คิดให้รอบ ก่อนเป็นหนี้

โดย ฐิติเมธ โภคชัย ฝ่ายพัฒนาความรู้ผู้ลงทุน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
2 Min Read
16 พฤศจิกายน 2564
2.854k views
PF_คิดให้รอบ ก่อนเป็นหนี้_Thumbnail
Highlights

ปฏิเสธไม่ได้ว่าหนี้สินบางอย่างเป็นเรื่องจำเป็นที่ต้องยอมเป็นภาระเพื่อยกระดับชีวิตตัวเองและครอบครัวให้ดีขึ้น แต่มีหลาย ๆ คนที่ใช้เงินเพลินจนพลั้งเผลอและเกิดการกู้หนี้ยืมสินและอาจลงเอยด้วยหนี้สินท่วมหัว ถ้าไม่อยากให้ชีวิตมีปัญหาเพราะหนี้สิน ก่อนก่อหนี้ต้องคิดให้รอบคอบเสมอ

“ไม่มีใครอยากเป็นหนี้” ประโยคที่ทุกคนคิดและอยากให้เกิดขึ้นกับตัวเอง แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าส่วนใหญ่แล้วต้องพึ่งพาการกู้หนี้ยืมสินเพื่อนำมาใช้ประโยชน์ตามที่วางแผนเอาไว้ เช่น กู้เพื่อที่อยู่อาศัย เพื่อการบริโภค เพื่อการศึกษา เพื่อรักษาพยาบาล หรือเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต โดยผู้ที่คิดจะก่อหนี้ควรคำนึงว่าจะเป็นหนี้อย่างไรแล้วไม่ทำให้ชีวิตลำบาก ไม่ก่อให้เกิดเหตุการณ์ที่สร้างหนี้เกินตัวและเกินความสามารถในการชำระหนี้ นั่นแปลว่ามีการคิดรอบคอบก่อนกู้หนี้แล้ว

                                                                                        

ไม่กู้เกินกำลัง

ตามหลักการวางแผนการเงินแล้ว ความสามารถในการจ่ายหนี้จะดูจากรายได้ในแต่ละเดือน เพื่อให้การดำเนินชีวิตในแต่ละเดือนเป็นไปอย่างปกติสุข โดยยอดผ่อนชำระหนี้ในแต่ละเดือนรวมกันแล้วไม่ควรเกิน 40% ของรายได้ เช่น มีรายได้เดือนละ 30,000 บาท ควรผ่อนหนี้ไม่เกินเดือนละ 12,000 บาท (30,000 x 40%) เพราะหากภาระผ่อนชำระหนี้ในแต่ละเดือนมากกว่านี้ อาจจะทำให้เหลือเงินไม่พอใช้จ่ายในแต่ละเดือน

 

สำหรับผู้ที่มีรายได้ไม่มาก เช่น รายได้เดือนละ 15,000 บาท สิ่งแรกที่ต้องคิดก่อนตัดสินใจเป็นหนี้ คือ สำรวจค่าใช้จ่ายในการดำเนินชีวิต เช่น ค่าอาหาร ค่าเช่าที่พักอาศัย ค่าเดินทาง ค่าเครื่องใช้อุปโภคบริโภค โดยปกติจะมีค่าใช้จ่ายส่วนนี้ประมาณ 60 - 70% ของรายได้ (9,000 - 10,500 บาท) ดังนั้น หากคิดก่อหนี้จึงต้องคิดให้ถ้วนถี่เพราะมีเงินเหลือ (หลังหักค่าใช้จ่าย) ประมาณ 20% ของรายได้เท่านั้น

 

ดังนั้น ควรระลึกอยู่เสมอว่าการเป็นหนี้ คือ การนำเงินในอนาคตมาใช้ จึงควรวางแผนให้ดี ที่สำคัญอย่าก่อหนี้เกินตัวหรือเกินกำลัง

 

เลือกเป็นหนี้ อย่างมีอนาคต

คงเคยได้ยินประโยคที่ว่า “ไม่ควรก่อหนี้อย่างไม่จำเป็นและไม่มีอนาคต” เช่น เช่าบ้านเดือนละ 3,000 บาท กู้เงินสหกรณ์ออมทรัพย์ไปซื้อรถยนต์มือสองราคา 300,000 บาท โดยใช้รถยนต์คันนี้ปีละไม่กี่ครั้งและ 5 ปีต่อมา รถยนต์คันนี้เสื่อมสภาพขายได้ในราคา 50,000 บาท เท่ากับว่าได้ใช้รถยนต์คันนี้น้อยมากแต่เสียเงิน 250,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอีกก้อนหนึ่ง โดยที่ไม่มีทรัพย์สินเหลือเลย ในทางกลับกัน ถ้านำเงินกู้นั้นไปดาวน์บ้าน ค่าเช่าบ้านจะกลายมาเป็นค่าผ่อนบ้านและอีกไม่นานก็จะมีบ้านเป็นทรัพย์สินของตัวเอง แบบนี้ถึงจะเรียกว่าเป็นการก่อหนี้แบบมีอนาคต

 

มีสติก่อนกู้ยืม 

สาเหตุที่ทำให้หลายคนเป็นหนี้มาจากการจับจ่ายใช้สอยเกินตัว โดยเฉพาะการซื้อข้าวของฟุ่มเฟือย ซึ่งบ่อยครั้งเกิดจาก “ความต้องการ” มากกว่า “ความจำเป็น” ดังนั้น ก่อนตัดสินใจซื้อข้าวของ ควรพิจารณาก่อนว่าข้าวของนั้นเป็นสิ่งที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตหรือไม่ และข้าวของที่มีอยู่เดิมยังสามารถใช้งานต่อไปได้หรือไม่ เพราะการซื้อที่เกิดจากความต้องการหรือความอยากบ่อย ๆ นอกจากจะทำให้ไม่มีเงินเก็บแล้ว ก็อาจทำให้เกิดการกู้หนี้ยืมสินเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ได้

 

การปรับทัศนคติว่า ความสุขสามารถหาได้ทุกขั้นตอนของชีวิตโดยไม่จำเป็นต้องตั้งเงื่อนไขว่าต้องมีสิ่งนั้นสิ่งนี้ รวมถึงการรู้จักบริโภคอย่างมีสติและเท่าทันความต้องการของตัวเองท่ามกลางกระแสบริโภคนิยม จะช่วยยับยั้งการเป็นหนี้ที่ไม่จำเป็นซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงจากการเป็นหนี้ ไปพร้อมกับการเพิ่มความมั่นคงให้กับชีวิตในอนาคต

 

สำหรับคนที่เป็นหนี้อยู่แล้ว หากระดับของความสุขลดต่ำมากเพราะกำลังเผชิญปัญหาการผ่อนชำระหนี้ ควรรีบขอผ่อนผันกับเจ้าหนี้ หากเจ้าหนี้เป็นสถาบันการเงินควรปรับโครงสร้างหนี้เพื่อลดค่าผ่อนชำระต่องวดลง อย่าปล่อยให้กลายเป็นหนี้เสียเพราะจะต้องจ่ายดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้และจะทำให้ตัวเลขหนี้พุ่งสูงจาก “วิกฤติดอกเบี้ยทบต้น” จนไม่อาจแก้ไขได้และนำไปสู่วังวนของการเป็นหนี้ที่เลวร้ายในท้ายที่สุด

 

ส่วนกรณีที่ความสุขเริ่มลดลงเพราะภาระในการใช้หนี้ทำให้การใช้จ่ายในชีวิตประจำวันไม่สามารถยืดหยุ่นได้เท่าที่ควร ควรหาวิธีบริหารจัดการหนี้เสียใหม่ให้ถูกวิธีและเร่งปลดเปลื้องภาระหนี้ให้เบาบางลง

 

สำหรับผู้ที่สนใจ เรียนรู้เทคนิคบริหารจัดการหนี้ เพื่อให้มีเงินเหลือใช้ และสามารถเก็บออมเพื่อสร้างความมั่นคงในชีวิตได้ โดยเริ่มตั้งแต่การเข้าใจลักษณะหนี้แต่ละประเภท การคำนวณดอกเบี้ย ขั้นตอนและเทคนิคในการบริหารจัดการหนี้ ตลอดจนการต่อยอดเงินที่เหลือจากการจัดการหนี้ สามารถเรียนรู้เพิ่มเติม ผ่าน e-Learning หลักสูตร “หมดหนี้มีออม” ได้ฟรี!!! >> คลิกที่นี่

แท็กที่เกี่ยวข้อง: