“ถ้าไม่มีดัชนีหุ้นไทย 200 จุด ผมก็จะไม่ประสบความสำเร็จจากการลงทุน ดังนั้น ขอให้นักลงทุนทุกคนชิมความสำเร็จให้ได้สักครั้ง ขอให้ทุ่มเท อดทน มีวินัย เพราะจะเป็นจุดเปลี่ยนด้านการลงทุน ผมพูดมาตลอดก็เป็นอย่างนั้น” นี่เป็นประโยคเด็ดของ “เสี่ยยักษ์” วิชัย วชิรพงศ์ นักลงทุนรายใหญ่ ขวัญใจนักลงทุนมือใหม่และมือเก่า
ก่อนเข้าสู่วงการลงทุน วิชัยก็เป็นเหมือนนักศึกษาทั่วไปที่เรียนจบแล้วก็หางานทำ โดยเขาเรียนจบด้านสัตวบาล จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และได้เข้าทำงานในเครือเจริญโภคภัณฑ์ ด้วยเงินเดือนเริ่มต้นที่ 2,700 บาท
ดูเหมือนว่าชีวิตของวิชัยจะลงตัวทุกอย่าง แต่เขากลับคิดว่าถ้ายังทำงานแบบนี้ไปเรื่อย ๆ แล้วเมื่อไหร่จะมีบ้าน มีรถ และจากความคิดนี้เอง ทำให้เขาทำงานได้เพียง 20 วัน ก็ตัดสินใจลาออกโดยไม่ขอรับเงินเดือน
จุดเปลี่ยนสำคัญของชีวิตวิชัย เกิดจากการถูกเปรียบเทียบกับพี่ชาย 2 คน ซึ่งมีอาชีพเป็นหมอและวิศวกร เมื่อเขาลาออกจากงานก็กลับบ้านไปขับรถบรรทุกและมองว่าในบางครั้งสิ่งที่เรียนมาอาจได้ใช้หรือได้ใช้น้อยมาก และเชื่อว่าทุกอย่างต้องอาศัยประสบการณ์และบทพิสูจน์จากการทำงาน
“ตอนนั้นก็กลับไปขับรถบรรทุกขนแกลบ คนรอบข้างมักพูดว่าเรียนจบมาทำไม สู้พี่ ๆ ก็ไม่ได้ ซึ่งกลายมาเป็นแรงกดดันที่อยู่ในใจ คือ ทำงานเช้า เลิกงาน 5 โมงเย็นแล้วไปเที่ยว แล้วค่อยกลับมาทำงานต่อ ทำให้แม่ถามว่าทำไมกลับบ้านดึก เราก็บอกว่ากลับดึกก็ยังไปทำงานได้ พอแม่ได้ยินคำตอบก็ร้องไห้ แล้วเอ่ยว่าเก่งนะเดี๋ยวนี้เถียงแม่ได้” วิชัย เล่าย้อนความหลัง
จากการได้เห็นน้ำตาของแม่ในวันนั้น วิชัยรู้สึกเสียใจ จึงตัดสินใจเลิกเที่ยวและก้มหน้าก้มตาขับรถบรรทุกและใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่ในโรงงานเป็นเวลา 3 ปี “คิดว่าจะลองสู้ให้เต็มที่สักครั้ง พี่ชายเป็นหมอและวิศวกร การเรียนไม่ได้บอกว่าใครจะสำเร็จ แต่สอนให้คิดเป็น ซึ่งวิชาที่เรียนมาอาจไม่ได้ใช้หรือได้ใช้น้อยมาก ต้องใช้ประสบการณ์ ตลาดหุ้นก็เหมือนกันก็ต้องมาสู้กันหน้างาน ทุกอย่างต้องเรียนรู้ รู้ว่าอันไหนเสี่ยง อันไหนไม่เสียง ซึ่งเป็นคำสอนของคุณพ่อคุณแม่ ที่สอนให้ลูก ๆ คิดแบบพ่อค้า ต้องมองออกว่าคุ้มหรือไม่คุ้ม” วิชัย เล่า
แม้ว่าวันนี้ วิชัยจะอยู่ในจุดที่มองเป้าหมายเรื่องความสุขมาก่อนเงินทอง แต่กว่าจะถึงวันนี้ได้ เขาเล่าให้ฟังว่า สมัยเริ่มต้นลงทุนใหม่ ๆ หลังจากไปส่งลูกที่โรงเรียนทุกวัน เขาจะไปถึงตลาดหลักทรัพย์ ฯ (ถนนสินธร) เวลา 07:30 น. เพื่อไปใช้คอมพิวเตอร์ในการศึกษากราฟเทคนิค จดจุดซื้อจุดขายที่สนใจลงสมุด ศึกษาข้อมูลเสร็จก่อนเจ้าหน้าที่แนะนำการลงทุน หรือ มาร์เก็ตติ้ง จะเดินทางมาถึงโต๊ะทำงานเสียอีก เขาทำอย่างนี้ทุกวัน เพราะในยุคเคาะกระดานซื้อขาย อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ยังมีน้อยก็ต้องขยัน ขณะเดียวกัน การเป็นนักลงทุนหน้าใหม่จึงต้องดิ้นรนเพื่อให้พร้อมก่อนตลาดเปิดทำการ ถือเป็นจุดสำคัญที่ทำให้เขาประสบความสำเร็จ
“ถ้าคนอื่นทำงาน 8 ชั่วโมง ผมจะทำงาน 16 ชั่วโมง ขนาดไม่มีคอมพิวเตอร์ก็ยังซื้อกระดาษกราฟเส้นธรรมดามาวาด และประเมินว่าวันนี้หุ้นจะบวกหรือลบ ปรับขึ้นหรือลงด้วยปัจจัยอะไร ขึ้นหรือลงกี่จุด ถ้าปรับขึ้นทะลุจุดนี้ต้องเข้าซื้อ ลงทุนหุ้นตัวไหน พูดง่าย ๆ ต้องมีข้อมูลทุกอย่าง แต่ถ้าเริ่มต้นที่เวลา 09:30 น. แล้วถามว่าลงทุนได้หรือไม่ก็อาจไม่ทัน เนื่องจากช่วงแรก ๆ มีสไตล์การลงทุนแบบเล่นรอบ ดังนั้น ถ้าช่วงไหนตลาดไม่ดีก็หยุด เพื่อรอจังหวะที่ดีอีกครั้ง” วิชัย กล่าว
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้วิชัยจะเตรียมตัวเรื่องการลงทุนมาเป็นอย่างดี และเขาก็ได้รับบทเรียนที่ไม่มีวันลืมเมื่อเกิดวิกฤติ Black Monday ซึ่งตอนนั้นเขามีเงินลงทุน 2.5 ล้านบาท ลงทุน 1 ปี ขาดทุนไป 5 แสนบาท
“ตอนนั้นเกิดความกลัวจึงตัดสินใจกลับบ้านเพราะขาดประสบการณ์ในการลงทุนบวกกับลูกยังเล็ก แต่เมื่อพี่ชายบอกว่าการลงทุนในตลาดหุ้นมีทั้งสำเร็จและผิดพลาด ทำไมใจเสาะ พอได้ยินประโยคนี้จึงตัดสินใจกลับเข้าสู่วงการอีกครั้งด้วยความมุ่งมั่นและไม่คิดจะยอมแพ้” วิชัย เล่า
จากวันแรกที่ไม่เคยคิดว่าจะมาถึงตรงนี้ วิชัยกล่าวว่าการเป็นนักลงทุนต้องอย่าใจร้อน ต้องอาศัยประสบการณ์ ต้องรู้ว่ากำลังลงทุนอะไรและตอนไหน โดยเขายกตัวอย่างช่วงน้ำท่วมใหญ่ในปี 2554 เมื่อน้ำเริ่มท่วมมาถึงรังสิต ทำให้เกิดความกลัวว่าน้ำจะท่วมถึงใจกลางสุขุมวิทและสีลม จึงตัดสินซื้อรถโฟว์วิลมือสองแล้วขับดูสถานการณ์น้ำท่วมแถวดอนเมือง คลองบางซื่อ ขณะเดียวกันก็โทรศัพท์ไปถามพี่ชายที่อยุธยาว่าน้ำลดลงหรือไม่ เพราะความเป็นจริงของธรรมชาติ น้ำจะไหลจากที่สูงลงสู่ที่ต่ำเสมอ ซึ่งตอนนั้นเชียงใหม่น้ำแห้งแล้ว ส่วนอยุธยาน้ำเริ่มทรงตัว
จากสถานการณ์และข้อมูลที่มี วิชัยจึงตัดสินใจซื้อหุ้น ขณะที่นักลงทุนคนอื่น ๆ ใช้กลยุทธ์ Wait & See “ถ้ามีข้อมูลเพียงพอก็ต้องกล้าลงทุน เช่นเดียวกับช่วง COVID-19 ซึ่งนักลงทุนยังมีความกังวลกับสถานการณ์เพราะไม่รู้ว่าจะจบเมื่อไหร่ แต่หากมีข้อมูลที่เพียงพอก็ต้องกล้าลงทุน ขณะเดียวกันก็ต้องรู้กลยุทธ์การลงทุน ต้องหาหุ้นได้ด้วยตัวเอง และต้องรู้ว่าจะซื้อหุ้นตัวนี้ด้วยเหตุผลอะไร” วิชัย กล่าว
สำหรับวิธีการเลือกหุ้นตามสไตล์วิชัย ก็คือ ต้องเลือกหุ้นที่ยังมีนักลงทุนให้ความสนใจไม่มาก หรือเรียกว่า Turnaround Stock จากนั้นก็เลือกหุ้นในธุรกิจที่ตัวเองมีความเชี่ยวชาญ และศึกษาข้อมูลอย่างต่อเนื่อง เมื่อมั่นใจก็ซื้อแบบ Big Shot หรือ Double or Nothing ซึ่งเป็นการซื้อแบบครั้งเดียว อย่างไรก็ตาม การลงทุนสไตล์นี้จะประสบความสำเร็จได้ จำเป็นจะต้องมีข้อมูลที่เพียงพอต่อการตัดสินใจลงทุน ต้องลงทุนถูกที่ ถูกเวลา ซึ่งเหมาะกับนักลงทุนที่สามารถยอมรับความเสี่ยงได้ค่อนข้างสูง (ข้อมูล : Stock2morrow เดือนพฤษภาคม 2563)
ตัวอย่างการลงทุนแบบ Big Shot หรือ Double or Nothing ที่วิชัยจำได้ขึ้นใจ ก็คือ การจองซื้อหุ้น PTT (บมจ.ปตท.) เพราะเชื่อว่าการแปรรูปรัฐวิสาหกิจเป็นบริษัทเอกชนจะทำให้เกิดประโยชน์ต่อภาคเอกชนและการดำเนินธุรกิจ แต่เนื่องจากเป็นหุ้นที่ได้รับความนิยมสูงมาก หากจองซื้อหุ้นที่ในกรุงเทพฯ อาจได้หุ้นจองจำนวนน้อยหรือไม่ได้เลย เขาจึงขับรถไปต่างจังหวัดและทำการจองซื้อหุ้น PTT ผ่าน 20 บัญชีซื้อขายของตัวเอง
ผลจากการสุ่มเลือก (Random) วิชัยได้หุ้น PTT ประมาณ 1 แสนหุ้น และเมื่อเข้าซื้อขายบนกระดาน ราคาหุ้นแทบไม่ขยับหรือบางวันก็ปรับลดลง ประกอบกับเกิดเหตุการณ์ Black Monday ทำให้นักลงทุนขายหุ้น PTT ออกไป แต่วิชัยกลับตัดสินใจซื้อเพิ่ม
“ตอนนั้นเข้าซื้อหุ้น PTT ที่ราคา 70 บาท P/E Ratio ระดับ 5 เท่า หมายความว่า 5 ปีคืนทุน โดยเงินที่นำมาซื้อก็มาจากการขายหุ้นตัวที่มี P/E Ratio 50 – 70 เท่าออกทั้งหมด เพราะประเมินว่าไม่น่าจะผิดพลาด และก็เป็นไปตามคาด หลังจากนั้นไม่นานราคาหุ้น PTT ก็ทะลุ 100 บาท” วิชัย เล่า
อีกเคล็ดลับที่วิชัยแนะนำนักลงทุนรุ่นใหม่ คือ เมื่อซื้อหุ้นไปแล้วไม่ควรตั้งเป้าหมายว่าจะต้องได้กำไรหลาย ๆ เท่าในเวลาอันรวดเร็ว แต่ควรอดทนหากมั่นใจว่าหุ้นที่ซื้อมีอนาคต เช่น กรณีที่เขาซื้อหุ้น TYONG หรือ บมจ.ธนายง (ปัจจุบัน คือ บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้ง : BTS) เมื่อซื้อไปแล้วบริษัทขาดทุนจากธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ จึงต้องหันมาทำธุรกิจรถไฟฟ้า
ตอนเปิดสถานีแรกที่ศาลาแดง ตอนนั้นราคาหุ้น BTS อยู่ที่ 1 บาท จากการศึกษาข้อมูลพบว่า ถึงแม้จะมีข่าวร้ายราคาก็ยังคงนิ่ง ๆ ที่ 1 บาท และจากการศึกษาเพิ่มเติม ก็พบว่ารถไฟฟ้าใช้เวลาก่อสร้าง 4 – 5 ปี จากนั้นก็เปิดให้บริการ จึงมองว่าน่าจะเป็นการรอจังหวะเพื่อปรับขึ้น เข้าข่ายหุ้น Turnaround Stock วิชัยจึงตัดสินใจซื้อหุ้น BTS ราว 10 ล้านหุ้น และจากความอดทนและอาศัยประสบการณ์ ราคาหุ้น BTS ก็ปรับขึ้นไปซื้อขายที่ระดับ 10 บาท แต่วิชัยขายออกไปเมื่อราคาขึ้นไป 4 บาท ซึ่งเป็นระดับราคาที่เขาพึงพอใจ (ข้อมูล : Money Chat เดือนมกราคม 2562)
ทุกวันนี้ นอกจากวิชัยจะยังคงศึกษาข้อมูล วิเคราะห์สถานการณ์ด้านการลงทุน เขายังส่งต่อความรู้และประสบการณ์ให้กับนักลงทุนรุ่นใหม่ผ่านเพจส่วนตัว “พ่อสอนลูกลงทุน” โดยเขาเขียนบทความเป็นประจำทุกสัปดาห์ ที่สำคัญเขาปรับสไตล์การลงทุนของตัวเองจากเล่นรอบเป็นการถือหุ้นเพื่อลงทุนระยะยาว
“ถ้าเราคิดวิเคราะห์และมั่นใจว่าหุ้นที่ถือนั้น มีอนาคต ทีมผู้บริหารเก่ง โปร่งใส ก็ควรลงทุนต่อไป” วิชัย กล่าวสรุป
หมายเหตุ : บทความนี้เพื่อใช้สำหรับศึกษาเบื้องต้นเท่านั้น มิได้มีเจตนาในการชี้นำการลงทุนแต่อย่างใด นักลงทุนควรศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนตัดสินใจลงทุน
หากเลือกหุ้นได้ถูกสไตล์ ก็มีชัยไปกว่าครึ่ง…สำหรับนักลงทุนมือใหม่และผู้ที่สนใจ เรียนรู้สไตล์การลงทุนแบบต่าง ๆ รวมไปถึงสไตล์หุ้นแต่ละประเภท เพื่อคัดเลือกหุ้นและวางกลยุทธ์การลงทุนให้เหมาะกับตนเอง สามารถเรียนรู้เพิ่มเติม ผ่าน e-Learning หลักสูตร “Investment Styles” ได้ฟรี!!! >> คลิกที่นี่