ทำความรู้จักหุ้นทั้ง 4 ภาคที่เริ่มต้นธุรกิจในต่างจังหวัด

โดย SET
5 Min Read
1 มีนาคม 2566
4.626k views
SET-หุ้นหัวเมืองในต่างจังหวัด-final1200x660
In Focus

มีหุ้นอะไรบ้างที่เติบโตมาจากต่างจังหวัด และอะไรคือสิ่งที่ทำให้หุ้นกลุ่มนี้เติบโตขึ้นมาอย่างแข็งแกร่งได้ มาหาคำตอบในบทความนี้กัน

          หลาย ๆ บริษัทในไทยอาจมีจุดเริ่มต้นมาจากเมืองหลวงที่มีผู้บริโภคอาศัยอยู่อย่างหนาแน่น มีการจับจ่ายใช้สอยและมีอัตราการเติบโตสูง แต่ก็มีอีกหลาย ๆ บริษัทที่เล็งเห็นโอกาสการทำตลาดจากต่างจังหวัด ซึ่งจะมีหุ้นอะไรบ้างที่เติบโตมาจากต่างจังหวัด และอะไรคือสิ่งที่ทำให้หุ้นกลุ่มนี้เติบโตขึ้นมาอย่างแข็งแกร่งได้ มาหาคำตอบในบทความนี้กัน

 

สำรวจหุ้นต่างจังหวัดทั้ง 4 ภาคของไทย

2022_16_SET-หุ้นหัวเมืองในต่างจังหวัด-final

          การเริ่มต้นธุรกิจจากต่างจังหวัด เป็นการเจาะกลุ่มตลาดเล็ก ๆ ไปเรื่อย ๆ ซึ่งมีโอกาสสำเร็จมากกว่าการไปจับตลาดที่มีเจ้าเดิมครองตลาดอยู่แล้ว จึงเหมาะกับธุรกิจที่เพิ่งเริ่มต้นแบบ SME เป็นอย่างมาก เพราะใช้งบประมาณที่น้อยกว่าการทำตลาดในเมืองหลวงที่มีการแข่งขันสูง มีปัจจัยต้นทุนที่ต่ำกว่า เช่น งบการตลาด ค่าขนส่ง ค่าแรงงาน ค่าเช่าพื้นที่ เป็นต้น

และสำหรับตัวอย่างหุ้นกลุ่มนี้จะเป็นหุ้นที่เจ้าของเริ่มต้นธุรกิจมาจากต่างจังหวัดโดยแท้จริง ซึ่งจะไม่รวมหุ้นของบริษัทที่ต่างชาติมาร่วมลงทุน แล้วตั้งเป็นโรงงานหรือบริษัทในต่างจังหวัด รวมทั้งไม่รวมปริมณฑล ภาคตะวันตก และภาคกลาง จะแบ่งออกได้เป็น 4 ภูมิภาค ดังนี้

 

  1. ภาคเหนือ

          เป็นภูมิภาคที่ตั้งอยู่บนสุดของประเทศไทย มีทั้งหมด 17 จังหวัด พื้นที่ประมาณ 169,600 ตารางกิโลเมตร หรือคิดเป็นประมาณ 33% ของพื้นที่ประเทศไทย ในปี 2563 มูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมรายจังหวัดในภาคเหนือหรือ GPP (Gross Provincial Product) มีมูลค่าเท่ากับ 1.2 ล้านล้านบาท หรือประมาณ 7.8% ของ GDP ประเทศไทย โดยมูลค่าทางเศรษฐกิจของภาคเหนือทุก 100 บาท มาจากเกษตรกรรม 24.5 บาท อุตสาหกรรม 14.5 บาท การขายปลีก-ส่ง 13.9 บาท และอื่น ๆ อีก 47.1 บาท

          ภาคเหนือมีจุดเด่นตรงที่มีทรัพยากรป่าไม้อุดมสมบูรณ์ สภาพภูมิประเทศเอื้ออำนวยต่อการเพาะปลูกพืชหลายชนิด เช่น ข้าวโพด, อ้อย, สตรอว์เบอรี, ชา และกาแฟพันธุ์อาราบิก้า ฯลฯ จึงเป็นผลดีต่อธุรกิจกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารอย่างผักแปรรูปแช่แข็ง (CM), ข้าวโพดหวานแปรรูปของซันสวีท (SUN), วัตถุที่ใช้เป็นส่วนผสมในอาหาร (RBF) รวมทั้งผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพและความงามจากสารสกัดจากธรรมชาติ (APCO) ด้วย แถมยังมีอากาศหนาวเย็น มีสถานที่ท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวได้จำนวนมาก ส่งผลให้มีอัตราการเจริญเติบโตด้านเศรษฐกิจสูงอย่างต่อเนื่องทุกปี เกิดเป็นธุรกิจต่าง ๆ ในชุมชน ทั้งซุปเปอร์มาร์เก็ต (TNP), เฮงลิสซิ่ง (HENG), ศักดิ์สยามลิสซิ่ง (SAK), โรงพยาบาลเอกชน (CMR) และนอกจากนี้ยังเป็นแหล่งแร่ธาติสำคัญหลายชนิด ก่อให้เกิดอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เช่น เซรามิค เครื่องเคลือบดินเผาเพทาย (HPT), ปูนซีเมนต์ ผลิตภัณฑ์คอนกรีตและรับเหมาก่อสร้าง (SK)

 

  1. ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หรือภาคอีสาน

          เป็นภูมิภาคที่มีพื้นที่กว่า 168,855 ตารางกิโลเมตร คิดเป็นประมาณ 1 ใน 3 ของพื้นที่ประเทศไทยและเป็นภูมิภาคที่มีจำนวนประชากรมากที่สุด แต่กลับเป็นภูมิภาคที่ยากจนที่สุดของประเทศ ในปี 2563 มูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมรายจังหวัดในภาคอีสานหรือ GPP (Gross Provincial Product) มีมูลค่าเท่ากับ 1.6 ล้านล้านบาท หรือประมาณ 10.2% ของ GDP ประเทศไทย และมีค่าเฉลี่ยของผลิตภัณฑ์ภาคต่อหัว หรือ GPP per capita อยู่ที่ 86,233 บาทต่อปีเท่านั้น โดยมูลค่าทางเศรษฐกิจของภาคอีสานทุก 100 บาท มาจากเกษตรกรรม 19.6 บาท อุตสาหกรรม 16.9 บาท การศึกษา 13.1 บาท การขายปลีก-ส่ง 14.3 บาท และอื่น ๆ อีก 36.1 บาท

          เมื่อพูดถึงภาคอีสาน คนส่วนใหญ่มักจะนึกถึงการทำเกษตรกรรมอย่างการปลูกข้าวนาปี, ยางพารา, มันสำปะหลัง และอ้อย นอกจากนี้แรงงานกว่า 53% ก็อยู่ในภาคการเกษตรด้วยเช่นกัน นั่นจึงส่งผลดีต่อธุรกิจในกลุ่มอุตสาหกรรมเกษตรอย่างน้ำตาลบุรีรัมย์ (BRR), แปรรูปมันสำปะหลัง (UBE), ยางแผ่น (NER) แต่ความมั่งคั่งของคนภาคอีสานนั้นกลับกระจุกตัวอยู่แค่ 4 จังหวัด ได้แก่ นครราชสีมา, ขอนแก่น, อุบลราชธานี และอุดรธานี รวมกันกว่า 46.5% ของ GPP เรียกได้ว่าเกือบครึ่งของมูลค่าเศรษฐกิจของภาคอีสานเลยทีเดียว จึงทำให้ธุรกิจต่าง ๆ เริ่มต้นจาก 4 จังหวัดเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็น จังหวัดขอนแก่นอย่างหลังคาเหล็กตรารถถัง (KCM), โรงพยาบาลราชพฤกษ์ (RPH), ออโตคอร์ป โฮลดิ้ง (ACG) จังหวัดนครราชสีมาอย่างชิ้นส่วนยานยนต์ (PCSGH) จังหวัดอุบลราชธานีอย่างวัสดุก่อสร้างและอุปกรณ์ตกแต่งบ้าน (DOHOME) และจังหวัดอุดรธานีอย่างโรงพยาบาลนอร์ทอีสเทอร์น - วัฒนา (NEW)

 

  1. ภาคใต้

          เป็นภูมิภาคที่ตั้งอยู่ล่างสุดของประเทศไทย มีทั้งหมด 14 จังหวัด พื้นที่ประมาณ 70,715 ตารางกิโลเมตร คิดเป็นประมาณ 13.8% ของพื้นที่ประเทศไทย ในปี 2563 มูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมรายจังหวัดในภาคใต้หรือ GPP (Gross Provincial Product) มีมูลค่าเท่ากับ 1.3 ล้านล้านบาท หรือประมาณ 8.2% ของ GDP ประเทศไทย โดยมูลค่าทางเศรษฐกิจของภาคใต้ทุก 100 บาท มาจากเกษตรกรรม 26.2 บาท อุตสาหกรรม 10.6 บาท การขายปลีก-ส่ง 12.5 บาท ที่พักและบริการด้านอาหาร 6.5 บาท และอื่น ๆ อีก 44.2 บาท

          ความมั่งคั่งของคนภาคใต้กระจุกตัวอยู่แค่ 4 จังหวัดเหมือนภาคอีสาน ได้แก่ ภูเก็ต, สงขลา, สุราษฎร์ธานี และนครศรีธรรมราช รวมกันกว่า 56.5% ของ GPP เรียกได้ว่ามากกว่าครึ่งของมูลค่าเศรษฐกิจของภาคใต้เลยทีเดียว หลาย ๆ ธุรกิจก็ถือกำเนิดและเติบโตจากจังหวัดเหล่านี้ ภาคใต้มีจุดเด่นตรงที่ขนาบด้วยทะเลอ่าวไทยและอันดามัน เหมาะแก่การทำประมง อาหารทะเล จึงส่งผลดีต่อธุรกิจในกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร อย่างกุ้งแช่แข็ง (CFRESH และ CHOTI), ปลาทูน่ากระป๋องทีซีบี (TC) ประกอบกับมีเทือกเขาเป็นแหล่งกำเนิดแม่น้ำ และมีพื้นที่ชุ่มน้ำที่เหมาะแก่การเพาะปลูก ทำสวนยางพารา ทำสวนปาล์มน้ำมัน ทำสวนมะพร้าว มีนิคมอุตสาหกรรมฉลุง จังหวัดสงขลา ที่เน้นการแปรรูปผลิตภัณฑ์ยางพารา จึงส่งผลดีต่อธุรกิจในกลุ่มอุตสาหกรรมเกษตร อย่างสวนปาล์มน้ำมันยูนิวานิช (UVAN), ยางพารา (STA) และถุงมือยางศรีตรัง (STGT) นอกจากนี้ยังเป็นภาคแห่งการท่องเที่ยว มีรายได้กว่า 2.2 แสนล้านบาท หรือประมาณ 46% ของประเทศ ทำให้เกิดเป็นธุรกิจอสังหาริมทรัพย์อย่างคอนโดมิเนียม The Title ในจังหวัดภูเก็ต (TITLE) และธุรกิจการเดินเรือเฟอร์รี่ จังหวัดสุราษฎร์ธานี (RP) อีกด้วย

 

  1. ภาคตะวันออก

          เป็นภูมิภาคที่เล็กที่สุดในประเทศไทย มีทั้งหมด 8 จังหวัด พื้นที่ประมาณ 36,496 ตารางกิโลเมตร คิดเป็นเพียง 7.1% ของพื้นที่ประเทศไทย แต่กลับเป็นภูมิภาคที่เป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และมีรายได้เฉลี่ยต่อหัวสูงสุดในประเทศไทย ในปี 2563 มูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมรายจังหวัดในภาคตะวันออกหรือ GPP (Gross Provincial Product) มีมูลค่าเท่ากับ 2.7 ล้านล้านบาท หรือประมาณ 17.2% ของ GDP ประเทศไทย ซึ่งมากกว่า GPP ของภาคใต้และเหนือรวมกัน โดยมูลค่าทางเศรษฐกิจของภาคตะวันออกทุก 100 บาท มาจากอุตสาหกรรม 50 บาท เหมืองแร่ 7.5 บาท การขายปลีก-ส่ง 11.7 บาท เกษตรกรรม 7.2 บาท และอื่น ๆ อีก 23.6 บาท

          จุดเปลี่ยนสำคัญของภาคตะวันออกคือ การเปลี่ยนจากอุตสาหกรรมเบามาเป็นอุตสาหกรรมหนัก และอุตสาหกรรมเชิงพาณิชย์ อย่างอุตสาหกรรมยานยนต์, เคมีภัณฑ์, ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์, สินค้าอุปโภคบริโภค, พลังงาน ปิโตรเคมี ฯลฯ ตัวอย่างเช่น ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากโลหะ (CITY), กระสอบพลาสติกสาน (TCOAT), เฟอร์นิเจอร์ (ECF), ยางนอกและยางในรถจักรยานยนต์ (NDR), ชิ้นส่วนอลูมิเนียมและสังกะสี (SANKO), ชิ้นส่วนพลาสติกสำหรับเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเลคทรอนิคส์ (TAPAC), พลาสติกบรรจุภัณฑ์ (MBAX), เครื่องจักรระบบไฮดรอลิคคุณภาพสูง (TMC), แผ่นไฟเบอร์บอร์ดความหนาแน่นปานกลาง (SKN) นั่นจึงทำให้มีการตั้งโรงงานหลายแห่งและดึงดูดแรงงานจากภูมิภาคอื่นเข้ามา กลายเป็นนิคมอุตสาหกรรมของประเทศไทย เกิดเป็นธุรกิจที่เกี่ยวข้อง ทั้งบริการรับเหมาก่อสร้าง (APCS, CAZ, BJCHI) ธุรกิจรับส่งพนักงาน (ATP30) ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ (ARIN, PIN, WIN) และนั่นจึงทำให้เศรษฐกิจในภาคตะวันออกเติบโตขึ้น

 

          จะเห็นได้ว่าธุรกิจหลาย ๆ ตัวมีจุดเริ่มต้นมาจากต่างจังหวัด แต่ก็มีโอกาสได้เข้าจดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งการเริ่มต้นธุรกิจในต่างจังหวัดนี้ ก็เป็นเพียงหนึ่งกลยุทธ์ที่ทำให้ธุรกิจเหล่านี้เติบโตและเป็นที่รู้จักขึ้นมาได้ แต่ก็ยังมีการทำการตลาดอื่น ๆ นอกจากนี้อีกด้วย

 

สุดท้ายนี้หากนักลงทุนสนใจเริ่มต้นลงทุนในหุ้นกลุ่มต่าง ๆ และต้องการข้อมูลเพื่อนำไปวิเคราะห์เชิงลึก ตลาดหลักทรัพย์ฯ นักลงทุนสามารถสมัครใช้บริการ SETSMART ได้เพียงในราคา 250 บาทต่อเดือน คลิกที่นี่

นอกจากนี้ นักลงทุนยังสามารถค้นหาข้อมูลหุ้นที่น่าสนใจแบบครบทุกมิติจากบทวิเคราะห์หลักทรัพย์ คลิกที่นี่

Disclaimer : ข้อมูลบริษัทจดทะเบียนที่ปรากฏนี้เป็นเพียงการนำเสนอข้อมูลในอีกรูปแบบหนึ่งเพื่อให้ผู้ลงทุนสามารถเข้าใจได้ง่ายขึ้นโดยการอิงกับไลฟ์สไตล์ (Lifestyle Based) หรือกระแส (Trend) ซึ่งรวบรวมมาจากข้อมูลที่เผยแพร่ผ่านช่องทางของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (“ตลาดหลักทรัพย์ฯ”) อย่างไรก็ตาม ตลาดหลักทรัพย์ฯ ไม่รับรองความถูกต้องครบถ้วน หรือความเป็นปัจจุบันของข้อมูลดังกล่าวรวมทั้งไม่ได้ให้คำแนะนำเกี่ยวกับการลงทุนใด ๆ ในหลักทรัพย์ของบริษัทจดทะเบียน และตลาดหลักทรัพย์ฯ ไม่ต้องรับผิดชอบในความเสียหายหรือสูญหายจากการนำข้อมูลที่ปรากฏนี้ไปใช้ในทุกกรณี

ปุ่ม erc
ปุ่ม setsmart
แท็กที่เกี่ยวข้อง: