ โดยสัดส่วนกองทุน ESG เพียง 1% หากดูในแง่ของโอกาสก็เท่ากับยังสามารถเติบโตได้อีกเยอะ ซึ่งปัจจุบันกองทุน ESG ในไทยมีทั้งหมด 81 กองทุน และทยอยเติบโตต่อเนื่องใน 5 ปีที่ผ่านมา ไม่ใช่ไม่โต แต่โตอย่างค่อยเป็นค่อยไปมากกว่า แต่กองทุน ESG ที่โตเร็ว คือการที่นักลงทุนสถาบันนำเสนอเอากองทุน ESG ต่างประเทศเข้ามาเป็นตัวเลือกให้ผู้ลงทุน”

 

สำหรับประเด็นการฟอกเขียวของกองทุน ESG แม้กลุ่มประเทศที่ทำเรื่อง ESG มานาน เมื่อปีล่าสุดก็ยังเจอประเด็นการฟอกเขียวของกองทุน ทั้งในแง่ที่พูดเกินความเป็นจริงหรือสร้างภาพว่าทำแต่ความจริงไม่ได้ทำ ก็จะต้องถูกปรับไป เช่น มี ESG Fund บอกว่ามีการลงทุนในหุ้น ESG 500 ตัว แต่ข้อเท็จจริงลงเพียง 100 ตัว ก็ต้องถูกปรับเมื่อฝ่ายกำกับมีกระบวนการตรวจสอบตามมา

 

“ปัจจุบันไทยมีหลายสถาบันที่กำหนดมาตรฐานเรื่อง ESG จากข้อมูลของสมาคมฯ เมื่อนำของทุกสถาบันมารวมกันและประเมินอีกครั้ง พบว่ามีหุ้นที่มี ESG เพียง 13 ตัวเท่านั้น แต่เมื่อพิจารณาแบบไม่ซ้ำเลยมีหุ้นทั้งหมด 217 ตัว ถ้าจะให้ดีควรหาจุดตรงกลางหรือเฟรมเวิร์กร่วมกันว่าอะไรคือสิ่งสำคัญของ ESG ประเทศไทย แล้วพร้อมทำงานไปด้วยกันให้เกิดเป็นภาพใหญ่ เพราะจะได้ช่วยลดต้นทุนของบริษัทจดทะเบียนไทยที่ไม่ต้องเตรียมบุคลากรตอบหรือจัดทำข้อมูลให้กับสถาบันต่างๆ ที่เข้าไปขอข้อมูลด้าน ESG ในเวลาที่ไม่พร้อมกัน”

 

ในอดีต สมาคมฯ มี Negative Risk สำหรับบริษัทที่ให้ความสำคัญเรื่อง ESG น้อย ถ้าผ่านไป 3 เดือน หากมีความพยายามแก้ไขก็จะนำออกจากลิสต์ โดยสมาคมฯ จะช่วยกันมอนิเตอร์จากการตั้งคณะอนุกรรมการ ESG Policy Corrective Action Committee ทำหน้าที่เฝ้าระวังการลงทุนให้กับนักลงทุน เช่น หากมีบริษัทไหนมีประเด็นเรื่อง ESG ขึ้นมา ก็จะมีการจัดระดับเบาไปถึงหนัก ทั้งหมดนี้เพื่อทำให้เกิดความชัดเจน อีกทั้งเป็นการกระตุ้นทางอ้อมให้บริษัทตระหนักเรื่อง ESG

 

“ที่ผ่านมาถือว่าหน่วยงานกำกับและดูแลทั้ง ตลท. และ ก.ล.ต. ได้ช่วยสร้างเฟรมเวิร์กและผลักดันให้เกิดอุตสาหกรรมจนมีกองทุน ESG แต่ตอนนี้ต้องช่วยกันทำให้เกิดความต้องการหรือดีมานด์ของกองทุนมากขึ้นด้วย เพราะถ้าไม่มีดีมานด์ทุกอย่างก็จบ โดยเฉพาะฝั่งของนักลงทุนรายย่อยที่จะทำอย่างไรให้เรื่อง ESG เข้าไปในหัวใจของนักลงทุนรายย่อยได้ ถึงตอนนั้นเรื่อง ESG ก็จะไปได้ไกลกว่าปัจจุบัน”

 

ถ้าหากผู้นำเริ่มมีความสนใจและใส่ใจเรื่อง ESG จนนำไปสู่การปฏิบัติจากภายในสู่ภายนอก เชื่อได้ว่าจะช่วยทำให้เกิดผลและขยายในวงกว้าง และทำให้ไทยสามารถอยู่ในสังคมโลกได้อย่างยั่งยืนอีกประเทศหนึ่ง

 

Credit : The Standard


สามารถค้นหาความรู้ด้าน ESG เพิ่มเติมได้ที่ : SET ESG Academy
ตลาดหลักทรัพย์ฯ ขอแนะนำ Platform บ่มเพาะและเผยแพร่ความรู้ด้านความยั่งยืนในทุกมิติ เพื่อยกระดับ ESG Development ของตลาดทุนไทย และสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกในการพัฒนาความยั่งยืน ระดับบุคคลและองค์กรต่าง ๆ ของประเทศ (Click)

หรืออัพเดทความรู้ด้านความยั่งยืนประจำวันได้ที่  Line@ : setsustainability (Click ติดตาม)

 

อ้างอิง
[1] ThaiPublica. บลจ.กรุงศรี แนะทะยอยลงทุนหุ้น ESG สร้างความมั่งคั่ง มั่นคง ระยะยาว

แท็กที่เกี่ยวข้อง: