ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 13 กันยายน 2561 คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ประกาศว่าการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นภายในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2562 ตลาดหุ้นไทยตอบรับทันทีด้วยการปิดที่ 1,717.96 จุด เพิ่มขึ้นจากวันก่อนหน้า (วันที่ 12 กันยายน 2561) 38.57 จุด ด้วยปริมาณการซื้อขายหนาแน่นเกือบ 80,000 ล้านบาท จากแรงซื้อของนักลงทุนสถาบันและนักลงทุนต่างชาติ ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าการเมืองเป็นปัจจัยสำคัญประการหนึ่งต่อการลงทุน
ปัจจุบัน บรรยากาศการเลือกตั้งกำลังกลับมาอีกครั้ง เมื่อรัฐบาลกำลังจะครบวาระในวันที่ 23 มีนาคมที่จะถึงนี้ และจะมีการเลือกตั้งในวันที่ 7 พฤษภาคมปีนี้เช่นกัน หรือหากมีการยุบสภาก่อนรัฐบาลจะอยู่ครบวาระก็จะมีการเลือกตั้งเร็วขึ้น ซึ่งมีแนวโน้มจะส่งผลต่อบรรยากาศการลงทุนในตลาดหุ้นไทยด้วยเช่นกัน
สำหรับการตอบสนองของดัชนีหุ้นไทยในช่วงต้นปีนี้ ประเมินว่าจะยังไม่เห็นการเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจน เนื่องจากกําหนดการที่จะนําไปสู่การเลือกตั้งได้ถูกคาดหมายไว้ล่วงหน้าอยู่แล้ว แต่ปฏิกิริยาของตลาดหุ้นจะชัดเจนขึ้นอีกก็ต่อเมื่อสามารถคาดการณ์ได้ชัดเจนยิ่งขึ้นถึงผลการเลือกตั้งและหน้าตาของรัฐบาลใหม่ที่จะเกิดขึ้นว่าจะเป็นอย่างไร และมีเสถียรภาพมากน้อยแค่ไหน
หากนักลงทุนประเมินว่าการเลือกตั้งจะมีผลต่อการลงทุน ดังนั้นควรเตรียมแผนการลงทุนให้สอดคล้องกับบรรยากาศที่เหลือไม่เกินสามเดือน โดยจากผลการศึกษาผลตอบแทนตลาดหุ้นไทยช่วงก่อนและหลังวันเลือกตั้งที่ดีที่สุดในปี 2544 – 2562 พบว่าดัชนีหุ้นไทยมักให้ผลตอบแทนที่ดีในช่วง 3 เดือนก่อนการเลือกตั้งเฉลี่ย 3.90% รองลงมาได้แก่ ก่อนเลือกตั้ง 2 สัปดาห์ ให้ผลตอบแทนเฉลี่ย 2.09% ขณะที่หลังการเลือกตั้งไปแล้ว 1 สัปดาห์จะให้ผลตอบแทนเฉลี่ย 3.81% และหลังการเลือกตั้งผ่านไปแล้ว 2 สัปดาห์จะให้ผลตอบแทนเฉลี่ย 3.55%
สำหรับหุ้นกลุ่มที่มักจะให้ผลตอบแทนดีกว่าตลาดโดยรวมในช่วง 3 เดือนก่อนการเลือกตั้ง 5 อันดับแรก ได้แก่ กลุ่มไอซีที สื่อและสิ่งพิมพ์ พาณิชย์ อาหารและเครื่องดื่ม เงินทุนและหลักทรัพย์ โดยให้ผลตอบแทนเฉลี่ย 9.40%, 7.80%, 6.40%, 5.50% และ 5.20% ตามลำดับ
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ปัจจัยการเมืองจะมีผลต่อการลงทุน แต่ก็เป็นปัจจัยระยะสั้น ดังนั้น นักลงทุนควรเพิ่มความระมัดระวังในการลงทุน เพราะราคามีโอกาสที่จะปรับขึ้นลงอย่างรวดเร็ว จึงควรพิจารณาปัจจัยอื่น ๆ ที่อาจกดดันบรรยากาศการลงทุนร่วมด้วย เช่น ผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียน นโยบายการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย หรือปัจจัยภายนอกที่ถ่วงเศรษฐกิจโลก โดยให้พิถีพิถันในการเลือกหุ้น โดยเน้นหุ้นปัจจัยพื้นฐานแข็งแกร่งที่ราคายังปรับขึ้นไม่มาก
หมายเหตุ : บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และใช้เพื่อสำหรับศึกษาเบื้องต้นเท่านั้น มิได้มีเจตนาในการชี้นำการลงทุนแต่อย่างใด นักลงทุนควรศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมและพิจารณาให้ดีก่อนตัดสินใจลงทุน
สำหรับนักลงทุนมือใหม่และผู้ที่สนใจ เรียนรู้แนวทางการวิเคราะห์เศรษฐกิจมหภาคที่มีผลต่อการลงทุนรายกลุ่มอุตสาหกรรม พร้อมเจาะลึกเทคนิคในการจับจังหวะเปลี่ยนกลุ่มลงทุน เพื่อเพิ่มโอกาสทำกำไรจากการลงทุน สามารถเรียนรู้เพิ่มเติมผ่าน e-Learning หลักสูตร “Sector Rotation” ได้ฟรี!!! >> คลิกที่นี่