ส่องโอกาส “ธีม Fintech” ในวันที่ธนาคารอยากเป็น Tech Company

โดย ดร.จิติพล พฤกษาเมธานันท์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายกลยุทธ์การลงทุน บลจ.ยูโอบี (ประเทศไทย)
3 Min Read
8 พฤศจิกายน 2564
2.181k views
Inv_ส่องโอกาสธีมFintechในวันที่เป็น Tech Company_Thumbnail
Highlights

ที่ผ่านมาเราได้เห็นการเปลี่ยนแปลงของภาคการเงินไทยอย่างน้อย 2 เรื่องด้วยกัน เรื่องแรก คือ การนำเทคโนโลยีมาใช้ในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและบริการ เช่น บริการชำระเงิน โครงสร้างพร้อมเพย์ และการเข้ามามีบทบาทของผู้เล่นหน้าใหม่ที่ไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์ เช่น Fintech ที่พยายามเข้ามาปิดช่องว่างการให้บริการทางการเงิน ซึ่งการเปลี่ยนแปลงนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในประเทศไทย แต่เป็นการเปลี่ยนแปลงของภาคการเงินโลก โดยธีมการลงทุนใน Fintech นั้น มีความน่าสนใจอย่างไร ทำไมจึงเป็นการลงทุนแห่งอนาคต หาคำตอบได้จากบทความนี้

เมื่อสองธนาคารยักษ์ใหญ่ของประเทศไทยตั้งเป้าเป็น Tech Company ก็ไม่แปลกที่นักลงทุนหลายท่านจะรู้สึกได้ว่าการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่กำลังเกิดขึ้นใกล้ตัวเหลือเกิน น่าสนใจว่าความเคลื่อนไหวนี้จะเป็น “จุดเปลี่ยน” ของอุตสาหกรรม และเป็นโอกาสหรือความเสี่ยงสำหรับนักลงทุนอย่างเราหรือไม่ อย่างไร

 

ผมจึงชวนคุยต่อบนธีม Fintech and Digitization” โดยเราจะทำความเข้าใจ จุดเด่น จุดอ่อน ไปจนถึงเปรียบเทียบการลงทุนใน ETF ที่โดดเด่นในธีมนี้

 

“มองผ่านเลนส์ Thematic Investor ธีม Fintech เข้าถึงผู้ใช้บริการได้โดยตรง ทำกำไรได้ชัดเจน แต่มีความเสี่ยงหลัก คือ การกำกับดูแลของภาครัฐ”

 

จุดเด่นหลักของธีม Fintech คือ เทคโนโลยีและโครงสร้างธุรกิจ

ด้วย Internet ที่เข้าถึงทั้งผู้ให้บริการและผู้บริโภคส่วนใหญ่ การวางตัวเองเป็น Platform ทำหน้าที่เชื่อมต่อและสร้างความสะดวกสบายด้านการเงิน แทรกเข้าไปในโลก Digital ได้ไม่ยาก

 

เทคโนโลยีที่เพิ่มเข้ามาในทศวรรษนี้ คือ Decentralized Finance และ Blockchain นอกจาก Cryptocurrency จะเป็น Asset Class ใหม่ของนักลงทุนแล้ว เทคโนโลยีเหล่านี้ยังช่วยให้การเชื่อมต่อทางการเงินยิ่งไร้พรมแดน เปิดโอกาสให้ทั้งผู้ประกอบการและผู้บริโภคเข้าถึงสินค้าหรือบริการทางการเงินได้ทั่วโลก

 

ด้านสังคมธีม Fintech อยู่ในช่วงที่ความท้าทายสูง

ด้วยสินค้าและบริการที่ไม่แตกต่าง สามารถเลียนแบบได้ง่าย ผู้ใช้บริการสามารถเปลี่ยน Platform ได้ทุกเมื่อ ธุรกิจจึงมีทั้งโอกาสและความเสี่ยงจาก Disruption ตลอดเวลา

 

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด คือ Cryptocurrency และ Decentralized Exchanges ข้อมูลจาก Coinmarketcap.com ระบุว่าปัจจุบันมี Cryptocurrency ที่ซื้อขายกันอยู่ถึง 13,500 เหรียญ บน 422 Exchanges ทั่วโลก (ตลาดหุ้นไทยของเราปัจจุบันยังมีหุ้นรวมกันไม่ถึง 1,000 บริษัทเลย)

 

นอกจากนี้ การตัดสินใจทางการเงินก็มีประเด็นด้านความเชื่อมั่น ความโปร่งใส และความคุ้นเคยเป็นองค์ประกอบ ทำให้การตอบรับจากทุกเพศ ทุกวัย ทุกประเทศ เป็นสิ่งที่ธุรกิจนี้ต้องพัฒนาต่อไป

 

และแน่นอนว่าจุดอ่อนของธีม Fintech คือ เรื่องกฎเกณฑ์

เนื่องจากธุรกิจมีความเกี่ยวข้องทั้งกับเสถียรภาพของเศรษฐกิจ ความมั่งคั่งของประชาชน ไปจนถึงกฎหมายทั้งในและระหว่างประเทศ ทำให้โอกาสที่ทั่วโลกจะยอมรับเทคโนโลยีเดียวกัน พร้อมกัน เป็นเรื่องที่ไม่ง่าย

 

กลุ่มธุรกิจต้องร่วมมือกับภาครัฐโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้กำหนดนโยบาย ในการสร้างกติกาของอุตสาหกรรมให้เหมาะสม ซึ่งเป็นความเสี่ยงสำหรับการลงทุน ทั้งในเรื่องระยะเวลาและขอบเขตของโอกาส เพราะถ้าเร็วไป ก็อาจต้องพบกับการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่องในอนาคต แต่ถ้าช้าเกินไป นักลงทุนก็อาจเลือกที่จะออกนอกกฎไปก่อน ไม่ง่ายที่บริษัทการเงินจะตามกลับมาได้

 

อย่างไรก็ตาม เมื่อมองโดยรวม ธีม Fintech ในปัจจุบันถือว่ามีโอกาสในฝั่งเทคโนโลยีและสังคมสูงมาก จึงถือเป็นการลงทุนแห่งอนาคต แค่เปลี่ยนโลกเมื่อไหร่ และมากแค่ไหนเท่านั้น  

 

สำหรับนักลงทุนที่สนใจธีม Fintech และกระแส Digitalization มี ETF ต่างประเทศที่สามารถตอบโจทย์ได้ดีมากมาย และเราต้องรู้จัก ETF ที่โดดเด่นอย่าง ARKF BCHN และน้องใหม่ BITO

 

ARKF หรือ ARK Fintech Innovation ETF

  • บริหารจัดการโดย ARK Investment บลจ.สัญชาติอเมริกันที่มีความโดดเด่นด้านการลงทุนในธีม Disruptive Innovation
  • ARKF เป็น Active ETF ที่ลงทุนใน 35-55 บริษัท ที่เกี่ยวข้องกับ Transaction Innovation, Blockchain Technology, Risk Transformation, Frictionless Funding Platforms, Customer Facing Platforms, และ New Intermediaries ทั้งหมดเป็นเทคโนโลยี Platform ทางการเงินที่ตั้งเป้าหมายลดต้นทุนทางการเงินทั่วโลก
  • ปัจจุบัน ARKF มีการลงทุนในสหรัฐอเมริกามากที่สุดถึงกว่า 72% ของกองทุน จึงทำให้เป็น ETF ที่มีโอกาสปรับตัวขึ้นได้พร้อมกับหุ้นขนาดเล็กในสหรัฐฯ
  • ด้วยความเป็น Active ETF จึงอาจมีการลงทุนที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ขณะเดียวกันก็อาจมีต้นทุน Transaction Cost ที่สูงกว่า Passive ETF

 

BCHN หรือ Invesco Elwood Global Blockchain UCITS ETF

  • บริหารโดยบลจ. Invesco หนึ่งในบลจ.ที่มี ETF หลากหลายที่สุดของโลก ปัจจุบันมี ETF ที่ลงทุนในหุ้นทั่วโลกเกินกว่า 110 ETF
  • BCHN อ้างอิงดัชนี CoinShares Blockchain Global Equity Index หรือ BLOCK Index มีการลงทุนในบริษัทที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับ Blockchain และ Cryptocurrency มีการปรับสัดส่วนการลงทุนทุกไตรมาส ในเดือน มี.ค. / มิ.ย. / ก.ย. และ ธ.ค.
  • ปัจจุบัน BCHN มีการลงทุนในบริษัทราว 60 แห่งทั่วโลก เน้นหนักไปที่สหรัฐอเมริกาถึงกว่า 80% เทียบกับ ETF ที่ลงทุนใน Fintech ด้วยกันจะมีความเฉพาะไปที่ธุรกิจ Decentralized Finance มากที่สุด
  • นอกจากจะมีความเข้มข้นในธีม Blockchain และ Cryptocurrency มากที่สุดแล้ว ETF นี้ยังมีความผันผวนสูงเนื่องจากการทำกำไรของบริษัทที่เกี่ยวข้อง มักมีความเชื่อมโยงกับความเคลื่อนไหวของ Cryptocurrencies

 

BITO หรือ Bitcoin Strategy ETF

  • บริหารโดยบลจ. ProShares บลจ.สัญชาติอเมริกันผู้เชี่ยวชาญด้านการสร้างกลยุทธ์การลงทุนเพื่อตอบวัตถุประสงค์ที่แตกต่างกันของนักลงทุนโดยใช้เครื่องมือทางการเงินที่หลากหลาย
  • BITO เป็นกลยุทธ์การลงทุนในรูปของ ETF กองทุนแรกในสหรัฐฯ ที่ตั้งใจสร้างผลตอบแทนใกล้เคียงกับราคา Bitcoin โดยใช้ Futures Contract ในตลาด CME (Chicago Mercantile Exchange)
  • ด้วยความเคลื่อนไหวที่ใกล้เคียงกับ Bitcoin ทำให้มีความสัมพันธ์กับดัชนีหุ้นไม่สูง สามารถใช้กระจายความเสี่ยง หรือทดแทนการลงทุนใน Bitcoin โดยตรงได้
  • ข้อเสียหลัก คือ มีความผันผวนสูงมาก ไม่ต่างจากการลงทุนใน Bitcoin และบางช่วงเวลาจะมีค่าใช้จ่ายในการบริหารสัญญา Futures ซึ่งอาจทำให้มีต้นทุนสูงกว่าการซื้อ Bitcoin โดยตรง

 

หมายเหตุ : ชื่อกองทุนรวม ETF ที่กล่าวมาข้างต้นเป็นเพียงการให้ความรู้เท่านั้น มิได้มีเจตนาชี้นำการลงทุนแต่อย่างใด นักลงทุนควรศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนตัดสินใจลงทุน


สำหรับนักลงทุนหรือผู้ที่สนใจลงทุนในกองทุนรวม ETF แต่ไม่รู้จะเริ่มต้นอย่างไร สามารถเรียนรู้ลักษณะพื้นฐาน ผลตอบแทนและความเสี่ยง สิทธิประโยชน์ทางภาษี และวิธีซื้อขายกองทุน ETF พร้อมเทคนิคการลงทุนอย่างมืออาชีพ ผ่าน e-Learning หลักสูตร “รอบรู้ลงทุน ETF” ได้ฟรี!!! >> คลิกที่นี่

แท็กที่เกี่ยวข้อง: