จับชีพจรเศรษฐกิจโลก ส่องเศรษฐกิจไทย ปี 2566

โดย นารินทิพย์ ท่องสายชล ฝ่ายพัฒนาความรู้ผู้ลงทุน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
5 Min Read
20 กุมภาพันธ์ 2566
23.737k views
Inv_จับชีพจรเศรษฐกิจโลก ส่องเศรษฐกิจไทย ปี 2566_Thumbnail
Highlights
  • เศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว ราคาสินค้าที่ยังอยู่ในระดับสูง ดอกเบี้ยที่ยังเป็นทิศทางขาขึ้น และค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มแข็งค่า ล้วนเป็นความเสี่ยงของทั้งเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยในปี 2566 ขณะที่โอกาสของเศรษฐกิจไทยจะมาจากการท่องเที่ยวและการลงทุนจากต่างประเทศ

  • ความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ และสงครามเทคโนโลยีระหว่างจีน – สหรัฐฯ หากทั้งสองประเทศมีการแบ่งแยกมากขึ้น จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกค่อนข้างมาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของเทคโนโลยี เรื่องของการค้า หรือเรื่องของมาตรฐานต่าง ๆ เป็นต้น

  • ภูมิภาคเอเชียยังเป็นภูมิภาคที่เนื้อหอม เพราะเศรษฐกิจยังเติบโตได้ และตลาดหุ้นไทยก็น่าจะได้รับอานิสงส์ด้วยเช่นกัน เพียงแต่ต้องเลือกลงทุนในหุ้นกลุ่มอุตสาหกรรมที่จะได้รับประโยชน์ เช่น การท่องเที่ยว รถยนต์ EV เป็นต้น

ปี 2566 หลายคนเริ่มต้นปีด้วยความหวังว่าโควิดจะหายไป เศรษฐกิจโลกจะฟื้นตัว แต่ความหวังนั้นอาจถูกสั่นคลอนไปบ้าง เพราะตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา สถาบันวิเคราะห์เศรษฐกิจหลายแห่ง เช่น ธนาคารโลก (World Bank) และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ออกมาบอกว่า ปีนี้มีโอกาสสูงมากที่เศรษฐกิจโลกจะเผชิญกับภาวะถดถอย อย่างไรก็ตาม ความหวังเริ่มสว่างขึ้นอีกครั้ง เมื่อจีนเปิดประเทศ โดยตั้งแต่วันที่ 8 มกราคมที่ผ่านมา ทางการจีนได้มีการประกาศผ่อนคลายมาตรการควบคุมโควิด-19 ทำให้นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางเข้าออกประเทศจีนได้สะดวกมากขึ้น

 

เศรษฐกิจโลกในปี 2566 มีเรื่องใดที่ต้องจับตา อะไรคือโอกาสและความเสี่ยงของเศรษฐกิจโลกในปีนี้ และแนวโน้มเศรษฐกิจไทยจะเป็นอย่างไร ดร.กิริฎา เภาพิจิตร ผู้อำนวยการวิจัย นโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศและการพัฒนา และ ผู้อำนวยการโครงการวิเคราะห์เศรษฐกิจเชิงลึก สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย ได้ฉายภาพเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยในงาน Maruey Talk ในวันที่ 23 มกราคม 2566 ว่า “ปีนี้เรามีโอกาสเยอะ แต่ว่าความเสี่ยงก็ยังมีอยู่ อย่างเช่นในเรื่องของเศรษฐกิจโลกที่ถดถอย ก็พูดถึงกันเยอะมากทั้งจาก IMF และธนาคารโลก ต่างออกมาบอกว่า เศรษฐกิจโลกในปีนี้น่าจะถดถอย อันนี้เป็นความเสี่ยงอันดับหนึ่งของเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทย เพราะเศรษฐกิจไทยมีการพึ่งพาไม่ว่าจะเป็นการส่งออก นำเข้า การท่องเที่ยว หรือการลงทุนจากนอกประเทศ”

 

เศรษฐกิจโลก

จากประมาณการขยายตัวทางเศรษฐกิจล่าสุดโดยธนาคารโลก พบว่าเศรษฐกิจโลกในปีนี้จะถดถอย “คำว่าถดถอยไม่ได้หมายความว่า เศรษฐกิจจะหดตัวลงจากปีที่แล้ว แต่แปลว่ายังโตอยู่ แต่โตน้อย ๆ และก็โตช้าลงจากปีที่แล้ว อย่างเช่น เศรษฐกิจโลกปีที่แล้วโต 2.9% ปีนี้ประมาณการว่าโต 1.7% แต่ที่สำคัญคือประเทศที่เศรษฐกิจจะโตช้า เป็นเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่เป็นตลาดหลัก ๆ ของเรา เช่น สหรัฐอเมริกา ปีที่แล้วโต 1.9% ปีนี้ประมาณการว่าโต 0.5% ขณะที่ยุโรปปีที่แล้วโตได้ 3.3% ปีนี้ประมาณการว่าโต 0% คือไม่โตเลย ส่วนญี่ปุ่นก็โตช้าลงจาก 1.2% เหลือ 1% แน่นอนว่าพอเศรษฐกิจขนาดใหญ่ของโลกโตช้าลง กำลังซื้อจากประเทศเหล่านี้ก็จะน้อยลง การจะมาจับจ่ายใช้สอยหรือซื้อสินค้าจากประเทศไทย ก็อาจจะไม่มากเท่าปีที่แล้ว ก็แปลว่า การส่งออกของไทยไปตลาดหลัก ๆ เหล่านี้ อาจจะไม่สามารถที่จะขยายตัวได้มากเท่ากับปีที่แล้ว อันนี้จะเป็นความเสี่ยงหลักของเศรษฐกิจโลกว่าจะถดถอยมากกว่านี้ไหม โดยเฉพาะในประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่” ดร.กิริฎา กล่าว

 

ส่วนความหวังของเศรษฐกิจโลกในปีนี้น่าจะอยู่ที่ประเทศจีน “เพราะจีนเป็นเศรษฐกิจใหญ่อันดับสองของโลก และปีนี้ประมาณการว่าจะขยายตัวได้สูงกว่าปีที่แล้ว จาก 2.7% เป็น 4.3% เนื่องจากจีนเริ่มเปิดประเทศจากโควิด เพราะฉะนั้นทั้งการค้าขาย การลงทุน การผลิต และการท่องเที่ยวก็น่าจะเติบโตได้มากกว่าปีที่แล้ว จีนจึงเป็นเศรษฐกิจที่เราฝากความหวังในปีนี้ แต่จีนเศรษฐกิจเดียวก็คงไม่สามารถจะทานการชะลอตัวของสามเศรษฐกิจใหญ่ของโลกได้ เพียงแต่พอมาช่วยได้บ้าง ช่วยเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทย เพราะไทยก็อยู่ใกล้จีน โดยจีนเป็นคู่ค้าอันดับสองของไทย เป็นอันดับหนึ่งด้านการท่องเที่ยว และการลงทุนก็อาจจะเป็นอันดับสามหรือสี่ เพราะฉะนั้นการที่จีนสามารถจะโตได้ก็เป็นความหวังเป็นโอกาสของไทย” ดร.กิริฎา มอง

 

ความเสี่ยงของเศรษฐกิจโลก

นอกจากประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่จะโตช้าลง ซึ่งมาจากสามเหตุผลหลัก และจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยด้วย เหตุผลแรกคือ ราคาสินค้ายังอยู่ในระดับสูง แม้ว่าเงินเฟ้อจะผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว และก็เริ่มชะลอลงในปีนี้ แต่การชะลอก็แปลว่า สินค้าก็ยังแพงขึ้น “ปีที่แล้วเงินเฟ้อโลกอยู่ที่ 8.8% แปลว่าราคาสินค้าเพิ่มขึ้นไป 8.8% จากปีก่อน ปีนี้ IMF ประมาณการว่าราคาสินค้าจะเพิ่มขึ้นไปอีก 6.5% แม้ว่าอาจจะไม่ได้เพิ่มเยอะเท่าปีที่แล้ว แต่ก็ยังเพิ่มอยู่ เพราะฉะนั้นราคาพลังงาน ราคาอาหารต่าง ๆ อยู่ในระดับที่สูงและเป็นต้นทุนของสินค้าอื่น โดยเฉพาะพลังงาน ก็เลยทำให้เราก็คงต้องอยู่ในภาวะที่ระดับราคาหรือต้นทุนอยู่ในระดับสูง และก็อาจจะบั่นทอนกำลังซื้อของประชาชนได้” ดร.กิริฎา อธิบาย

 

เหตุผลที่สองคือ อัตราดอกเบี้ย อัตราดอกเบี้ยเป็นขาขึ้น โดยปีที่แล้วดอกเบี้ยขึ้นมาแรงมาก เพราะสหรัฐอเมริกาขึ้นดอกเบี้ยจากต้นปี 2565 ที่ 0.25% ถึงปลายปีขึ้นมาเป็น 4.25% เพราะฉะนั้นปีนี้ดอกเบี้ยอาจจะไม่ขึ้นเร็วขนาดนั้นแต่ก็ยังขึ้นต่อไป แม้จะมีการคาดการณ์ว่าเมื่อเงินเฟ้อของสหรัฐฯ เริ่มแผ่วลงแล้ว จากที่เคยขึ้นไป 8 – 9% ในปีที่แล้ว ล่าสุดลงมาเหลือ 4% แต่เป้าหมายจริง ๆ ของธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ เฟด คือ เงินเฟ้อที่ 2% เพราะฉะนั้นเฟดต้องขึ้นดอกเบี้ยต่อไปเพื่อสกัดเงินเฟ้อ ดร.กิริฎา จึงมองว่า “ปีนี้ดอกเบี้ยของสหรัฐฯ น่าจะเป็นทิศทางขาขึ้น แต่อาจจะไม่ขึ้นเร็ว อาจจะขึ้นอีกสัก 1% ในปีนี้ เพราะฉะนั้นทิศทางดอกเบี้ยขาขึ้นก็ทำให้หลาย ๆ ประเทศ รวมถึงประเทศไทยมีแนวโน้มที่จะขึ้นดอกเบี้ยเช่นเดียวกัน”

 

และเหตุผลที่สาม คือ ค่าเงิน ค่าเงินจะเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐ เพราะฉะนั้นช่วงหลังพอมีข่าวออกมาว่า สหรัฐฯ อาจไม่ได้ขึ้นดอกเบี้ยแรงเหมือนปีที่แล้ว กลายเป็นว่ามีเงินไหลออกจากสหรัฐฯ เพื่อที่จะมาลงทุนในภูมิภาคเอเชีย เพราะเป็นภูมิภาคที่เศรษฐกิจไม่ได้ถดถอย ยังเติบโตอยู่ จึงทำให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐช่วงเดือนที่ผ่านมาอ่อนลงอย่างรวดเร็ว เมื่อนำเงินบาทไปเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐ เงินบาทจึงแข็งค่าขึ้น และอาจเป็นความเสี่ยงหนึ่งสำหรับผู้ส่งออกไทย เพราะเมื่อแปลงรายรับจากเงินดอลลาร์สหรัฐมาเป็นเงินบาทจะได้น้อยลง ส่วนการนำเข้าอาจได้อานิสงส์ เพราะไทยนำเข้าน้ำมัน เมื่อคูณเป็นเงินบาทแล้วก็จะลดลงมา “เพราะฉะนั้นจะเห็นได้ว่าทั้งเรื่องเศรษฐกิจถดถอย ราคาสินค้าที่สูง อัตราดอกเบี้ยเป็นขาขึ้น รวมถึงค่าเงิน ยังเป็นความเสี่ยงอยู่” ดร.กิริฎา กล่าว

 

เงินเฟ้อผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว

ดร.กิริฎา ให้ความเห็นว่า หลาย ๆ ประเทศเงินเฟ้อผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว ในประเทศไทยเชื่อว่าผ่านจุดสูงสุดไปแล้วตั้งแต่เดือนสิงหาคมของปีที่ผ่านมา ในสหรัฐฯ เองก็เช่นเดียวกันก็น่าจะผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว พร้อมกับอธิบายเสริมว่า “เงินเฟ้อในสหรัฐฯ และยุโรปมาจากคนละสาเหตุกัน ซึ่งคนมักจะถามว่าทำไมในสหรัฐฯ ขึ้นดอกเบี้ยแรง และทำไมในยุโรปไม่ขึ้นแรงแบบนั้น เนื่องจากในสหรัฐฯ เงินเฟ้อมาจากเหตุผลที่ว่าคนมีเงินเยอะ เพราะการจ้างงานในสหรัฐฯ ยังดีอยู่ คนมีรายได้เยอะก็ไปจับจ่ายใช้สอยกันอย่างมาก ทำให้ราคาสินค้าขึ้น นอกเหนือจากว่าต้นทุนขึ้นแล้วก็มีความต้องการ (Demand) เข้ามาเยอะด้วย เพราะฉะนั้นธนาคารกลางสหรัฐฯ จึงมองว่า ถ้าขึ้นดอกเบี้ย จะทำให้คนยับยั้งชั่งใจไม่ซื้อของมากเท่าเดิม และอาจจะคิดว่าเอาเงินไปฝากธนาคารดีกว่า หรือจะกู้เงินเพื่อมาซื้อของก็อาจจะคิดว่าดอกเบี้ยแพง อย่าเพิ่งซื้อเลย เป็นการแตะเบรกความต้องการซื้อสินค้า จึงมองว่าสหรัฐฯ อาจยังใช้การขึ้นดอกเบี้ยต่อไปเพื่อลดเงินเฟ้อ

 

ส่วนในยุโรปเงินเฟ้อที่สูงมาจากเรื่องของราคาพลังงานเป็นหลัก เป็นเรื่องต้นทุนเป็นหลัก เพราะฉะนั้นการที่จะขึ้นดอกเบี้ยแรง ๆ ก็คงไม่ทำให้ราคาพลังงานในโลกลดลงมา ก็เลยไม่ได้ขึ้นดอกเบี้ยแรง โดยสรุปจึงมองว่าเงินเฟ้อน่าจะพีคไปแล้ว แต่ว่าราคาสินค้ายังอยู่ในระดับที่สูงอยู่ เพราะฉะนั้นหลาย ๆ ธนาคารกลางก็เลยยังจะขึ้นดอกเบี้ยต่อไป เพื่อที่จะไปหยุดเงินเฟ้อ”

 

เศรษฐกิจจีน

ปีนี้สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ประมาณการว่าเศรษฐกิจจีนไม่น่าจะโตได้ถึง 5% และถ้าดูจากที่ธนาคารโลกประมาณการก็น่าจะขยายตัวได้ 4.3% “เหตุผลหลัก ๆ คือจีนเพิ่งเริ่มเปิดประเทศ เพราะฉะนั้นไตรมาสแรกยังไม่เปิดเต็มที่และยังเห็นการติดเชื้อโควิดอยู่ เพราะฉะนั้นเศรษฐกิจจีนจะฟื้นได้จริง ๆ ก็น่าจะเริ่มไตรมาสสอง และอีกประเด็นหนึ่งคือภาคอสังหาริมทรัพย์ของจีนยังมีปัญหาอยู่ อันนี้ก็จะเป็นตัวที่ทำให้เศรษฐกิจจีนอาจจะยังไม่ฟื้นได้เต็มที่” ดร.กิริฎา กล่าว

 

นอกจากนี้ “นโยบายใหม่ของท่านประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ท่านต้องการจะควบคุมบริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่ (Big Tech Firm) มากขึ้น เพราะฉะนั้นบริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่ซึ่งเคยเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจจีนในระยะ 10 ปีที่ผ่านมา ก็จะไม่ได้ขับเคลื่อนแล้ว เพราะว่ารัฐบาลจีนจะไปควบคุมมากขึ้น ก็เลยทำให้เศรษฐกิจจีนปีนี้อาจจะโตได้ประมาณ 4% กว่า แต่ว่าปีหน้าต้องรอดู เพราะมีการประมาณการว่าเศรษฐกิจจีนน่าจะโตได้มากกว่าปีนี้ รวมถึงรัฐบาลจีนหันไปให้ความสำคัญกับบริษัทเทคโนโลยีขั้นสูง (Deep Tech Firm) ซึ่งได้รับการสนับสนุนค่อนข้างมาก ตัวอย่างธุรกิจที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง เช่น เซมิคอนดักเตอร์ (Semiconductor) ซึ่งเป็นสิ่งที่สหรัฐฯ กลัว และมองว่าเทคโนโลยีขั้นสูงจะเป็นอนาคตและผลักดันให้เศรษฐกิจจีนเติบโตได้ในอนาคต เพราะจีนรู้ดีว่าประชากรมีแต่จะแก่ลง และเป็นสังคมสูงวัย เพราะฉะนั้นอะไรที่ต้องใช้แรงงานเยอะ ๆ และต้องทำโดยไม่ได้ใช้ทักษะสูง ๆ ก็จะลำบากในอนาคต จีนจึงต้องการพัฒนา Sector ใหม่ ๆ ซึ่งสามารถรองรับคนได้ ไม่ว่าจะอายุเยอะขึ้นก็ยังทำงานและก็มีมูลค่าเพิ่มใน Sector เหล่านั้นได้” ดร.กิริฎา กล่าวเสริม

 

สงครามการค้ายังไม่ส่งสัญญาณที่ดีขึ้น

จากสถานการณ์ปัจจุบัน ดร.กิริฎา ให้ความเห็นว่า “ตอนนี้เป็นมากกว่าเรื่องของสงครามการค้าแล้ว เป็นเรื่องของภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitics) เพราะว่าจีนมีความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีค่อนข้างมาก สหรัฐฯ ก็เกรงกลัวว่าจีนจะขึ้นไปเป็นเบอร์หนึ่งแทนเขา จึงต้องทำทุกวิถีทางเพื่อไม่ให้จีนมาแทนที่ได้ เพราะฉะนั้นสงครามการค้าเป็นแค่เครื่องมือหนึ่งที่ใช้ในการที่จะสกัดกั้นจีน แต่สงครามจริงที่ใหญ่กว่านั้นคือ สงครามเทคโนโลยี โดยสงครามเทคโนโลยีจะกระทบไทยในหลาย ๆ เรื่อง ไม่ใช่แค่เรื่องของเซมิคอนดักเตอร์อย่างเดียว ที่ผ่านมาเราเห็นแล้วว่าสหรัฐฯ ไม่อนุญาตให้ผู้ที่ผลิตชิ้นส่วนเซมิคอนดักเตอร์ส่งให้จีน เพราะฉะนั้นจีนก็เลยผลิตเซมิคอนดักเตอร์ไม่ได้ เซมิคอนดักเตอร์ก็เลยขาด นอกจากนี้ สหรัฐฯ ก็พยายามจะให้บริษัทต่าง ๆ มาตั้งโรงงานใหม่ในสหรัฐฯ อยากจะชวนไต้หวันมาผลิตที่สหรัฐฯ แต่ต้องไม่ลืมว่าการจะผลิตเซมิคอนดักเตอร์ ไม่ใช่จะสร้างโรงงาน 2 – 3 เดือนแล้วผลิตได้ ส่วนใหญ่จะสร้างโรงงานใช้เวลา 2 – 3 ปี และใช้เงินทุนเป็นพันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพราะฉะนั้นคิดว่าเซมิคอนดักเตอร์ในตลาดโลกน่าจะยังขาดต่อไปอย่างน้อยอีก 2 ปีข้างหน้า”

 

โดย ดร.กิริฎา ไม่ได้มองแค่เรื่องของเซมิคอนดักเตอร์ที่จะขาดในอนาคต แต่มองว่าสงครามเทคโนโลยียังมีอีกหลายปัจจัย ยกตัวอย่างเช่น การเปลี่ยนไปใช้ 6G “ถ้าเปลี่ยนไปใช้ 6G อุปกรณ์ที่ใช้ไม่เหมือนกับ 5G ต้องแยกอุปกรณ์เพราะคนละระบบกัน เพราะฉะนั้นในอนาคตหากเราจะติดต่อกับจีนก็ต้องใช้อุปกรณ์ของจีน และหากจะติดต่อกับตะวันตกก็ต้องใช้อุปกรณ์ของตะวันตก ถ้าเป็นบุคคลทั่วไปการมีโทรศัพท์มือถือสองเครื่องยังพอจะโอเค แต่ว่าถ้าเป็นบริษัทต้องตั้งระบบสองระบบ รัฐบาลต้องตั้งเสาสองเสา ก็จะเป็นต้นทุนต่อการทำธุรกิจของหลาย ๆ บริษัทเช่นเดียวกัน จึงมองว่าจริง ๆ แล้วเรื่องของสงครามเทคโนโลยีกระทบเรื่องเศรษฐกิจของเราค่อนข้างเยอะ เราต้องจับตามองให้ดีว่าในอนาคตจะเป็นยังไง แต่ถ้าให้มองยังไม่น่าจะจบลงง่าย ๆ เพราะว่าสงครามนี้เพิ่งเริ่ม เพราะสหรัฐฯ ไม่อยากให้จีนขึ้นมาแซงตัวเองในเรื่องของเทคโนโลยี” ดร.กิริฎา กล่าว

 

เศรษฐกิจไทย

เศรษฐกิจไทยปีนี้จะเติบโตดีกว่าปีที่แล้วเล็กน้อย โดยปีที่ผ่านมา สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ประมาณการว่าเศรษฐกิจไทยอาจจะขยายตัวได้ 3.2% ขณะที่ปีนี้ประมาณการว่าน่าจะขยายตัวได้ 3.5% มากกว่าปีที่แล้วเล็กน้อย ปัจจัยหลัก ๆ มาจากการท่องเที่ยวที่น่าจะฟื้นตัวมากขึ้น จากปีที่แล้วที่มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาประมาณ 11 ล้านคน ปีนี้เมื่อรวมกับนักท่องเที่ยวจีนแล้วอาจถึง 25 ล้านคน เพราะฉะนั้นรายรับจากการท่องเที่ยวจะเพิ่มขึ้นค่อนข้างมาก ซึ่งจะเป็นตัวที่ผลักดันและขับเคลื่อนการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปีนี้ และเมื่อมีเงินไหลเข้ามามากขึ้น คนไทยเองก็สามารถที่จะมีรายได้เพิ่มขึ้น การจับจ่ายใช้สอยก็น่าจะยังไปได้ต่อ ก็ทำให้เศรษฐกิจไทยยังโตได้

 

ปัจจัยที่สอง ที่น่าจะเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยได้คือ การลงทุน ซึ่งมีทั้งการลงทุนจากคนไทยและชาวต่างชาติ ดร.กิริฎา มองว่าการลงทุนจากต่างประเทศเข้ามาในประเทศไทยค่อนข้างเยอะ เพราะมีการย้ายฐานการลงทุนมาจากประเทศจีน มีเรื่องเกี่ยวกับภูมิรัฐศาสตร์เข้ามาเกี่ยวข้อง “หลายบริษัทมองว่าจีนกับสหรัฐฯ ปัญหาน่าจะไม่หยุดลงง่าย ๆ เพราะฉะนั้นจึงมีหลายบริษัทไม่ว่าจะเป็นบริษัททางยุโรป อเมริกา เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น หรือแม้แต่จีนเอง เริ่มย้ายฐานการลงทุนบางส่วนมาในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยส่วนที่ผลิตเพื่อตลาดจีนก็ยังเก็บไว้ในประเทศจีน เพราะคุ้มค่ากว่า แต่ส่วนที่ผลิตในประเทศจีนเพื่อส่งออกเริ่มมีการย้ายฐานออกมา เพราะหากผลิตที่อาเซียนและส่งออกไปสหรัฐฯ ก็จะไม่ถูกกีดกันทางการค้า เรื่องภูมิรัฐศาสตร์จึงมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทย”

 

โดยประเทศไทยถือเป็นอันดับสองของอาเซียนรองจากเวียดนามที่มีบริษัทย้ายมาลงทุน จึงมองว่าการลงทุนของภาคเอกชน โดยเฉพาะจากต่างประเทศจะมาลงทุนในอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า พลังงานสะอาด และ Cloud Service เป็นต้น “ประเทศไทยได้เปรียบเวียดนามในเรื่องของการมุ่งไปสู่สังคม Low-Carbon และนักลงทุนต่างชาติใหญ่ ๆ อยากจะมาลงทุนในประเทศที่มีนโยบาย Low-Carbon เพราะมีเป้าหมายที่ต้องการลดคาร์บอน หรือเป็น Net-Zero นอกจากนี้ ไทยยังมีโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลที่ดีกว่าเวียดนามมาก เลยเป็นส่วนที่ทำให้นักลงทุนจากต่างประเทศย้ายเข้ามาในไทย เพราะฉะนั้นก็เลยมองว่า ปีนี้ถ้าถามว่าในประเทศไทยมีอะไรเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจ หลัก ๆ ก็มองว่ายังน่าจะเป็นเรื่องของการท่องเที่ยวกับการลงทุนจากต่างประเทศ” ดร.กิริฎา ให้ความเห็น

 

แนวโน้มเงินเฟ้อไทย

ดร.กิริฎา อธิบายว่า “เงินเฟ้อของไทยมาจาก 2 – 3 ปัจจัยหลัก หนึ่งคือเรื่องของพลังงาน ในตะกร้าเงินเฟ้อพลังงานอยู่ที่ 12.4% เพราะฉะนั้นพอพลังงานในตลาดโลกยังอยู่ในระดับที่สูงและจะขึ้นไปอีกในปีนี้ เลยทำให้เงินเฟ้อของไทยอยู่ในระดับที่ยังเพิ่มขึ้นอยู่ โดย TDRI ประเมินว่าปีที่แล้วทั้งปี เงินเฟ้อขึ้นไป 6.1% แปลว่าระดับราคาเพิ่มขึ้นไป 6.1% จากปี 2564 แต่ปีนี้ประเมินว่าเงินเฟ้อน่าจะอยู่ที่ประมาณ 2.5 – 3% ก็แปลว่าระดับราคาในปีนี้จะแพงขึ้นไป 2.5 – 3% เหตุผลหลัก ๆ คือ หลาย ๆ อย่างเราไม่ได้ลงตามตลาดโลก เช่น ราคาน้ำมันดีเซล เราตรึงเอาไว้ตั้งแต่ปีที่แล้วที่ 35 บาทต่อลิตร ตอนนั้นทุกลิตรที่เราเติมน้ำมันดีเซล รัฐบาลจะช่วยอุดหนุน 5 – 10 บาทต่อลิตร พอมาถึงวันนี้ราคาน้ำมันดีเซลเริ่มลดลงมาจากราคาตลาดโลกแล้ว แต่เรายังตรึงราคาไว้ที่ 35 บาท ซึ่งราคาก็ถือว่าถูกแล้วและคงไม่ลดไปจากนั้นอีก”

 

“เหตุผลที่สองคือ ราคาไฟฟ้าเพิ่มขึ้น เพราะราคาก๊าซธรรมชาติในตลาดโลกพุ่งสูงขึ้นไปหลายเท่าจากก่อนสงครามรัสเซียกับยูเครน และตอนนี้รัสเซียส่งออกก๊าซธรรมชาติไม่ค่อยได้ เพราะฉะนั้นยุโรปก็มาแย่งซื้อก๊าซธรรมชาติในตลาดอื่น ซึ่งก็มาแย่งซื้อกับเราด้วย เราเลยได้รับผลกระทบ เพราะเราใช้ก๊าซธรรมชาติในการปั่นไฟ เพราะฉะนั้นนอกเหนือจากน้ำมัน เรื่องของก๊าซธรรมชาติก็สำคัญมาก ต้องจับตาดูราคาเพราะจะกระทบราคาไฟฟ้าของเรา เหตุผลที่สามคือ ราคาต้นทุนของผู้ผลิตขึ้นไปสูงมากตั้งแต่ต้นปี 2564 ขณะเดียวกันราคาของผู้บริโภคขึ้นไปไม่เท่า แปลว่าผู้ผลิตได้อั้นเอาไว้ ไม่กล้าขึ้นราคาแม้ว่าต้นทุนจะสูงขึ้น เพราะกลัวว่าผู้บริโภคจะซื้อไม่ไหวหรือไม่มีกำลังซื้อ โดยผู้ผลิตได้อั้นมาสองปีแล้ว ตอนนี้เริ่มมีการส่งผ่านราคาไปสู่ผู้บริโภค แม้ว่าราคาของต้นทุนจะเริ่มลดลงมาแล้ว จึงมองว่าทิศทางของราคาในประเทศไทยก็ยังคงไม่ลด ด้วยปัจจัยหลาย ๆ อย่าง รวมถึงค่าแรงขั้นต่ำที่เราขึ้นไปในเดือนตุลาคมปีที่แล้ว ก็น่าจะทำให้ระดับราคาในปีนี้ของบ้านเราอาจจะสูงกว่าปีที่แล้วสัก 2.5 – 3%” ดร.กิริฎา กล่าว

 

แนวโน้มนโยบายการเงินไทย

ปีที่แล้วสหรัฐอเมริกาขึ้นดอกเบี้ยค่อนข้างจะก้าวกระโดดจากต้นปีที่ 0.25% มาปลายปี 4.25% แต่สำหรับประเทศไทยขึ้นดอกเบี้ยมานิดเดียวจาก 0.5% มาเป็น 1.25% ในปลายปีที่แล้ว เนื่องจากประเทศไทยเพิ่งเริ่มฟื้น ความต้องการสินค้าและบริการไม่ได้มีเยอะเหมือนในสหรัฐฯ และส่วนใหญ่เงินเฟ้อของไทยมาจากต้นทุนพลังงาน ต้นทุนปุ๋ย ซึ่งไม่สามารถขึ้นดอกเบี้ยเพื่อจะไปลดต้นทุนเหล่านั้นได้ เพราะฉะนั้นคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ของไทย จึงขึ้นดอกเบี้ยแบบช้า ๆ

 

แต่อย่างไรก็ตาม “แม้ดอกเบี้ยของไทยกับสหรัฐฯ จะต่างกันมาก แต่ก็ยังมีเงินไหลเข้าประเทศไทยอยู่ เพราะฉะนั้นการที่นักลงทุนเอาเงินเข้ามาในประเทศไทย คงไม่ได้มองแค่ความต่างของอัตราดอกเบี้ยเพียงอย่างเดียว คงมองถึงโอกาสที่จะทำกำไรในหุ้นหรือพันธบัตรไทยด้วย จึงมองว่าในปีนี้ กนง. อาจจะขึ้นดอกเบี้ยต่อไป แต่ไม่ได้ขึ้นเพราะกลัวว่าเงินจะไหลออกจากประเทศ แต่จะขึ้นเพราะเห็นแล้วว่าเศรษฐกิจไทยเริ่มฟื้นตัว และถ้าความต้องการในสินค้าและบริการกลับเข้ามาเยอะ ๆ ระดับราคาสินค้าหรือเงินเฟ้ออาจจะขึ้นได้ ก็อาจจะขึ้นดอกเบี้ยนโยบายเพื่อไปแตะเบรกความต้องการ แต่ว่าอาจจะไม่ได้เร็ว ต้องดูเรื่องการฟื้นตัวของเศรษฐกิจก่อน โดยอาจจะขึ้นดอกเบี้ยอีกประมาณ 0.50 – 0.75% ซึ่งน่าจะเป็นทิศทางของดอกเบี้ยนโยบายไทยในปีนี้” ดร.กิริฎา กล่าว

 

แนวโน้มค่าเงินบาท

เงินบาทจะแข็งหรืออ่อนค่า สามารถมองได้จาก 2 – 3 ปัจจัย ปัจจัยแรกก็คือ นำเงินบาทไปเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐ ถ้าเงินดอลลาร์อ่อนค่าลง เมื่อนำเงินบาทไปเทียบก็จะแข็งค่าแม้ว่าจะไม่ได้ทำอะไรเลย อันนี้เป็นสิ่งที่ควบคุมได้ยาก โดย ดร.กิริฎา มองว่า “ตอนนี้เงินดอลลาร์สหรัฐเริ่มอ่อนค่า เมื่อสหรัฐฯ เริ่มขึ้นดอกเบี้ยไปเรื่อย ๆ ก็อาจจะมีแนวโน้มที่เงินดอลลาร์สหรัฐจะแข็งค่าขึ้นไปอีกเล็กน้อย ปัจจัยที่สอง ถ้ามีเงินไหลเข้าประเทศไทยเยอะ ก็จะทำให้เงินบาทแข็งค่าเช่นเดียวกัน โดยปีนี้มองว่าจะมีเงินไหลเข้าประเทศไทยพอสมควร เหตุผลหลักมาจากเรื่องการท่องเที่ยว ที่คาดว่าน่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาในประเทศไทยมากกว่าปีที่แล้ว 2 เท่า ก็จะนำเม็ดเงินเข้าประเทศ และมีเรื่องของการลงทุนจากต่างชาติ และปัจจัยที่สาม การนำเข้าของไทยปีนี้น่าจะไม่สูงเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ซึ่งปีที่แล้วไทยขาดดุลการค้าค่อนข้างมาก จึงทำให้เงินบาทอ่อนค่า เพราะมีเงินไหลออกจากประเทศเยอะจากเรื่องการค้า แม้ว่าจะมีการส่งออกเยอะในปีที่แล้ว แต่เราก็นำเข้าเยอะมาก เพราะราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่เรานำเข้าไม่ว่าจะเป็นน้ำมัน ปุ๋ย มีราคาที่สูง จึงทำให้เราขาดดุลการค้าค่อนข้างเยอะ”

 

ส่วนปีนี้ ดร.กิริฎา มองว่าจะเป็นหนังคนละม้วนกับปีที่แล้ว แม้ว่าไทยส่งออกได้อาจจะไม่เยอะ แต่ว่าราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกได้ลดลงมาแล้ว ก็จะทำให้มูลค่าของการนำเข้าน่าจะเทียบเท่าหรือน้อยกว่าปีที่แล้ว และน่าจะส่งผลให้ไทยเกินดุลการค้า ซึ่งแปลว่ามีเงินไหลเข้าประเทศโดยสุทธิ “เพราะฉะนั้นถ้าให้มองภาพรวมคือเงินบาทก็ยังน่าจะแข็งค่าอยู่ โดยเฉพาะช่วงที่นักท่องเที่ยวเริ่มกลับเข้ามาเยอะ ๆ ในไตรมาสที่ 2 – 4 ก็น่าจะทำให้เงินบาทมีทิศทางแข็งค่า”

 

แนวโน้มตลาดทุนไทย

ถ้ามองจากปัจจัยของเศรษฐกิจมหภาค มองเรื่องของภูมิรัฐศาสตร์ และมองเรื่องของการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ก็ยังมองว่าภูมิภาคเอเชียยังเนื้อหอมมาก เพราะเป็นภูมิภาคที่ยังเติบโตอยู่ไม่ได้ถดถอยเหมือนในภาคส่วนอื่นของโลก และถ้าดูจากที่ธนาคารโลกประมาณการ จะเห็นว่าเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกา ยุโรป ตะวันออกกลาง และแอฟริกา ปีนี้โตน้อยกว่าปีที่แล้วหมดเลย แต่มีเอเชียที่โตมากกว่าปีที่แล้วนำโดยจีน เพราะฉะนั้นโอกาสที่จะทำกำไรเกี่ยวกับธุรกิจในภูมิภาคนี้ จึงมีสูงเมื่อเทียบกับภูมิภาคอื่น ๆ

 

“เพราะฉะนั้นการจัดสรรเงินลงทุนของนักลงทุนก็น่าจะมาที่ภูมิภาคเอเชีย และมองว่าน่าจะเป็นตัวช่วยตัวหนึ่งสำหรับตลาดหุ้นไทย แน่นอนว่าตลาดหุ้นไทยก็มีหลากหลายกลุ่มอุตสาหกรรม Sector ไหนที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยวก็จะได้รับความสนใจมากเป็นพิเศษ หรือเกี่ยวกับรถยนต์ EV หรือ Low-Carbon ก็น่าจะได้รับความสนใจเช่นกัน ส่วน Sector ที่เกี่ยวกับการส่งออกก็อาจจะเหนื่อยหน่อย เพราะฉะนั้นเม็ดเงินที่จะลงมาในประเทศเรา หรือในตลาดหลักทรัพย์ของเรา ยังมองว่าน่าจะเป็นไปในทิศทางบวก แต่ต้องมีการกระจายการลงทุนที่แตกต่างจากปีที่แล้ว” ดร.กิริฎา กล่าวปิดท้าย

 

หมายเหตุ : บทความนี้เรียบเรียงเนื้อหาจากงานกิจกรรม Maruey Talk หัวข้อ “จับชีพจรเศรษฐกิจโลก ส่องเศรษฐกิจไทย ปี 66” ณ วันที่ 23 มกราคม 2566 จัดโดยห้องสมุดมารวย ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และสามารถรับชมย้อนหลังได้ที่ >> คลิกที่นี่


สำหรับนักลงทุนมือใหม่และผู้ที่สนใจ เรียนรู้แนวทางการวิเคราะห์เศรษฐกิจมหภาคที่มีผลต่อการลงทุนรายกลุ่มอุตสาหกรรม พร้อมเจาะลึกเทคนิคในการจับจังหวะเปลี่ยนกลุ่มลงทุน เพื่อเพิ่มโอกาสทำกำไรจากการลงทุน สามารถเรียนรู้เพิ่มเติมผ่าน e-Learning หลักสูตร “Sector Rotation” ได้ฟรี!!! >> คลิกที่นี่

แท็กที่เกี่ยวข้อง: