เคยสงสัยกันไหมว่าเวลาฟังข่าวเศรษฐกิจหรืออ่านบทความที่เกี่ยวข้องกับการลงทุน มักจะได้ยินการอ้างอิงถึงคำว่า GDP กันเป็นประจำ วันนี้จึงสรุปมาให้เข้าใจแบบง่าย ๆ ว่า GDP คืออะไร? แล้วเกี่ยวข้องกับการลงทุนอย่างไรบ้าง?
GDP ย่อมาจากคำว่า Gross Domestic Product คือ ผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ คำนวณมาจากมูลค่าสินค้าและบริการขั้นสุดท้ายที่ผลิตในประเทศ ณ ช่วงเวลานั้น หรือพูดง่าย ๆ ว่า GDP เป็นมูลค่าเศรษฐกิจทั้งหมดที่เกิดขึ้นในประเทศ ถ้าตัวเลข GDP ของไทยสูงขึ้น ก็แปลได้ว่ามีรายได้เกิดขึ้นในประเทศไทยมากขึ้น ซึ่งอาจจะมาจากการจับจ่ายใช้สอยของคนในประเทศ มีการจ้างงานเพิ่มขึ้น ภาครัฐมีการลงทุนโครงการต่าง ๆ รวมถึงมีนักท่องเที่ยวมาใช้เงินในประเทศเรามากขึ้น เป็นต้น
สำหรับการคำนวณ GDP จะนับเฉพาะรายได้ที่เกิดขึ้นในประเทศเท่านั้น อย่างถ้าเป็น GDP ประเทศไทย ก็จะนับเฉพาะรายได้ที่เกิดขึ้นในไทย โดยไม่เกี่ยวว่ามาจากคนสัญชาติไหน แต่ถ้าเป็นคนไทยไปมีรายได้ที่ต่างประเทศ อันนี้จะไม่ถูกนับรวมใน GDP ของไทย
คราวนี้ลองมาดูกันว่าเวลาคำนวณตัวเลข GDP นั้น ประกอบไปด้วยอะไรบ้าง โดยมีสูตรจำง่าย ๆ ดังนี้
GDP = C + I + G + (X – M)
เป็นมูลค่าที่เกิดจากการจับจ่ายใช้สอยทั่วไปที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน เช่น ซื้ออาหาร, ช้อปปิ้งสินค้า, ออกไปดูหนัง, ใช้บริการที่โรงพยาบาล, จ่ายค่าน้ำ-ค่าไฟ เป็นต้น
มาจากการลงทุนต่าง ๆ ของภาคเอกชน ไม่ว่าจะเป็นการซื้อเครื่องจักร, ซื้อซอฟแวร์, ซื้อที่ดิน, ก่อสร้างอาคารสำนักงาน และโครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ เป็นต้น
เป็นค่าใช้จ่ายทั้งหมดของรัฐบาล ประกอบด้วยเงินเดือนของข้าราชการ และเงินลงทุนตามนโยบายต่าง ๆ เช่น สร้างถนน, สร้างรถไฟ หรือแม้กระทั่งการซื้ออาวุธทางทหาร
คำนวณมาจากมูลค่าการส่งออกลบด้วยมูลค่าการนำเข้า ถ้าการส่งออกมากกว่า ก็จะส่งผลดีต่อตัวเลขการเติบโตของ GDP
อย่างไรก็ตาม แม้ว่า GDP จะเป็นตัวเลขที่สะท้อนมูลค่าเศรษฐกิจทั้งหมดที่เกิดขึ้นในประเทศ แต่ก็มีบางอย่างที่ไม่ได้ถูกนับใน GDP อาทิ การซื้อสินค้ามือสอง เพราะไม่ได้เป็นการเพิ่มผลผลิตปัจจุบันและจะเป็นการนับมูลค่าซ้ำซ้อน, กลุ่มสินค้าผิดกฎหมายและสินค้าเลี่ยงภาษี รวมทั้งผลิตภัณฑ์ทางการเงินต่าง ๆ เช่น หุ้น กองทุน ตราสารหนี้ ก็จะไม่ถูกนับรวมเป็น GDP เช่นกัน
GDP บวกหรือลบ หมายความว่าอะไร?
จะเห็นว่าการที่ GDP จะบวกหรือลบได้นั้น มาจากความสัมพันธ์ของ 4 ส่วนประกอบ ได้แก่ การบริโภค การลงทุนเอกชน การใช้จ่ายของรัฐบาล และการส่งออกสุทธิ ซึ่งสะท้อนถึงภาพรวมทางเศรษฐกิจทุกส่วนในประเทศ
ดังนั้น ถ้า GDP เป็นบวก ก็แปลว่าเศรษฐกิจมีการเติบโตขึ้น เม็ดเงินหมุนเวียนในประเทศมากขึ้น คนมีกำลังจับจ่ายใช้สอย ในทางตรงกันข้ามถ้า GDP ติดลบ ก็แสดงถึงภาพรวมเศรษฐกิจที่มีถดถอยนั่นเอง
โดยเราสามารถใช้ตัวเลข GDP กำหนดกลยุทธ์การลงทุนในภาพใหญ่ได้ว่าตอนนั้นเศรษฐกิจของประเทศอยู่ในช่วงไหน? เติบโต หยุดชะงัก ชะลอตัว หรือกำลังฟื้นตัว? เพราะอย่างที่ทราบกันว่าภาวะเศรษฐกิจที่แตกต่างกัน ส่งผลต่อการเลือกลงทุนในสินทรัพย์ที่แตกต่างกัน รวมถึงโอกาสสร้างผลตอบแทนของหุ้นในแต่ละกลุ่มอุตสาหกรรมด้วย
GDP กับ SET Index มีความสัมพันธ์กันแค่ไหน?
แน่นอนว่า GDP เป็นตัวชี้วัดการเติบโตทางเศรษฐกิจ ซึ่งสำคัญต่อทิศทางการลงทุน โดยทั่วไปแล้วนักลงทุนย่อมต้องการเศรษฐกิจที่มีเสถียรภาพ สามารถเติบโตได้ในระดับที่ดีต่อเนื่อง แต่คำถามคือตัวเลข GDP ที่ประกาศออกมาในแต่ละครั้งนั้น ส่งผลต่อการเคลื่อนไหวของตลาดหุ้นไทยมากน้อยแค่ไหน
เมื่อลองเปรียบเทียบมูลค่า GDP ของประเทศไทย กับการเคลื่อนไหวของ SET Index ย้อนหลังตั้งแต่ปี 2011 จนถึงปี 2020 จะเห็นว่าความสัมพันธ์ค่อนข้างไปในทิศทางเดียวกัน “ขึ้นก็ขึ้นเหมือนกัน ลงก็ลงเหมือนกัน” โดยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา จะมีเพียงช่วงปี 2013-2015 เท่านั้นที่ความสัมพันธ์แปรผกผันกัน เนื่องจากมีปัจจัยภาพนอกมากระทบค่อนข้างมาก ทั้ง วิกฤติเศรษฐกิจในสหภาพยุโรป และเหตุการณ์ทางการเมืองภายในประเทศ
นอกจากนี้ หากศึกษาความสัมพันธ์ระหว่าง GDP กับ SET Index โดยใช้สูตรสหสัมพันธ์ (Correlation) เพื่อดูว่าตัวแปรทั้งสองมีแนวโน้มที่จะเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางเดียวกันมากน้อยแค่ไหน หาก Correlation เข้าใกล้ +1 แปลว่ามีแนวโน้มเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางเดียวกัน แต่ถ้า Correlation ใกล้เคียง -1 แปลว่ามีแนวโน้มที่จะเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางตรงข้ามกัน
สำหรับกรณีของ GDP กับ SET index เมื่อใช้สถิติในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา พบว่ามี correlation เท่ากับ 0.61 ซึ่งถือว่ามีความสัมพันธ์ไปในทิศทางเดียวกันที่ค่อนข้างสูงเลยทีเดียว
สุดท้ายนี้เมื่อนักลงทุนสามารถใช้การเติบโตของ GDP วิเคราะห์ทิศทางการลงทุนในอนาคต ก็อย่าลืมพิจารณาปัจจัยอื่น ๆ ควบคู่ไปด้วย เพื่อจะได้มุมมองการลงทุนที่ครบทุกมิติ โดยสามารถเข้าอ่านบทวิเคราะห์หุ้นรายตัวที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ รวบรวมไว้ได้ที่นี่ คลิก รวมถึงสามารถทดลองใช้เครื่องมือ SETSMART สำหรับดูข้อมูลสถิตที่สำคัญ และเป็นตัวช่วยคัดกรองหุ้นรายตัวที่น่าสนใจ คลิก