ทำความรู้จักธุรกิจ โฮลดิ้ง คอมพานี

โดย เจษฎา เจริญสันติพงศ์ Assistant Manager Branch Banking Client Marketing บลจ.ธนชาต
3 Min Read
17 พฤศจิกายน 2564
36.742k views
Inv_ทำความรู้จักธุรกิจ โฮลดิ้ง คอมพานี_Thumbnail
Highlights

โฮลดิ้ง คอมพานี เป็นบริษัทที่ไม่ได้ดำเนินธุรกิจหรือผลิตสินค้าและบริการใด ๆ แต่เป็นเจ้าของและควบคุมบริษัทอื่น ซึ่งโครงสร้างธุรกิจแบบนี้มีข้อดีหลายประการ แต่ก็มีข้อเสียเช่นกัน แต่ถ้าธุรกิจไหนสามารถบริหารจัดการได้ดีมีประสิทธิภาพจะเกิดประโยชน์สูงสุดในระยะยาว

สังเกตได้ว่าช่วงที่ผ่านมา มีหลายบริษัททำการปรับโครงสร้างธุรกิจให้เป็นลักษณะของโฮลดิ้ง คอมพานี (Holding Company) หลายคนอาจสงสัยว่าแล้ว โฮลดิ้ง คอมพานี คืออะไร มีข้อดีข้อเสียอย่างไร

 

โฮลดิ้ง คอมพานี คือ บริษัทที่มีการประกอบธุรกิจโดยมีรายได้จากการถือหุ้นในบริษัทอื่นเป็นหลัก และไม่มีการประกอบธุรกิจอย่างมีนัยสำคัญเป็นของตัวเอง ซึ่งอาจเป็นการลงทุนบริษัทในประเทศและ/หรือบริษัทต่างประเทศ โดยบริษัทที่โฮลดิ้ง คอมพานี ลงทุนต้องไม่มีลักษณะการประกอบธุรกิจเป็นการบริหารจัดการเงินลงทุน (Investment Company) และโฮลดิ้ง คอมพานี ต้องถือหุ้นในบริษัทหลักอย่างน้อย 1 บริษัท ซึ่งแสดงถึงการมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการบริษัทหลักตามสัดส่วนการถือหุ้น ดังนี้

  • กรณีบริษัทหลักเป็นบริษัททั่วไป โฮลดิ้ง คอมพานี ต้องถือหุ้นในบริษัทหลักมากกว่า 50%
  • กรณีบริษัทหลักเป็นบริษัทที่มีเงื่อนไขในการร่วมลงทุนกับภาครัฐหรือมีข้อจำกัดตามกฎหมายอื่น โฮลดิ้ง คอมพานี ต้องถือหุ้นในบริษัทหลักมากกว่าหรือเท่ากับ 40%

 

ทั้งนี้ โฮลดิ้ง คอมพานี จะต้องถือหุ้นในบริษัทหลักตลอดเวลาที่เป็นบริษัทจดทะเบียน โดยอาจเปลี่ยนบริษัทหลักได้ เมื่อพ้นระยะเวลา 3 ปีนับตั้งแต่วันที่หุ้นสามัญเริ่มซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ

 

สำหรับจุดประสงค์ของการเป็น โฮลดิ้ง คอมพานี เพื่อวัตถุประสงค์ในการควบคุมบริษัทอื่นเท่านั้น โดยอาจเป็นเจ้าของทรัพย์สิน เช่น อสังหาริมทรัพย์ สิทธิบัตร เครื่องหมายการค้า หุ้น และทรัพย์สินอื่น ๆ แล้วปล่อยเช่าให้กับบริษัทลูกอื่น ๆ ได้อีกด้วย

 

ข้อดีของโฮลดิ้ง คอมพานี

- การคุ้มครองความรับผิดชอบในส่วนของหนี้สิน

การดำเนินงานหรือสินทรัพย์ที่แยกออกจากกัน ถือเป็นเกราะป้องกันความรับผิดชอบส่วนหนี้สินของบริษัทย่อยแต่ละแห่ง ทำให้เจ้าหนี้ของบริษัทย่อยไม่สามารถเข้าถึงทรัพย์สินของ โฮลดิ้ง คอมพานี หรือบริษัทย่อยอื่น ๆ ได้ 

 

ยกตัวอย่างเช่น บริษัท B เป็นบริษัทลูกของบริษัท A โดยบริษัท B ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับสวนสัตว์ แต่เนื่องจากเกิดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ทำให้กิจการไม่สามารถเปิดให้บริการได้เป็นเวลานาน จึงไม่สามารถจ่ายเงินเดือนให้กับพนักงานได้ ทำให้พนักงานรวมตัวกันฟ้องเรียกร้องเงินค่าจ้างจากเจ้าของบริษัท B โดยศาลบังคับให้บริษัท B ขายสินทรัพย์เพื่อนำเงินมาจ่ายค่าจ้างให้กับกลุ่มพนักงาน ซึ่งศาลเข้าถึงทรัพย์สินบริษัท B แต่ไม่สามารถเข้าถึงทรัพย์สินของบริษัท A ได้

 

- ลดต้นทุนในการจัดหาเงินกู้

โฮลดิ้ง คอมพานี ที่มีความแข็งแกร่งทางการเงินมักจะได้รับเงินกู้ในอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำกว่าบริษัทย่อย ดังนั้น หากต้องการให้บริษัทย่อยขยายธุรกิจ ก็สามารถเป็นผู้หาแหล่งเงินกู้และนำไปให้บริษัทย่อยขยายธุรกิจได้ นั่นหมายความว่าจะมีต้นทุนทางการเงินต่ำกว่าการที่บริษัทย่อยทำการกู้เงินด้วยตัวเอง

 

- ลดความเสี่ยง

เนื่องจากโฮลดิ้ง คอมพานี มีบริษัทย่อยหลายบริษัทและแยกดำเนินธุรกิจออกจากกันอย่างชัดเจน ทำให้มีความเสี่ยงต่ำกว่าการดำเนินธุรกิจในรูปแบบบริษัทเดี่ยว เช่น บริษัท Google มีการปรับโครงสร้างและก่อตั้งบริษัท Alphabet ขึ้นมาเป็นโฮลดิ้ง คอมพานี เนื่องจากผู้ถือหุ้นบริษัท Google กังวลเกี่ยวกับการลงทุนในด้านต่าง ๆ เช่น วิทยาการหุ่นยนต์ที่อาจจะล้มเหลวและส่งผลเสียหายต่อธุรกิจโดยรวม ดังนั้น การจัดตั้งโฮลดิ้ง คอมพานี จึงลดความเสี่ยงการดำเนินธุรกิจได้อีกด้วย

 

- ไม่จำเป็นต้องมีการบริหารจัดการบริษัทด้วยตัวเอง

โฮลดิ้ง คอมพานี สามารถเป็นเจ้าของธุรกิจในหลากหลายอุตสาหกรรมที่ไม่เกี่ยวข้องกัน ดังนั้น ไม่สำคัญว่าเจ้าของหรือผู้บริหารระดับสูงของโฮลดิ้ง คอมพานี จะมีความเชี่ยวชาญของธุรกิจย่อยทุกแห่งหรือไม่ เพราะบริษัทย่อยแต่ละแห่งจะมีการบริหารจัดการ มีผู้บริหารที่เชี่ยวชาญในธุรกิจนั้น ๆ เพื่อดำเนินธุรกิจของตัวเอง

 

ตัวอย่างเช่น บริษัท Berkshire Hathaway ในฐานะโฮลดิ้ง คอมพานี โดยข้อมูล ณ วันที่ 16 สิงหาคม 2564 บริษัทดังกล่าวถือหุ้นบริษัทชั้นนำ ไม่ว่าจะเป็นบริษัท Apple, Bank of America, American Express หรือ Coca-Cola จะเห็นได้ว่าทั้ง 4 บริษัทอยู่ในธุรกิจที่แตกต่างกัน และบริษัท Berkshire Hathaway ก็ไม่ได้เข้าไปยุ่งเกี่ยวหรือบริหารธุรกิจ เพียงแต่ถือหุ้นเพื่อรับผลตอบแทนในรูปของกำไรและเงินปันผลเท่านั้น

เหรียญย่อมมีสองด้านเสมอ ทีนี้มาดูข้อเสียของโฮลดิ้ง คอมพานีว่ามีอะไรบ้าง

 

ข้อเสียของโฮลดิ้ง คอมพานี

- การก่อตั้งและต้นทุน

การจดทะเบียนทั้งโฮลดิ้ง คอมพานี และบริษัทย่อยแต่ละแห่งจะต้องชำระค่าธรรมเนียมในการจัดตั้งและมีต้นทุนในการจัดทำ โดยเฉพาะเรื่องภาษีที่ค่อนข้างมีรายละเอียดและมีการเสียภาษีที่ซ้ำซ้อนอีกด้วย ทำให้ต้นทุนสูงกว่าการจัดตั้งในรูปแบบบริษัทเดี่ยว

 

- ความท้าทายในการจัดการ

เมื่อโฮลดิ้ง คอมพานี ไม่ได้เป็นเจ้าของบริษัทย่อยแบบ 100% อาจจะเกิดความคิดเห็นที่ไม่ตรงกันหรือขัดแย้งกับผู้บริหารและผู้ถือหุ้นของบริษัทย่อยได้ เช่น ควรนำผลกำไรไปขยายธุรกิจหรือจ่ายเป็นเงินปันผลให้กับผู้ถือหุ้น จึงเป็นความท้าทายของผู้บริหารโฮลดิ้ง คอมพานี ด้วยเหมือนกัน

 

- ความซับซ้อน

เมื่อทั้งโฮลดิ้ง คอมพานี และบริษัทย่อยเข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้นจะมีความซับซ้อนในเชิงโครงสร้าง การบริหารจัดการ ดังนั้น ถ้าไม่สามารถบริหารจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพอาจทำให้เกิดความเสียหายต่อการดำเนินธุรกิจในระยะยาวได้


คำถามที่น่าสนใจสำหรับนักลงทุน คือ ถ้าต้องการลงทุนหุ้นโฮลดิ้ง คอมพานี มีวิธีการวิเคราะห์อย่างไร ประเด็นนี้ ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร นักลงทุนเน้นคุณค่า เขียนเอาไว้ใน FINNOMENA ว่าวิธีแรก คือ การหามูลค่าหุ้นของบริษัทลูกหรือบริษัทที่โฮลดิ้ง คอมพานี ถืออยู่ และดูว่ารวมกันแล้วเท่ากับเท่าไร

 

นอกจากนั้น ถ้าบริษัทโฮลดิ้ง คอมพานี ก็ทำธุรกิจเองด้วย ไม่ได้เป็น Pure Holding ก็ต้องดูเสมือนหนึ่งว่าธุรกิจนั้นก็เป็นอีกบริษัทหนึ่งที่บริษัทแม่ถือหุ้น 100% ซึ่งตัวเลขมูลค่าหุ้นทั้งหมดรวมกันนี้ ก็จะเป็นตัวบอกว่า Market Cap. ของหุ้นแม่นั้นควรจะเป็นเท่าไร ตามทฤษฎีในวงการหุ้นวิธีประเมินมูลค่าหุ้นแบบนี้เรียกว่า Sum Of The Parts (SOTP) แต่เพื่อให้ปลอดภัยและเป็นการประเมินแบบอนุรักษ์นิยม นักวิเคราะห์ก็มักจะลดมูลค่าทรัพย์สินหรือหุ้นที่โฮลดิ้ง คอมพานี ถืออยู่ลงประมาณ 20 - 25% เพราะคิดว่าถ้าบริษัทขายหุ้นต่าง ๆ ที่ถืออยู่เพื่อให้ได้เงินจริง ๆ บริษัทก็จะต้องจ่ายภาษีนิติบุคคล 20% เป็นต้น

 

การประเมินมูลค่าหุ้นโฮลดิ้ง คอมพานี อีกวิธีหนึ่ง คือ การประเมินเสมือนหนึ่งว่าเป็นหุ้นธรรมดา ซึ่งส่วนใหญ่แล้วใช้วิธีการดูค่า P/E Ratio และในยามที่ตลาดหุ้นไม่เอื้ออำนวยก็ดูอัตราส่วนเงินปันผลที่จะได้รับ โดยนักวิเคราะห์จะคำนวณว่าผลประกอบการรวมของบริษัทเป็นอย่างไร มีกำไรเท่าไรและค่า P/E Ratio ของบริษัทควรจะเป็นเท่าไรในปีนี้และปีหน้า

 

โดยที่ค่า P/E Ratio จะเป็นเท่าไรนั้น มักจะดูว่าบริษัทถูกจัดอยู่ในหมวดอุตสาหกรรมใด โดยไม่ได้สนใจว่าบริษัทลูกหรือหุ้นที่โฮลดิ้ง คอมพานี ถืออยู่นั้นอยู่ในธุรกิจใด ซึ่งวิธีการนี้กำไรจากบริษัทลูกและเงินปันผลที่โฮลดิ้ง คอมพานี ได้รับก็จะนำมารวมกันและรวมกับกิจการของบริษัทแม่ (ถ้ามี) โดยไม่ได้คำนึงถึงความแตกต่างว่ากำไรที่มาจากบริษัทเหล่านั้นอาจจะแตกต่างกันมาก

 

อย่างไรก็ตาม วิธีนี้อาจเป็นจุดอ่อนสำคัญสำหรับการวิเคราะห์ เพราะกำไรจากบริษัทที่โตเร็วย่อมมีค่ามากกว่ากำไรจากบริษัทที่โตช้าหรือเป็นวัฏจักร การให้ Value หรือมูลค่าเท่ากันและเท่ากับกิจการของบริษัทแม่ทำให้การตีมูลค่าอาจผิดพลาดได้

 

ประเด็นสุดท้ายที่สำคัญในการพิจารณาลงทุนในหุ้นโฮลดิ้ง คอมพานี คือ เรื่อง CG หรือบรรษัทภิบาลของผู้บริหารหรือเจ้าของ ว่ามีความตั้งใจในการสร้างมูลค่าให้กับผู้ถือหุ้นโดยรวมหรือไม่ หุ้นของบริษัทโฮลดิ้ง คอมพานี ที่มีราคาถูกกว่ามูลค่าที่แท้จริงนั้น บ่อยครั้งถ้าไม่ทำอะไรราคาหุ้นก็อาจจะถูกอยู่อย่างนั้น ถ้าผู้บริหารไม่ Unlock หรือปลดปล่อยมูลค่าเหล่านั้นออกมา เช่น บริษัทมีกำไรดีแต่ผู้บริหารกลับไม่จ่ายเงินปันผลให้ผู้ถือหุ้นเท่าที่ควร วิธีการแก้ ก็คือ บริษัทอาจบอกเลยว่าจะจ่ายเป็นเงินปันผลทั้งหมดที่ได้รับจากบริษัทลูก เป็นต้น ดังนั้น ความตั้งใจในการสร้างมูลค่าให้กับผู้ถือหุ้นโดยรวมของผู้บริหารหรือเจ้าของ จึงเป็นประเด็นสำคัญที่ต้องพิจารณาเช่นกัน


สำหรับนักลงทุนและผู้ที่สนใจ เรียนรู้วิธีการดูหุ้นถูก หุ้นแพง ด้วยการประเมินมูลค่าหุ้น เพื่อหาราคาที่เหมาะสมก่อนตัดสินใจลงทุน สามารถเรียนรู้เพิ่มเติมผ่าน e-Learning หลักสูตร Stock Valuation : Relative Valuation” ได้ฟรี!!! >> คลิกที่นี่

แท็กที่เกี่ยวข้อง: