หากเอ่ยถึงสินทรัพย์ลงทุนประเภทไหนที่ผู้เชี่ยวชาญแนะนำลงทุน พบว่า “ตราสารหนี้” เป็นสินทรัพย์ลงทุนประเภทหนึ่งที่ควรมีติดไว้ในพอร์ตลงทุน เนื่องจากสามารถรับมือกับภาวะเศรษฐกิจที่มีโอกาสชะลอตัวหรือสถานการณ์ที่มีความเป็นไปได้สูงที่จะเกิดเศรษฐกิจถดถอย โดยตราสารหนี้ระดับลงทุนได้ (Investment Grade) รวมถึงพันธบัตรรัฐบาล จะสร้างผลตอบแทนคาดหวังในระดับที่ดีเมื่อเทียบกับความเสี่ยง
นอกจากนักลงทุนจะมองหาตราสารหนี้ในประเทศไทยแล้ว ทุกวันนี้ก็นิยมออกไปลงทุนตราสารหนี้ต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะลงทุนผ่านกองทุนรวมที่ลงทุนตราสารหนี้ต่างประเทศ เพื่อกระจายความเสี่ยงของพอร์ตลงทุน อย่างไรก็ตาม แม้ว่ากองทุนรวมจะมีผู้จัดการกองทุนคอยดูแลเงินลงทุนให้อยู่แล้ว แต่หากนักลงทุนรู้และเข้าใจข้อมูลเบื้องต้นในกองทุนรวมตราสารหนี้ต่างประเทศที่ต้องการลงทุน ก็จะช่วยลดความเสี่ยงได้
เมื่อออกไปลงทุนตราสารหนี้ในตลาดต่างประเทศ ควรศึกษาข้อมูลเบื้องต้นให้ละเอียด เช่น กำลังไปลงทุนที่ไหน ซึ่งมีทั้งลงทุนตราสารหนี้เฉพาะภูมิภาค เช่น ตราสารหนี้ตลาดเกิดใหม่ (Emerging Market Bond) หรือลงทุนตราสารหนี้ทั่วโลก (Global Bond) หรือไปลงทุนในตราสารหนี้ประเภท High Yield Bond พูดง่าย ๆ คือต้องเข้าใจก่อนว่ากำลังไปลงทุนตราสารหนี้ประเทศไหน และประเภทใด
ถัดจากนั้นควรทำความเข้าใจเรื่องค่าเงิน เพราะกองทุนรวมตราสารหนี้แต่ละกองจะมีนโยบายลงทุนด้วยค่าเงินที่ไม่เหมือนกัน เช่น บางกองทุนใช้สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ (USD Currency) บางกองทุนใช้สกุลเงินท้องถิ่น (Local Currency) ในการบริหารกองทุน
โดยตราสารหนี้ที่ออกเป็นสกุลเงินต่างกันก็จะมีความผันผวนที่แตกต่างกันด้วย เช่น พันธบัตรรัฐบาลอินเดียที่ออกเป็นสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ ความผันผวนจะผูกติดอยู่กับ US Treasury Curve แต่ถ้าออกเป็นสกุลเงินท้องถิ่น (รูปี) ความผันผวนจะผูกติดกับเส้น Yield Curve ในประเทศ (Yield Curve คือเส้นแสดงอัตราผลตอบแทนของตราสารหนี้ในแต่ละช่วงอายุ) ดังนั้น ถ้าผลตอบแทน US Treasury Curve ปรับขึ้น พันธบัตรที่ออกเป็นสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐจะต้องปรับขึ้นตามไปด้วย ทั้ง ๆ ที่เส้นผลตอบแทนพันธบัตรในประเทศไม่ขยับเลย จึงควรพิจารณาว่ากองทุนรวมตราสารหนี้ที่จะไปลงทุนมีการบริหารการลงทุนด้วยสกุลเงินอะไร
สำหรับกองทุนรวมตราสารหนี้ในประเทศไทยที่ไปลงทุนตราสารหนี้ทั่วโลก (Global Bond Fund) นักลงทุนควรพิจารณาว่ากองทุนนั้นไปลงทุนที่ไหน แต่ตลาดหลัก ๆ จะอยู่ที่สหรัฐอเมริกา ยุโรป ญี่ปุ่น ประเทศที่พัฒนาแล้ว และประเทศเกิดใหม่
จากนั้น ให้พิจารณาว่ากองทุนนั้นไปลงทุนในตราสารหนี้ประเภทไหน (Sector Allocation) เช่น ลงทุนในสหรัฐอเมริกา อาจจะไปลงทุนในพันธบัตรรัฐบาล หุ้นกู้ภาคเอกชน หรือลงทุนในตราสารหนี้ประเภท High Yield และลงทุนด้วยสัดส่วนเท่าไหร่ หรือถือเงินสดมากน้อยแค่ไหน เป็นต้น รวมถึงควรรู้ว่ากองทุนมีการกระจายการลงทุนไปในประเทศใดบ้าง (Country Allocation) เช่น ไปลงทุนตราสารหนี้ในสหรัฐอเมริกา 50% ที่เหลือไปลงทุนตราสารหนี้ประเทศอื่น ๆ เช่น เยอรมัน จีน อินโดนีเซีย อินเดีย เม็กซิโก บราซิล เป็นต้น หมายความว่าต้องรู้ว่ากองทุนที่สนใจลงทุน กระจายเงินลงทุนไปลงทุนตราสารหนี้ประเทศใดบ้าง ที่สำคัญให้พิจารณาเรื่องอันดับความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้ (Credit Rating) ที่กองทุนไปลงทุน โดยดูว่าทรัพย์สินของกองทุนหลักในตราสารหนี้ ได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถืออยู่ในอันดับใด เช่น ตราสารหนี้ระดับลงทุนได้ หรือที่เป็นพันธบัตรที่ออกหรือค้ำประกันโดยรัฐบาลหรือหน่วยงานภาครัฐของประเทศนั้น ๆ
ถึงแม้ว่ากองทุนรวมตราสารหนี้ต่างประเทศจะมีตัวเลือกในการลงทุนที่หลากหลาย ทำให้มีความยืดหยุ่นในการบริหารพอร์ตลงทุน แต่ราคาตราสารหนี้จะมีความผันผวนขึ้นลงตามสภาวะตลาด ดังนั้น ก่อนตัดสินใจลงทุนจึงต้องศึกษา ติดตามข้อมูลข่าวสารอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะในช่วงที่ตลาดผันผวนและนโยบายการเงินของธนาคารกลางของประเทศสำคัญ ๆ อย่างธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา (เฟด) เพราะการเปลี่ยนแปลงนโยบายจะมีผลต่อตราสารหนี้ เช่น ตัวแปรสำคัญที่มีผลต่อผลการดำเนินงานของกองทุนรวมตราสารหนี้ในปัจจุบัน คือ ทิศทางอัตราเงินเฟ้อ หากอัตราเงินเฟ้อส่งสัญญาณชะลอลงจะทำให้นักลงทุนผ่อนคลายความกังวลว่าธนาคารกลางจะต้องเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย
ตรงกันข้ามหากอัตราเงินเฟ้อยังคงยืนอยู่ในระดับสูงหรือปรับเพิ่มขึ้นก็จะเป็นปัจจัยเชิงลบต่อกองทุนรวมตราสารหนี้ เนื่องจากพันธบัตรรัฐบาลหรือตราสารหนี้เป็นสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนเป็นดอกเบี้ยคงที่หรือส่วนลดตราสารแก่นักลงทุนที่ถือครองตราสารจนครบกำหนด ดังนั้น เมื่ออัตราเงินเฟ้อเริ่มปรับขึ้นและส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยมีทิศทางที่จะปรับตัวสูงขึ้น ราคาของพันธบัตรรัฐบาลหรือตราสารหนี้ก็จะปรับตัวลดลง เป็นต้น
หมายเหตุ : บทความนี้เพื่อใช้สำหรับศึกษาเบื้องต้นเท่านั้น มิได้มีเจตนาในการชี้นำการลงทุนแต่อย่างใด นักลงทุนควรศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนตัดสินใจลงทุน
สำหรับนักลงทุนมือใหม่และผู้ที่สนใจ เรียนรู้พื้นฐานการลงทุนในตราสารหนี้ ผลตอบแทน ความเสี่ยง และภาษีจากการลงทุน ตลอดจนขั้นตอนการซื้อขายตราสารหนี้ เพื่อเตรียมพร้อมก่อนตัดสินใจลงทุน สามารถเรียนรู้เพิ่มเติมผ่าน e-Learning หลักสูตร “ลงทุนตราสารหนี้ฉบับมือใหม่” ได้ฟรี!!! >> คลิกที่นี่