ลงทุนอะไรดี ในช่วง Stagflation

โดย ดร.อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสำนักวิจัย และที่ปรึกษาการลงทุน ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย
4 Min Read
6 พฤศจิกายน 2564
8.789k views
Inv_ลงทุนอะไรดี ในช่วง Stagflation_Thumbnail
Highlights
  • ขณะที่ตลาดกำลังกังวลว่าเศรษฐกิจโลกอาจเข้าสู่ภาวะ Stagflation ที่อัตราเงินเฟ้อเร่งตัวขึ้น ท่ามกลางเศรษฐกิจที่ชะลอตัวหรือถดถอย แต่ก็ยังมีโอกาสการลงทุนในสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนที่สามารถชนะเงินเฟ้อได้

  • กองทุนรวมหุ้นที่น่าสนใจลงทุนในภาวะ Stagflation ได้แก่ กองทุนรวมหุ้นจีน กองทุนรวมหุ้นญี่ปุ่น รวมถึงการลงทุนในสินทรัพย์ทางเลือก เช่น กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์หรือกองรีท และทองคำ เป็นต้น

ขณะนี้ ผมมองว่าอัตราเงินเฟ้อน่าจะเร่งขึ้นชั่วคราวตามอุปสงค์น้ำมันที่ร้อนแรงในฝั่งสหรัฐฯ และประเทศพัฒนาแล้ว ขณะที่อุปทานหรือการเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันยังตามไม่ทัน แต่หลังจากกลุ่มโอเปกเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันอีกสี่แสนบาร์เรลต่อวัน เราน่าจะเห็นราคาน้ำมันย่อลงในช่วงไตรมาสแรกของปี 2565 และเชื่อว่าปัญหาเงินเฟ้อเป็นเพียงปัญหาระยะสั้น แต่ก็มีความเป็นไปได้ที่อัตราเงินเฟ้อจะไม่ลดลง ซึ่งไม่เพียงแต่ราคาน้ำมันที่สูงขึ้นเท่านั้นที่เป็นสาเหตุเงินเฟ้อ ต้นทุนทางการเงินของภาคธุรกิจก็สูงขึ้นจากอัตราดอกเบี้ยที่ขยับขึ้น ราคาวัตถุดิบพุ่งขึ้นจากปัญหาห่วงโซ่อุปทานชะงักงัน และค่าเงินที่อ่อนค่าทำให้ราคาสินค้านำเข้าเพิ่มสูงขึ้น หรือปัจจัยอื่นๆ ล้วนมีผลทำให้ราคาสินค้าขยับขึ้นได้เร็ว

Inv_ลงทุนอะไรดี ในช่วง Stagflation_01

หากอัตราเงินเฟ้อพุ่งสูงขึ้น ท่ามกลางเศรษฐกิจที่ชะลอตัวและอ่อนแอลง หรือเรียกว่าภาวะ Stagflation นักลงทุนยังสามารถหาโอกาสการลงทุนในสินทรัพย์ที่ได้รับผลตอบแทนชนะภาวะเงินเฟ้อ หรือในกลุ่มประเทศที่เศรษฐกิจไม่ได้รับผลกระทบรุนแรงจากอัตราเงินเฟ้อได้ จากการศึกษาแบบจำลอง Oxford Economics Model ประเทศในเอเชียและประเทศสำคัญ ๆ เปรียบเทียบกรณีฐานหรือในภาวะที่เงินเฟ้อเร่งตัวชั่วคราว คาดว่าภายในไตรมาสแรกของปี 2565 ราคาน้ำมันจะย่อลงและปัญหาอุปทานชะงักงันอื่น ๆ จะคลี่คลาย ส่วนกรณีเงินเฟ้อที่พุ่งแรงลากยาว และปัญหาเงินเฟ้อที่มีมากกว่าปัญหาจากราคาน้ำมัน จะกระทบกำลังซื้อของประชาชนและภาคการผลิตของแต่ละประเทศอีกด้วย โดยในภาวะ Stagflation เช่นนี้ ได้จัดอันดับกองทุนรวมหุ้นในประเทศที่น่าสนใจดังนี้

 

อันดับกองทุนรวมหุ้นที่น่าสนใจลงทุนในภาวะ Stagflation

อันดับที่ 1: กองจีน

ในด้านเศรษฐกิจมหภาค การลงทุนในเศรษฐกิจจีนน่าสนใจที่สุด หากเงินเฟ้อโลกพุ่งแรง แม้เศรษฐกิจจีนจะชะลอตัวกว่าที่คาดไว้ก่อนหน้า ตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว และจากราคาน้ำมันและต้นทุนภาคการผลิตที่สูงขึ้น แต่อัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นของจีนจากกรณีฐานจะไม่มากนัก และธนาคารกลางของจีนไม่น่าจะจำเป็นต้องรีบขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายหรือใช้มาตรการทางการเงินที่ตึงตัวมากขึ้นเพื่อสกัดเงินเฟ้อ โดยภาพรวมแล้วเศรษฐกิจจีนน่าจะมีเสถียรภาพมากที่สุดในกลุ่มนี้ โดยเฉพาะภาคการเงินการธนาคาร การค้าปลีก และด้านไอทีหรือการพัฒนาด้านนวัตกรรมของจีน ในส่วนภาคอสังหาริมทรัพย์ของจีนนั้น แม้ปัญหาด้านฟองสบู่ยังคงเป็นปัจจัยเสี่ยงของเศรษฐกิจจีน แต่ราคาบ้านในเมืองใหญ่ยังเติบโตได้ตามประชากรในเขตเมืองที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ยังมีความต้องการอสังหาริมทรัพย์เพื่ออยู่อาศัย หรือ Real Demand ส่วนปัญหาด้านพลังงานที่ขาดแคลนและต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นเป็นปัญหามาจากถ่านหินมากกว่าน้ำมัน ซึ่งจีนน่าจะหาทางออกในการเร่งการใช้พลังงานจากแหล่งอื่น หรือนำเข้าถ่านหินเพิ่มขึ้นได้ แต่ก็มีผลกระทบต่อภาคการผลิตและทำให้เศรษฐกิจจีนอาจชะลอลงได้ในปี 2565

 

อันดับที่ 2: กองญี่ปุ่น

อัตราเงินเฟ้อของญี่ปุ่นน่าจะเพิ่มขึ้นจากกรณีฐานน้อยที่สุดในกลุ่ม นั่นเป็นเพราะว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นมีปัจจัยเชิงโครงสร้างที่ทำให้เงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำหรือติดลบเล็กน้อยมาอย่างยาวนาน เช่น สังคมสูงอายุ คนระมัดระวังการใช้จ่าย ด้านธนาคารกลางญี่ปุ่นจึงไม่น่าจะต้องออกมาตรการที่เข้มงวดมากขึ้นเพื่อสกัดเงินเฟ้อที่เร่งขึ้น แต่เศรษฐกิจญี่ปุ่นกลับมีโอกาสชะลอกว่าในภาวะปกติ เนื่องจากภาคการส่งออกมีแนวโน้มชะลอตัวตามเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า และปัญหาภาคการผลิตที่ชะงักงันตามราคาต้นทุนชิ้นส่วนและวัตถุดิบสำคัญที่เพิ่มสูงขึ้นจะกระทบภาคการผลิตเพื่อส่งออกของญี่ปุ่น อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจญี่ปุ่นยังน่าสนใจลงทุน จากกำลังซื้อภายในประเทศที่ไม่ได้อ่อนแอลงมากนัก ขณะที่เงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำก็ไม่ได้กระทบกำลังซื้อของคนในประเทศ และมีความเป็นไปได้ที่รัฐบาลญี่ปุ่นจะอัดฉีดมาตรการทางการคลังเพื่อพยุงเศรษฐกิจ กองทุนหุ้นญี่ปุ่นขนาดเล็กที่มีรายได้จากกำลังซื้อในประเทศน่าจะเติบโตดีกว่าหุ้นขนาดใหญ่ที่ได้อานิสงส์จากการส่งออก แต่กลุ่มส่งออกก็ไม่น่าจะได้รับผลกระทบรุนแรงมากนักจากค่าเงินที่อ่อนค่าและจากความสามารถในการผลักภาระต้นทุนที่สูงขึ้นให้ผู้นำเข้าในประเทศคู่ค้าได้

 

อันดับที่ 3: กองเวียดนาม

เศรษฐกิจเวียดนามไม่น่าจะได้รับผลกระทบแรงจากปัญหาเงินเฟ้อ ขณะที่อัตราเงินเฟ้อไม่น่าจะเร่งขึ้นมากจากกรณีฐาน และธนาคารกลางของเวียดนามไม่น่าจะต้องรีบปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายหรือมีการดูดซับสภาพคล่องเพื่อชะลอเศรษฐกิจมากนัก การเติบโตทางเศรษฐกิจของเวียดนามในปี 2565 ยังคงโดดเด่น จากการส่งออกที่เป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจ แม้อาจชะลอตัวจากกรณีฐานตามความอ่อนแอลงของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า และจากต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น แต่เวียดนามยังมีปัจจัยเด่นด้านการเป็นฐานการผลิต กลุ่มนิคมอุตสาหกรรม พลังงาน และการกระจายสินค้ายังสามารถเติบโตได้ ส่วนการเติบโตของแรงงานและชนชั้นกลางจะยังเป็นส่วนสำคัญที่สนับสนุนการบริโภค และธุรกิจค้าปลีกในเขตเมืองใหญ่ของเวียดนาม

 

อันดับที่ 4: กองยุโรป

ประเทศในกลุ่มยุโรป ทั้งอังกฤษและยูโรโซน แม้จะเผชิญปัญหาเงินเฟ้อที่ขยับสูงขึ้นไม่มากเท่ากับตลาดเกิดใหม่ แต่น่าจะได้รับผลกระทบทำให้เศรษฐกิจชะลอตัว โดยอัตราเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้นกระทบกำลังซื้อภายในประเทศ ราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงกระทบภาคการผลิต การขนส่ง และเป็นต้นทุนของภาคบริการ ขณะที่ปัญหาอุปทานชะงักงัน เช่น การขาดแคลนวัตถุดิบและชิ้นส่วนสำคัญในภาคการผลิตก็อาจกระทบภาคการลงทุนของเอกชน การบริโภค และการส่งออกได้ อย่างไรก็ตาม ธนาคารกลางอังกฤษและธนาคารกลางยุโรป (ECB) ยังไม่น่าจะรีบขึ้นอัตราดอกเบี้ยมากกว่าที่คาดไว้ในกรณีฐาน ประกอบกับการลงทุนด้านเวชภัณฑ์ หรือกลุ่ม Healthcare กลุ่มพลังงานทดแทน และกลุ่มเทคโนโลยียังน่าสนใจ สำหรับการลงทุนในช่วงเงินเฟ้อที่เร่งขึ้น กลุ่มสินค้าฟุ่มเฟือย เช่น สินค้าแบรนด์เนมอาจได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจที่ชะลอตัวได้

 

อันดับที่ 5: กองสหรัฐฯ

เศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกามีความเสี่ยงเติบโตช้าลงกว่าในกรณีฐานมาก แม้อัตราเงินเฟ้อไม่น่าที่จะเร่งขึ้นจากกรณีฐานมากนัก แต่ผู้บริโภคสหรัฐฯ จะเผชิญปัญหาขาดแคลนสินค้า ทั้งจากการชะลอตัวของการผลิตภายในประเทศและจากการนำเข้าที่ลดลงตามการผลิตสินค้าที่ลดลงในประเทศต้นทาง ขณะที่ราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้นจะเป็นต้นทุนการบริโภค การก่อสร้าง และการผลิตสินค้าแทบทุกหมวดหมู่ อย่างไรก็ตาม สินค้ากลุ่มบริโภคและสินค้าจำเป็นไม่น่าลดลงมากนัก และเชื่อว่าสหรัฐฯ น่าจะอาศัยมาตรการทางการคลังมาดูแลผู้ได้รับปัญหาการว่างงาน อีกทั้งยังไม่มีการรีบปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยมากกว่าที่คาดไว้ในกรณีฐาน ขณะที่กลุ่มสินค้าเทคโนโลยีน่าจะเติบโตได้ดี โดยเฉพาะเมื่อไม่มีการเร่งการปรับขึ้นดอกเบี้ยที่เป็นต้นทุนทางการเงินของธุรกิจ อีกทั้งธุรกิจด้านสุขภาพ หรือกลุ่ม Healthcare ก็ยังเป็นที่น่าสนใจของนักลงทุนในปี 2565

 

อันดับที่ 6: กองไทย

เศรษฐกิจไทยมีความเสี่ยงเติบโตช้าลงกว่ากรณีฐานและเงินเฟ้อพุ่งแรง แต่ก็มีบริษัทที่ได้ประโยชน์จากเงินเฟ้อ เช่น บริษัทในกลุ่มที่ราคาเคลื่อนไหวตามราคาพลังงาน ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มพลังงานทางเลือก กลุ่มสำรวจและขุดเจาะน้ำมัน กลุ่มยางพารา ปาล์ม และสินค้าเกษตรอื่น ๆ และกลุ่มถ่านหิน หรือกลุ่มที่รายได้เพิ่มขึ้นตามภาวะดอกเบี้ยขาขึ้น เช่น กลุ่มธนาคาร ธุรกิจการเงิน และประกันภัย หรือกลุ่มส่งออกที่ได้ประโยชน์จากเงินบาทที่อ่อนค่า เช่น กลุ่มผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ เกษตรแปรรูป และชิ้นส่วนยานยนต์ ซึ่งโดยมากเป็นบริษัทขนาดใหญ่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่นักลงทุนสามารถเข้าลงทุนกองทุนหุ้นไทยได้ ขณะที่สินค้าจำเป็นเพื่อการบริโภคในประเทศก็ยังขยายตัวได้แม้กำลังซื้อในประเทศจะชะลอตัวลง อย่างไรก็ตาม ความน่าสนใจในกองทุนหุ้นไทยอาจไม่มากเท่ากับประเทศอื่นที่มีสภาพคล่องมาก และผลกระทบต่อเศรษฐกิจมีน้อยกว่า และต้องระวังหากธนาคารแห่งประเทศไทยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อสกัดเงินเฟ้อ ซึ่งจะยิ่งดูดซับสภาพคล่องไปจากตลาดทุนไทย

 

นอกจากกองทุนหุ้นไทยและหุ้นต่างประเทศ นักลงทุนอาจแบ่งสัดส่วนการลงทุนในสินทรัพย์ทางเลือก เช่น กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์หรือกองรีท และทองคำ รวมทั้งเก็บเป็นเงินสดเพื่อฝากธนาคารหรือลงทุนในตราสารหนี้บ้าง

 

คำแนะนำการลงทุนในช่วงเงินเฟ้อพุ่งแรง ดังนี้ 

กองรีท (REIT) – ธุรกิจภาคเอกชนมีความจำเป็นในการใช้พื้นที่เชิงพาณิชย์ เช่น การเช่าพื้นที่ขายสินค้าหรือเป็นโกดังเก็บของเพื่อรอการกระจายสินค้าไปยังผู้บริโภค การเข้าถือกองทุนรวมประเภทอสังหาริมทรัพย์ เช่น กองรีทหรือกองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ ก็เป็นทางเลือกที่ใช้ป้องกันความเสี่ยงของเงินเฟ้อได้ เมื่ออัตราค่าเช่าเคลื่อนไหวไปในทิศทางเดียวกับอัตราเงินเฟ้อ

 

ทองคำ – การเข้าถือกองทุนรวมทองคำก็ยังน่าสนใจ เนื่องจากราคาทองคำเคลื่อนไหวไปในทิศทางเดียวกับเงินเฟ้อและสามารถทำให้นักลงทุนได้รับผลตอบแทนเหนืออัตราเงินเฟ้อในอดีต  

 

ตราสารหนี้ – กองทุนรวมตราสารหนี้อาจเลือกเป็นตราสารหนี้ระยะสั้นมากกว่าตราสารหนี้ระยะยาว หรือ Short-Term Fixed-Income Fund ที่มีอายุเฉลี่ยตราสารหนี้ในพอร์ตไม่เกิน 1 ปี เพื่อลดความเสี่ยงที่ธนาคารกลางจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยและจะมีผลให้บอนด์ยีลด์ปรับเพิ่มขึ้นจนทำให้ราคาพันธบัตรลดลงได้ และในภาวะที่ตลาดทุนมีความผันผวน การถือสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำ มีสภาพคล่องสูง ไม่ว่าจะเป็นตลาดตราสารหนี้ กองทุนรวมตลาดเงิน หรือในรูปเงินสดฝากธนาคารก็น่าจะทำให้นักลงทุนคลายความกังวล และหาจังหวะที่ราคาสินทรัพย์เสี่ยงย่อตัวลงก่อนเข้าไปลงทุน เพียงแต่ให้ประเมินว่า ผลตอบแทนจากการถือสินทรัพย์ในกลุ่มตราสารหนี้ไม่สามารถเอาชนะเงินเฟ้อได้

 

โดยสรุป แม้วันนี้เศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลกยังห่างไกลจากภาวะ Stagflation เป็นเพียงภาวะเงินเฟ้อสูงชั่วคราว และยังไม่มีความจำเป็นต้องเร่งขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายมากกว่าที่ควรจะเป็นตามภาวะเศรษฐกิจในแต่ละประเทศ แต่ความไม่แน่นอนในเศรษฐกิจโลกก็เป็นเรื่องธรรมดาที่ต้องเผื่อใจและต้องวางแผนรับมือไว้ หากนักลงทุนท่านใดสนใจที่จะลงทุนในกองทุนของประเทศดังกล่าว สามารถสอบถามข้อมูลเบื้องต้นได้ที่ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย ทุกสาขาทั่วประเทศ

หมายเหตุ : บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และมิได้มีเจตนาในการชี้นำการลงทุนแต่อย่างใด นักลงทุนควรศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนตัดสินใจลงทุน


สำหรับนักลงทุนและผู้ที่สนใจ เรียนรู้แนวทางการวิเคราะห์เศรษฐกิจมหภาคที่มีผลต่อการลงทุนรายกลุ่มอุตสาหกรรม ตลอดจนเทคนิคในการปรับกลยุทธ์เปลี่ยนกลุ่มลงทุน ไม่ว่าจะเป็นการปรับเปลี่ยนตามวงจรเศรษฐกิจ การเติบโตของกลุ่มธุรกิจ หรือความสามารถในการทำกำไรของบริษัทนั้น ๆ เพื่อให้ได้ผลตอบแทนตามที่ต้องการและสามารถเอาชนะตลาดได้ในระยะยาว สามารถเรียนรู้เพิ่มเติม ผ่าน e-Learning หลักสูตร Sector Rotation” ได้ฟรี!!! >> คลิกที่นี่

แท็กที่เกี่ยวข้อง: