อ่าน Fund Fact Sheet ก่อนเริ่มลงทุน เรื่องง่ายๆ ที่มือใหม่ก็ทำได้

โดย ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
3 Min Read
27 กุมภาพันธ์ 2566
18.808k views

อยากลงทุนในกองทุนรวมแต่ไม่รู้จะลงทุนในกองไหนดี เพราะกองทุนก็มีให้เลือกมากมาย เรื่องนี้ไม่ยาก แค่ต้องทำความรู้จักกับกองทุนที่สนใจด้วยการดูข้อมูลใน Fund Fact Sheet!

Fund Fact Sheet คืออะไร?

Fund Fact Sheet คือ หนังสือชี้ชวนส่วนสรุปข้อมูลสำคัญของกองทุนรวม ซึ่งจะแสดงข้อมูลสำคัญหลักๆ ของกองทุนไว้ เช่น

  • นโยบายการลงทุน
  • ลักษณะความเสี่ยงและผลตอบแทน
  • สินทรัพย์ 5 อันดับแรกที่กองทุนนำเงินไปลงทุน
  • ผลการดำเนินงานย้อนหลัง
  • ค่าธรรมเนียมและเงื่อนไขในการซื้อขาย
ซึ่งเป็นข้อมูลหลักที่ผู้ลงทุนควรรู้ก่อนที่จะตัดสินใจซื้อกองทุน แล้วการอ่าน Fund Fact Sheet ต้องเริ่มที่ตรงไหนดี? ลองไปดูกันเลย
1
ดูชื่อ นโยบาย และประเภทของกองทุนรวม

ขั้นตอนแรกควรดูชื่อและประเภทของกองทุนรวมที่เราสนใจจะลงทุนก่อนเสมอ เช่น กองทุนเปิดกรุงไทยตราสารตลาดเงิน (KTSS) เป็นกองทุนรวมตลาดเงินที่ลงทุนในเงินฝาก ตราสารหนี้ภาครัฐและภาคเอกชนในประเทศ อายุไม่เกิน 1 ปี เช่น เงินฝากธนาคาร พันธบัตร ตั๋วเงินหลัง และตั๋วแลกเงิน เป็นต้น อีกทั้งจะทำให้เรารู้ว่า กองทุนนั้นๆ มีกลยุทธ์การบริหารกองทุนแบบเชิงรุก (Active Management) หรือ กองทุนแบบเชิงรับ (Passive Management) ซึ่งทั้งสองกลยุทธิ์นี้มีนโยบายที่แตกต่างกัน จึงต้องเช็กก่อนเสมอ เพื่อให้ตรงกับเป้าหมายของการลงทุนที่เราต้องการ

กลยุทธ์การบริหารกองทุนแบบเชิงรุก (Active Management)
มุ่งหวังให้ผลตอบแทนสูงกว่าดัชนีชี้วัด บริหารโดยผู้จัดการกองทุนที่มีความสามารถในการบริหารจัดการและคัดเลือกสินทรัพย์
กลยุทธ์การบริหารกองทุนแบบเชิงรับ (Passive Management)
มุ่งหวังผลตอบแทนตามดัชนีชี้วัด
2
ดูระดับความเสี่ยง และความผันผวนของกองทุนรวม

ก่อนจะเริ่มต้นลงทุน เราต้องสำรวจตัวเองก่อนว่าสามารถรับความเสี่ยงในการลงทุนได้ระดับใด ซึ่งกองทุนรวมจะถูกแบ่งระดับความเสี่ยงออกเป็น 8 ระดับ เรียงจากระดับความเสี่ยงต่ำที่สุดไปจนถึงระดับความเสี่ยงสูงมาก ได้แก่

  • ระดับ 1 (ความเสี่ยงต่ำ) : กองทุนรวมตลาดเงินที่ลงทุนเฉพาะในประเทศ
  • ระดับ 2 (ความเสี่ยงปานกลางค่อนข้างต่ำ) : กองทุนรวมตลาดเงินที่ลงทุนในต่างประเทศบางส่วน
  • ระดับ 3 (ความเสี่ยงปานกลางค่อนข้างต่ำ) : กองทุนรวมพันธบัตรรัฐบาล
  • ระดับ 4 (ความเสี่ยงปานกลางค่อนข้างต่ำ) : กองทุนรวมตราสารหนี้
  • ระดับ 5 (ความเสี่ยงปานกลางค่อนข้างสูง) : กองทุนรวมผสม
  • ระดับ 6 (ความเสี่ยงสูง) : กองทุนรวมตราสารทุน
  • ระดับ 7 (ความเสี่ยงสูง) : กองทุนรวมหมวดอุตสาหกรรม
  • ระดับ 8 (ความเสี่ยงสูงมาก) : กองทุนที่มีการลงทุนในทรัพย์สินทางเลือก
ถ้าหากประเมินแล้ว เรารับระดับความเสี่ยงได้อยู่ที่ระดับ 2 แสดงว่าควรลงทุนในกองทุนที่มีระดับคะแนนตั้งแต่ 1-2 อย่างไรก็ตาม เราควรดูความสามารถในการควบคุมความเสี่ยงของผู้จัดการกองทุนประกอบด้วย โดยดูที่ Maximum Drawdown ซึ่งจะบอกอัตราผลขาดทุนสูงสุดในอดีตของกองทุน
3
ดูสัดส่วนประเภทสินทรัพย์ที่ลงทุน

เมื่อดูระดับความเสี่ยงแล้ว ขั้นตอนต่อไปให้ดูที่สัดส่วนของประเภทสินทรัพย์ที่กองทุนได้ลงไว้ โดยใน Fund Fact Sheet จะบอกข้อมูลสินทรัพย์ 5 อันดับแรก ที่กองทุนนำเงินไปลงทุน โดยหากเป็นกองทุนที่ลงทุนในหุ้นก็จะระบุเป็น กลุ่มอุตสาหกรรม ประเภทหลักทรัพย์ และชื่อหลักทรัพย์ แต่ถ้าหากเป็นกองทุนที่ลงทุนในตราสารนี้ก็จะบอกอันดับความน่าเชื่อถือและชื่อผู้ออกตราสาร 5 อันดับแรกด้วย เพื่อเช็กดูว่ากองทุนนั้นมีการลงทุนในอะไรเป็นหลัก แบ่งสัดส่วนออกเป็นยังไงบ้าง ตรงกับที่เราต้องการหรือไม่

จากนั้นค่อยไปศึกษาเพิ่มเติมว่าสินทรัพย์ที่กองทุนลงทุนนั้นเป็นอย่างไร เช่น ถ้าหากเป็นกองทุนที่ลงทุนในหุ้น ก็ควรศึกษาเพิ่มเติมว่าบริษัทนั้นเป็นอย่างไร เป็นบริษัทที่น่าลงทุนหรือไม่

4
ผลการดำเนินงานย้อนหลัง

ถ้าอยากรู้ว่า กองทุนที่เราสนใจมีผลประกอบการย้อนหลังเป็นอย่างไรบ้าง ก็สามารถดูได้ที่ผลการดำเนินงานย้อนหลังใน Fund Fact Sheet ซึ่งแสดงอัตราผลตอบแทนย้อนหลังของกองทุนตั้งแต่ 3 เดือน 6 เดือน 1 ปี 5 ปี 10 ปี หรือตั้งแต่ปีที่จัดตั้งกองทุน ทำให้เราทราบถึงผลการดำเนินงานของกองทุนและผลการบริหารกองทุนว่าสอดคล้องกับนโยบายการลงทุนหรือไม่ เช่น

กองทุนที่เราสนใจมีนโยบายแบบเชิงรุก สิ่งที่เราคาดหวังคือกองทุนนี้จะต้องเอาชนะดัชนีชี้วัดได้ แต่เมื่อไปดูผลการดำเนินงานย้อนหลังพบว่า กองทุนนี้แพ้ดัชนีชี้วัดบ่อยครั้งและแทบจะทุกปี แบบนี้ก็ต้องพิจารณากองทุนใหม่กันแล้วล่ะ แต่ทั้งนี้ผลการดำเนินงานในอดีตก็ไม่ได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลการดำเนินงานในอนาคต
5
ดูค่าธรรมเนียม

หลังจากที่ดูข้อมูลอื่นๆ กันไปจนครบแล้ว ขั้นตอนสุดท้ายก็จะเป็นส่วนของข้อมูลค่าใช้จ่ายทั้งหมดที่เกี่ยวข้องในการบริหารกองทุนรวม เพื่อให้เรารู้ว่าการลงทุนครั้งนี้จะมีการถูกเรียกเก็บค่าธรรมเนียมอะไรบ้างและจำนวนเท่าไร ปกติแล้วใน Fund Fact Sheet จะแบ่งค่าธรรมเนียมออกเป็น 2 ประเภทด้วยกัน คือ

ค่าธรรมเนียมที่เรียกเก็บจากกองทุนรวม
โดยคิดเป็น % ต่อปี ของค่าทรัพย์สินสุทธิ หรือ NAV (Net Asset Value) เป็นค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานของกองทุนรวม เช่น ค่าธรรมเนียมผู้ดูแลผลประโยชน์ (Trustee Fee) ค่านายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ ค่าธรรมเนียมการจัดการ (Management Fee) ค่าโฆษณาประชาสัมพันธ์กองทุน ค่านายทะเบียนหน่วยลงทุน ค่าผู้สอบบัญชี ค่าใช้จ่ายในการจัดทำและแจกจ่ายหนังสือชี้ชวน เป็นต้น

ค่าธรรมเนียมที่เรียกเก็บจากนักลงทุนโดยตรง
คือ ค่าธรรมเนียมการทำรายการต่างๆ ของผู้ถือหน่วยลงบนกองทุน เช่น ค่าธรรมเนียมการขาย (Front-end-fee) และ ค่าธรรมเนียมการรับซื้อคืน (Back-end-fee) ค่าธรรมเนียมในการสับเปลี่ยนหน่วยลงทุน ค่าธรรมเนียมในการโอนหน่วยลงทุนให้กับบุคคลอื่น หรือค่าปรับกรณีขายคืนหน่วยลงทุนก่อนระยะเวลาถือครองที่กำหนดในโครงการ (Exit Fee) เป็นต้น

นี่ก็เป็นหลักการง่ายๆ สำหรับการเริ่มต้นดู Fund Fact Sheet สำหรับมือใหม่ จะเห็นว่าไม่ได้ยากอย่างที่คิด เพียงแค่ใช้เวลาสักนิดหน่อยเพื่อศึกษากองทุนจาก Fund Fact Sheet ให้ครบถ้วน เราก็จะมองเห็นภาพรวมของกองทุนรวมนั้นได้ชัดเจนมากขึ้น และเริ่มตัดสินใจได้ว่าควรจะลงทุนในกองทุนนี้ดีมั้ย

พิเศษ

สำหรับนักศึกษาผู้กู้ยืม กยศ. หากออมเงินผ่านกองทุนรวมในโครงการ “AOM YOUNG” เริ่มต้นลงทุนเพียง 100 บาท สามารถนับชั่วโมงจิตสาธารณะ 1 ชม. ทุกการออม 1 เดือนได้อีกด้วย ใครกำลังมองหาช่องทางดีๆ ในการลงทุนต้องไม่พลาด

ดูรายละเอียดโครงการ “AOM YOUNG” ออมเงินผ่านกองทุนรวมเพื่อประโยชน์ดีๆ สำหรับนักศึกษาผู้กู้ยืม กยศ. ได้ที่: www.setinvestnow.com/aomyoung

หมายเหตุ: ผู้ลงทุนต้องทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน และความเสี่ยง ก่อนตัดสินใจลงทุน

แท็กที่เกี่ยวข้อง:

1200x360_aomyoung