Gaming และ E-Sport กลายเป็นอุตสาหกรรมเมกะเทรนด์ที่มีการเติบโตอย่างรวดเร็วทั่วโลก เพราะสามารถตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของคนในยุคปัจจุบันที่ใช้เวลาการพักผ่อนไปกับการเล่นเกมมากขึ้น ทั้งบนสมาร์ทโฟน คอมพิวเตอร์ หรือ เครื่องเล่นเกมคอนโซล
ขณะเดียวกันในเชิงธุรกิจ ก็เกิดเป็นการแข่งขันชิงเงินรางวัลมูลค่ามหาศาล มีผู้ชมจำนวนมาก และสร้างอาชีพใหม่ขึ้นมามากมาย เช่น นักกีฬา E-Sport, โค้ช, Game Streamer, Game Caster, ผู้จัดการแข่งขัน, ร้านขายอุปกรณ์เล่มเกม ฯลฯ สะท้อนให้เห็นเลยว่าอุตสาหกรรมนี้กำลังเป็นที่นิยมขนาดไหน และยังมีศักยภาพที่จะเติบโตอย่างต่อเนื่อง
มีธุรกิจที่ได้รับประโยชน์จากการเติบโตของ Gaming และ E-Sport ครอบคลุมตั้งแต่ต้นน้ำ ได้แก่ บริษัทผู้พัฒนาเกม ผู้ผลิตชิ้นส่วนอุปกรณ์ไอที ไปจนถึงปลายน้ำ ได้แก่ ผู้จัดจำหน่ายอุปกรณ์ที่ใช้สำหรับเล่นเกม และผู้ดูแลจัดการแข่งขันเกมบนแพลตฟอร์มต่าง ๆ บทความนี้จะพาไปรู้จักหุ้นที่เกี่ยวกับเกมในตลาดหุ้นไทย
หุ้นเกมกลุ่ม Software
คือ บริษัทผู้พัฒนาเกม และผู้ที่ได้รับลิขสิทธิ์เกมจากต่างประเทศเข้ามาให้บริการหรือจัดจำหน่ายในประเทศไทย ยกตัวอย่างเช่น
AS : บริษัท เอเชียซอฟท์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ให้บริการเกมออนไลน์และเกมบนสมาร์ทโฟน ในประเทศไทยและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมีเกมที่ได้รับความนิยม เช่น Audition Online, Yulgang, ELYON SEA, Condor Heroes M, Cabal M เป็นต้น
YGG : บริษัท อิ๊กดราซิล กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ผู้ออกแบบคอมพิวเตอร์กราฟฟิกที่เกี่ยวกับงานโฆษณา ภาพยนตร์ และเกม รวมทั้งเป็นผู้พัฒนาเกมสัญชาติไทยชื่อดังอย่าง Home Sweet Home
หุ้นเกมกลุ่ม Hardware
คือ ผู้ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เช่น แผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ และชิปประมวลผลที่ใช้สำหรับคอมพิวเตอร์ สมาร์ทโฟน เครื่องเล่มเกม วีดีโอเกม และอุปกรณ์ไอทีต่าง ๆ เช่น
DELTA : บริษัทเดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) เน้นผลิตชิ้นส่วนที่เกี่ยวกับระบบจัดการไฟฟ้า ได้แก่ Power Electronics, Power Supply, Data Center และ EV Car
HANA : บริษัท ฮานา ไมโครอิเล็คโทรนิคส จำกัด (มหาชน) เน้นผลิตแผงวงจรอิเล็คทรอนิกส์ PCBA ที่ใช้ในอุปกรณ์สื่อสารโทรคมนาคม และสมาร์ทโฟนต่างๆ
KCE : บริษัท เคซีอี อีเลคโทรนิคส์ จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตแผ่นพิมพ์วงจรอิเล็กทรอนิกส์ PCB ซึ่งใช้ในการประกอบเครื่องคอมพิวเตอร์ และอุตสาหกรรมยานยนต์
SMT : บริษัท สตาร์ส ไมโครอิเล็กทรอนิกส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) รับจ้างผลิตและประกอบชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์สำเร็จรูป
TEAM : บริษัท ทีมพรีซิชั่น จำกัด (มหาชน) เน้นผลิตแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ PCBA ที่ใช้ในอุปกรณ์สื่อสารโทรคมนาคม และสมาร์ทโฟน รวมทั้งออกแบบผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์สำเร็จรูป
METCO : บริษัทมูราโมโต้ อีเล็คตรอน (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตชิ้นส่วนโลหะและพลาสติกของอุปกรณ์ที่ทำให้เกิดเสียงและภาพ
CCET : บริษัท แคล-คอมพ์ อีเล็คโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ในรูปแบบของ Electronics Manufacturing Services (EMS) ที่เกี่ยวข้องกับอุปกรณ์ประกอบคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์โทรคมนาคม
SVI : บริษัท เอสวีไอ จำกัด (มหาชน) ให้บริการประกอบผลิตภัณฑ์ประเภทวงจรไฟฟ้า และผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์สำเร็จรูปให้สินค้ากลุ่มอุปกรณ์สื่อสาร และสินค้าที่เกี่ยวข้องกับกล้องวงจรปิด
หุ้นเกมกลุ่ม Specialty Stores
คือ ผู้จัดจำหน่ายอุปกรณ์ไอทีที่เกี่ยวข้องกับเกม ไม่ว่าจะเป็น คอมพิวเตอร์ โน๊ตบุ๊ค แท็บเล็ต สมาร์ทโฟน อุปกรณ์ต่อพ่วง และอุปกรณ์เสริมต่าง ๆ ยกตัวอย่างเช่น
COM7 : บริษัท คอมเซเว่น จำกัด (มหาชน) เจ้าของร้าน BaNANA และ Studio7
CPW : บริษัท คอปเปอร์ ไวร์ด จำกัด (มหาชน) เจ้าของร้าน iStudio และ U-Store by copperwired, dotlife และร้านตัวแทนจำหน่ายสินค้า Xiaomi และ SAMSUNG
IT : บริษัท ไอที ซิตี้ จำกัด (มหาชน) เจ้าของร้าน IT City, CSC, ACE Gamer
JMART : บริษัท เจ มาร์ท จำกัด (มหาชน) เจ้าของร้าน Jaymart
SPVI : บริษัท เอส พี วี ไอ จำกัด (มหาชน) เจ้าของร้าน iStudio U-Store และ iBeat by SPVI
MSC : บริษัท เมโทรซิสเต็มส์คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน ตัวแทนจำหน่ายเครื่องคอมพิวเตอร์ โปรแกรมคอมพิวเตอร์
SVOA : บริษัท เอสวีโอเอ จำกัด (มหาชน) ตัวแทนจำหน่ายคอมพิวเตอร์ทั้งที่นำเข้าและมีฐานการผลิตภายใต้ชื่อทางการค้า SVOA
SYNEX : บริษัท ซินเน็ค (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ตัวแทนจำหน่ายคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์เสริมให้แก่ร้านค้าปลีกและค้าส่งทั่วประเทศ เจ้าของร้านอุปกรณ์เกม Nadz รวมถึงเป็นผู้ผลิตอุปกรณ์เกม ภายใต้แบรนด์ S-GEAR
TWZ : บริษัท ทีดับบลิวแซด คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ผู้ให้บริการต่างๆ เกี่ยวกับอุปกรณ์สื่อสารร้าน Telewiz
SIS : บริษัท เอสไอเอส ดิสทริบิวชั่น (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ตัวแทนจำหน่ายคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ไอทีให้กับผู้ผลิตชั้นนำ เช่น Asus, Acer, Brother, Dell, Hewlett Packard Enterprise, HP, Lenovo, Samsung เป็นต้น
หุ้นเกมกลุ่ม Tournament Organizer
คือ ผู้จัดการแข่งขันเกม E-Sport บนแพลตฟอร์มต่าง ๆ ซึ่งได้รับลิขสิทธิ์การเผยแพร่และถ่ายทอดสด เพื่อนำไปขยายโอกาสทางธุรกิจด้วยการทำการตลาดในรูปแบบต่าง ๆ ยกตัวอย่างเช่น
GPI : บริษัท กรังด์ปรีซ์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) ผู้ได้รับลิขสิทธิ์จัดการแข่งขันเกมแข่งรถเสมือนจริง Gran Turismo Sport (GT Sport)
PLANB : บริษัท แพลน บี มีเดีย จำกัด (มหาชน) ผู้ได้รับลิขสิทธิ์จัดการแข่งขันเกมฟุตบอล eFootball PES ภายใต้ทัวร์นาเมนต์ E-League Thailand และจัดการแข่งขันเกมดริฟต์รถ KartRider Rush+
OTO : บริษัท วันทูวัน คอนแทคส์ จำกัด (มหาชน) ร่วมลงทุนในธุรกิจเกมและอีสปอร์ตผ่าน Platform HUBBER ซึ่งได้รับสิทธ์ดูแลจัดการแข่งขัน ROV D1 Tournament
วิเคราะห์หุ้นเกม ต้องรู้อะไร?
เกมเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่เติบโตก้าวกระโดด ข้อมูลจากบริษัทวิจัยตลาดเกมระดับโลก ระบุว่า ในปี 2567 ตลาดเกมทั่วโลกจะมูลค่าสูงถึง 222.6 พันล้านดอลลาร์ และสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องที่อัตรา CAGR 5.6% ต่อปี (ปี 2560 – 2567)
ที่มา: newzoo 2022 Global Games Market
ปัจจัยสำคัญที่หนุนให้อุตสาหกรรมเกมโดดเด่น เนื่องจากการพัฒนาของสมาร์ทโฟนที่ทำให้คนเข้าถึงเกมง่ายขึ้น เกมถูกผลิตออกมาหลากหลายรูปแบบ ตอบโจทย์คนเล่นในวงกว้าง ประกอบกับการเติบโตของ E-Sport ที่แทรกซึมเข้ามาเป็นสื่อบันเทิงหลักของคนยุคนี้ รวมทั้งการระบาดของโควิด-19 ที่ผ่านมา ทำให้การเล่นเกมเป็นหนึ่งกิจกรรมยอดฮิจเมื่อต้องอยู่บ้าน จึงเกิดโมเดลธุรกิจใหม่ ๆ ที่เกี่ยวกับข้องกับเกมออกมามากมาย
2. การแข่งขันทางธุรกิจที่รุนแรง
เกมเป็นหนึ่งในธุรกิจที่มีการเปลี่ยนแปลงเร็วที่สุดในยุคนี้ และมีการแข่งขันที่รุนแรง เนื่องด้วยเป็นธุรกิจใหม่ที่ไม่ได้มี barrier to entry โดยจะเห็นว่ากลุ่มผู้พัฒนาเกมมีการนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ มาปรับใช้ตลอดเวลา เช่น AR, VR, Cloud Gaming, Metaverse และ NFT เป็นต้น ซึ่งในแง่หนึ่งก็ทำให้ธุรกิจนี้พัฒนาไปข้างหน้า สามารถเติมเต็มประสบการณ์ของผู้บริโภคได้ดียิ่งขึ้น แต่อีกแง่ก็เกิดการ disrupt กันเองของผู้ประกอบการในอุตสาหกรรม
มองมาที่กลุ่มร้านค้าปลีกสินค้าไอที ก็มีการแข่งขันด้านการตลาดที่ค่อนข้างรุนแรงเช่นกัน เพราะส่วนมากแล้วไม่ได้มีผลิตภัณฑ์เป็นของตัวเอง จึงต้องเน้นกลยุทธ์ด้านราคาเพื่อรักษาส่วนแบ่งตลาด เช่น โปรโมชันส่วนลด รวมถึงการเพิ่มช่องทางจัดจำหน่ายในรูปแบบ Online ควบคู่กับ Offline (Omni-channel) ให้เข้าถึงผู้บริโภคมากที่สุด
3. โมเดลการสร้างรายได้
ถึงจะเป็นหุ้นที่เกี่ยวกับเกมเหมือนกัน แต่โมเดลธุรกิจของแต่ละบริษัทค่อนข้างแตกต่างทีเดียว เพราะมีทั้งกลุ่มที่สร้างรายได้จากตัวเกมเป็นหลัก อย่างบริษัทผู้พัฒนาเกมและผู้จัดทัวนาเมนต์การแข่งขัน เมื่อเกมได้รับความนิยม รายได้ก็จะสูงขึ้นตาม ซึ่งอาจจะมาจากยอดขาย ยอดดาวน์โหลดเกม การขายไอเทมในเกม (in-app purchase) ยอด subscription ที่เป็น recurring revenue จากผู้เล่นประจำ และการขายโฆษณา เป็นต้น
ส่วนกลุ่มที่เน้น Hardware อย่างผู้ผลิตชิปหรือร้านค้าปลีก รายได้อาจจะไม่ได้ยึดโยงกับตัวเกมมากนัก แต่จะเติบโตตามแนวโน้มอุตสาหกรรมเป็นหลัก ทั้งนี้ นักลงทุนควรศึกษารายละเอียดว่าบริษัทที่เราสนใจมีรายได้จากส่วนไหนบ้าง เป็นสัดส่วนเท่าไหร่ มาร์จินมากน้อยแค่ไหน
4. ความถูกความแพงของราคาหุ้น
เกมและเทคโนโลยีเป็นธุรกิจที่ตลาดคาดหวังถึงศักยภาพการเติบโตในอนาคต จุดที่ต้องระวังของหุ้นกลุ่มนี้ก็คือเรื่องการให้มูลค่า (Valuation) ของราคาหุ้นที่อาจกระโดดไปค่อนข้างไกลกว่าพื้นฐานที่แท้จริง เพราะฉะนั้น ควรพิจารณาความถูกแพงของราคาหุ้นอยู่เสมอ
เริ่มง่าย ๆ ด้วยการดูอัตราส่วนทางการเงินของบริษัท และการประเมินตามบทวิเคราะห์ต่าง ๆ ได้แก่ Price to Earning (P/E) เป็นอัตราส่วนเปรียบเทียบระหว่างราคาหุ้นหารด้วยกำไรสุทธิต่อหุ้น ซึ่งบอกจุดคุ้มทุนให้กับนักลงทุนได้ ยิ่ง P/E ต่ำ แปลว่าหุ้นมีราคาถูก ลงทุนแล้วทุนคืนเร็ว
แต่ธรรมชาติของหุ้นเกมที่ถูกจัดว่าเป็น Growth Stock มักมี P/E สูง เพราะตลาดคาดหวังแนวโน้มของกำไรที่เติบโต เราจึงต้องดูด้วยว่า P/E แพงเกินกว่าอัตราการเติบโตของกำไรหรือไม่ โดยใช้อัตราส่วน PEG Ratio พิจารณาควบคู่ ซึ่งเป็นวิธีที่เรียบง่ายไม่ซ้ำซ้อน คือ คาดว่าบริษัทจะมีกำไรเติบโตเท่าไหร่ ก็ไม่ควรซื้อหุ้นที่ราคาแพงกว่านั้น เช่น หุ้นจะมีกำไรเติบโต 20% ต่อปี P/E ก็ไม่ควรเกิน 20 เท่า
ธุรกิจเกมถือว่าเป็น Sunrise ที่ยังคงฉายแสงต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี ในการค้นหาตัวเลือกการลงทุนที่ดีที่สุดนั้น นักลงทุนควรพิจารณาปัจจัยต่าง ๆ รอบด้าน ไม่ว่าจะเป็นอัตราส่วนทางการเงินอื่น ๆ ที่สำคัญอย่างละเอียด เพื่อเปรียบเทียบกับบริษัทในอุตสาหกรรมเดียวกัน รวมทั้งอ่านบทวิเคราะห์การลงทุนเพื่อคัดกรองหุ้นพื้นฐานดีที่มีโอกาสเติบโต
สุดท้ายนี้หากนักลงทุนสนใจเริ่มต้นลงทุนในหุ้นกลุ่มต่าง ๆ และต้องการข้อมูลเพื่อนำไปวิเคราะห์เชิงลึก ตลาดหลักทรัพย์ฯ นักลงทุนสามารถสมัครใช้บริการ SETSMART ได้เพียงราคา 250 บาทต่อเดือน คลิกที่นี่
นอกจากนี้ นักลงทุนยังสามารถค้นหาข้อมูลหุ้นที่น่าสนใจแบบครบทุกมิติจากบทวิเคราะห์หลักทรัพย์ คลิกที่นี่
Disclaimer : ข้อมูลบริษัทจดทะเบียนที่ปรากฏนี้เป็นเพียงการนำเสนอข้อมูลในอีกรูปแบบหนึ่งเพื่อให้ผู้ลงทุนสามารถเข้าใจได้ง่ายขึ้นโดยการอิงกับไลฟ์สไตล์ (Lifestyle Based) หรือกระแส (Trend) ซึ่งรวบรวมมาจากข้อมูลที่เผยแพร่ผ่านช่องทางของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (“ตลาดหลักทรัพย์ฯ”) อย่างไรก็ตาม ตลาดหลักทรัพย์ฯ ไม่รับรองความถูกต้องครบถ้วน หรือความเป็นปัจจุบันของข้อมูลดังกล่าวรวมทั้งไม่ได้ให้คำแนะนำเกี่ยวกับการลงทุนใด ๆ ในหลักทรัพย์ของบริษัทจดทะเบียน และตลาดหลักทรัพย์ฯ ไม่ต้องรับผิดชอบในความเสียหายหรือสูญหายจากการนำข้อมูลที่ปรากฏนี้ไปใช้ในทุกกรณี