นักลงทุนทุกท่านน่าจะรู้จักคุณปู่ วอร์เรน บัฟเฟตต์ (Warren Buffett) นักลงทุนที่มั่งคั่งจากการลงทุนในหุ้นที่สุดคนหนึ่งของโลก เขาเพิ่งจะฉลองวันเกิดอายุครบ 91 ปีเต็มไปหมาด ๆ เมื่อวันที่ 30 สิงหาคมที่ผ่านมา ซึ่งนักลงทุนทั่วโลกต่างยอมรับว่าเขา คือ เจ้าพ่อตลาดหุ้นที่เน้นลงทุนแบบเน้นคุณค่า โดยบัฟเฟตต์เริ่มทำการซื้อขายหุ้นตั้งแต่อายุ 11 ขวบ จนมาถึงวันนี้ก็ผ่านเหตุการณ์และวิกฤติต่าง ๆ มามากมาย จึงมีหลายคนพากันสงสัยว่าเขาสามารถพยากรณ์ตลาดหุ้นได้และทำได้อย่างแม่นยำจริงหรือไม่ ถ้าทำได้จริงเขาใช้อะไรในการพยากรณ์
สิ่งที่บัฟเฟตต์ใช้พยากรณ์ตลาดหุ้นนั้น ไม่มีสูตรสำเร็จแต่อย่างใด แต่สิ่งที่ทำ คือ การสร้างความคาดหวัง (ไม่ใช่คำแนะนำในการซื้อขาย) โดยการคาดการณ์ตลาดหุ้นจากตัวเลขทางเศรษฐกิจ นั่นคือ คาดการณ์การเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ หรือ GDP ต่อปี ซึ่งสามารถคาดการณ์ได้ว่าจะเติบโตในอัตราเท่าไร จากนั้นก็นำมารวมกับอัตราเงินเฟ้อที่ประมาณการขึ้นและบวกกับอัตราผลตอบแทนจากเงินปันผลของหุ้นตัวนั้น
โดยหากลองนำตัวเลขของบัฟเฟตต์มาแทนค่าการเติบโตของตลาดหุ้นในแต่ละปี การคาดการณ์ที่ได้จะเท่ากับอัตราการเติบโตของ GDP ต่อปี คือ 3% + อัตราเงินเฟ้อที่ประมาณการไว้ที่ 2% เขาจึงคาดการณ์ว่าก่อนจะรวมกับอัตราผลตอบแทนจากเงินปันผล ตลาดหุ้นจะเติบโตราว 5%
เพราะเขาเชื่อว่าท้ายที่สุดแล้วผลกำไรจะผลักดันราคาหุ้นมากกว่าการเติบโตของ GDP ตัวอย่างเช่น การเติบโตของ GDP ที่แท้จริงในแต่ละปี ในช่วงปี 2010 นั้นเฉลี่ยอยู่ที่ 2.3% ในขณะที่ผลกำไรรวมสำหรับบริษัทใน S&P 500 เพิ่มขึ้นเป็นสองเท่า สะท้อนให้เห็นว่านักลงทุนตอบสนองต่อข่าวล่าสุดไม่ใช่อดีตก่อนหน้า
จากการทดสอบย้อนหลังเพื่อดูว่าสูตรการพยากรณ์ของบัฟเฟตต์ เมื่อเทียบกับอัตราผลตอบแทนจากเงินปันผลของหุ้นขนาดใหญ่ (Large Cap.) ในสหรัฐอเมริกาตั้งแต่ปี 1930 – 2018 มีผลลัพธ์ออกมา ดังนี้
อัตราผลตอบแทนจากเงินปันผลของหุ้นขนาดใหญ่ในสหรัฐอเมริกาปี 1930 อยู่ที่ระดับ 3.58% บวกด้วย 5% สำหรับการเติบโตของ GDP และอัตราเงินเฟ้อ ทำให้คาดการณ์ผลตอบแทนรวมอยู่ที่ประมาณ 8.58% ซึ่งจากภาพด้านบน พบว่าการพยากรณ์ตลาดหุ้นด้วยสูตรของบัฟเฟตต์ที่ใช้การเติบโตของ GDP บวกด้วยอัตราเงินเฟ้อและอัตราผลตอบแทนจากเงินปันผลที่เกิดขึ้นจริงในปี 1930 – 2018 มีประสิทธิภาพดี แต่ก็ยังไม่ได้ดีที่สุด เนื่องจากการพยากรณ์ด้วยสูตรของเขานั้นได้ผลตอบแทนรวมต่ำกว่าตลาดราว 1.35%
ความแตกต่างที่เกิดขึ้นเกิดจากการคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อที่ต่ำไป เพราะบัฟเฟตต์คาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะเติบโตที่ระดับ 2% ต่อปี แต่ในช่วง 89 ปีนั้น อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 3.13% ส่งผลให้ราคาหุ้นพุ่งขึ้น 1.13% แต่หากอัตราเงินเฟ้อที่เกิดขึ้นจริงอยู่ประมาณ 2% ว่ากันว่าการพยากรณ์ของบัฟเฟตต์เกือบจะตรงกับความเป็นจริงทุกประการ
ต่อมามีผู้นำวิธีการของบัฟเฟตต์ไปทดสอบผลตอบแทนในช่วงระยะเวลา 30 ปี (ปี 1930 – 2018) โดยเส้นสีแดง คือ ผลตอบแทนที่บัฟเฟตต์ทำได้ ส่วนเส้นสีน้ำเงิน คือ ผลตอบแทนจากการทดสอบตามสูตรของบัฟเฟตต์ เพียงแต่การทดสอบได้เปลี่ยนตัวเลขอัตราเงินเฟ้อในบางปี เช่น 1940 – 1950 ได้ใส่ตัวเลขอัตราเงินเฟ้อในอนาคตที่สูงเกินจริง ทำให้ผลตอบแทนสูงกว่าที่เกิดขึ้นจริง หรือบางปีใส่ตัวเลขต่ำเกินไป ผลตอบแทนก็ลดต่ำลงตามไปด้วย
มาถึงตรงนี้ นักลงทุนจะเห็นถึงวิธีการพยากรณ์ตลาดหุ้นของบัฟเฟตต์ และพบว่าเป็นวิธีคาดการณ์ผลตอบแทนได้ค่อนข้างแม่นยำและที่สำคัญไม่ได้ซับซ้อนแต่อย่างใด ดังนั้น นักลงทุนสามารถนำวิธีการนี้ไปปรับใช้เพื่อคาดการณ์ผลตอบแทนได้ด้วยเช่นกัน และสามารถเลือกลงทุนในตลาดหุ้นที่มีโอกาสสร้างผลตอบแทนที่ดีที่สุดได้อีกด้วย อย่างไรก็ตาม ขึ้นชื่อว่าการลงทุนย่อมมีความเสี่ยง นักลงทุนควรศึกษาข้อมูลให้ละเอียดถี่ถ้วนก่อนตัดสินใจลงทุน
หมายเหตุ : บทความนี้เพื่อใช้สำหรับศึกษาเบื้องต้นเท่านั้น มิได้มีเจตนาในการชี้นำการลงทุนแต่อย่างใด นักลงทุนควรศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนตัดสินใจลงทุน
สำหรับนักลงทุนและผู้ที่สนใจ เรียนรู้วิธีการดูหุ้นถูก หุ้นแพง ด้วยวิธีการประเมินมูลค่าหุ้นยอดฮิต เช่น P/E Ratio และ P/BV Ratio เพื่อหาราคาที่เหมาะสมในการตัดสินใจลงทุน สามารถเรียนรู้เพิ่มเติม ผ่าน e-Learning หลักสูตร “Stock Valuation : Relative Valuation” ได้ฟรี!!! >> คลิกที่นี่
หรือสนใจเรียนรู้กระบวนการและเทคนิคในการประเมินมูลค่าหุ้นด้วยวิธีคิดลดกระแสเงินสดที่ธุรกิจจะได้รับในอนาคตมาประยุกต์ใช้ในการคำนวณมูลค่าหุ้น เพื่อคัดเลือกหุ้นดี ราคาเหมาะสมเข้าพอร์ตลงทุนได้ สามารถเรียนรู้เพิ่มเติม ผ่าน e-Learning หลักสูตร “Stock Valuation : DCF” ได้ฟรี!!! >> คลิกที่นี่