ถ้าพูดถึงแผนเกษียณ ทุกคนอาจเข้าใจว่าแผนของแต่ละคนจะไม่เหมือนกันและไม่สามารถลอกกันได้ เพราะความต้องการใช้เงินและรูปแบบการใช้ชีวิตที่แตกต่างกัน ดังนั้น ในการคำนวณว่าต้องมีเงินเท่าไรจึงจะเพียงพอจึงต้องเริ่มจากการตั้งเป้าหมายให้ชัดเจนว่าจะใช้เงินหลังเกษียณเท่าไรในแต่ละเดือน ซึ่งเทคนิคหนึ่งที่ช่วยกำหนดค่าใช้จ่ายที่จะใช้หลังเกษียณให้สอดคล้องกับตัวเอง คือ คำถาม “3 อยู่”
อยู่ที่ไหน
“อยู่ที่ไหน” มีความสำคัญด้านค่าครองชีพที่แตกต่างกัน หากชอบชีวิตในเมือง ชอบความสะดวกสบาย หรืออยู่เมืองท่องเที่ยว แน่นอนว่าค่าครองชีพในเมืองแบบนี้ เช่น กรุงเทพฯ ภูเก็ต หรือเมืองที่มีแหล่งท่องเที่ยวสวยงามเป็นเป้าหมายของนักเดินทางทั่วโลก ย่อมมีค่าครองชีพต่อเดือน (ไม่รวมค่าที่พักอาศัย) สูงตามไปด้วย ในขณะที่หากเลือกใช้ชีวิตหลังเกษียณในเมืองรอง หรือชนบท เน้นธรรมชาติ มีพื้นที่ มีบริเวณปลูกผักผลไม้กินเอง ค่าครองชีพก็จะอยู่ในระดับค่อนข้างต่ำตามไปด้วย
อยู่อย่างไร
คำถามนี้ คือ ไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิต โดยก่อนเกษียณเคยใช้ชีวิตแบบไหน หลังเกษียณจะใช้ชีวิตแบบเดิมหรือไม่ เช่น ก่อนเกษียณจะเดินทางท่องเที่ยวไตรมาสละครั้ง หลังเกษียณจะลดลงเหลือปีละ 1 ครั้ง หรืองดท่องเที่ยวไปเลย หรือก่อนเกษียณทานข้าวนอกบ้านสัปดาห์ละ 1 ครั้ง หลังเกษียณจะทำอาหารรับประทานเองหรือไม่ เช่นเดียวกับคนรักสุขภาพ ก่อนเกษียณเป็นสมาชิกฟิตเนส หลังเกษียณจะยังจ่ายค่าสมาชิกฟิตเนสเหมือนเดิมหรือไม่ หรือจะเน้นออกกำลังกายตามสวนสาธารณะ เป็นต้น โดยสิ่งสำคัญที่สุดคือ คุณภาพการใช้ชีวิตจะเหมือนเดิมหรือไม่ และยังต้องการเป็นเช่นเดิมหรือไม่ เพราะสิ่งที่ตามมา คือ ค่าใช้จ่ายที่ต้องเตรียมไว้ใช้ในแต่ละเดือน
อยู่กับใคร
สังคมไทยในปัจจุบันแตกต่างจากเดิมตรงที่มีขนาดครอบครัวที่เล็กลง ด้วยเหตุผลหลากหลาย เช่น ต้องการใช้ชีวิตคนเดียว อัตราการหย่าร้างเพิ่มสูงขึ้น การมีจำนวนบุตรที่ลดลง ส่งผลให้สมาชิกในบ้านลดลงจากครอบครัวใหญ่ที่อาศัยอยู่พร้อมหน้าทั้งคุณตา คุณยาย คุณลุง คุณป้า คุณน้า คุณอา ลูกพี่ลูกน้องหลายคน แต่เมื่อเป็นสังคมเดี่ยวมากขึ้น คำถามคือ ใครจะดูแลเราตอนแก่เฒ่า เพราะหากจ้างคนดูแลจะมีค่าใช้จ่ายต่อเดือนค่อนข้างสูง เช่นเดียวกันถ้าไปอาศัยอยู่กับสถานดูแลผู้สูงวัย บ้านพักอาศัยสำหรับผู้สูงอายุ ถึงแม้จะเป็นทางเลือกที่น่าสนใจแต่ต้องเตรียมเงินก้อนใหญ่พอสมควร
“อยู่ที่ไหน อยู่อย่างไร อยู่กับใคร” จึงเป็นคำถามที่จะช่วยให้เห็นภาพการคำนวณค่าใช้จ่ายหลังเกษียณว่า ควรตั้งเป้าหมายค่าใช้จ่ายต่อเดือนประมาณเท่าไร และต้องเตรียมออมเงินมากน้อยแค่ไหน ให้พอใช้อย่างมีความสุขในวัยเกษียณ
สำหรับใครที่สนใจ เรียนรู้เทคนิคการเพิ่มเงินออม และวิธีการสะสมความมั่งคั่งในระยะยาวเพื่อเป้าหมายเกษียณ สไตล์มนุษย์เงินเดือน สามารถเรียนรู้เพิ่มเติม ผ่าน e-Learning หลักสูตร “วางแผนเกษียณ สไตล์มนุษย์เงินเดือน” ได้ฟรี!!! >> คลิกที่นี่