เตรียมปรับพอร์ตลงทุนรับสงครามค่าเงิน 3.0

โดย ดร.อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสำนักวิจัย และที่ปรึกษาการลงทุน ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย
2 Min Read
13 มีนาคม 2566
1.132k views
Inv_เตรียมปรับพอร์ตลงทุนรับสงครามค่าเงิน3.0_Thumbnail
Highlights
  • แม้ธนาคารกลางสหรัฐฯ จะขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วและแรงมาระยะหนึ่งแล้ว แต่ความร้อนแรงของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังคงไม่แผ่วลง จึงคาดว่าไม่น่าจะเห็นการลดอัตราดอกเบี้ยในปีนี้จนกว่าเงินเฟ้อสหรัฐฯ จะลดลงอย่างชัดเจน

  • การขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วและแรง ได้ส่งผลให้เงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินอื่น ๆ จึงน่าจะเห็นสงครามค่าเงินในเวอร์ชัน 3.0 คือจะมีการตรึงอัตราดอกเบี้ยไว้ เพื่อปล่อยให้ค่าเงินในประเทศอ่อนค่า ช่วยสนับสนุนความสามารถในการแข่งขันด้านการส่งออก

  • ในช่วงนี้นักลงทุนสามารถหาจังหวะเข้าสะสมสินทรัพย์ในกลุ่มตราสารหนี้ต่างประเทศ กองทุนรวมหุ้นพื้นฐานดีที่กระจายทั่วโลก กองทุนรวมหุ้นจีน เป็นต้น

ตลาดการเงินผันผวนหนักอีกครั้งในเดือนกุมภาพันธ์ หลังตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ออกมาดีเกินคาด ทั้งการจ้างงานที่เพิ่มสูงขึ้น ยอดค้าปลีกที่พลิกกลับมาเป็นบวก 3.0% ในเดือนมกราคม หลังติดลบ 1.1% ในเดือนธันวาคม ขณะที่ดัชนีราคาผู้บริโภคก็ขยับขึ้น 0.5% จากเดือนก่อนหน้า สะท้อนว่าการขึ้นอัตราดอกเบี้ยไปถึงระดับ 4.75% ก็ยังไม่สามารถชะลอเศรษฐกิจสหรัฐฯ ได้เลย จนนักลงทุนคาดว่าการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) อาจจำเป็นต้องขึ้นต่อจนถึงระดับ 5.50% ในเดือนมิถุนายน

 

โดยผมมองว่าเฟดไม่น่าจะกลับมาใช้ยาแรงด้วยการขึ้นอัตราดอกเบี้ยทีละ 0.50% เพื่อดึงเงินเฟ้อให้ลงเหมือนในปีก่อน และน่าจะเห็นการขึ้นอัตราดอกเบี้ยแบบค่อยเป็นค่อยไปทีละ 0.25% ซึ่งตลาดน่าจะรับรู้ข่าวนี้ไปมากพอสมควรแล้ว และไม่น่าจะเห็นการลดอัตราดอกเบี้ยในปีนี้จนกว่าเงินเฟ้อสหรัฐฯ จะลดลงอย่างชัดเจน จนปรากฏ 3 คำใหม่ว่า No Pivot หรือเฟดไม่พลิกกลับด้านมาลดดอกเบี้ย No Landing หรือเศรษฐกิจสหรัฐฯ ไม่ชะลอลงจอดนิ่ม ๆ แต่ยังขยายตัวต่อเนื่อง และ No Disinflation หรือเงินเฟ้อไม่ลดลงติดลบเดือนต่อเดือนเสียที ซึ่งทั้งหมดนี้ นักลงทุนอาจหาจังหวะลงทุนในภาวะเช่นนี้ได้

 

การที่สหรัฐฯ ยังเผชิญความท้าทายจากเงินเฟ้อจากฝั่งอุปสงค์ที่ขยายตัว และตลาดแรงงานตึงตัวที่ทำให้ค่าจ้างยังเพิ่มสูง แต่ฝั่งตลาดเกิดใหม่ (Emerging Market) อาจกำลังเผชิญสงครามค่าเงินเวอร์ชันใหม่ หรือ Currency War 3.0 โดยหากจำกันได้ในช่วงปี 2019 หรือช่วงที่สหรัฐฯ ทำสงครามการค้ากับจีน เรามีสงครามค่าเงินรูปแบบแรก นั่นคือ การที่ธนาคารกลางในภูมิภาคพยายามลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อปล่อยให้ค่าเงินอ่อนค่า โดยหวังเพิ่มความสามารถในการแข่งขันด้านการส่งออก ซึ่งเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เรียกว่าหากลดดอกเบี้ยแรงกว่าเพื่อน ค่าเงินก็จะอ่อนกว่า แล้วจะสามารถขายของหรือส่งออกได้ดีกว่า แต่พอมาในปี 2022 เราก็เจอสงครามค่าเงินในรูปแบบใหม่ เวอร์ชัน 2.0 นั่นคือ ความพยายามขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อช่วยให้ค่าเงินไม่อ่อนค่าแรงเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐ โดยในปีที่แล้วการส่งออกทำได้ดี แต่ปัญหาอยู่ที่อัตราเงินเฟ้อสูง ค่าเงินที่แข็งค่าจะช่วยลดราคาสินค้านำเข้า โดยเฉพาะน้ำมัน ซึ่งจะช่วยบรรเทาปัญหาเงินเฟ้อและประคองเศรษฐกิจในประเทศ และในปี 2023 นี้ เราน่าจะเห็นสงครามค่าเงินอีกรูปแบบ เวอร์ชัน 3.0 หรือการตรึงอัตราดอกเบี้ยไว้ เพื่อปล่อยให้ค่าเงินในประเทศอ่อนค่า ช่วยสนับสนุนความสามารถในการแข่งขันด้านการส่งออก ในช่วงที่เงินดอลลาร์สหรัฐยังแข็งค่าตามการขึ้นอัตราดอกเบี้ยในสหรัฐฯ ขณะที่ราคาน้ำมันกำลังลดลงช่วยให้อัตราเงินเฟ้อฝั่งเอเชียย่อลง และสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในภูมิภาค

 

ทิศทางการลงทุนในเดือนมีนาคม ผมมองว่า ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐยังมีทิศทางแข็งค่าได้อีกเล็กน้อย อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ขยับขึ้นได้จำกัดและใกล้ถึงจุดสูงสุด เศรษฐกิจจีนยังได้ประโยชน์จากการเปิดเมือง โดยนักลงทุนสามารถหาจังหวะเข้าสะสมสินทรัพย์ในกลุ่มต่อไปนี้

 

  1. ตราสารหนี้ต่างประเทศ

นักลงทุนอาจหาจังหวะเข้าทยอยสะสมในกองทุนรวมตราสารหนี้ที่ลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ หรือหน่วยงานที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลสหรัฐฯ ที่ได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือในระดับสูง กลุ่ม Investment Grade แม้ในระยะสั้น ผลตอบแทนอาจผันผวนตามทิศทางเศรษฐกิจและแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อที่อาจกดดันให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรขยับสูงขึ้นไปกว่านี้ แต่ผมมองว่าในระยะยาว โดยเฉพาะหลังจากที่เฟดใกล้จะหยุดการขึ้นอัตราดอกเบี้ยในไม่ช้า นักลงทุนน่าจะได้รับผลตอบแทนที่ดีจากระดับดอกเบี้ยที่สูงในปัจจุบัน

 

  1. กองทุนรวมหุ้นพื้นฐานดีที่กระจายทั่วโลก

หุ้นขนาดใหญ่ทั่วโลกที่มีพื้นฐานดี มีภาระหนี้ไม่สูง และผู้จัดการกองทุนสามารถคัดเลือกหุ้นด้วยความชำนาญ จนได้หุ้นที่มีราคาค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับปัจจัยพื้นฐาน ซึ่งกองทุนหุ้นมักมีความผันผวนสูงในภาวะที่ตลาดหุ้นถูกเทขายจากความกังวลการขึ้นดอกเบี้ยของสหรัฐฯ แต่หากนักลงทุนลงทุนในกองทุนที่มีความผันผวนต่ำ และลงทุนในหุ้นที่มีราคาถูกพอสมควร ก็น่าจะช่วยลดผลกระทบจากแรงเทขายได้

 

  1. กองทุนรวมหุ้นจีน

ผมยังคงแนะนำการลงทุนในหุ้นจีนต่อเนื่อง จากโอกาสการเปิดเมืองของจีนที่จะทำให้ผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนดีขึ้น ซึ่งอาจจะลงทุนทั้งในหุ้นจีนกลุ่ม A-share และหุ้นจีนที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกง หรือ H-share หรือแม้แต่บริษัทจีนที่จดทะเบียนในตลาดหุ้นสหรัฐฯ ซึ่งโดยรวมน่าจะได้ประโยชน์จากการผ่อนคลายกฎระเบียบต่าง ๆ และมีรายได้ที่ดีขึ้นหลังมีการปรับเพิ่มการคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจจีน

 

  1. กองทุนรวมทางเลือก

หากนักลงทุนกังวลต่อความผันผวนในตลาดเงินและตลาดทุน และอยากมองหาสินทรัพย์ที่ไม่ได้เคลื่อนไหวไปกับสินทรัพย์อื่นมากนัก ก็น่าจะหาสินทรัพย์ทางเลือก หรือ Alternative Investment เช่น กองทุนที่มีรายได้จากประกันชีวิตในตลาดรองในสหรัฐฯ

 

  1. เงินสด หากนักลงทุนกังวลปัญหาความผันผวนในตลาดเงินและตลาดทุนมาก ก็น่าจะถือเงินสด หรือกองทุนรวมตราสารหนี้ระยะสั้นในประเทศ ที่แม้จะได้รับผลตอบแทนต่ำ แต่สามารถรักษาเงินต้นได้ และเตรียมความพร้อมเข้าลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงเมื่อราคาย่อลงมาจนถึงระดับที่น่าสนใจ นอกจากนี้ นักลงทุนอาจมองหาการฝากเงินในรูปของสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ ที่เปิดโอกาสรับผลตอบแทนที่สูงกว่าในรูปของสกุลเงินบาท และมีโอกาสทำกำไรจากการที่เงินดอลลาร์สหรัฐยังอยู่ในทิศทางแข็งค่าเมื่อเทียบกับเงินบาทได้ในเดือนมีนาคมนี้

 

หมายเหตุ : บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และมิได้มีเจตนาในการชี้นำการลงทุนแต่อย่างใด นักลงทุนควรศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนตัดสินใจลงทุน


สำหรับนักลงทุนมือใหม่และผู้ที่สนใจ เรียนรู้พื้นฐานการวิเคราะห์ภาพรวมเศรษฐกิจแบบง่าย ๆ เพื่อจับทิศทางการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมต่าง ๆ และค้นหาหุ้นเด็ดในแต่ละช่วงเวลา สามารถเรียนรู้เพิ่มเติมผ่าน e-Learning หลักสูตร “Macro Analysis” ได้ฟรี!!! >> คลิกที่นี่

 

หรือเรียนรู้แนวทางการวิเคราะห์เศรษฐกิจมหภาคที่มีผลต่อการลงทุนรายกลุ่มอุตสาหกรรม พร้อมเจาะลึกเทคนิคในการจับจังหวะเปลี่ยนกลุ่มลงทุน เพื่อเพิ่มโอกาสทำกำไรจากการลงทุน สามารถเรียนรู้เพิ่มเติมผ่าน e-Learning หลักสูตร “Sector Rotation” ได้ฟรี!!! >> คลิกที่นี่

แท็กที่เกี่ยวข้อง: