“วันนี้ ควรซื้อหุ้นตัวไหน” “มั่นใจเลยว่าถ้าซื้อหุ้นตัวนี้ ไม่มีทางที่จะเห็นราคาปรับลดลง” เป็นประโยคที่ได้ยินกันบ่อย ๆ หรือนักลงทุนอาจติดตามข่าวสารเพื่อจะได้ติดตามความเคลื่อนไหวของนักลงทุนรายใหญ่ว่ากำลังพูดถึงแนวโน้มของตลาดหุ้นอย่างไร ไม่เพียงเท่านั้นนักลงทุนบางคนอาจตัดสินใจซื้อหุ้นโดยไม่ได้ประเมินหรือวิเคราะห์รายละเอียดเลยด้วยซ้ำ โดยเฉพาะนักลงทุนมือใหม่ที่เพิ่งเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้น ดังนั้น เพื่อเพิ่มโอกาสความสำเร็จ ลดความสูญเสีย จึงควรทำความรู้จักกับตลาดหุ้นในเบื้องต้นก่อน
1. เงินเฟ้อส่งผลดีต่อหุ้น
สังเกตได้ว่า 2 – 3 ปีที่ผ่านมา นักลงทุนจะกังวลกับเงินเฟ้อ ล่าสุดตลอดทั้งปี 2564 และต้นปี 2565 นักวิเคราะห์มองไปในทิศทางเดียวกันว่าเงินเฟ้อกำลังจะมาและจะมาอย่างรวดเร็ว นักลงทุนจึงกังวลว่าจะทำให้ตลาดหุ้นผันผวนและกระทบต่อผลตอบแทนการลงทุนที่แท้จริง
อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาถึงสาเหตุการเกิดเงินเฟ้อมาจาก 2 สาเหตุหลัก คือ ประชาชนต้องการซื้อสินค้าและบริการเพิ่มขึ้น (Demand – Pull Inflation) ประกอบกับสินค้าและบริการนั้น ๆ ในตลาดมีไม่เพียงพอ ทำให้ผู้ขายปรับราคาสินค้าและบริการสูงขึ้น สาเหตุที่สอง คือ ต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้น (Cost – Push Inflation) โดยหากผู้ผลิตไม่สามารถแบกรับภาระต้นทุนที่สูงขึ้นได้ จะทำให้ผู้ผลิตต้องปรับราคาสินค้าและบริการให้สูงขึ้นด้วย
นั่นหมายความว่า เมื่อเงินเฟ้อปรับขึ้นจะส่งผลดีต่อผู้ประกอบการด้วยการปรับราคาขายเพิ่มสูงขึ้น และถึงแม้ว่าเงินเฟ้อจะทำให้ต้นทุนค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน แต่ผู้ประกอบการจะสามารถรักษาอัตรากำไรขั้นต้นได้ เงินเฟ้อจึงไม่ส่งผลกระทบต่อผลการดำเนินงานโดยรวม ดังนั้น การลงทุนในหุ้นจึงเป็นทางเลือกที่น่าสนใจในการป้องกันความเสี่ยงจากภาวะเงินเฟ้อ
2. เป็นเจ้าของธุรกิจ
หากเป็นคนหนึ่งที่ใฝ่ฝันต้องการจะเป็นเจ้าของกิจการสักอย่าง แต่ไม่มีเงินทุนเพียงพอ ทางออกที่น่าสนใจและสานฝันให้เป็นจริงได้ คือ การลงทุนในหุ้น เช่น ต้องการเป็นเจ้าของธุรกิจธนาคารก็ลงทุนหุ้นกลุ่มธนาคาร หรือต้องการเป็นเจ้าของธุรกิจโรงแรมก็ลงทุนหุ้นกลุ่มโรงแรม เป็นต้น เพราะผู้ถือหุ้นมีฐานะเป็น “เจ้าของกิจการ” ดังนั้น จะมีส่วนได้เสียหรือมีสิทธิในสินทรัพย์และรายได้ของกิจการนั้น รวมทั้งมีโอกาสได้รับผลตอบแทนเป็นเงินปันผลอีกด้วย และเมื่อธุรกิจขยายตัว ผลการดำเนินงานเติบโตอย่างสม่ำเสมอย่อมส่งให้ราคาหุ้นเพิ่มขึ้นในระยะยาวได้ด้วยเช่นกัน
3. การเอาชนะตลาดหุ้นในระยะสั้น ไม่ใช่เป้าหมายหลัก
หากนักลงทุนมีความต้องการ “ชนะตลาด” เป็นเป้าหมายหลักและเป้าหมายเดียวของการลงทุนในหุ้น มีความเป็นไปได้สูงมากว่าจะพบกับความพ่ายแพ้และสูญเสียเงินลงทุน เนื่องจากในโลกของการลงทุนนั้นไม่มีใครสามารถเอาชนะตลาดหุ้นได้ตลอดเวลา และเป็นที่ยอมรับกันว่านักลงทุนต่างมีความผิดพลาดจากการลงทุนกันทุกคน แม้แต่วอร์เรน บัฟเฟตต์ นักลงทุนที่เป็นตำนานระดับโลกก็ไม่มีข้อยกเว้น
อย่างไรก็ตาม หากนำความผิดพลาดนั้น ๆ มาเป็นบทเรียน หาทางลดความผิดพลาด ศึกษาหาความรู้อย่างไม่หยุดนิ่ง เพิ่มวินัยในการลงทุน ความสำเร็จในระยะยาวและยั่งยืนย่อมตามมาอย่างแน่นอน โดยกลยุทธ์การลงทุนที่มีโอกาสประสบความสำเร็จได้ในระยะยาวที่ดีวิธีหนึ่ง คือ การกระจายการลงทุน (Asset Allocation) ให้เหมาะสมกับสไตล์การลงทุนของตัวเอง
ปฏิเสธไม่ได้ว่าในช่วงที่ตลาดหุ้นสดใส นักลงทุนก็สามารถสร้างผลตอบแทนได้ในระดับที่ดี แต่ช่วงไหนที่ตลาดมีความผันผวน เศรษฐกิจซบเซา ผลตอบแทนอาจปรับลดลง แต่หากมีการวางกลยุทธ์ที่ดี มีการกระจายการลงทุนอย่างเหมาะสม ย่อมมีโอกาสรับผลตอบแทนต่อเนื่องในระยะยาว ซึ่งน่าจะดีกว่าการมุ่งเน้นเพื่อเอาชนะตลาดในระยะสั้น
4. ตลาดหุ้นมีโอกาสมากมายอยู่เสมอ
หากได้ยินข่าวเกี่ยวกับหุ้นตัวใดตัวหนึ่งที่ราคามีโอกาสปรับขึ้นอย่างรวดเร็วในชั่วข้ามคืน และก็ไม่รีรอที่จะเข้าไปลงทุน เพราะกลัวจะตกขบวนรถไฟ ซึ่งในเชิงจิตวิทยาการลงทุน คือ การใช้ปัจจัยความโลภเป็นหลักในการตัดสินใจ อย่างไรก็ตาม มีนักลงทุนหลายคนที่ลงทุนวันนี้และต้องการให้ได้กำไรเยอะ ๆ อยากรวยได้เร็วที่สุด แต่ไม่ใช่นักลงทุนทุกคนที่สามารถทำกำไรในเร็ววันได้ ดังนั้น ความสำเร็จจากตลาดหุ้นไม่มีคำว่า “เร่งรีบ” ทุกอย่างต้องเป็นขั้นเป็นตอน ที่สำคัญหากต้องการลงทุนให้ประสบความสำเร็จอย่างยั่งยืนต้องใช้เวลา
5. ไม่มีใครรู้อนาคต
ในโลกความเป็นจริง ไม่มีใครที่สามารถมองอนาคตได้อย่างแม่นยำ ดังนั้น นักลงทุนที่ “ซื้อในราคาต่ำที่สุด แล้วขายในราคาสูงที่สุด” จึงหาได้ยากมาก แม้แต่วอร์เรน บัฟเฟตต์ และปีเตอร์ ลินช์ ยังยอมรับเลยว่าไม่สามารถทำได้ ดังนั้น ทางเลือกที่ดีที่สุด คือ ซื้อและขายในราคาที่เหมาะสม ไม่ใช่ในราคาที่ดีที่สุด
จะเห็นว่านอกจากการ “ซื้อหุ้นให้เป็น” นักลงทุนยังต้อง “ขายหุ้นให้เป็น” ด้วย เพราะการซื้อและขายหุ้นอย่างเหมาะสมเป็นกระบวนการสำคัญในการทำกำไรไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน อย่าลืมว่า “จุดที่ทำกำไร คือ จุดในการขาย” แต่เมื่อซื้อแล้วขายไม่เป็น โอกาสขาดทุนก็ย่อมสูงกว่าได้กำไร
ที่น่าสนใจไปกว่านั้น การลงทุนหุ้นมักมีความเสี่ยงในด้านความผันผวนของราคาหุ้น ดังนั้น การเลือกลงทุนในหุ้นที่มีปัจจัยพื้นฐานดีในระยะยาวก็สามารถลดความเสี่ยงเรื่องความผันผวนดังกล่าวได้ เพราะบริษัทจะมีการเติบโตสม่ำเสมอ ทำให้ผลตอบแทนสูงขึ้นตามการเติบโตจากการดำเนินธุรกิจด้วยเช่นกัน
6. อย่าพยายามจับจังหวะ
การลงทุนด้วยการจับจังหวะลงทุน (Market Timing) เป็นกลยุทธ์ลงทุนด้วยการพยากรณ์ทิศทางของตลาดโดยใช้วิธีการวิเคราะห์ทางเทคนิคและการวิเคราะห์เศรษฐกิจประกอบกันแล้วนำผลการวิเคราะห์มาใช้ประกอบการตัดสินใจ โดยต้องการซื้อหุ้นให้ได้ในราคาที่ดีที่สุดและขายในราคาที่ดีที่สุดเช่นกัน ซึ่งเหมาะกับนักลงทุนที่มีความเชี่ยวชาญค่อนข้างสูง แต่สำหรับมือใหม่ควรเริ่มต้นลงทุนในระยะยาวและเน้นการลงทุนหุ้นคุณค่าหรือหุ้นปันผล เพื่อลดความสูญเสียเงินลงทุน
ตัวอย่างเช่น หากต้องการซื้อหุ้น XYZ ที่ราคา 20 บาทต่อหุ้น แต่มีข้อมูลจากโลกออนไลน์ว่าสัปดาห์หน้าราคามีแนวโน้มปรับลดลงมาที่ 18 บาท จึงตัดสินใจรอ แต่ในวันถัดไปราคาหุ้นกลับปรับขึ้นเป็น 22 บาท และวันถัดไปขยับไปที่ 25 บาท จึงตัดสินใจซื้อที่ราคา 25 บาท แสดงว่าพลาดผลตอบแทนไป 25% (ถ้าซื้อที่ราคา 20 บาท แล้วขายที่ราคา 25 บาท จะได้ผลตอบแทน 25%) ดังนั้น เมื่อตัดสินใจลงทุนในหุ้น สิ่งหนึ่งที่ต้องทำความเข้าใจ คือ “การลงทุนเป็นเรื่องของเวลา” เรื่องนี้กำลังบอกว่า “ถ้าลงทุนในหุ้นที่ถูกตัว แล้วให้เวลามากพอ เรียนรู้ที่จะอดทนรอ หุ้นตัวนั้นจะกลายเป็นเครื่องจักรทำเงิน”
7. ลงทุนทุกครั้งต้อง Stop Loss
วอร์เรน บัฟเฟตต์ มักจะบอกกฎการลงทุน 2 ข้อที่นักลงทุนคนอื่น ๆ ควรเคร่งครัด กฎข้อแรก คือ ห้ามขาดทุน กฎข้อที่สอง คือ อย่าลืมกฎข้อแรก เพราะหากลงทุนและเกิดความสูญเสียก็จะทำให้เงินลงทุนกลับมาเป็นเท่าเดิมได้ค่อนข้างยาก เช่น ซื้อหุ้น XYZ ที่ราคา 20 บาท สัปดาห์ถัดไปราคาปรับลดลง 14 บาท แสดงว่าขาดทุน 30% อย่างไรก็ตาม หากมีความมั่นใจว่าราคาหุ้นจะปรับขึ้นได้ และก็เป็นเช่นนั้นจริง ๆ เมื่อราคาหุ้นปรับขึ้นไป 30% ในสัปดาห์ถัดไป แต่เมื่อดูราคากลับอยู่ที่ระดับ 18.20 บาท คำถาม คือ ช่วงที่หุ้นปรับขึ้น 30% ทำไมราคาหุ้นไม่กลับมาอยู่ที่ระดับเดิม คือ 20 บาท ดังนั้น หากต้องการประสบความสำเร็จจากตลาดหุ้น กฎกติกาที่ต้องปฏิบัติทุกครั้งเมื่อซื้อหุ้น คือ การหยุดขาดทุน (Stop Loss)
8. ไดนามิค
การลงทุนในหุ้น อย่ายึดมั่นถือมั่นในหุ้นตัวใดตัวหนึ่งตลอด เพราะไม่มีสูตรสำเร็จตายตัว ดังนั้น เมื่อเวลาเปลี่ยน ภาพรวมเศรษฐกิจเปลี่ยน ตลาดเปลี่ยน ปัจจัยพื้นฐานเปลี่ยน หรือตัวเองเปลี่ยน ก็ต้องทบทวนอย่างมีสติและใช้เหตุผลในการตัดสินใจ เช่น การบริหารพอร์ตหุ้นต้องพิจารณาทั้งมูลค่าที่เปลี่ยนไป อัตราผลตอบแทนที่เกิดขึ้น หากอัตราผลตอบแทนที่ได้รับมากกว่าหรือเท่ากับอัตราผลตอบแทนที่ตั้งเป้าหมายไว้ ก็ถือว่าประสบความสำเร็จในการลงทุนแล้ว
สำหรับนักลงทุนมือใหม่ ที่สนใจเรียนรู้พื้นฐานการลงทุนในหุ้น ผลตอบแทน ความเสี่ยง และภาษีจากการลงทุน ตลอดจนการวิเคราะห์หุ้น วิธีการซื้อขายหุ้น และสิทธิของผู้ถือหุ้น เพื่อเตรียมพร้อมก่อนตัดสินใจลงทุน สามารถเรียนรู้เพิ่มเติมผ่าน e-Learning หลักสูตร “ลงทุนหุ้นฉบับมือใหม่” ได้ฟรี!!! >> คลิกที่นี่
หรือนักลงทุนที่สนใจเปลี่ยนวิธีคิด ด้วยการเรียนรู้หลุมพรางที่ทำให้นักลงทุนจำนวนไม่น้อยล้มเหลว และไปไม่ถึงเส้นชัยในการลงทุน พร้อมแนวทางการปรับ Mindset เพื่อความสำเร็จในการลงทุนระยะยาว สามารถเรียนรู้เพิ่มเติมผ่าน e-Learning หลักสูตร “Mindset for Successful Investor” ได้ฟรี!!! >> คลิกที่นี่