เงินบาทอ่อนค่า ลงทุนอย่างไร

โดย อาภาภรณ์ แสวงพรรค ผู้อำนวยการบริหาร ฝ่ายวิจัยหลักทรัพย์ บล.ดีบีเอส วิคเคอร์ส (ประเทศไทย)
3 Min Read
17 ตุลาคม 2564
28.969k views
Inv_เงินบาทอ่อนค่า ลงทุนอย่างไร_Thumbnail
Highlights

“ค่าเงินบาท” ถือเป็นปัจจัยหนึ่งที่นักลงทุนควรนำมาประเมินก่อนตัดสินใจลงทุน เพราะถ้าเงินบาทแข็งค่าหรืออ่อนค่าจะส่งผลให้กลยุทธ์การลงทุนแตกต่างกัน เนื่องจากค่าเงินบาทอาจมีผลกระทบต่อยอดขาย ต้นทุน และกำไรสุทธิของหุ้นตัวนั้น ดังนั้น ถ้าเลือกหุ้นกลุ่มที่ได้รับประโยชน์และสอดคล้องกับค่าเงินบาทในช่วงนั้น ย่อมสร้างผลตอบแทนที่ดีต่อพอร์ตลงทุนโดยรวม

กระทรวงสาธารณสุขไทย ประกาศเมื่อวันที่ 12 มกราคม 2563 ว่าพบนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาประเทศไทยติดเชื้อ COVID-19 นับว่าเป็นการพบผู้ติดเชื้อรายแรกในประเทศไทย อีกทั้งเป็นผู้ติดเชื้อรายแรกนอกประเทศจีนอีกด้วย

 

วันที่ 12 มกราคม 2563 อัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทอยู่ที่ 30.25 บาท ต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ และวันเวลาผ่านไปจนกระทั่งวันที่ 30 กันยายน 2564 อัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทอยู่ที่ 33.68 บาท ต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ นั่นหมายความว่า เงินบาท “อ่อนค่า” (ใช้เงินบาทมากขึ้นในการแลกเปลี่ยนเงินสกุลอื่นในจำนวนเท่าเดิม)

 

นับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2564 จนถึงวันที่ 30 กันยายน ที่ผ่านมา เงินบาทอ่อนค่าประมาณ 5% เมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐฯ และอ่อนค่าประมาณ 6% เมื่อเทียบกับสกุลเงินยูโร ถือเป็นการอ่อนค่ามากที่สุดในรอบ 3 ปี รวมถึงอ่อนค่าประมาณ 12% เมื่อเทียบกับสกุลเงินปอนด์อังกฤษ นับเป็นการอ่อนค่ามากที่สุดในรอบ 5 ปี

 

ปัจจัยที่ทำให้เงินบาทอ่อนค่าในช่วง COVID-19

1. เงินดอลลาร์สหรัฐฯ แข็งค่า เนื่องจากเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาฟื้นตัวอย่างชัดเจน โดยในไตรมาส 1 ปีนี้ ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศสหรัฐอเมริกา หรือ GDP เติบโตถึง 6.4% และในไตรมาส 2 ประเมินว่าจะเติบโตประมาณ 6.5%

 

ขณะที่เศรษฐกิจไทยยังต้องรอการฟื้นตัว โดยไตรมาส 1 ปีนี้ GDP ติดลบ 2.6% ส่วนไตรมาส 2 นี้ สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ประเมินว่า GDP จะเติบโตได้ถึง 7.5% แต่หากพิจารณาทั้งปี 2564 ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ค่อนข้างช้าประมาณ 0.7 – 1.2% เนื่องจากข้อจำกัดและปัจจัยเสี่ยงสำคัญ เช่น การแพร่ระบาดระลอกใหม่ของ COVID-19 ที่มีความรุนแรงและยังมีความไม่แน่นอนสูง ฐานะการเงินของภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจท่ามกลางการว่างงานที่ยังอยู่ในเกณฑ์สูงและได้รับผลกระทบเพิ่มเติมจากการระบาดระลอกใหม่ ภาคการส่งออกและการผลิตภาคอุตสาหกรรมยังมีความเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบจากการระบาดในพื้นที่การผลิต รวมทั้งปัญหาข้อจำกัดในห่วงโซ่การผลิตและโลจิสติกส์ระหว่างประเทศ และความเสี่ยงจากความผันผวนของเศรษฐกิจและการเงินโลก

 

หมายความว่า หากเศรษฐกิจประเทศไหนเติบโตได้อย่างชัดเจนและแข็งแกร่ง ค่าเงินประเทศนั้นก็จะแข็งค่าขึ้น ตรงกันข้ามหากเศรษฐกิจประเทศไหนฟื้นตัวช้าหรือยังคงอ่อนแอ ค่าเงินประเทศนั้นก็จะอ่อนค่าลง 

 

2. การขาดดุลบัญชีเดินสะพัด ปฏิเสธไม่ได้ว่าเศรษฐกิจไทยยังพึ่งพาภาคการท่องเที่ยวและบริการค่อนข้างมาก โดยภาคการท่องเที่ยวคิดเป็นประมาณ 20% ของ GDP ซึ่งตั้งแต่ COVID-19 ระบาด เริ่มเห็นสัญญาณเกินดุลบริการปรับลดลง จากปกติที่เกินดุลบริการไตรมาสละประมาณ 2 แสนล้านบาท โดยไตรมาส 1 ปี 2563 ดุลบริการเกินดุลเพียง 60,000 ล้านบาท และนับตั้งแต่ไตรมาส 2 ปี 2563 เป็นต้นมา ดุลบริการขาดดุลมาอย่างต่อเนื่อง โดยไตรมาส 2 ปี 2564 ขาดดุลบริการประมาณ 320,000 ล้านบาท

 

การขาดดุลบัญชีเดินสะพัด ก็เป็นปัจจัยทำให้เงินบาทอ่อนค่า เพราะรายได้จากต่างชาติที่มาจากภาคการท่องเที่ยวลดลงอย่างมาก โดยในเดือนพฤษภาคม ปี 2564 มีนักท่องเที่ยวเพียง 34,000 คน เมื่อเทียบกับปี 2562 ก่อน COVID-19 ระบาดที่มีนักท่องเที่ยวประมาณ 40 ล้านคน เมื่อรายได้จากการท่องเที่ยวซึ่งแต่เดิมเคยเป็นรายได้ถึง 1 ใน 10 ของประเทศ หายไปทำให้ไทยเผชิญกับการขาดดุลบัญชีเดินสะพัด ผลที่ตามมา คือ ความต้องการนำเงินสกุลต่างประเทศมาแลกเป็นเงินบาทลดลง รวมถึงเม็ดเงินลงทุนโดยตรงจากนักลงทุนต่างชาติหายไปเกือบทั้งหมด ดังนั้น เมื่อความต้องการแลกเงินบาทของสกุลเงินต่างประเทศลดลง ก็ทำให้เงินบาทอ่อนค่าลงได้เช่นกัน

 

3. อัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ในระดับต่ำ หลังจากธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา (Fed) ส่งสัญญาณว่าจะถอนนโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย หรือ QE ในระยะเวลาอันใกล้และปีหน้ามีโอกาสปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย สะท้อนถึงการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจอย่างชัดเจน ตรงกันข้ามกับอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทย ที่ประเมินว่าจะยังคงอยู่ในระดับต่ำต่อไปเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งนโยบายที่สวนทางกับตลาดโลก สะท้อนว่าเศรษฐกิจไทยยังคงต้องใช้เวลาในการฟื้นตัว จึงกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนและมีโอกาสเห็นเงินทุนไหลออก ทำให้ค่าเงินบาทผันผวนและมีแนวโน้มอ่อนค่าต่อไป

เงินบาทอ่อนค่า กระทบกับตลาดหุ้นอย่างไร

หากเม็ดเงินลงทุนในหุ้นของนักลงทุนต่างชาติไหลออก รวมถึงแรงเทขายในตลาดพันธบัตรไทยของนักลงทุนต่างชาติจะส่งผลให้เงินบาทอ่อนค่าลง เพราะการถือเงินบาทเอาไว้ทำให้นักลงทุนต่างชาติขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยน จึงขายหุ้นและตราสารหนี้เพื่อถือเงินสกุลต่างประเทศ (โดยเฉพาะเงินดอลลาร์สหรัฐฯ) ส่งผลให้เงินบาทอ่อนค่าลง

 

อย่างไรก็ตาม มีหุ้นบางกลุ่มที่ได้รับประโยชน์ในช่วงเงินบาทอ่อนค่า คือ กลุ่มส่งออก เช่น กลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า ถุงมือยาง การแพทย์ ยานยนต์และชิ้นส่วน เพราะจะได้ประโยชน์จากการแปลงรายได้จากสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ เป็นสกุลเงินบาท สังเกตได้จากธุรกิจเหล่านี้จะมีอัตรากำไรขั้นต้น (Gross Margin) เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน

 

สำหรับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเงินบาทอ่อนค่า เช่น ธุรกิจที่ต้องนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศ เพื่อนำมาผลิตสินค้าและขายภายในประเทศ แต่ต้องซื้อวัตถุดิบในรูปของสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ แต่รายได้เป็นสกุลเงินบาท ต้นทุนการผลิตสินค้าจึงเพิ่มสูงขึ้น หรือธุรกิจที่มีความจำเป็นต้องสั่งซื้อเครื่องจักรจากต่างประเทศก็ต้องจ่ายในราคาที่แพงขึ้นด้วยเช่นกัน

 

แต่มีบางกลุ่มธุรกิจที่ในช่วงเงินบาทอ่อนค่า ดูเหมือนจะได้รับผลกระทบแต่กลับไม่กระทบ ได้แก่ กลุ่มพลังงาน เพราะมีรายได้เป็นสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งดูเหมือนจะเป็นผลดี แต่ธุรกิจนี้ก็มีหนี้สินเป็นสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ด้วยเช่นกัน จึงขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนในช่วงเงินบาทอ่อนค่า เมื่อเป็นเช่นนี้ทำให้มีการชดเชยกัน หรือที่เรียกว่า Natural Hedge คือ การที่ธุรกิจบริหารรายได้ และรายจ่ายที่เป็นเงินตราต่างประเทศให้อยู่ในสกุลเดียวกัน ซึ่งจะช่วยลดผลกระทบจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนได้ เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของอัตราแลกเปลี่ยนจะส่งผลต่อทั้งรายได้และรายจ่ายในทิศทางเดียวกัน จึงสามารถชดเชยกันได้ เช่น หากเงินบาทอ่อนค่า จะทำให้ต้นทุนในรูปเงินบาทเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันรายได้ในรูปเงินบาทก็จะเพิ่มขึ้นด้วย เป็นต้น

 

วางกลยุทธ์ลงทุน

ก่อนตัดสินใจลงทุนในช่วงเงินบาทอ่อนค่า นักลงทุนต้องนำปัจจัยเรื่องค่าเงินมาประกอบการพิจารณาด้วยว่าหุ้นกลุ่มใดจะได้รับประโยชน์ หุ้นกลุ่มใดจะเสียประโยชน์ หรือไม่ได้รับผลกระทบจากค่าเงินบาทเลย เพราะปัจจัยค่าเงินมีผลกระทบต่อราคาหุ้น เช่น กระทบต่อผลประกอบการของหุ้นกลุ่มส่งออก ถ้าเงินบาทอ่อนค่าจะทำให้ Gross Margin ปรับขึ้นอย่างน่าประทับใจ ทำให้หุ้นกลุ่มนี้ถูกจับตามองจากนักลงทุนเพิ่มสูงขึ้น โดยสังเกตว่าในปีนี้หุ้นกลุ่มส่งออก เช่น กลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์และชิ้นส่วน อาหาร สามารถสร้างผลตอบแทนได้ดีกว่าตลาดโดยรวม (Outperform)

 

ดังนั้น นักลงทุนต้องเลือกหุ้นเข้าพอร์ตลงทุนให้สอดคล้องกับแนวโน้มของค่าเงินบาท โดยหากประเมินว่าเงินบาทยังคงอ่อนค่าต่อไป ต้องเพิ่มน้ำหนักการลงทุนในหุ้นกลุ่มส่งออก แต่หากประเมินว่าเงินบาทเริ่มแข็งค่าขึ้น เพราะว่าเศรษฐกิจเริ่มเห็นสัญญาณฟื้นตัว เงินลงทุนจากต่างชาติเริ่มไหลกลับเข้ามาลงทุน นักท่องเที่ยวต่างชาติเริ่มทยอยเดินทางเข้ามาท่องเที่ยว ก็ต้องลดพอร์ตลงทุนในหุ้นกลุ่มส่งออกด้วยการเพิ่มน้ำหนักหุ้นกลุ่มที่ได้รับประโยชน์จากเงินบาทแข็งค่า

 

โดยสรุป ในช่วงที่ความเสี่ยงของตลาดเพิ่มสูงขึ้น (Market Risk) ไม่ว่าจะเป็นความเสี่ยงด้านค่าเงิน อัตราดอกเบี้ย หรือความผันผวนของราคาหุ้น นักลงทุนควรใช้กลยุทธ์ Play Safe, Stay Defensive” นั่นคือ เพิ่มความระมัดระวังในการลงทุน

 

หมายเหตุ : บทความนี้เพื่อใช้สำหรับศึกษาเบื้องต้นเท่านั้น มิได้มีเจตนาในการชี้นำการลงทุนแต่อย่างใด ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนตัดสินใจลงทุน


สำหรับนักลงทุนและผู้ที่สนใจ เรียนรู้พื้นฐานการวิเคราะห์ภาพรวมเศรษฐกิจมหภาค การวิเคราะห์ GDP รวมไปถึงการใช้นโยบายการเงินและนโยบายการคลังของภาครัฐ เพื่อให้สามารถวิเคราะห์และจับทิศทางการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมที่จะได้ประโยชน์จากภาวะเศรษฐกิจนั้น ๆ ได้ และค้นหาหุ้นเด็ดในแต่ละช่วงเวลา สามารถเรียนรู้เพิ่มเติม ผ่าน e-Learning หลักสูตร Macro Analysis” ได้ฟรี!!! >> คลิกที่นี่

 

หรือสนใจเรียนรู้ภาพรวมและเครื่องมือที่ใช้ในการวิเคราะห์อุตสาหกรรม เพื่อค้นหาหุ้นดีในอุตสาหกรรมที่โดดเด่น น่าลงทุน สามารถเรียนรู้เพิ่มเติม ผ่าน e-Learning หลักสูตร Sector Analysis” ได้ฟรี!!! >> คลิกที่นี่

แท็กที่เกี่ยวข้อง: