แม้ว่าภาพรวมเศรษฐกิจโลกจะมีโอกาสฟื้นตัวได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น โดยวันที่ 30 มกราคมที่ผ่านมา กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ได้ออกรายงานแนวโน้มเศรษฐกิจโลกฉบับล่าสุด ซึ่งมีการปรับเพิ่มประมาณการเศรษฐกิจโลกในปีนี้ โดยคาดการณ์ว่าจะขยายตัวได้ 2.9% และมีมุมมองเชิงบวกต่อแนวโน้มเศรษฐกิจโลกมากขึ้น เนื่องจากปัจจัยภายในของหลายประเทศ เช่น เศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาที่ดีกว่าที่คาดการณ์ไว้ ขณะที่ยุโรปก็รับมือกับวิกฤติพลังงานได้ดีกว่าคาด รวมถึงการเปิดประเทศของจีนที่ช่วยหนุนให้เศรษฐกิจโลกขยายตัวดีขึ้น
อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจโลกก็ยังมีปัจจัยลบที่ต้องจับตาอย่างใกล้ชิด เช่น สงครามรัสเซียกับยูเครน อัตราเงินเฟ้อที่ยังอยู่ในระดับสูง และอัตราดอกเบี้ยที่เป็นขาขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้การลงทุนมีความผันผวนและรบกวนพอร์ตลงทุนเป็นระยะ ๆ ดังนั้น เพื่อรักษาอัตราผลตอบแทนและลดความเสี่ยง นักลงทุนต้องหากลยุทธ์ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่แตกต่างกัน โดยกลยุทธ์ที่เหมาะกับสถานการณ์ที่เต็มไปด้วยความไม่แน่นอน คือ การกระจายความเสี่ยงด้วยการลงทุนในหลากหลายสินทรัพย์และกระจายการลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพราะเมื่อเกิดความเสียหายจะได้ไม่สูญเสียเงินลงทุนทั้งหมดไป
เนื่องจากสินทรัพย์ลงทุนแต่ละประเภทจะให้ผลตอบแทนที่แตกต่างกันในแต่ละสถานการณ์ โดยในปีนี้มีการประเมินว่าการเติบโตของเศรษฐกิจโลกจะมีความแตกต่างกัน (Divergence) ระหว่างประเทศพัฒนาแล้วและประเทศกำลังพัฒนา ส่งผลให้ผลตอบแทนจากการลงทุนในแต่ละภูมิภาคหรือแต่ละประเทศจะแตกต่างกัน ดังนั้น การจัดพอร์ตลงทุนในลักษณะนี้จึงมีโอกาสได้รับผลตอบแทนที่ดี ขณะเดียวกันสามารถลดความผันผวนภายใต้สถานการณ์ที่แตกต่างกันได้
คำอธิบายเพิ่มเติม
จากตารางด้านบน แสดงอัตราผลตอบแทนและการเปลี่ยนแปลงของสินทรัพย์การลงทุนหลายประเภทในช่วงปี 2008 – 2022 พบว่าสินทรัพย์ประเภทเดียวกันจะให้ผลตอบแทนที่ไม่สม่ำเสมอ เช่น ปี 2008 ดัชนี ICE BofA US High Yield (HY Bnd) ให้ผลตอบแทนเฉลี่ยติดลบ (-26.4%) แต่ในปีถัดมากลับสร้างผลตอบแทนสูงกว่าสินทรัพย์อื่น ๆ (57.5%) หรือในปี 2021 REIT ให้ผลตอบแทนโดดเด่นที่สุด (41.3%) แต่ในปีถัดมาให้ผลตอบแทนต่ำที่สุด (-24.4%) เช่นเดียวกับกรณีการจัดพอร์ตลงทุน ในปี 2021 ให้ผลตอบแทน 10.9% แต่ในปีถัดมาติดลบ -16.50% เป็นต้น
สำหรับปัจจัยที่จะทำให้เกิดประสิทธิภาพจากการจัดพอร์ตลงทุนในหลากหลายสินทรัพย์และกระจายการลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศ คือ การกำหนดเป้าหมายที่แน่นอน เช่น หากนักลงทุนสามารถรับความเสี่ยงได้ต่ำ แต่ยังต้องการผลตอบแทนอยู่บ้าง ซึ่งผลตอบแทนจะอยู่ในระดับต่ำ ควรเลือกลงทุนในตราสารหนี้ โดยเน้นที่พันธบัตรรัฐบาลและหุ้นกู้ที่มีอันดับความน่าเชื่อถือระดับ Investment Grade
แต่หากต้องการผลตอบแทนที่ค่อนข้างแน่นอนและรับความเสี่ยงได้ปานกลาง ควรเลือกลงทุนกองทุนรวมตราสารหนี้ เช่น กองทุนที่มีนโยบายการลงทุนหุ้นกู้ที่มีอันดับความน่าเชื่อถือ Investment Grade กองทุนรวมหุ้นที่มีนโยบายลงทุนหุ้นที่จ่ายเงินปันผลสม่ำเสมอ หรือกอง REIT เป็นต้น และหากต้องการผลตอบแทนสูงและรับความเสี่ยงได้สูงเช่นกัน ก็ควรจัดพอร์ตลงทุนให้มีสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูง เช่น เน้นลงทุนในตลาดหุ้นที่ยังคงให้ผลตอบแทนในระดับที่น่าสนใจ และลงทุนหุ้นขนาดกลางและขนาดเล็ก เป็นต้น
เมื่อกำหนดเป้าหมายและเลือกสินทรัพย์ลงทุนแล้ว จากนั้นก็เลือกตลาดที่ยังคงให้ผลตอบแทนในระดับที่น่าสนใจ ซึ่งต้องศึกษาข้อมูลทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง ความหลากหลายของสินทรัพย์ลงทุนเพื่อประกอบการตัดสินใจ และเนื่องจากมีการลงทุนที่หลากหลายและทั่วโลก ดังนั้น เมื่อสถานการณ์เปลี่ยนแปลงก็ต้องคอยติดตามและปรับพอร์ตลงทุนให้สอดคล้องตามไปด้วย
หมายเหตุ : บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และใช้เพื่อสำหรับศึกษาเบื้องต้นเท่านั้น มิได้มีเจตนาในการชี้นำการลงทุนแต่อย่างใด นักลงทุนควรศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมและพิจารณาให้ดีก่อนตัดสินใจลงทุน
สำหรับนักลงทุนมือใหม่และผู้ที่สนใจ เรียนรู้วิธีการสร้างและบริหารพอร์ตหุ้นอย่างมืออาชีพ พร้อมเจาะลึกเทคนิคจัดทำแผนการลงทุนทั้งระยะสั้นและระยาว เพื่อสร้างพอร์ตลงทุนให้เติบโต สามารถเรียนรู้เพิ่มเติมผ่าน e-Learning หลักสูตร “Portfolio Strategy” ได้ฟรี!!! >> คลิกที่นี่