สำรวจรายได้และค่าใช้จ่ายเพื่อเริ่มวางแผนลงทุน

โดย กวี ชูกิจเกษม Head of Research and Content สายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บมจ. หลักทรัพย์ พาย
3 Min Read
9 พฤศจิกายน 2564
4.973k views
Inv_สำรวจรายได้และค่าใช้จ่ายเพื่อเริ่มวางแผนลงทุน_Thumbnail
Highlights

การสำรวจรายได้และค่าใช้จ่ายเป็นเรื่องสำคัญ ที่สามารถทำได้โดยการจดบันทึกลงสมุดหรือจดลงแอปพลิเคชันต่าง ๆ ซึ่งจะช่วยให้รู้ว่าในแต่ละเดือนเราหมดเงินไปกับอะไรบ้าง และสิ่งนั้นเป็นค่าใช้จ่ายที่จำเป็นหรือไม่จำเป็น เพื่อให้เราสามารถวางแผนการใช้เงิน และมีเงินเหลือเพื่อที่จะนำไปลงทุนต่อยอดให้งอกเงยอย่างยั่งยืนได้

เวลาผมเริ่มคุยเรื่องอิสรภาพทางการเงินที่ไหนหรือกับใครก็ตาม ผมมักได้รับคำถามหรือคำบ่นว่าจะเอาเงินจากไหนไปลงทุน เอาแค่ใช้ชีวิตวันต่อวันยังลำบากเลย ผมเลยตั้งคำถามกลับว่าเคยรู้ไหมว่าแต่ละเดือนเราหมดเงินไปกับอะไรบ้าง ให้ลองทบทวนดูตอนนี้ และผมหยิบกระดาษขึ้นมาแผ่นหนึ่งและให้เขียนออกมาว่าเดือนที่แล้วใช้อะไรไปบ้าง

 

ผมรอสักครู่เพื่อให้เขามั่นใจว่าได้เขียนค่าใช้จ่ายจนครบแล้ว ผมจึงถามต่อว่าแล้วเงินเดือนเท่าไรครับ ปรากฎว่าส่วนใหญ่มีเงินเดือนมากกว่าค่าใช้จ่ายที่ใช้ไปในแต่ละเดือน แล้วคำถามที่ชวนขนลุกก็ตามมา “เงินหายไปไหน” มันอันตธารหายไปได้ยังไง ผมบอกแทบทุกคนว่ามันไม่ได้หายไปไหนหรอกครับ เราอาจลืมว่าในเดือนที่ผ่านมาเราใช้เงินไปกับอะไรบ้าง ซึ่งมักจะเป็นเช่นนั้นจริง ๆ

 

ดังนั้น ไม่ว่าในอนาคตเราจะเป็นนักลงทุนที่ยิ่งใหญ่แค่ไหน แต่การเริ่มต้นชีวิตการลงทุนเราจะหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องสำรวจสินทรัพย์และหนี้สินของตัวเอง ซึ่งผมได้อธิบายไปเมื่อตอนที่แล้ว กับสำรวจรายได้และค่าใช้จ่ายของเรา ที่ผมจะอธิบายในตอนนี้ โดยเฉพาะเรื่องของค่าใช้จ่ายที่มาหลายทางมาก ช่างแตกต่างซะเหลือเกินจากรายได้ที่อาจมาเพียงทางเดียวเท่านั้น คือ การทุ่มเททำงานกินเงินเดือน และหากเราไม่จดบันทึกรายได้และค่าใช้จ่าย เราจะไม่มีทางรู้เลยว่าเราจะวางแผนการใช้เงินอย่างไร ไม่ต้องนึกข้ามไปถึงว่าเราจะวางแผนการลงทุนอย่างไรให้เงินงอกเงยอย่างยั่งยืน ซึ่งแน่นอนว่าผมจะเขียนถึงวิธีการลงทุนในตอนต่อ ๆ ไป แต่ตอนนี้เรามาเริ่มจดรายได้และค่าใช้จ่ายกันก่อนดีกว่า

 

การจดรายได้และค่าใช้จ่ายทำได้หลายวิธีมาก เริ่มต้นง่าย ๆ จากการใช้สมุดเล่มเล็ก ๆ ผมอ่านหนังสือ Kakeibo” ศิลปะการจัดงบประมาณและการออมเงินสไตล์ญี่ปุ่น แล้วผมชอบมาก การใช้สมุดบางคนบอกว่าโบราณมาก ตอนนี้มีแอปพลิเคชันเยอะแยะมากมายให้เลือก แต่ผมกลับมองว่าการใช้สมุดจดมีเสน่ห์ในตัวเอง และผมมีความรู้สึกเวลาบันทึกค่าใช้จ่ายด้วยมือมันทำให้เราตระหนักถึงเงินที่ใช้ไป อย่างไรก็ตามไม่ว่าจะใช้สมุดหรือใช้โปรแกรมหรือแอปพลิเคชันใด ๆ ก็ตาม ขอให้มีวินัยในการจดรายได้และค่าใช้จ่ายให้ได้ทุกวัน อย่าทิ้งข้ามวันเชื่อผม บางทีนึกย้อนเพียงแค่เมื่อวานเราอาจลืมค่าใช้จ่ายบางอย่างไปแล้ว และเสียเวลามากในการนึกเรื่องเมื่อวาน (หรือผมแก่ไปแล้วก็ไม่รู้ จำอะไรไม่ได้นาน)

 

การบันทึกรายได้คงไม่ใช่ปัญหามากนักให้บันทึกเป็น 1) รายได้ประจำและ 2) รายได้ไม่ประจำ โดยรายได้ประจำ เช่น เงินเดือน และแม้จะเป็นฟรีแลนซ์ที่รายได้ไม่คงที่ก็ให้บันทึกรายได้ลงในส่วนนี้ หรืออาจเป็นรายได้จากดอกเบี้ยและเงินปันผล ซึ่งจะเข้ามาหลังจากที่เราเริ่มลงทุนกันแล้ว ส่วนรายได้ไม่ประจำคือรายได้ที่ไม่มาทุกเดือน ทุกไตรมาส หรือทุกปี แต่ที่สำคัญกว่าการบันทึกรายได้คือการบันทึกค่าใช้จ่าย ซึ่งผมอยากให้แยกเป็น 2 หัวข้อใหญ่ ๆ คือ 1) ค่าใช้จ่ายจำเป็นและ 2) ค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น หรือภาษาอังกฤษคือค่าใช้จ่ายจาก Need or Want” ซึ่งตรงนี้ผมไม่สามารถกำหนดให้กับทุกคนได้ ว่าค่าใช้จ่ายอะไรที่จำเป็นหรือค่าใช้จ่ายใดที่ไม่จำเป็น เพราะแต่ละคนมีความจำเป็นที่ไม่เหมือนกันและไม่เท่ากัน เช่น ค่าผ่อนบ้าน ผ่อนรถ หรือผ่อนโทรศัพท์มือถือ บางคนบอกว่าจำเป็นบางคนบอกว่าไม่จำเป็น แต่ผมขอให้บันทึกด้วยความซื่อสัตย์เป็นพอ

 

ส่วนบิลรายจ่าย เช่น ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าบริการโทรศัพท์ ค่าอินเทอร์เน็ต ค่า Spotify, Disney+, Netflix, HBO หรือ Youtube Premium ค่าเสื้อผ้ารองเท้าใหม่ ค่าอุปกรณ์ต่าง ๆ ก็ลองพิจารณาให้ดีก่อนบันทึกว่าค่าใช้จ่ายเหล่านี้เราขาดได้ไหม หากเราขาดไม่ได้จริง ๆ ก็เป็นค่าใช้จ่ายจำเป็น แต่หากคิดแบบจริงจังแล้วว่าขาดค่าใช้จ่ายส่วนนี้ไปก็ไม่ได้มีผลอะไรกับชีวิตเรา ก็อาจตีความได้ว่าเป็นค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น ที่ผมให้แยกรายได้และค่าใช้จ่ายแบบนี้ เพื่อให้เราได้แยกแยะและหาทางเพิ่มรายได้หรือลดค่าใช้จ่ายได้อย่างมีเหตุและมีผล

 

สรุปการบันทึกรายได้และค่าใช้จ่าย

รายได้

  • รายได้ประจำ (เงินเดือน รายได้จากงานฟรีแลนซ์)
  • รายได้ไม่ประจำ (รายได้จากงานชั่วคราว)

ค่าใช้จ่าย

  • ค่าใช้จ่ายจำเป็น (รวมถึงการซื้อประกันสังคมหรือประกันชีวิต)
  • ค่าใช้จ่ายไม่จำเป็น

 

เมื่อบันทึกรายได้และค่าใช้จ่ายเป็นนิสัยได้แล้ว สิ่งที่ผมจะให้ทำต่อ คือ เริ่มวิเคราะห์หรือตั้งคำถามตามขั้นตอน ดังนี้

  1. เราเหลือเงินเฉลี่ยเท่าไรในแต่ละเดือน พอที่จะนำไปลงทุนต่อได้หรือไม่ หากไม่พอให้ถามต่อข้อ 2-4 ว่า
  2. เราลดค่าใช้จ่ายรายเดือนที่ไม่จำเป็นออกไปได้หรือไม่
  3. เราลดการซื้อของที่ไม่จำเป็นออกไปได้หรือไม่
  4. เราหาทางเพิ่มรายได้ได้หรือไม่

 

ผมเชื่อว่าหากเรามีความตั้งใจจริง ๆ เราจะเห็นหนทางในการทำให้มีเงินเหลือมาลงทุนในแต่ละดือน (แค่ 500 บาทต่อเดือนก็เริ่มลงทุนได้แทบทุกสินทรัพย์แล้วนะครับ) อย่างไรก็ตาม หากไม่สามารถมีเงินเหลือได้จริง ๆ หลังจากตอบคำถามครบสี่ข้อแล้ว อย่าเพิ่งท้อครับ อย่างน้อยเรารู้เหตุผลชัดเจนมากขึ้น และเราจะหาวิธีในการจัดการเรื่องรายได้และค่าใช้จ่ายได้ในอนาคต แต่สิ่งที่สำคัญในขณะที่เรายังมีเงินเหลือไม่มากพอที่จะนำมาลงทุน อย่าพยายามสร้างหนี้ที่ไม่จำเป็นโดยเด็ดขาด จริง ๆ แล้วในตอนที่แล้วผมได้ย้ำเรื่องนี้ไว้แล้ว ไม่ว่าจะยังไงก็ตามอย่าพยายามสร้างหนี้ โดยเฉพาะหนี้ที่เกิดขึ้นจากการซื้อของหรือสินทรัพย์ที่มูลค่ามีแต่จะลดลงเมื่อเวลาผ่านไป ที่เตือนเรื่องนี้เพราะหากเราเริ่มชีวิตการทำงานด้วยการเป็นหนี้ที่ไม่จำเป็น เหมือนติดกระดุมผิดตั้งแต่เม็ดแรกเลย แต่หากมีแล้วก็ต้องพยายามลดให้เร็วที่สุด

 

อีกเรื่องหนึ่งที่อยากฝากไว้ก่อนเริ่มลงทุน เราควรมีประกันสุขภาพเอาไว้ เพื่อป้องกันค่าใช้จ่ายที่ไม่คาดฝัน อย่างน้อยควรมีประกันสังคมที่ค่าใช้จ่ายแต่ละเดือนไม่สูงมากแต่คุ้มในการที่จะจ่าย และสุดท้ายรักษาสุขภาพ หมั่นออกกำลังกายสม่ำเสมอ สุขภาพของเราสำคัญกว่าสุขภาพเงิน ดังคำที่ว่า การไม่มีโรค เป็นลาภอันประเสริฐ

สำหรับผู้ที่สนใจ เรียนรู้แนวทางวางแผนการเงินเพื่อเป้าหมายชีวิต และการใช้เครื่องมือทางการเงินต่าง ๆ ในการสำรวจสถานะทางการเงินของตนเอง เพื่อสร้างความมั่งคั่งในอนาคตของตนเองได้ สามารถเรียนรู้เพิ่มเติม ผ่าน e-Learning หลักสูตร “ชีวิตดี เริ่มต้นที่การวางแผน” ได้ฟรี!!! >> คลิกที่นี่

แท็กที่เกี่ยวข้อง: