เคล็ดวิชาป้องกันความเสี่ยง เมื่อค่าเงินผันผวน

โดย รัฐศรัณย์ ธนไพศาลกิจ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายหลักทรัพย์ต่างประเทศและฟิวเจอร์ส บล.บัวหลวง
3 Min Read
8 กุมภาพันธ์ 2566
4.303k views
Inv_เคล็ดวิชาป้องกันความเสี่ยง เมื่อค่าเงินผันผวน_Thumbnail
Highlights
  • เมื่อค่าเงินบาทยังมีความผันผวนต่อเนื่อง ผู้ประกอบการส่งออกหรือแม้แต่นักลงทุนรายย่อยที่ต้องการป้องกันความเสี่ยงจากการลงทุนในต่างประเทศ รวมถึงต้องการเก็งกำไรในค่าเงิน ก็ต้องมองหาเครื่องมือทางการเงินเพื่อป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน หนึ่งในเครื่องมือที่ได้รับความนิยม คือ สัญญาซื้อขายดอลลาร์ล่วงหน้า (USD Futures) ในตลาดอนุพันธ์ (TFEX)

  • USD Futures สามารถใช้ป้องกันความเสี่ยงหรือใช้เก็งกำไรจากการเปลี่ยนแปลงของอัตราแลกเปลี่ยนได้ โดยเป็นการทำสัญญาซื้อหรือขายเงินดอลลาร์ล่วงหน้าตามราคาที่ผู้ซื้อและผู้ขายตกลงกัน คล้ายกับการทำสัญญา Forward แต่การซื้อขายจะทำผ่าน TFEX แบบเรียลไทม์ แทนที่จะเป็นการซื้อขายกับธนาคารพาณิชย์เหมือนสัญญา Forward ทั่วไป

การเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทต่อดอลลาร์สหรัฐในปี 2565 ถือว่าเป็นปีที่ผันผวนสูงมากพอสมควร โดยช่วงต้นปีค่าเงินบาททำจุดแข็งค่าสูงสุดของปีบริเวณ 32.07 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ก่อนที่เดือนมีนาคมจะอ่อนค่าลง หลังธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา (เฟด) ได้ปรับเปลี่ยนนโยบายการเงินเป็นแบบเข้มงวดเพื่อต่อสู้กับเงินเฟ้อที่พุ่งขึ้น โดยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างต่อเนื่องจากระดับ 0 – 0.25% เป็น 4.25 – 4.50% ขณะที่การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ไม่ได้เร่งปรับขึ้นแรงเหมือนเฟด เนื่องจากเศรษฐกิจไทยยังฟื้นตัวค่อนข้างช้า ส่งผลให้เงินบาทอ่อนค่าลงและทำจุดสูงสุดของปีบริเวณ 38.45 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ

 

อย่างไรก็ดี ช่วงเดือนพฤศจิกายน 2565 หลังจากเฟดส่งสัญญาณไม่เร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเหมือนในช่วงก่อนหน้า เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯ เริ่มชะลอตัวอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ปัจจัยภายในประเทศของไทยที่ภาคการท่องเที่ยวกลับมาคึกคักและเป็นเครื่องจักรสำคัญต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ทำให้ค่าเงินบาทพลิกกลับมาแข็งค่าและปิด ณ สิ้นปี 2565 ที่ 34.61 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ

Inv_เคล็ดวิชาป้องกันความเสี่ยง เมื่อค่าเงินผันผวน_01

การเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทที่มีความผันผวนค่อนข้างสูงดังกล่าว ส่งผลต่อผู้นำเข้าและส่งออกหรือผู้ประกอบการที่เผชิญความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน รวมถึงผู้ที่ลงทุนในต่างประเทศ ดังนั้น การบริหารความเสี่ยงจึงจำเป็นและสามารถทำได้หลายทาง เช่น การทำสัญญาซื้อขายเงินตราต่างประเทศล่วงหน้า (Forward) กับธนาคารพาณิชย์ หรือการใช้เครื่องมือ USD Futures (สัญญาระหว่างผู้ซื้อกับผู้ขายในการซื้อขายหรือแลกเปลี่ยนเงินดอลลาร์สหรัฐ) ที่เป็นสินค้าที่เทรดอยู่ในตลาดอนุพันธ์ (TFEX)

 

โดยในปี 2565 ปริมาณการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันของ USD Futures อยู่ที่ 41,736 สัญญา ปรับเพิ่มขึ้น 195% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า หรือคิดเป็นมูลค่าสัญญาราว 1,400 ล้านบาท (อ้างอิงค่าเงินบาท ณ สิ้นปี 2565 ที่ 34.61 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ) เมื่อเทียบกับมูลค่าสัญญาปี 2564 ที่มีเพียง 480 ล้านบาท (อ้างอิงค่าเงินบาท ณ สิ้นปี 2564 ที่ 33.26 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ) ซึ่งด้วยมูลค่าสัญญาที่สูงขึ้นชี้ถึงสภาพคล่องที่เพิ่มขึ้นมาก ทำให้ธุรกิจขนาดใหญ่ ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมสามารถใช้ในการป้องกันความเสี่ยงได้สะดวกมากขึ้น

 

สำหรับเศรษฐกิจไทยในปีนี้ มีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมา จากการประมาณการเศรษฐกิจ ณ เดือนพฤศจิกายน 2565 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2566 จะเติบโตราว 3.7% ด้วยแรงหนุนสำคัญจากภาคการท่องเที่ยวที่คาดว่าจะมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศประมาณ 22 ล้านคน ซึ่งถือเป็นเครื่องยนต์สำคัญที่จะช่วยให้เศรษฐกิจไทยเติบโต รวมทั้งการบริโภคภาคเอกชนที่คาดว่าจะขยายตัว 3.4% เนื่องจากการฟื้นตัวของรายได้และความเชื่อมั่นของผู้บริโภค อีกทั้งการลงทุนภาคเอกชนที่คาดว่าจะโต 3.4% น่าจะช่วยชดเชยภาคการส่งออกที่ได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกและรับผลจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย โดย ธปท. คาดว่าการส่งออกของไทยในปีนี้จะขยายตัวเพียง 1%

 

ขณะที่แนวโน้มค่าเงินบาทต่อดอลลาร์สหรัฐในปีนี้ยังมีทิศทางแข็งค่าจากภาคการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวดังที่กล่าวข้างต้น ซึ่งจะผลักดันให้ดุลบัญชีเดินสะพัดกลับมาเป็นบวก รวมทั้งกระแสเงินทุนทั้งภาคตลาดหุ้น ตลาดพันธบัตร และตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่มีแนวโน้มว่าจะไหลเข้าต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมา เนื่องจากเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มที่โดดเด่นเมื่อเทียบกับประเทศที่พัฒนาแล้ว

 

โดยจากปี 2565 พบว่ากระแสเงินทุนมีเข้ามาทั้งในตลาดหุ้นและตลาดพันธบัตรเกือบ 2.5 แสนล้านบาท และถือเป็นปีแรกในช่วง 5 ปีสำหรับกระแสเงินทุนในตลาดหุ้น (ดังตารางด้านล่างนี้) นอกจากนี้ นโยบายการเงินของเฟดก็ส่งสัญญาณชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ประกอบกับธนาคารแห่งประเทศไทยที่อาจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีกประมาณ 0.75% ในปีนี้ ซึ่งปัจจัยทั้งหมดล้วนสนับสนุนค่าเงินบาทให้มีแนวโน้มแข็งค่า แม้ว่าในระยะสั้นอาจมีโอกาสอ่อนค่าได้บ้างจากการที่แข็งค่ามาอย่างรวดเร็วในช่วงเวลาไม่กี่เดือนที่ผ่านมา

Inv_เคล็ดวิชาป้องกันความเสี่ยง เมื่อค่าเงินผันผวน_02

ด้วยเหตุนี้ USD Futures ถือเป็นอีกเครื่องมือหนึ่งที่ผู้เกี่ยวข้องกับอัตราแลกเปลี่ยนสามารถนำมาใช้ในการป้องกันความเสี่ยงจากค่าเงินบาทที่ผันผวนสูงได้ ซึ่งผู้ส่งออกที่เป็นผู้เสียประโยชน์จากแนวโน้มค่าเงินบาทที่แข็งค่าสามารถขาย (Short) USD Futures เพื่อที่จะนำกำไรจาก Futures มาชดเชยกับการแลกเปลี่ยนเงินดอลลาร์เป็นเงินบาทได้น้อยลงในอนาคต เพราะถ้าธุรกิจไม่โอนความเสี่ยงดังกล่าวออกไป อาจส่งผลให้ธุรกิจเผชิญความเสียหายในอนาคตได้

 

ตัวอย่าง การป้องกันความเสี่ยงอย่างง่าย (ไม่รวมค่าธรรมเนียมการซื้อขาย)

ผู้ส่งออกขายสินค้ามูลค่า 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และจะได้รับเงินในอีก 1 เดือนข้างหน้า โดยที่ USD Futures ซื้อขายที่ 34 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ เพื่อเป็นการป้องกันความเสี่ยงจากการที่อัตราแลกเปลี่ยนในอนาคตแข็งค่า ผู้ส่งออกจึงทำการขาย (Short) USD Futures เพื่อป้องกันความเสี่ยงจำนวน 1,000 สัญญา (1 สัญญา มีขนาด 1,000 ดอลลาร์สหรัฐ)  

 

  • สมมติค่าเงินบาทในอีก 1 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ 33 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ
ผู้ส่งออกจะขายเงินดอลลาร์ได้ที่ 33 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ และจะได้รับเงินบาทมาจำนวน 33 ล้านบาท แต่จะได้กำไรจากการขาย (Short) Futures [(34-33) * 1,000 * 1,000] เท่ากับ 1 ล้านบาท ดังนั้น ผู้ส่งออกจะได้กำไรจาก Futures 1 ล้านบาท บวกกับการขายเงินดอลลาร์อีก 33 ล้านบาท สุทธิจะได้เงินทั้งหมด 34 ล้านบาท ซึ่งจะเท่ากับราคา 34 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ที่ขาย (Short) Futures

 

  • สมมติว่าค่าเงินบาทไม่ได้แข็งค่าอย่างที่คาด แต่กลับอ่อนค่าไปที่ 35 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ

ผู้ส่งออกจะขายเงินดอลลาร์ได้ที่ 35 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ และจะได้รับเงินบาทมาจำนวน 35 ล้านบาท แต่จะขาดทุนจากการขาย (Short) Futures [(34-35) * 1,000 * 1,000] ขาดทุน 1 ล้านบาท ดังนั้น ผู้ส่งออกจะขาดทุนจาก Futures 1 ล้านบาท แต่สามารถขายเงินดอลลาร์ได้ที่ 35 ล้านบาท สุทธิจะได้เงินทั้งหมด 34 ล้านบาท ซึ่งจะเท่ากับราคา 34 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ที่ขาย (Short) Futures

 

สำหรับผู้ที่สนใจ สามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ USD Futures ได้ที่ >> คลิกที่นี่

 

หมายเหตุ : บทความนี้เพื่อใช้สำหรับศึกษาเบื้องต้นเท่านั้น มิได้มีเจตนาในการชี้นำการลงทุนแต่อย่างใด นักลงทุนควรศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนตัดสินใจลงทุน


สำหรับนักลงทุนมือใหม่และผู้ที่สนใจ เรียนรู้กลยุทธ์การลงทุนใน Futures ทั้งกลยุทธ์การเก็งกำไร กลยุทธ์การถัวความเสี่ยง กลยุทธ์การค้ากำไร ตลอดจนข้อควรระวัง สามารถเรียนรู้เพิ่มเติมผ่าน e-Learning หลักสูตร “รอบรู้กลยุทธ์ลงทุน Futures” ได้ฟรี!!! >> คลิกที่นี่

แท็กที่เกี่ยวข้อง: