หุ้นปิโตรเลียมและปิโตรเคมี ธุรกิจใกล้ตัวมากกว่าที่คิด

โดย SET
5 Min Read
30 มกราคม 2566
10.996k views
SET-หุ้นปิโตรเคมี-1200x660
In Focus

ปิโตรเลียมและผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีต่าง ๆ ล้วนแต่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของเราแทบทั้งนั้น และอาจจะอยู่ใกล้ตัวมากกว่าที่หลายคนคิด วันนี้เราจะพาทุกคนไปรู้จักหุ้นที่อยู่ในอุตสาหกรรมนี้กันครับ

          ปิโตรเลียมและปิโตรเคมี ถือว่าเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญต่อตลาดหุ้นไทย ด้วยมูลค่าการตลาดที่สูง และมีบริษัทจดทะเบียนขนาดใหญ่หลายแห่ง แต่เชื่อว่าหนึ่งใน pain point ของนักลงทุนหลายคนก็คือการมองว่าหุ้นปิโตรเลียมและปิโตรเคมีเป็นอะไรที่เข้าใจยาก ธุรกิจมีความซับซ้อนสูง แถมเต็มไปด้วยชื่อผลิตภัณฑ์เฉพาะทาง จนทำให้รู้สึกว่าไกลตัวเกินไป

 

อย่างไรก็ตาม ความจริงแล้วปิโตรเลียมและผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีต่าง ๆ ล้วนแต่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของเราแทบทั้งนั้น และอาจจะอยู่ใกล้ตัวมากกว่าที่หลายคนคิด

 

ปิโตรเลียมและปิโตรเคมีคืออะไร มาจากไหน?

 

          ก่อนอื่นอยากพาทุกคนไปทำความรู้จักที่มาที่ไปก่อนว่าปิโตรเลียมและปิโตรเคมีคืออะไร แตกต่างกันอย่างไร และมีลักษณะการดำเนินธุรกิจเป็นอย่างไรบ้าง?

 

          ปิโตรเลียม คือ สารไฮโดรคาร์บอนที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ จากการทับทับและแปรสภาพของซากสิ่งมีชีวิตทั้งพืชและสัตว์จำนวนมาก โดยสามารถแบ่งปิโตรเลียมได้ 2 ชนิด คือ น้ำมันดิบ (Crude Oil) และก๊าซธรรมชาติ (Natural Gas)

 

          ปิโตรเคมี คือ สารเคมีที่ได้มาจากการนำปิโตรเลียมอย่างน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติ ที่ผ่านกระบวนการของโรงกลั่นและโรงแยกก๊าซ โดยทำปฎิกิริยาเคมีจนได้เป็นผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีหลากหลายชนิด เพื่อนำไปเป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมการผลิตต่าง ๆ มากมาย

 

                สามารถสรุปกระบวนของอุตสาหกรรมปิโตรเลียมและการผลิตปิโตรเคมี ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ เป็น 3 ขั้นตอน ดังนี้

 

          ขั้นที่ 1 วัตถุดิบตั้งต้น (Feedstock) เป็นการนำก๊าซธรรมชาติและน้ำมันดิบที่ได้จากการสำรวจและขุดเจาะ มาผ่านกระบวนการกลั่นน้ำมันและแยกก๊าซ เพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์สำหรับใช้ในโรงงานปิโตรเคมีต่อไป ดังนั้น จะเห็นว่าธุรกิจโรงกลั่นและปิโตรเลียม นั้นมีความเชื่อมโยงกันสูงกับธุรกิจปิโตรเคมี

 

          ขั้นที่ 2 ปิโตรเคมีขั้นต้นและกลาง ผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการนำวัตถุดิบตั้งต้น เพื่อผลิตออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี 2 สายหลัก คือ “สายโอเลฟินส์” (Olefins) เป็นผลิตภัณฑ์เบาที่มีสถานะเป็นก๊าซ เช่น เอทิลีน (Ethylene) และโพรพิลีน (Propylene)  “สายอโรมาติกส์” (Aromatics) เป็นผลิตภัณฑ์หนักที่มักได้จากโรงกลั่นน้ำมัน เช่น เบนซีน (Benzene) โทลูอีน (Toluene) และไซลีน (Xylene)

 

          ขั้นที่ 3 ปิโตรเคมีปลาย เป็นผลิตภัณฑ์ที่ถูกแปรรูปและพัฒนาจนสามารถใช้เป็นวัตถุดิบอุตสาหกรรมต่าง ๆ ประกอบด้วย

 

  • น้ำมันสำเร็จรูป เช่น น้ำมันเบนซิน น้ำมันดีเซล น้ำมันเชื้อเพลิงเครื่องบิน น้ำมันหล่อลื่น และก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG)
  • เม็ดพลาสติก เช่น โพลีเอทิลีน (Polyethylene) โพลีโพรไพลีน (Polypropylene) โพลีไวนิลคลอไรด์ (PVC) อะคริโลไนไตรล์-บิวทาไดอีน-สไตรีน (ABS) โพลีเอทิลีนเทเรฟทาเลต (PET) และโพลีสไตรีน (PS)
  • เส้นใยสังเคราะห์ เช่น เส้นใยโพลีเอสเทอร์ (Polyester) เส้นใยโพลีอะไมด์ (Polyamide)
  • ยางสังเคราะห์ เช่น ยางสไตรีนบิวตาไดอีน (SBR) ยางบิวตาไดอีน (BR)
  • สารเคลือบผิวและกาว เช่นโพลีคาร์บอเนต (Polycarbonate) และโพลีไวนิลอะซีเตต (Polyvinyl-Acetate)

               

จากปิโตรเลียมสู่ผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีในชีวิตประจำวัน

 

          ปลายทางสุดท้ายของผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีชนิดต่าง ๆ จะถูกนำมาผลิตเป็นของใช้ที่พบเจอได้มากมายในชีวิตประจำวัน ทั้งผลิตภัณฑ์ที่มีพลาสติกเป็นส่วนประกอบทุกชนิด เช่น ขวดน้ำดื่ม ถุงร้อน ถาดบรรจุอาหาร ถ้วยเข้าไมโครเวฟ แปรงสีฟัน ท่อพีวีซี เครื่องใช้ไฟฟ้า หน้าจอมือถือ อุปกรณ์ทางการแพทย์ ฯลฯ

 

          นอกจากนี้ ยังมีเสื้อผ้า รองเท้า และกระเป๋าจากใยสังเคราะห์ ชิ้นส่วนยานยนต์ วัสดุก่อสร้าง ปุ๋ย ตลอดจนผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดต่าง ๆ อาทิ สบู่ ผงซักฟอก น้ำยาล้างจาน เป็นต้น เรียกได้ว่าสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ที่ใช้เป็นประจำจนเคยชิน ล้วนเกี่ยวข้องกับธุรกิจปิโตรเคมี และสร้างประโยชน์ให้แก่ระบบเศรษฐกิจได้อย่างมหาศาล

SET-หุ้นปิโตรเคมี-revised-1

หุ้นปิโตรเลียมและปิโตรเคมีในตลาดหุ้นไทย

 

          ทั่วไปแล้วผู้ประกอบธุรกิจปิโตรเลียมและปิโตรเคมีจะมีรูปแบบการลงทุนที่เชื่อมโยงกันในแต่ละขั้นตอนการผลิตตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ โดยลงทุนสร้างโรงงานปิโตรเคมีขนาดใหญ่ (Petrochemical complex) ทั้งในประเทศและต่างประเทศ และมักเป็นการลงทุนต่อเนื่องจากธุรกิจโรงกลั่น ด้วยการผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม ได้แก่ น้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติ มาเป็นวัตถุดิบตั้งต้นในการผลิตเป็นปิโตรเคมีขั้นสุดท้ายเพื่อเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ ทำให้ธุรกิจมีความครบวงจร สามารถผลิตผลิตภัณฑ์ได้หลากหลาย และได้เปรียบทางการแข่งขัน เพราะมี Economies of scale

 

          ส่วนอีกกลุ่มจะเน้นไปที่ผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีขั้นกลางและขั้นปลาย หรือธุรกิจต่อเนื่องกับอุตสาหกรรมที่ใช้ผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีเป็นวัตถุดิบ อาทิ บรรจุภัณฑ์ เวชภัณฑ์ วัสดุก่อสร้าง ชิ้นส่วนยานยนต์ และสินค้าอุปโภคบริโภค และเกษตรอุตสาหกรรม เป็นต้น นอกจากนี้ ยังรวมไปถึงกลุ่มธุรกิจพลังงานเชื้อเพลิงทางเลือกจากพืช เช่น ไบโอดีเซล และเอทานอล ซึ่งถูกนำมาใช้ทดแทนเชื้อเพลิงจากปิโตรเลียม เพราะสามารถผลิตได้จากทรัพยากรหมุนเวียนจากธรรมชาติ

 

          ทำให้เราสามารถแบ่งหุ้นปิโตรเลียมและปิโตรเคมี ออกเป็น 5 กลุ่มหลัก ดังนี้

 

  1. หุ้นกลุ่มวัตถุดิบตั้งต้น (Feedstock) ได้แก่ PTTEP
  2. หุ้นกลุ่มโรงกลั่น (Refinery) ได้แก่ PTT, TOP, IRPC, SPRC, ESSO, BCP และ PTTGC
  3. หุ้นกลุ่มผลิตภัณฑ์ขั้นต้นและขั้นกลาง ได้แก่ PTTGC, IVL และ SCC*
  4. หุ้นกลุ่มผลิตภัณฑ์ขั้นปลาย
    4.1)ผู้จำหน่ายน้ำมันและก๊าซ ได้แก่ OR, PTG, SUSCO, ESSO, BCP, SGP, SKE, SCN, WP, RPC, BAFS และ 7UP
    4.2)ผู้จำหน่ายผลิตภัณฑ์อื่น ๆ เช่น เม็ดพลาสติก เส้นใย ยาง สารเคมี เป็นต้น ได้แก่ PTTGC, IVL และ SCC*
    *กลุ่มธุรกิจเคมิคอลส์เป็น 1 ใน core business ของ SCC โดยปี 64 สัดส่วนรายได้ของกลุ่มธุรกิจเคมิคอลส์คิดเป็น 44.23%
  1. หุ้นกลุ่ม Supportive Industry เชื้อเพลิงทางเลือกจากพืชสำหรับใช้ทดแทนปิโตรเลียม

        ไบโอดีเซล (Biodiesel) ได้แก่ BBGI, AIE และ GGC

        เอทานอล (Ethanal) : เพื่อทำ Gasohol ได้แก่ TAE และ UBE

SET-หุ้นปิโตรเคมี-revised-3

วิเคราะห์หุ้นปิโตรเลียมและปิโตรเคมี ต้องรู้อะไรบ้าง

1.สภาวะเศรษฐกิจ

ตลาดปิโตรเลียมและปิโตรเคมีถือว่ามีความสัมพันธ์ที่สูงมากกับสภาวะเศรษฐกิจ เพราะความต้องการใช้และราคาผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีจะขยายตัวตามการเติบโตทางเศรษฐกิจโดยรวม ซึ่งจะเห็นว่าหากเกิดความไม่แน่นอนของสถานการณ์โลก ก็มักจะส่งผลกระทบต่อราคาหุ้นทันที

2.วัฎจักรอุตสาหกรรม

หุ้นปิโตรเลียมและปิโตรเคมีก็เหมือนกับกลุ่มพลังงานทั่วไป ที่มีลักษณะเป็นหุ้นวัฏจักร (Cyclical Stock) ราคาซื้อขายมีการขึ้นลงเป็นรอบ ๆ เพราะฉะนั้น เราต้องรู้ว่าหุ้นที่ลงทุนกำลังอยู่จุดไหน เป็นขาลงหรือขาขึ้น ซึ่งในอดีตวัฏจักรอุตสาหกรรมนี้กินเวลาประมาณ 6 - 9 ปี

3.ระดับราคาน้ำมันดิบ

ความเคลื่อนไหวของราคาน้ำมันดิบส่งผลโดยตรงต่ออัตรากำไรของธุรกิจการกลั่นและปิโตรเลียม ขณะเดียวกันยังส่งผลต่อเนื่องไปสู่ราคาผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีด้วย เนื่องจากเป็นวัตถุดิบตั้งต้นในการผลิต ดังนั้น การขึ้นลงของราคาน้ำมันย่อมส่งผลต่ออัตรากำไรของผู้ผลิต

นักลงทุนสามารถติดตามความเคลื่อนไหวราคาน้ำมันดิบ ได้ที่เว็บไซต์ Trading Economics หรือติดตามข้อมูลราคาน้ำมันขึ้นและบทวิเคราะห์สถานการณ์นํ้ามันผ่านทาง ศูนย์ข้อมูลด้านราคาน้ำมันไทยออยล์

4.อุปทานเกิดใหม่ในตลาด

จากการเพิ่มกำลังการผลิตและแผนก่อสร้างโรงงานแห่งใหม่ของคู่แข่งในตลาด ซึ่งเป็นปัจจัยกดดันราคาผลิตภัณฑ์ เพราะตลาดปิโตรเลียมและปิโตรเคมีนั้นเชื่อมโยงกันทั่วโลก อีกทั้งควรพิจารณาการตัดสินใจลงทุนโครงการต่าง ๆ ของหุ้นที่สนใจด้วย เนื่องจากมักเป็นการลงทุนขนาดใหญ่และใช้เวลาก่อสร้างนาน ซึ่งอาจมีความเสี่ยงเกิด Oversupply หากเลือกจังหวะการลงทุนผิดพลาดในช่วงที่วัฏจักรอุตสาหกรรมเป็นขาลง

5.ความสามารถในการทำกำไร (GIM) หรือ Gross Integrated Margins

ซึ่งคำนวณจากส่วนต่างระหว่างมูลค่าผลิตภัณฑ์ทั้งหมดลบด้วยต้นทุนการผลิตทั้งหมด สะท้อนถึงอัตรากำไรขั้นต้นจากการผลิตของบริษัท โดยจะแปรผันตามราคาผลิตภัณฑ์ ต้นทุนวัตถุดิบ รวมถึงอัตราการใช้กำลังการผลิตด้วย ทั้งนี้ GIM ยิ่งสูงก็ยิ่งดี

SET-หุ้นปิโตรเคมี-revised-4

          ทั้งหมดนี้ก็เป็นการสรุปเพื่อให้เห็นภาพรวมคร่าว ๆ ของหุ้นปิโตรเลียมปิโตรเคมี ซึ่งจริง ๆ แล้วมีรายละเอียดที่ค่อนข้างเยอะมากกว่านี้ โดยผู้ที่สนใจสามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้จากบทวิเคราะห์การลงทุนต่าง ๆ เพื่อให้การตัดสินใจลงทุนครบทุกมิติ และได้รับข้อมูลที่หลากหลายยิ่งขึ้น

         สุดท้ายนี้หากนักลงทุนสนใจเริ่มต้นลงทุนในหุ้นกลุ่มต่าง ๆ และต้องการข้อมูลเพื่อนำไปวิเคราะห์เชิงลึก ตลาดหลักทรัพย์ฯ นักลงทุนสามารถสมัครใช้บริการ SETSMART ได้เพียงในราคา 250 บาทต่อเดือน คลิกที่นี่

นอกจากนี้ นักลงทุนยังสามารถค้นหาข้อมูลหุ้นที่น่าสนใจแบบครบทุกมิติจากบทวิเคราะห์หลักทรัพย์ คลิกที่นี่

Disclaimer : ข้อมูลบริษัทจดทะเบียนที่ปรากฏนี้เป็นเพียงการนำเสนอข้อมูลในอีกรูปแบบหนึ่งเพื่อให้ผู้ลงทุนสามารถเข้าใจได้ง่ายขึ้นโดยการอิงกับไลฟ์สไตล์ (Lifestyle Based) หรือกระแส (Trend) ซึ่งรวบรวมมาจากข้อมูลที่เผยแพร่ผ่านช่องทางของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (“ตลาดหลักทรัพย์ฯ”) อย่างไรก็ตาม ตลาดหลักทรัพย์ฯ ไม่รับรองความถูกต้องครบถ้วน หรือความเป็นปัจจุบันของข้อมูลดังกล่าวรวมทั้งไม่ได้ให้คำแนะนำเกี่ยวกับการลงทุนใด ๆ ในหลักทรัพย์ของบริษัทจดทะเบียน และตลาดหลักทรัพย์ฯ ไม่ต้องรับผิดชอบในความเสียหายหรือสูญหายจากการนำข้อมูลที่ปรากฏนี้ไปใช้ในทุกกรณี

ปุ่ม erc
ปุ่ม setsmart
แท็กที่เกี่ยวข้อง: