แนวโน้มหุ้น IPO ปีกระต่าย

โดย ฐิติเมธ โภคชัย ฝ่ายพัฒนาความรู้ผู้ลงทุน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
3 Min Read
25 มกราคม 2566
3.726k views
Inv_แนวโน้มหุ้น IPO ปีกระต่าย_Thumbnail
Highlights

ปี 2566 ประเมินว่าจะมีหุ้น IPO เข้ามาระดมทุนในตลาดหุ้นไทยอย่างคึกคัก ปัจจัยสำคัญ คือ เตรียมเงินเพื่อนำไปขยายกิจการ อีกทั้งในปี 2567 จะมีการบังคับใช้เกณฑ์ใหม่ที่บริษัทจะเข้าระดมทุนต้องนำส่งงบการเงินฉบับเต็มย้อนหลัง 3 ปี หลายบริษัทจึงต้องเร่งเข้าระดมทุน ไม่เช่นนั้นอาจต้องใช้เวลาอีกหลายปีเพื่อเตรียมความพร้อมใหม่

ย้อนกลับไปปี 2564 มีหุ้นเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ไทย (Initial Public Offering: IPO) ทั้งสิ้น 41 บริษัท แบ่งเป็นหุ้นสามัญ 38 บริษัท และกอง REITs 3 กอง มูลค่าระดมทุนรวม 98,125.09 ล้านบาท มูลค่าหลักทรัพย์ ณ ราคา IPO 454,015.71 ล้านบาท ส่วนในปี 2565 มีหุ้นเข้าระดมทุนทั้งสิ้น 42 บริษัท แบ่งเป็นหุ้นสามัญ 40 บริษัท และกอง REITs 2 กอง มูลค่าระดมทุนรวม 97,852.50 ล้านบาท มูลค่าหลักทรัพย์ ณ ราคา IPO 506,545.49 ล้านบาท

 

สำหรับปี 2566 ประเมินว่าจะมีหุ้นเข้ามาระดมทุนอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุด (ข้อมูล ณ วันที่ 17 มกราคม 2566) ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย รายงานว่ามีบริษัทได้รับอนุญาตแบบคำขอให้เสนอขายหลักทรัพย์ที่ออกใหม่แล้ว จำนวน 8 บริษัท

 

เอกจักร บัวหภักดี กรรมการผู้จัดการ บริษัท แคปปิตอล วัน พาร์ทเนอร์ จำกัด กล่าวว่า หากพิจารณาจากราคาหุ้นที่ปรับขึ้นของวันซื้อขายวันแรก พบว่าปี 2565 นักลงทุนได้รับผลตอบแทนไม่เต็มที่นัก เนื่องจากมีปัจจัยลบคอยรบกวน เช่น สงครามรัสเซียกับยูเครน อัตราเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยเป็นขาขึ้น รวมถึงความกังวลที่เศรษฐกิจจะเข้าสู่ภาวะถดถอย ส่งผลให้ตลาดหุ้นผันผวนตามไปด้วย

 

“ถึงแม้ในปี 2565 จะมีปัจจัยลบเข้ามากระทบกับบรรยากาศการลงทุนในตลาดหุ้น แต่จำนวนหุ้น IPO ที่เข้ามาระดมทุนก็มีจำนวนมากพอสมควร เพราะบริษัทที่ต้องการระดมทุนก็มองว่าเป็นจังหวะที่ดีในการเข้ามาระดมทุน ด้วยสถานการณ์ต่าง ๆ ที่เริ่มคลี่คลาย โดยเฉพาะการกลับมาเปิดประเทศของจีน ประกอบกับอัตราเงินเฟ้อก็ผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว ซึ่งบริษัทส่วนใหญ่จะเข้าระดมทุนตามแผนเดิมที่วางเอาไว้ เพียงแต่รอจังหวะเข้าซื้อขายในปี 2566 เท่านั้น โดยธุรกิจที่สนใจระดมทุน IPO ส่วนใหญ่จะอยู่ในธุรกิจที่สอดคล้องกับเมกะเทรนด์”

 

สอดคล้องกับแมนพงศ์ เสนาณรงค์ รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานผู้ออกหลักทรัพย์ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่าในปี 2566 คาดว่าจะมีหุ้น IPO เข้าระดมทุน ทั้งจำนวนบริษัทและมาร์เก็ตแคปมากกว่าปีที่ผ่านมา


นอกเหนือจากการระดมทุนเตรียมเงินเพื่อรอโอกาสลงทุนหรือต่อยอดทางธุรกิจ ปัจจัยที่บริษัทเร่งระดมทุนในปีนี้ เนื่องจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้ปรับเกณฑ์รับหลักทรัพย์ใหม่เรื่องมาตรฐานทางบัญชีที่กำหนดให้บริษัทยื่นทำงบการเงินย้อนหลังในรูปแบบกิจการที่มีส่วนได้เสียสาธารณะ (Publicly Accountable Entities: PAEs) 3 ปีย้อนหลัง (จากเดิมที่ 1 ปี) ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ต้นปี 2567 จึงทำให้บริษัทที่จัดทำงบการเงิน PAEs ไม่ถึง 3 ปี ต้องเข้าระดมทุนในปีนี้

 

จากสถานการณ์ที่บริษัทสนใจเข้าระดมทุนในตลาดหุ้นไทยอย่างต่อเนื่อง ทำให้นักลงทุนมีทางเลือกในการลงทุนเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย อย่างไรก็ตาม การลงทุนหุ้น IPO (Initial Public Offering) ไม่จำเป็นเสมอไปที่จะได้รับผลตอบแทนตามที่คาดหวังเอาไว้ โดยเฉพาะการเข้าลงทุนหุ้น IPO ในวัน 1st Trading Day แล้วถือไว้เฉย ๆ นั้นก็มีโอกาสทั้งกำไรและขาดทุน ซึ่งประเด็นนี้ อธิป กีรติพิชญ์ (นิ้วโป้ง) นักลงทุนหุ้นเน้นคุณค่า มีข้อสังเกตและข้อควรระวังในการเข้าจองหุ้น IPO หรือเข้าซื้อขายหุ้น IPO ในวันแรก ดังนี้

 

  1. อย่าจองซื้อหุ้นIPO โดยที่ยังไม่รู้อะไรเลยอย่างเด็ดขาด แม้ว่าจะเป็นการจองซื้อหุ้น IPO แต่การวิเคราะห์กิจการก่อนเข้าลงทุน ยังคงทำเหมือนการวิเคราะห์หุ้นทั่วไปทุกประการ กล่าวคือ กิจการนั้นต้องอยู่ในเมกะเทรนด์ อยู่ในอุตสาหกรรมที่เป็นขาขึ้น มีปัจจัยเชิงคุณภาพของลักษณะกิจการที่ดีและมีงบการเงินย้อนหลังที่ดูดีใช้ได้ ซึ่งอย่างน้อยควรมีรายได้และกำไรเพิ่มขึ้นย้อนหลังตลอด 3 ปีก่อนเข้าตลาดหลักทรัพย์

 

  1. ระวังราคาจองซื้อหุ้นและราคาที่เข้าซื้อในวัน1st Trading Day สมัยก่อนนักลงทุนบางท่านมักจะแซวกันขำ ๆ ว่า IPO ย่อมาจาก It's Probably Overvalue เพราะอะไร? ลองนึกถึงหลักความเป็นจริง ถ้าเราเป็นเจ้าของบริษัทจะนำบริษัทมาขายแบ่งส่วนให้คนทั่วไป ถามว่าเราอยากขายถูกหรือขายแพง แล้วบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการทำ IPO ทั้งที่ปรึกษาทางการเงินหรือบริษัทที่รับผิดชอบการนำหุ้นออกขาย อยากขายให้ได้เงินน้อยหรือมาก ซึ่งเราก็คงพอเดาได้ว่าราคาเสนอขายหุ้น IPO มักจะไม่ใช่ราคาถูก และมีหุ้นหลายตัวที่ราคาจองซื้อ IPO จัดว่าแพง และยิ่งเป็นราคา 1st Trading Day ที่ราคาหุ้นบวกเพิ่มจากแรงเก็งกำไรในวันแรก ยิ่งต้องระมัดระวังอย่างที่สุด เพราะฉะนั้นมูลค่าที่แท้จริงของกิจการยังเป็นเรื่องสำคัญ

  2. หุ้นIPO ตัวนี้เข้ามาในตลาดเพื่ออะไร จุดนี้นักลงทุนต้องพิจารณาให้ถี่ถ้วนและหาคำตอบให้ได้ เพราะบางกิจการทำธุรกิจครอบครัว ก่อร่างสร้างตัวมาจนกระทั่งเติบโตเต็มที่และเข้าสู่ช่วงอิ่มตัวแล้ว ตลาดเต็มไปด้วยการแข่งขันและความไม่แน่นอนสูงจากการ Disruption ทำไมเจ้าของถึงอยากเอากิจการเข้าตลาดหุ้นในตอนที่ภาพในอนาคตแทบไม่มีการเติบโตอีกแล้ว เอาเข้ามาเพื่อแบ่งสมบัติในครอบครัว เอาเข้ามาเพื่อสร้างความมั่งคั่งให้เจ้าของเดิม หรือกิจการอาจมีผลประกอบการขาดทุนยาวนาน และให้เหตุผลในการระดมทุนว่า “...เพื่อนำไปชำระหนี้ ลดการขาดทุนสะสม...” โดยที่ไม่ได้ฉายภาพอนาคตของการเติบโตใด ๆ เลย แบบนี้ก็ควรระมัดระวัง  

  3. จงระวังหุ้นIPO ที่มีพฤติกรรมเอาเปรียบผู้ถือหุ้นรายย่อย กรณีที่หุ้น IPO ตัวใดที่เจ้าของหรือผู้ถือหุ้นรายใหญ่ขายหนักอย่างมีนัยสำคัญตั้งแต่วันแรก หรือช่วงแรกของการเข้าตลาด (ซึ่งราคายังสูงอยู่) จะกระทบต่อความน่าเชื่อถือของหุ้นตัวนั้นอย่างมาก และในบางกรณี หุ้นบางตัวอาจมีการจ่ายเงินปันผลออกมาอย่างหนัก ก่อนจะกระจายหุ้นแบ่งให้คนอื่นมาร่วมถือหุ้นด้วย หรือ หุ้นบางตัวอาจมีการเพิ่มทุนก่อนที่ราคาจะต่ำ (เช่น ราคาพาร์) ก่อนเข้าตลาดไม่นาน เพื่อเพิ่มจำนวนหุ้นในมือของตัวเองก่อนวันขายหุ้น IPO ให้แก่ประชาชนทั่วไป

  4. จงระวังหุ้นIPO ที่เหลือจากการขาย มีโควต้ามาถึงมือรายย่อยเป็นจำนวนมากและได้มาแบบง่าย ๆ ปกติหุ้น IPO เป็นสิ่งที่คนอยากได้และมีอยู่จำกัด การที่มีโควต้าให้หุ้น IPO มาถึงมือรายย่อยทั่วไปเป็นจำนวนมากและได้มาแบบง่าย ๆ แปลตรงตัวได้ว่า การระดมทุนรอบนี้ อาจจะมีจำนวนมากเกินไป ทั้งในเชิงจำนวนหุ้น (มากไป) และราคาหุ้น (สูงไป) ไม่มีใครสนใจ นักลงทุนจึงต้องพิจารณาอย่างถี่ถ้วน

 

หมายเหตุ : บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ใช้เพื่อสำหรับศึกษาเบื้องต้นเท่านั้น มิได้มีเจตนาในการชี้นำการลงทุนแต่อย่างใด นักลงทุนควรศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมและพิจารณาให้ดีก่อนตัดสินใจลงทุน


สำหรับนักลงทุนมือใหม่และผู้ที่สนใจ เรียนรู้วิธีประเมินมูลค่าหุ้น เพื่อหาราคาที่เหมาะสมในการตัดสินใจลงทุน สามารถเรียนรู้เพิ่มเติมผ่าน e-Learning หลักสูตร “Stock Valuation : Relative Valuation” ได้ฟรี!!! >> คลิกที่นี่

แท็กที่เกี่ยวข้อง: