ธุรกิจในต่างประเทศมักจะเติบโตด้านการส่งออกในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีเป็นส่วนใหญ่ แต่ในประเทศไทยมีหนึ่งอุตสาหกรรมที่เติบโตด้วยการส่งออกไปยังระดับโลกเป็นจำนวนมาก นั่นคือ “อุตสาหกรรมอาหาร” ซึ่งเป็น 1 ในปัจจัย 4 ที่เป็นสินค้าจำเป็น (Necessity Goods) สำหรับการดำรงชีวิต ไม่ว่าสภาพเศรษฐกิจจะเป็นอย่างไร อาหารก็ยังมีความต้องการที่สูงอยู่ดี และในช่วงที่กำลังซื้อทั่วโลกเริ่มฟื้นตัวจากหลาย ๆ ปัจจัย ธุรกิจอาหารไทยก็มีแนวโน้มขยายตัวและเติบโตได้เป็นอย่างดี
หุ้นกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารไทย ที่เติบโตไกลระดับโลก
ในปี 2564 การส่งออกสินค้าอาหารของไทยมีมูลค่าประมาณ 1.1 ล้านล้านบาท ขยายตัว 11.8% เป็นประเทศผู้ส่งออกอาหารอันดับที่ 13 ของโลก โดยปัจจุบันประเทศจีนเป็นตลาดส่งออกอาหารอันดับ 1 ของไทย มีสัดส่วนส่งออก 24.5% มูลค่าการส่งออก 271,674 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้น 50% จากปีก่อน โดยเพิ่มขึ้นจากการส่งออกผลไม้สดและแป้งมันสำปะหลังเป็นหลัก รองลงมาได้แก่ CLMV และญี่ปุ่น เป็นตลาดส่งออกอันดับที่ 2 และ 3 มีสัดส่วนส่งออก 12.4% และ 11.5% ตามลำดับ และการส่งออกอาหารไปประเทศอินเดียที่ขยายตัวสูงถึง 219.7% จากการส่งออกน้ำมันปาล์มเป็นหลัก
ปัจจัยที่ส่งผลทำให้การส่งออกอาหารในภาพรวมขยายตัวดี คือราคาสินค้าเกษตรวัตถุดิบอาหารที่ปรับตัวสูงขึ้น เงินบาทอ่อนค่าลง ความต้องการสินค้าในตลาดโลกมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจที่ค่อย ๆ ฟื้นตัว รวมถึงธุรกิจท่องเที่ยวทั้งร้านอาหารและโรงแรมด้วย นอกจากนี้ประเทศต่าง ๆ ยังมีมาตรการผ่อนคลายมากขึ้น
ตัวอย่างหุ้นกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารในตลาดหุ้นไทย ที่มีรายได้รวมเกินครึ่งมากกว่า 50% มาจากการส่งออก และขายในต่างประเทศ (กลุ่มอาหาร รวมอาหาร เนื้อสัตว์ ขนม ซอสปรุงรส plant-based และรายได้จากต่างประเทศ รวมทั้งส่งออก สาขา หรือ operation ในตปท.) ได้แก่
1.CPF : บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน)
ดําเนินธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมและอาหารแบบครบวงจร ครอบคลุมประเภทสัตว์หลักได้แก่ สุกร ไก่เนื้อ ไก่ไข่ เป็ด กุ้ง และปลา ซึ่งสามารถจําแนกประเภทธุรกิจได้เป็น 3 ประเภทคือ ธุรกิจอาหารสัตว์ ธุรกิจเลี้ยงสัตว์และแปรรูป และธุรกิจอาหาร ดำเนินธุรกิจครอบคลุม 17 ประเทศ และส่งออกสินค้าไปมากกว่า 40 ประเทศทั่วโลก
2.TU : บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)
หนึ่งในบริษัทอาหารทะเลที่ใหญ่ที่สุดในโลก ผลิตและส่งออกอาหารสำเร็จรูปแช่แข็งและบรรจุกระป๋อง และขยายธุรกิจให้ครบวงจรด้วยธุรกิจอาหารสำเร็จรูปและอาหารว่าง โดยเน้นอาหารทะเล ธุรกิจบรรจุภัณฑ์และสิ่งพิมพ์ ธุรกิจการตลาดภายในประเทศ ธุรกิจอาหารสัตว์ และธุรกิจพัฒนาสายพันธุ์กุ้งเพื่อจำหน่าย
3.ITC : บริษัท ไอ-เทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)
บริษัทในกลุ่มหุ้น TU ดำเนินธุรกิจรับจ้างผลิตและจำหน่ายอาหารสัตว์เลี้ยง เน้นรับจ้างผลิตสินค้า (OEM) เกี่ยวกับอาหารสัตว์เลี้ยง 99% และมีการส่งออกถึง 99% ในตลาดสหรัฐ 45% ยุโรป19% ญี่ปุ่น 15% และประเทศอื่น ๆ
4.ASIAN : บริษัท เอเชี่ยนซี คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)
เป็นผู้นำด้านการส่งออกอาหารสัตว์เลี้ยง ประกอบธุรกิจอาหารแช่เยือกแข็ง อาหารสัตว์น้ำ อาหารสัตว์เลี้ยง และทูน่า จำหน่ายและส่งออก ทั้งที่เป็นผลิตภัณฑ์ภายใต้เครื่องหมายการค้าของบริษัท และผลิตภัณฑ์ภายใต้เครื่องหมายการค้า
5.SUN : บริษัท ซันสวีท จำกัด (มหาชน)
ผู้ผลิต จัดจำหน่าย และส่งออกข้าวโพดหวานแปรรูปอันดับ 1 ของประเทศ มีสัดส่วนรายได้ในประเทศ อยู่ที่ 13% ขณะที่รายได้จากการส่งออกอยู่ที่ 86% เติบโตขึ้นจากเทรนด์การรักสุขภาพ และคนเน้นบริโภคสินค้าที่สามารถเก็บไว้ในบ้านได้
5 เคล็ดลับวิเคราะห์หุ้นอาหาร
สิ่งที่นักลงทุนต้องให้ความสำคัญคือ หุ้นสินค้าโภคภัณฑ์นั้น โดยธรรมชาติมักจะเป็นหุ้นแนว “วัฎจักร” ที่ผลประกอบการมักจะขึ้นลงตามราคาขายของสินค้าในท้องตลาด และราคาผลผลิตจะแปรผันไปตามราคาตลาดโลก ซึ่งความผันผวนตรงนี้ส่งผลต่อความสามารถในการทำกำไรของธุรกิจ หากจะลงทุนต้องเข้าใจในภาพรวม และวัฎจักรของธุรกิจให้ดีเสียก่อน เพื่อที่จะคาดการณ์ความสามารถในการทำกำไร และนำมาประเมินมูลค่าหุ้นต่อได้
2. อัตราแลกเปลี่ยน
สำหรับหุ้นที่มีการส่งออกอาหารไปในประเทศต่าง ๆ นอกจากที่เราจะดูปริมาณการส่งออกและประเทศที่ส่งออกแล้ว แน่นอนว่าเราควรดูทิศทางของอัตราแลกเปลี่ยน เพราะมีความสัมพันธ์กับรายได้ อย่างเช่น ถ้าเงินบาทอ่อนค่าลง จาก 30 บาท เป็น 35 บาทก็จะทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้น 5 บาทจากอัตราแลกเปลี่ยน เป็นต้น
3. Business Model
แม้ว่าหุ้นกลุ่มนี้จะเป็นกลุ่มอาหารเหมือนกัน แต่รูปแบบของการทำธุรกิจอาจแตกต่างกันไป ซึ่งเราสามารถดูได้จากแหล่งที่มาของรายได้ และรูปแบบของธุรกิจ โดยสามารถแบ่งประเภทธุรกิจออกได้ ดังนี้
- ผู้ผลิต ทั้งอาหารสัตว์ และเพาะพันธุ์สัตว์
- ผู้ผลิตและแปรรูปเนื้อสัตว์
- ผู้จัดจำหน่าย
ซึ่งหลายบริษัททำเพียงอย่างเดียว เช่น เป็นเพียงผู้ผลิตอาหารสัตว์ และเพาะพันธุ์สัตว์ หรือเป็นเพียงผู้ผลิตและแปรรูปเนื้อสัตว์ พร้อมจัดจำหน่าย แต่บางบริษัททำธุรกิจแบบครบวงจร
4. ปัจจัยภายนอก
นอกจากปัจจัยภายในของตัวโมเดลธุรกิจแล้ว ยังมีปัจจัยภายนอกที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็นโรคระบาด การเกิดสงคราม สภาพอากาศ หรือราคาวัตถุดิบ ที่อาจส่งผลกระทบหรือส่งผลดีต่อทิศทางต้นทุนการผลิตและขนส่งของภาคอุตสาหกรรมอาหาร
5. เทรนด์ใหม่ของอาหารและการพัฒนานวัตกรรม
อีกปัจจัยสำคัญที่ควรนำมาวิเคราะห์หุ้นกลุ่มนี้คือ เราต้องคอยติดตามว่า มีนวัตกรรมหรือเทรนด์อะไรที่ธุรกิจนั้นกำลังให้ความสนใจอยู่บ้างหรือไม่ เพราะนั่นอาจเป็นจุดเปลี่ยนให้ธุรกิจสามารถลดต้นทุน หรือเป็นรายได้ทางใหม่ได้
ทั้งหมดนี้เป็นการสรุปแนวทางวิเคราะห์หุ้นอาหารส่งออกในเบื้องต้นเท่านั้น นักลงทุนจำเป็นต้องศึกษารายละเอียดเชิงลึกของหุ้นแต่ละตัว และดูอัตราส่วนทางการเงินอื่น ๆ ประกอบการตัดสินใจด้วย เพื่อให้การลงทุนประสบความสำเร็จตามเป้าหมายที่คาดหวังไว้
สุดท้ายนี้หากนักลงทุนสนใจเริ่มต้นลงทุนในหุ้นกลุ่มต่าง ๆ และต้องการข้อมูลเพื่อนำไปวิเคราะห์เชิงลึก ตลาดหลักทรัพย์ฯ นักลงทุนสามารถสมัครใช้บริการ SETSMART ได้เพียงในราคา 250 บาทต่อเดือน คลิกที่นี่
นอกจากนี้ นักลงทุนยังสามารถค้นหาข้อมูลหุ้นที่น่าสนใจแบบครบทุกมิติจากบทวิเคราะห์หลักทรัพย์ คลิกที่นี่
Disclaimer 1 : ข้อมูลบริษัทจดทะเบียนที่ปรากฏนี้เป็นเพียงการนำเสนอข้อมูลในอีกรูปแบบหนึ่งเพื่อให้ผู้ลงทุนสามารถเข้าใจได้ง่ายขึ้นโดยการอิงกับไลฟ์สไตล์ (Lifestyle Based) หรือกระแส (Trend) ซึ่งรวบรวมมาจากข้อมูลที่เผยแพร่ผ่านช่องทางของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (“ตลาดหลักทรัพย์ฯ”) อย่างไรก็ตาม ตลาดหลักทรัพย์ฯ ไม่รับรองความถูกต้องครบถ้วน หรือความเป็นปัจจุบันของข้อมูลดังกล่าวรวมทั้งไม่ได้ให้คำแนะนำเกี่ยวกับการลงทุนใด ๆ ในหลักทรัพย์ของบริษัทจดทะเบียน และตลาดหลักทรัพย์ฯ ไม่ต้องรับผิดชอบในความเสียหายหรือสูญหายจากการนำข้อมูลที่ปรากฏนี้ไปใช้ในทุกกรณี
Disclaimer 2 : หุ้นที่อยู่ในกลุ่มอาหารที่มีสัดส่วนรายได้จากตปท. มากกว่า 50 %
(กลุ่มอาหาร รวมอาหาร เนื้อสัตว์ ขนม ซอสปรุงรส plant-based และรายได้จากต่างประเทศ รวมทั้งส่งออก สาขา หรือ operation ในตปท.)