จัดการเงินหลังเกษียณด้วยกลยุทธ์เงิน 3 กอง

โดย รุจิพรรณ พรรัตนพิทักษ์ ผู้เชี่ยวชาญการวางแผนเกษียณ ช่องยูทูป AnnuityMAN
3 Min Read
14 มกราคม 2565
10.477k views
Inv_จัดการเงินหลังเกษียณด้วยกลยุทธ์เงิน 3 กอง_Thumbnail
Highlights

การแบ่งเงินเกษียณออกเป็น 3 กองหรือ 3 ถัง เป็นการบริหารจัดการเงินด้วยการแบ่งเงินออกเป็นส่วน ๆ และใช้จ่ายในช่วงเวลาที่ต่างกัน ซึ่งเงินในแต่ละกองจะต้องนำไปลงทุนในสินทรัพย์ลงทุนที่มีระดับความเสี่ยงที่แตกต่างกันด้วย เพื่อทำให้การบริหารจัดการเงินหลังเกษียณงอกเงยและมีประสิทธิภาพมากขึ้น ทำให้ใช้เงินได้อย่างมีความสุข ไม่ต้องกังวลว่าจะทำให้เงินหมดก่อนเวลาอันควร

ในประเทศไทยเริ่มมีแนวคิดในการจัดการเงินหลังเกษียณ เรียกว่า กลยุทธ์การถอนเงินหลังเกษียณ โดยแบ่งเงินเกษียณออกเป็น 3 กองหรือ 3 ถัง แล้วสร้างเงื่อนไขเพื่อใช้เป็นกฎในการตัดสินใจ (Decision Rules) ว่าจะถอนเงินออกจากกองไหนก่อน

 

Harold Evensky นักวางแผนการเงินชั้นนำของสหรัฐอเมริกา เป็นผู้ริเริ่มแนวคิดแบ่งเงินหลังเกษียณออกเป็น 3 กอง ตั้งแต่ปี 1985 แต่จะใช้การถอนเงินเพียง 2 กองเท่านั้น โดยกองที่ 1 คือ นำเงินไปลงทุนในสินทรัพย์ลงทุนที่มีความเสี่ยงต่ำ เช่น ฝากออมทรัพย์ ด้วยสัดส่วน 10 เท่าของอัตราการถอนเงินในปีแรก ส่วนเงินที่เหลือจะนำไปไว้ในกองที่ 2 ด้วยการนำไปลงทุนในสินทรัพย์ลงทุนที่มีความเสี่ยงสูง เช่น กองทุนรวมตราสารทุน กองทุนรวมดัชนีหุ้น เป็นต้น

 

ตัวอย่างเช่น มีเงินเพื่อเกษียณ 10 ล้านบาท และคาดว่าจะใช้กฎ 4% แปลว่าต้องการถอนเงินในปีแรกด้วยอัตรา 4% (Initial Withdrawal Rate) เป็นจำนวนเงิน 400,000 บาท ดังนั้น เงินที่ต้องมีไว้ในกองที่ 1 เป็นจำนวน 10 เท่าของ 400,000 บาท คือ 4 ล้านบาท ส่วนเงินในกองที่ 2 มีจำนวน 6 ล้านบาท โดยมีกฎ (Decision Rules) ง่าย ๆ เพียง 3 ข้อ คือ

  • ถอนเงินตอนต้นปีของทุกปี
  • ถ้าปีที่แล้วเงินกองที่ 2 ขาดทุน ให้ถอนเงินจากกองที่ 1
  • ปรับสมดุลพอร์ตการลงทุนทุก ๆ ต้นปี โดยให้ปรับหลังจากถอนเงินแล้ว

 

เหตุผลที่ต้องมีเงินในกองที่ 1 เป็นจำนวน 10 เท่าของอัตราการถอนเงินในปีแรกก็เพื่อลดความเสี่ยง เพราะหากปีที่เริ่มเกษียณตลาดการลงทุนอยู่ในภาวะปรับลดลงอย่างต่อเนื่องและยาวนานก็จะสามารถรับมือกับเหตุการณ์นานสูงสุดได้ถึง 10 ปี โดยที่ไม่ต้องถอนเงินออกจากกองที่ 2 เพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยงที่เกิดจากการถอนเงินออกจากเครื่องมือทางการเงิน (Sequence of Returns Risk) หมายความว่า อาจปรับลดหรือเพิ่มจำนวนเงินในกองที่ 1 ได้ ขึ้นอยู่กับว่าภาวะตลาดมีโอกาสปรับลดลงเป็นระยะเวลานานเท่าใด

 

ในปัจจุบันผู้เกษียณรู้จักกลยุทธ์เงิน 3 กอง ซึ่งวิธีบริหารจัดการที่ออกแบบมาก็เพื่อลด Sequence of Returns Risk โดยโมเดลดังกล่าวสามารถนำไปใช้ได้ในวงกว้างภายใต้เงื่อนไข ดังต่อไปนี้

 

  • เงินแต่ละกอง จะถูกถอนออกมาใช้ในช่วงเวลาที่ต่างกัน ภายใต้แนวคิดจากหนังสือชื่อ The Prosperous Retirement: Guide to the New Reality ของ Michael Stein เมื่อปี 1998 ได้แบ่งช่วงเวลาหลังเกษียณออกเป็น 3 ช่วงเรียกว่า Go-Go, Slow-Go และ No-Go
    • กองที่ 1 ใช้ในช่วง Go-Go ซึ่งเป็นช่วง 10 ปีแรกของชีวิตหลังเกษียณ ที่มีร่างกายสุขภาพแข็งแรง สามารถทำตามความฝันที่ยังไม่ได้ทำก่อนเกษียณ
    • กองที่ 2 ใช้ในช่วง Slow-Go ซึ่งเป็นช่วง 10 ปีที่สองของชีวิตหลังเกษียณ ช่วงนี้สุขภาพร่างกายและจิตใจเริ่มเสื่อมถอยลง เริ่มใช้ชีวิตภายในบ้านมากกว่าช่วง Go-Go
    • กองที่ 3 ใช้ในช่วง No-Go เป็นช่วง 10 ปีที่สามของชีวิตหลังเกษียณ เป็นช่วงที่สภาพร่างกายเสื่อมถอยถึงที่สุดและรอวันสิ้นอายุขัย

 

  • ค่าใช้จ่ายหลังเกษียณปีแรก เป็นตัวแปรที่มีความแตกต่างกันในแต่ละคน สมมติให้เป็น R ซึ่งไม่รวมค่ารักษาพยาบาล (ควรมีประกันสุขภาพรองรับ) และควรเตรียมเงินจ่ายเบี้ยประกันสุขภาพด้วยประกันแบบบำนาญ

 

  • ค่าใช้จ่ายหลังเกษียณปีต่อ ๆ ไปจะลดลงปีละ 1% ทุกปี แต่ในทางการคำนวณจะใช้ 5% ทุก ๆ 5 ปี แปลว่า สมมติว่าอายุเกษียณ คือ 60 ปี ดังนั้น ช่วงอายุ 60 - 64 ปี จะต้องถอนเงินออกมาใช้ปีละ R บาท, ช่วงอายุ 65 - 69 ปี จะต้องถอนเงินออกมาปีละ 0.95R ลดลง 5% (หรือ 0.05) เป็นแบบนี้ไปเรื่อย ๆ จนถึงอายุ 80 ปี ซึ่งจะลดลงเหลือ 0.80R และจะคงที่ไปจนครบ 10 ปีที่อายุ 89 ปี
Inv_จัดการเงินหลังเกษียณด้วยกลยุทธ์เงิน 3 กอง_01
  • อัตราเงินเฟ้อ (Inflation) ซึ่งส่วนตัว (ผู้เขียน) มักเรียกว่า MEflation เพื่อให้รู้ว่าจะกำหนดจำนวนเงินที่จะใช้เพิ่มขึ้นตามความต้องการของตัวเอง หากในชีวิตจริงไม่ตรงกับที่ประเมินไว้ก็ต้องปรับเพิ่มหรือลดการใช้จ่ายให้สอดคล้องกับตัวเลขที่ประเมินไว้ตั้งแต่ต้น

 

นอกจากนี้ จะใช้อัตราเงินเฟ้อคงที่ 3% แล้วเพิ่มทุก ๆ 5 ปี (ไม่ใช่ทุก ๆ ปี) เพราะราคาสินค้าไม่ได้เพิ่มขึ้นทุกปีตามอัตราเงินเฟ้อ แต่จะเพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดด เช่น หมูปิ้งไม้ละ 5 บาท ไม่ได้เพิ่มเป็น 5.15 บาท (5 x 1.03) ในปีถัดไป แต่จะเพิ่มเป็น 7 บาทในอีกหลายปีถัดไป ดังนั้น เงินเฟ้อจะเป็นตัวคูณตั้งแต่ 1 คือ ถอนเงินเท่าเดิมในช่วงอายุ 60 - 64 ปี, 1.035 ในช่วงอายุ 65 - 69 ปี, 1.0310 ในช่วงอายุ 70 - 74 ปี,… ไปเรื่อย ๆ จนถึง 1.0325 ในช่วงอายุสุดท้าย คือ 85 - 89 ปี

 

  • ผลตอบแทนการลงทุนที่คาดหวัง แบ่งออกเป็น 2 ส่วน
    1. ผลตอบแทนที่คาดหวัง ใช้สำหรับช่วงถอนเงินออกมาใช้ ซึ่งต้องนำเงินไปไว้ในสินทรัพย์ลงทุนที่มีความเสี่ยงต่ำ เพื่อไม่ให้เกิด Sequence of Returns Risk ดังนั้น อาจใช้ผลตอบแทนที่คาดหวังเพียง 0.5% ต่อปีเท่านั้น
    2. ผลตอบแทนที่คาดหวังที่ใช้กับกองที่มีเวลาลงทุนนาน คือ เงินในกองที่ 2 ระยะเวลา 10 ปี และเงินในกองที่ 3 ระยะเวลา 20 ปี ซึ่งจะใช้อัตราผลตอบแทนคาดหวังเฉลี่ย 4% ต่อปีกับระยะเวลาลงทุน 10 ปี และ 6% กับระยะเวลาลงทุน 20 ปี เนื่องจากเป็นการลงทุนแบบครั้งเดียว (Lump Sum) จึงสามารถใช้ผลตอบแทนคงที่แทนผลตอบแทนเฉลี่ย ในการคำนวณด้วยทฤษฎีมูลค่าเงินตามเวลา (Time Value of Money : TVM) ได้
Inv_จัดการเงินหลังเกษียณด้วยกลยุทธ์เงิน 3 กอง_02

ด้วยการคำนวณตามทฤษฎีมูลค่าเงินตามเวลา สามารถคำนวณหาปัจจัยที่ใช้หาจำนวนเงินเกษียณจากค่าใช้จ่ายหลังเกษียณ (ปีแรก) ที่ต้องการ รวมทั้งสามารถหาจำนวนเงินที่ต้องใส่ในแต่ละกอง เพราะต้องแบ่งเงินเกษียณออกเป็น 3 กอง เพื่อนำเงินในแต่ละกองไปลงทุนตามความเสี่ยงที่วางแผนไว้ ดังนั้น จะบอกตัวเองได้ว่าจะถอนเงินออกจากแต่ละกองเป็นจำนวนเท่าใดในแต่ละปี เสมือนกับว่าได้กำหนดเงินเดือนหลังเกษียณให้กับตัวเอง

 

จากตัวอย่าง คำนวณออกมาได้ ดังนี้

กองทุนเกษียณ มีจำนวนเงิน 23.39R
    • กองที่ 1 สำหรับใช้ 10 ปีแรกในช่วง Go-Go มีจำนวนเงิน 10.27R
    • กองที่ 2 สำหรับใช้ 10 ปีที่ 2 ในช่วง Slow-Go มีจำนวนเงิน 8.37R
    • กองที่ 3 สำหรับใช้ 10 ปีสุดท้าย ในช่วง No-Go มีจำนวนเงิน 4.75R
Inv_จัดการเงินหลังเกษียณด้วยกลยุทธ์เงิน 3 กอง_03

ตัวอย่างเช่น

ปัจจุบันอายุ 40 ปี พิจารณาอย่างรอบด้านแล้วคาดว่าจะต้องมีเงินใช้หลังเกษียณเดือนละ 30,000 บาท (ปีละ 360,000 บาท) โดยวางแผนว่าจะเกษียณอายุ 60 ปี อยากรู้ว่าควรมีเงินกองทุนเกษียณ ณ วันเกษียณเป็นจำนวนเงินกี่บาท

 

เริ่มต้นจากคำนวณหาค่า R ซึ่งไม่ใช่ 360,000 บาท เพราะกว่าจะถึงวันเกษียณต้องรออีก 20 ปี ผลของเงินเฟ้อจะทำให้ค่าของเงินลดลง ดังนั้น จำนวนเงินที่ต้องการใช้จึงต้องเพิ่มขึ้นเป็น 360,000 x 1.0320 = 650,200 บาท (เงินเฟ้อเฉลี่ยประมาณการไว้ที่ 3% ต่อปี) เมื่อได้ค่า R (650,2000) ก็สามารถคำนวณหาทุกอย่างได้ ดังนี้

กองทุนเกษียณ ณ วันเกษียณ มีจำนวนเงิน 23.39 x 650,200 = 15,208,178 บาท
    • กองที่ 1 สำหรับใช้ในช่วง Go-Go มีจำนวนเงิน 10.27 x 650,200 = 6,677,554 บาท
    • กองที่ 2 สำหรับใช้ในช่วง Slow-Go มีจำนวนเงิน 8.37 x 650,200 = 5,442,174 บาท
    • กองที่ 3 สำหรับใช้ในช่วง No-Go มีจำนวนเงิน 4.75 x 650,200 = 3,088,450 บาท

 

อย่าลืมว่า หลังจากแบ่งเงินออกเป็น 3 กอง ต้องนำเงินแต่ละกองไปลงทุนในสินทรัพย์ลงทุนที่แตกต่างกัน คือ
    • กองที่ 1 ลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงต่ำ เช่น เงินฝาก และคาดหวังดอกเบี้ย 0.5% ต่อปี
    • กองที่ 2 ลงทุนในสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนเฉลี่ย 4% ต่อปี ภายในระยะเวลา 10 ปี
    • กองที่ 3 ลงทุนในสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนเฉลี่ย 6% ต่อปี ภายในระยะเวลา 20 ปี

 

เมื่อครบ 10 ปีแรก เงินในกองที่ 1 หากถูกถอนใช้จนหมดก็จะนำเงินในกองที่ 2 ซึ่งควรจะมีเงินจำนวน 8,055,746.96 บาท (5,442,174 x 1.0410 ) เพราะนำไปลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงต่ำเพื่อถอนออกมาใช้ในช่วง Slow-Go จนครบ 10 ปี และสมมติว่าเงินในกองที่ 2 ถูกถอนออกมาใช้จนหมด ก็จะใช้เงินกองที่ 3 ในช่วง No-Go ซึ่งเงินกองนี้ให้ผลตอบแทนเฉลี่ย 6% ต่อปีก็จะกลายเป็นเงินจำนวน 9,905,077.55 บาท (3,088,450 x 1.0620 ) ณ สิ้นปีที่ 20 และถอนออกมาใช้จนหมดภายใน 10 ปีสุดท้ายของแผนเกษียณ

Inv_จัดการเงินหลังเกษียณด้วยกลยุทธ์เงิน 3 กอง_04
จากกราฟด้านบน จะเห็นได้ว่าเงินที่สามารถถอนออกมาใช้จะเพิ่มขึ้นทุก ๆ 5 ปี ตามช่วงอายุ ดังต่อไปนี้
    • ช่วงอายุ 60 - 64 ปี ถอนใช้ปีละ R หรือปีละ 650,200 บาท
    • ช่วงอายุ 65 - 69 ปี ถอนใช้ปีละ 1.10131R หรือปีละ 716,072 บาท (1.10131 x 650,200)
    • ช่วงอายุ 70 - 74 ปี ถอนใช้ปีละ 1.20952R หรือปีละ 786,430 บาท (1.20952 x 650,200)
    • ช่วงอายุ 75 - 79 ปี ถอนใช้ปีละ 1.32427R หรือปีละ 861,040 บาท (1.32427 x 650,200)
    • ช่วงอายุ 80 - 84 ปี ถอนใช้ปีละ 1.44489R หรือปีละ 939,467 บาท (1.44489 x 650,200)
    • ช่วงอายุ 85 - 89 ปี ถอนใช้ปีละ 1.67502R หรือปีละ 1,089,098 บาท (1.67502 x 650,200)

 

หากรวมเงินที่ถอนออกมาใช้ทั้งหมดคิดเป็นจำนวนเงิน 25,211,535 บาท จากเงินเกษียณตั้งต้นจำนวน 15,208,178 บาท เพราะได้เงินส่วนเกินที่งอกเงยจากผลตอบแทน 4% ของกองที่ 2 และ 6% ของกองที่ 3 ประมาณ 10 ล้านบาท

 

การบริหารจัดการเงินลักษณะนี้ เป็นเรื่องที่คุ้นเคยเพราะก่อนเกษียณหากมีรายได้หรือเงินเดือนทุกเดือนจะมีการจัดการเงินในแต่ละเดือน หากไม่มีหลักคิดอาจสับสนว่าจะทำอย่างไรกับเงินเกษียณ จะถอนมาใช้จ่ายอย่างไร เพราะกังวลว่าเงินจะหมดก่อนสิ้นลมหายใจจึงส่งผลให้ไม่กล้าใช้เงิน ทำให้ไม่มีความสุขเท่าที่ควร หรือตรงกันข้ามอาจใช้เงินมากจนเกินไป เพราะไม่เคยมีเงินก้อนใหญ่ขนาดนี้ ทำให้เงินหมดก่อนเวลาอันควร

 

ด้วยวิธีการคำนวณดังกล่าวก็จะทำให้คนวัยเกษียณเข้าใจและรู้จักบริหารเงินก้อนสุดท้ายในชีวิต ที่สำคัญเมื่อเข้าใจก็จะกลับไปใช้ชีวิตแบบที่ตัวเองคุ้นเคย คือ มีเงินเดือนใช้ทุกเดือนและจะกล้าใช้เงินมากกว่ากังวลว่าเงินจะเหลือใช้ได้นานแค่ไหน


สำหรับผู้ที่สนใจ เรียนรู้เทคนิคและวิธีการบริหารจัดการเงินหลังเกษียณ เพื่อเตรียมพร้อมก้าวสู่ชีวิตหลังเกษียณอย่างมีความสุข สามารถเรียนรู้เพิ่มเติม ผ่าน e-Learning หลักสูตร “วางแผนการเงินหลังเกษียณ สไตล์วัยเก๋า” ได้ฟรี!!! >> คลิกที่นี่     

แท็กที่เกี่ยวข้อง: