นับตั้งแต่ธนาคารกลางทั่วโลก โดยเฉพาะธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ได้เดินหน้านโยบายการเงินแบบเข้มงวด (Policy Tightening) ด้วยการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างต่อเนื่องเพื่อสู้กับอัตราเงินเฟ้อที่ปรับขึ้นอย่างรวดเร็ว นโยบายดังกล่าวได้ส่งผลกระทบต่อตลาดหุ้นให้ผันผวนรุนแรง ที่สำคัญนักลงทุนยังมีความกังวลว่าเศรษฐกิจโลกอาจเข้าสู่ภาวะถดถอยในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ แต่ท่ามกลางวิกฤติย่อมมีโอกาสเพราะว่ากันว่าเป็นช่วงโอกาสการลงทุนสินทรัพย์กลุ่มตราสารหนี้ ที่ให้ผลตอบแทนในระดับเพิ่มสูงขึ้น
อย่างไรก็ตาม หากพูดถึงการจัดพอร์ตลงทุนที่ถือเป็นกลยุทธ์คลาสสิกที่นักลงทุนใช้มาทุกยุคสมัยตลอดช่วง 10 ปีที่ผ่านมาคือ การจัดพอร์ตลงทุนแบบ 60/40 ด้วยการแบ่งสัดส่วน 60% ลงทุนในหุ้น และอีก 40% ลงทุนในตราสารหนี้ แต่เมื่อสถานการณ์เปลี่ยน เงินเฟ้อโลกอยู่ในระดับสูง ดอกเบี้ยนโยบายเป็นขาขึ้น จึงมีคำถามว่าการจัดพอร์ตลงทุนแบบคลาสสิกยังได้ผลลัพธ์ที่ดีหรือไม่
หากนักลงทุนมองว่าการจัดพอร์ตลงทุนแบบ 60/40 อาจไม่ใช่ทางเลือกที่เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน ก็ยังมีกลยุทธ์ลงทุนที่มีลักษณะคล้ายกันให้ได้เลือก คือ การจัดพอร์ตแบบ Core & Satellite ที่โดดเด่นด้านความคล่องตัวและสามารถเลือกจัดสัดส่วนได้หลากหลายสินทรัพย์ จึงเหมาะกับนักลงทุนที่ต้องการกระจายความเสี่ยงและแสวงหาโอกาสสร้างผลกำไรไปพร้อม ๆ กัน
กลยุทธ์การจัดพอร์ตแบบ Core & Satellite แบ่งเงินลงทุนเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนหลัก (Core) มีเป้าหมายสร้างมูลค่าเพิ่มจากการลงทุนในระยะยาว และส่วนเสริม (Satellite) มีเป้าหมายทำกำไรในระยะกลาง – สั้น
เป้าหมายและคุณสมบัติของกลุ่ม Core
เป้าหมายและคุณสมบัติของกลุ่ม Satellite
แบ่งเงินลงทุน
สัดส่วนเงินลงทุนในกลุ่ม Core อยู่ที่ประมาณ 60 – 70% ของเงินลงทุนรวม โดยมีเป้าหมายให้เงินลงทุนมีมูลค่าเพิ่มจากการลงทุนในระยะยาว ลงทุนอย่างมีวินัย สร้างผลตอบแทนเพื่อให้ได้รับผลตอบแทนที่คาดหวัง ทั้งในรูปของกำไร ดอกเบี้ย เงินปันผล และค่าเช่า โดยคาดหวังให้ได้ผลตอบแทน 6 – 8% ต่อปี
สำหรับสัดส่วนเงินลงทุนในกลุ่ม Satellite อยู่ที่ประมาณ 30 – 40% ของเงินลงทุนรวม โดยมีเป้าหมายในการทำกำไรระยะสั้นถึงปานกลาง โดยเน้นน้ำหนักการลงทุนไปยังกลุ่มสินทรัพย์ที่พบว่ามีโอกาสที่ดีในการลงทุนและซื้อขายค่อนข้างบ่อย โดยคาดหวังให้ได้ผลตอบแทน 9 – 15% ต่อปี แต่ข้อควรระวัง คือ อาจมีโอกาสขาดทุนระหว่างทางได้ ดังนั้น จึงต้องติดตามข้อมูลอย่างใกล้ชิดและเน้นรักษาวินัยการลงทุน เช่น ตั้งจุดตัดขาดทุน (Stop Loss) เอาไว้ล่วงหน้า หรือขายทำกำไรเมื่อมูลค่าสะท้อนมุมมองที่คาดเอาไว้แล้ว
ควรมีสินทรัพย์ลงทุนเท่าไหร่
การจัดพอร์ตโดยใช้ Core & Satellite ถือเป็นกลยุทธ์การจัดพอร์ตลงทุนที่เหมาะสมกับทุกสภาวะตลาด โดยเฉพาะการสร้างโอกาสได้รับผลตอบแทนโดยรวมที่ดีในระยะยาว แต่เพื่อทำให้พอร์ตลงทุนมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นควรให้ความสำคัญกับการกระจายความเสี่ยงควบคู่ไปด้วย โดยเฉพาะการมีสินทรัพย์ลงทุนที่ไม่มากและไม่น้อยจนเกินไป จึงขอแนะนำให้มีสินทรัพย์ลงทุนรวมไม่เกิน 8 สินทรัพย์ เพื่อสามารถติดตามข้อมูลข่าวสารได้ทั่วถึง ที่สำคัญควรปรับเปลี่ยนสัดส่วนการลงทุนได้ตามเป้าหมายที่วางเอาไว้และพิจารณาปรับสัดส่วนการลงทุน (Rebalance) เพื่อหาจังหวะสร้างผลตอบแทนทั้งสัดส่วนการลงทุนใน Core และ Satellite เพื่อทำให้พอร์ตลงทุนรวมมีระดับความเสี่ยงอยู่ในระดับที่ยอมรับได้ เช่น หากช่วงไหน Satellite สร้างผลงานได้ดีและเติบโตจนสัดส่วนเพิ่มขึ้นเกินกว่าสัดส่วนการลงทุนเริ่มต้น (เกิน 30 – 40% ของพอร์ตลงทุนรวม) ก็ขายทำกำไรและนำเงินกลับไปลงทุนในส่วนของ Core เพื่อสร้างผลตอบแทนในระยะยาวได้
หมายเหตุ : บทความนี้เพื่อใช้สำหรับศึกษาเบื้องต้นเท่านั้น มิได้มีเจตนาในการชี้นำการลงทุนแต่อย่างใด นักลงทุนควรศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนตัดสินใจลงทุน
สำหรับนักลงทุนมือใหม่และผู้ที่สนใจ เรียนรู้วิธีการสร้างและบริหารพอร์ตหุ้นอย่างมืออาชีพ พร้อมเจาะลึกเทคนิคจัดทำแผนการลงทุนทั้งระยะสั้นและระยาว เพื่อสร้างพอร์ตลงทุนให้เติบโตอย่างยั่งยืน สามารถเรียนรู้ได้ที่ e-Learning หลักสูตร “Portfolio Strategy” ได้ฟรี!!! >> คลิกที่นี่