เศรษฐกิจดิจิทัล กับโอกาสลงทุนหุ้นเทคโนโลยี

โดย รัฐศรัณย์ ธนไพศาลกิจ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายหลักทรัพย์ต่างประเทศและฟิวเจอร์ส บล.บัวหลวง
3 Min Read
7 มีนาคม 2566
2.94k views
Inv_เศรษฐกิจดิจิทัล กับโอกาสลงทุนหุ้นเทคโนโลยี_Thumbnail
Highlights
  • เศรษฐกิจดิจิทัล ถือเป็นแกนหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกในอนาคต ทำให้บริษัทที่ดำเนินธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจดิจิทัล โดยเฉพาะหุ้นเทคโนโลยีมีโอกาสเติบโตที่ดี

  • การเลือกลงทุนหุ้นเทคโนโลยีรายตัวอาจไม่ใช่เรื่องง่ายนัก เพราะบางบริษัทยังไม่มีกำไรและอยู่ในช่วงเริ่มต้นของการวิจัยและพัฒนา การลงทุนหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีที่อ้างอิงกับดัชนี จึงเป็นทางเลือกที่น่าสนใจ

  • วันนี้นักลงทุนไทย สามารถลงทุนหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีที่อิงกับดัชนีในตลาดหุ้นต่างประเทศชั้นนำอย่างตลาดหุ้นสหรัฐฯ และตลาดหุ้นจีน ได้แล้วผ่านตลาดหุ้นไทย ด้วยการซื้อขาย DR ซึ่งสามารถซื้อขายด้วยเงินบาท และเทรดผ่าน Streaming

ในช่วง 2 – 3 ปีที่ผ่านมา การระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ได้ส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเศรษฐกิจโลก โดยหลายอุตสาหกรรมประสบปัญหาและทำให้ธุรกิจต้องหยุดชะงัก อย่างไรก็ดี อุตสาหกรรมเทคโนโลยีเป็นหนึ่งในไม่กี่กลุ่มที่ได้รับอานิสงส์จากวิกฤติดังกล่าว เนื่องจากการที่ผู้คนไม่สามารถออกไปใช้ชีวิตนอกบ้านได้ตามปกติ จึงได้นำเทคโนโลยีเข้ามาใช้งานในหลายรูปแบบ ส่งผลให้เทคโนโลยีในยุคปัจจุบันได้กลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันเกือบทุกมิติ เช่น การพัฒนาของแพลตฟอร์มการเรียนการสอน แพลตฟอร์มการประชุมงานที่ทำให้เราสามารถติดต่อสื่อสารกับผู้คนทั่วโลก เป็นต้น

 

สถานการณ์ดังกล่าวทำให้เกิดการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมในรูปแบบ K-Shaped คือ มีทั้งอุตสาหกรรมที่ได้รับประโยชน์และได้รับผลกระทบจากการระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 โดยอุตสาหกรรมเทคโนโลยียังเป็นส่วนสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจ เนื่องจากสามารถช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจในด้านต่าง ๆ ทั้งภาคการผลิต การขนส่ง การขาย และการบริการ เป็นต้น หรือเรียกได้ว่าเป็นเศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy) ซึ่งเป็นแกนหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกในอนาคต

 

เศรษฐกิจดิจิทัลได้สร้างโอกาสมากมายให้กับสังคมทุกระดับ โดยเปิดโอกาสให้ผู้คนสามารถเข้าถึงข้อมูล เรียนรู้ทักษะใหม่ ๆ และติดตามข่าวสารได้มากขึ้นด้วยต้นทุนที่ต่ำลง อีกทั้งยังเปิดโอกาสให้ผู้คนสามารถเริ่มต้นธุรกิจได้ง่ายมากขึ้น หรือเพิ่มโอกาสในการสร้างรายได้มากกว่า 1 ช่องทาง เช่น การเปิดร้านค้าออนไลน์บนแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซของ Amazon (AMZN) การปล่อยเช่าที่พักออนไลน์บนแพลตฟอร์มของ Airbnb (ABNB) หรือการสร้างคอนเทนต์การตลาดบน YouTube ของ Alphabet (GOOGL) ซึ่งสิ่งเหล่านี้ส่งผลให้บริษัทเทคโนโลยีที่เป็นเจ้าของแพลตฟอร์มต้องพัฒนาเทคโนโลยีอย่างสม่ำเสมอและเป็นปัจจัยบวกต่อเศรษฐกิจโดยรวมในที่สุด

 

นอกจากนี้เศรษฐกิจดิจิทัลสามารถช่วยสร้างโอกาสได้เช่นกัน เช่น ด้านสุขภาพ โดยเทคโนโลยีช่วยให้ผู้คนสามารถเข้าถึงข้อมูลทางการแพทย์ได้ง่ายขึ้น รวมไปถึงการติดต่อกับแพทย์จากระยะไกลเพื่อรับการรักษาจากที่บ้าน เรียกว่า Telemedicine โดยปัจจุบันมีบริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่หลายแห่งที่หันมาทำธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ เช่น ระบบการส่งยาถึงบ้าน RxPass ของ Amazon (AMZN) ที่ทำให้ผู้คนไม่ต้องออกจากบ้านเพื่อไปซื้อยา หลังจากที่ได้รับใบสั่งยาจากแพทย์ หรือนาฬิกาอัจฉริยะของ Apple (AAPL) ที่สามารถตรวจจับสัญญาณชีพและให้ข้อมูลสุขภาพได้แบบเรียลไทม์

 

เศรษฐกิจดิจิทัลไม่ได้เพียงแต่สร้างโอกาสได้มากขึ้น ยังสามารถสร้างความยั่งยืนได้เช่นกัน เนื่องจากความก้าวหน้าของเทคโนโลยีทำให้ผู้คนสามารถรับมือกับการเปลี่ยนแปลงในหลายมิติ เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มลพิษ การลดลงของประชากร เป็นต้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้เรียกว่า การเติบโตด้วยความยั่งยืน โดยเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทและทำให้สิ่งเหล่านี้เปลี่ยนไปในทิศทางบวก เช่น การประชาสัมพันธ์และรณรงค์โครงการด้านสิ่งแวดล้อมบน Facebook ของ Meta Platforms (META) การมุ่งมั่นที่จะใช้วัสดุรีไซเคิลในผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ของ Apple (AAPL) หรือการพัฒนาระบบคลาวด์ของบริษัทเทคโนโลยีที่ช่วยลดความยุ่งยากในการติดตั้ง ดูแลระบบ และลดต้นทุนในการสร้างระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ ทำให้สามารถเข้าถึงข้อมูลจากระยะไกลได้ ซึ่งจะช่วยลดความสิ้นเปลืองในการใช้อุปกรณ์ฮาร์ดแวร์ รวมไปถึงการพัฒนารถยนต์ไฟฟ้าของ Tesla (TSLA) ซึ่งสามารถช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ทำให้เกิดมลพิษทางอากาศ

 

นอกจากนี้ เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์หรือ AI ยังสามารถช่วยในการวิเคราะห์ข้อมูลและการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดให้เกิดประโยชน์สูงสุด เช่น แชทบอท AI ChatGPT ของ Microsoft (MSFT) ซึ่งคาดว่าในอนาคตจะมีการนำมาผนวกในหลายธุรกิจเพื่อให้เกิดความยั่งยืนในระยะยาว เช่น การพัฒนาระบบการศึกษา การพัฒนาระบบการวิเคราะห์ข้อมูล การเขียนโปรแกรม เป็นต้น

 

ด้วยความสำคัญของเศรษฐกิจดิจิทัลและเทคโนโลยีดังกล่าว ทำให้บริษัทเทคโนโลยีครองอิทธิพลมากขึ้นตลอดช่วง 30 ปีที่ผ่านมา สังเกตได้จากมูลค่าตลาด 10 อันดับแรกของบริษัทในสหรัฐอเมริกาเมื่อปี 2536 ซึ่งมีบริษัทเทคโนโลยีเพียงบริษัทเดียว คือ IBM (IBM) แต่ในปัจจุบันมีมากถึง 6 บริษัท คือ Apple (AAPL), Microsoft (MSFT), Alphabet (GOOGL), Amazon (AMZN), Nvidia (NVDA) และ Meta Platforms (META) อีกทั้ง การเติบโตของบริษัทเทคโนโลยียังมีแนวโน้มที่สดใส เนื่องจากผู้คนและองค์กรธุรกิจต่างมีความจำเป็นที่จะต้องพึ่งพาเทคโนโลยี ซึ่งปัจจุบันเปรียบเสมือนโครงสร้างพื้นฐานในชีวิตประจำวันและเป็นโครงสร้างพื้นฐานของทุกหน่วยงาน

 

ถึงแม้ว่าสหรัฐอเมริกาจะยังเป็นผู้นำด้านเศรษฐกิจดิจิทัลและเทคโนโลยี แต่จีนก็เป็นอีกหนึ่งประเทศที่มาแรงเนื่องจากเศรษฐกิจดิจิทัลของจีนได้เติบโตอย่างก้าวกระโดดในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เห็นได้จากบริษัทเทคโนโลยีที่ก้าวขึ้นมามีบทบาทสำคัญในระดับสากล เช่น Alibaba (9988) แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซอันดับ 1 ของจีน หรือ Tencent (700) ผู้พัฒนาเกมและแพลตฟอร์ม WeChat

 

อีกทั้ง รัฐบาลจีนได้ให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจดิจิทัลเป็นส่วนหนึ่งในแผนยุทธศาสตร์ชาติจีนฉบับที่ 14 (ปี 2564 – 2568) โดยตั้งเป้าให้เศรษฐกิจดิจิทัลมีขนาดเป็น 10% ของ GDP ภายในปี 2568 จากราว 8% ในปัจจุบัน นอกจากนี้ บรรดาผู้บริหารของบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ของจีน ได้แก่ Tencent (700), NetEase (9999), Baidu (9888) และ Xiaomi (1810) ได้พบกับรัฐมนตรีกระทรวงอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีของจีน (MIIT) โดยมีใจความสำคัญว่าจะสนับสนุนเศรษฐกิจดิจิทัลให้เป็นส่วนหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจจีนโดยรวมในอนาคต

 

ถึงแม้ในมุมการลงทุน พบว่ามูลค่า P/E Ratio ของภาพรวมหุ้นเทคโนโลยีที่เชื่อมโยงถึงเศรษฐกิจดิจิทัลหรือเศรษฐกิจยุคใหม่ (New Economy) จะมีแนวโน้มสูงกว่าหุ้นที่เป็นเศรษฐกิจยุคเก่า (Old Economy) แต่หุ้นเทคโนโลยีถือว่าเป็นกลุ่มที่มีอัตราการเติบโตสูง เนื่องจากเป็นกลุ่มที่มีนวัตกรรมหรือผลิตภัณฑ์ที่เป็นสิ่งใหม่ในตลาด ต่างจากธุรกิจทั่วไปที่ต้องลงทุนในทรัพย์สินจำนวนมากเพื่อให้เกิดการพัฒนา

 

อย่างไรก็ดี การเลือกลงทุนหุ้นเทคโนโลยีรายตัวอาจไม่ใช่เรื่องง่าย เนื่องจากบางบริษัทยังไม่มีกำไรและอยู่ในช่วงเริ่มต้นของการวิจัยและพัฒนา การลงทุนหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีแบบอ้างอิงดัชนีจึงเป็นทางเลือกหนึ่งสำหรับผู้ที่ไม่ถนัดเลือกหุ้นรายตัว ประกอบกับในตลาดหุ้นไทยมีตัวเลือกในหุ้นเทคโนโลยีไม่มากนัก การกระจายการลงทุนไปยังหุ้นเทคโนโลยีต่างประเทศจึงเป็นทางเลือกที่น่าสนใจ

 

เช่น ดัชนี NASDAQ 100 ประกอบด้วย 100 บริษัทแรกตามมูลค่าตลาดที่ไม่ใช่กลุ่มการเงินและจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ NASDAQ โดยดัชนีมีน้ำหนักของหุ้นเทคโนโลยีมากที่สุดราว 55% เช่น Apple (AAPL), Microsoft (MSFT) และ Amazon (AMZN) นอกจากนี้ยังประกอบด้วยหุ้นชั้นนำกลุ่มอื่นที่มีนวัตกรรม (สอดรับกับเศรษฐกิจดิจิทัล) นอกเหนือจากกลุ่มเทคโนโลยีอีกด้วย เช่น Tesla (TSLA), PepsiCo (PEP) และ Starbucks (SBUX) เป็นต้น โดยหากวัดผลตอบแทน 10 ปีที่ผ่านมา (17 กุมภาพันธ์ 2556 – 16 กุมภาพันธ์ 2566) พบว่าดัชนี NASDAQ 100 สร้างผลตอบแทนถึง 356%

 

โดยนักลงทุนไทยที่สนใจลงทุนในหุ้นเทคโนโลยีระดับโลก สามารถลงทุนได้สะดวกผ่านตลาดหุ้นไทย ด้วยการซื้อขาย DR (Depositary Receipt) ซึ่งเป็นตราสารที่ออกแบบมาเพื่อให้นักลงทุนไทยสามารถซื้อขายหุ้นหรือดัชนีต่างประเทศได้ โดยผู้ออก DR จะเป็นคนไปซื้อหุ้นหรือดัชนีต่างประเทศมาเก็บไว้ จากนั้นจะนำมาจดทะเบียนและเสนอขายให้แก่นักลงทุนผ่านตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ทำให้นักลงทุนสามารถซื้อขายหุ้นหรือดัชนีต่างประเทศได้ด้วยเงินบาท และใช้บัญชีเดียวกันกับการซื้อขายหุ้นไทย เหมือนการซื้อขายหุ้นทั่วไป โดยผู้ออก DR จะไม่ใช่บริษัทเจ้าของหุ้นหรือดัชนีในต่างประเทศ แต่จะทำหน้าเป็นผู้ที่ถือหุ้นหรือดัชนีต่างประเทศแทนนักลงทุน

สำหรับ DR ที่เกี่ยวข้องกับหุ้นเทคโนโลยีในต่างประเทศ ได้แก่ DR NDX01 ที่มีหลักทรัพย์อ้างอิง คือ ChinaAMC NASDAQ 100 ETF (3086.HK) ที่อ้างอิงดัชนี NASDAQ 100 และจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกง

 

หรือดัชนี Hang Seng TECH ประกอบด้วย 30 บริษัทเทคโนโลยีชั้นนำของจีนและฮ่องกงที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกง ครอบคลุมอุตสาหกรรมเทคโนโลยีตั้งแต่อินเทอร์เน็ตแพลตฟอร์ม คลาวด์ ไปจนถึงอีคอมเมิร์ซ เช่น Alibaba (9988), Tencent (700), Meituan (3690) และ Xiaomi (1810) ซึ่งมีน้ำหนักรวมกันมากกว่า 30% ในดัชนี ดังนั้น นักลงทุนสามารถลงทุนได้สะดวกผ่านตลาดหุ้นไทยด้วย DR CNTECH01 ที่มีหลักทรัพย์อ้างอิง คือ ChinaAMC Hang Seng TECH ETF (3088.HK) ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกง

 

โดยสรุป เศรษฐกิจดิจิทัลและเทคโนโลยีถือเป็นส่วนสำคัญในการดำเนินชีวิตประจำวันและมีอิทธิพลต่อระบบเศรษฐกิจโลก ดังนั้น ในแง่ของการลงทุนจึงเป็นโอกาสที่ไม่ควรมองข้ามในหุ้นเทคโนโลยีต่างประเทศแบบอ้างอิงดัชนี ซึ่งไม่เพียงแต่จะเพิ่มโอกาสในการสร้างผลตอบแทนในระยะยาว ยังเป็นการสร้างคุณค่าให้แก่ผู้คนและสังคมอีกด้วย โดยเทคโนโลยีสามารถช่วยสร้างโอกาสในหลายด้านและยังมีส่วนช่วยเหลือให้ผู้คนสามารถรับมือกับการเปลี่ยนแปลงได้มากขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้บริษัทเทคโนโลยีมีแนวโน้มที่จะเติบโตอย่างยั่งยืนในระยะยาว

 

สำหรับนักลงทุนที่สนใจดูข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ DR NDX01 สามารถดูข้อมูลได้ที่ >> คลิกที่นี่
และ DR CNTECH01 ดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ >> คลิกที่นี่ 

 

หมายเหตุ : บทความนี้เพื่อใช้สำหรับศึกษาเบื้องต้นเท่านั้น มิได้มีเจตนาในการชี้นำการลงทุนแต่อย่างใด นักลงทุนควรศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนตัดสินใจลงทุน


สำหรับนักลงทุนมือใหม่และผู้ที่สนใจ เรียนรู้และทำความเข้าใจการลงทุน DR ตลอดจนกลไกการเคลื่อนไหวของราคา วิธีการซื้อขาย และกลยุทธ์การลงทุน เพื่อลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศผ่านตลาดหุ้นไทย สามารถเรียนรู้เพิ่มเติมผ่าน e-Learning หลักสูตร “ลงทุน DR ฉบับมือใหม่” ได้ฟรี!!! >> คลิกที่นี่

แท็กที่เกี่ยวข้อง: