ขณะที่สถานการณ์ COVID-19 ทั่วโลกดูดีขึ้นตามลำดับ แต่ประเด็นที่นักลงทุนต้องกังวลกันต่อไป คงหนีไม่พ้นนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา (Fed) ที่ส่งสัญญาณลดการอัดฉีดเงินเข้าระบบ หรือเรียกว่า QE Tapering ในอนาคตอันใกล้นี้ รวมถึงการดำเนินนโยบายการเงินของประเทศต่าง ๆ เริ่มสวนทางกัน
สถานการณ์แบบนี้สะท้อนได้อย่างชัดเจนว่าสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกในช่วงปี 2564 - 2565 จะมีลักษณะเป็นตัวอักษร K หรือเรียกว่า K-Shaped คือ กลุ่มประเทศที่เศรษฐกิจฟื้นตัวได้ดี กับกลุ่มประเทศที่เศรษฐกิจฟื้นตัวได้ช้าหรือยังไม่ฟื้นตัว
ความแตกต่างดังกล่าว ส่งผลให้การดำเนินนโยบายด้านเศรษฐกิจ โดยเฉพาะนโยบายการเงิน (Monetary Policy) ของประเทศต่าง ๆ สวนทางกัน (Divergence) โดยประเทศที่เศรษฐกิจฟื้นตัวหรือมีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างชัดเจน จะเริ่มส่งสัญญาณลดระดับการผ่อนคลายนโยบายการเงิน เช่น สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป เกาหลีใต้ เป็นต้น ขณะที่ประเทศที่เศรษฐกิจยังฟื้นตัวช้า ยังจำเป็นต้องใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายต่อไป เช่น อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย ไทย เป็นต้น
อย่างไรก็ดี สัญญาณที่นักลงทุนทั่วโลกจับตามองอย่างใกล้ชิดเป็นกรณีพิเศษ คือ นโยบายการเงินของ Fed ซึ่งจากการประชุมเมื่อช่วงปลายเดือนกันยายนที่ผ่านมา ได้ส่งสัญญาณลดระดับการผ่อนคลายนโยบายการเงินลง ได้แก่
1. อัตราดอกเบี้ยนโยบาย โดย Fed ส่งสัญญาณผ่านประมาณการอัตราดอกเบี้ย หรือที่เรียกว่า Fed Dot Plot ซึ่งทำโดยการสำรวจความเห็นจากคณะกรรมการบริหาร (Board Member) และผู้แทนจาก Fed แต่ละท่าน เพื่อระบุเป้าหมายอัตราดอกเบี้ยในแต่ละปี โดยล่าสุดระบุว่าจะมีการขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งแรกในปี 2565 ประมาณ 1 ครั้ง และปี 2566 ประมาณ 2 ครั้ง
2. QE Tapering โดย Fed ยังระบุเพียงว่า QE Tapering จะเกิดขึ้นภายในปี 2564 ซึ่งไม่แตกต่างกับสัญญาณที่เคยส่งมาตั้งแต่รายงานการประชุมเมื่อเดือนกรกฎาคม และการประชุมที่ Jackson Hole ปลายเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม นักลงทุนยังคงให้น้ำหนักต่อไปในเรื่อง QE Tapering ได้แก่
หาก QE Tapering เป็นหนังก็คงเป็นซีรี่ย์ยาว ดังนั้น นักลงทุนคงต้องจับตาอย่างใกล้ชิดกันต่อไป เพราะในปีนี้ Fed ยังเหลือการประชุมอีก 2 ครั้ง คือ ในวันที่ 2 - 3 พฤศจิกายน 2564 และวันที่ 15 - 16 ธันวาคม 2564 ซึ่งจะเป็นรอบที่มีการเผยแพร่ประมาณการเศรษฐกิจและแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยด้วย โดยประเด็น QE Tapering จะกลับมาสร้างความกังวลให้กับนักลงทุนและตลาดหุ้นอยู่เป็นระยะ ๆ จนกว่า Fed จะส่งสัญญาณอย่างชัดเจน
QE Tapering กับนโยบายการเงินไทย
มีคำถามตามมาว่า หาก Fed ทำ QE Tapering แล้วประเทศไทยจะดำเนินนโยบายการเงินตามหรือไม่ คำตอบคือ ไทยยังไม่ถึงเวลาลดระดับนโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย ถึงแม้เศรษฐกิจโลกจะเริ่มฟื้นตัวจนกระทั่งธนาคารกลางบางประเทศเริ่มทบทวนและลดระดับนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายแล้ว แต่ไทยยังคงต้องใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายต่อไป ผ่านการคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในระดับต่ำที่ 0.5% ซึ่งประเด็นสนับสนุนในเรื่องนี้ มีดังนี้
1. เศรษฐกิจไทยยังไม่ฟื้นตัวจากสถานการณ์ COVID-19 อย่างชัดเจน ถึงแม้ GDP ของไทยจะเห็นการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง แต่ส่วนใหญ่เป็นผลมาจากฐานที่ต่ำ และหากพิจารณาอัตราการขยายตัวเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า พบว่ามีองค์ประกอบสำคัญบางส่วนชะลอตัวลง เช่น การบริโภค และการลงทุนภาคเอกชน
ขณะที่มูลค่า GDP ของไทยในไตรมาส 2 ปี 2564 อยู่ต่ำกว่าระดับก่อนเกิด COVID-19 (ไตรมาส 4 ปี 2562) สวนทางกับบางประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา ที่มีมูลค่าของ GDP สูงกว่าช่วงก่อนเกิด COVID-19 แล้ว
และนับตั้งแต่ช่วงปลายเดือนมิถุนายนจนถึงเดือนสิงหาคมปี 2564 ที่มีการควบคุมกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่าง ๆ อย่างเข้มงวด เช่น ปิดสถานที่เสี่ยง (ร้านอาหาร ห้างสรรพสินค้า สถานบันเทิง) จำกัดเวลาการให้บริการและการขนส่ง ห้ามออกนอกเคหสถานเวลากลางคืน เป็นต้น ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจชะลอตัวลงซึ่งสอดคล้องกับดัชนีชี้นำทางเศรษฐกิจ
ถึงแม้ว่าภาครัฐจะเริ่มกลับมาผ่อนคลายกิจกรรมทางเศรษฐกิจผ่านการให้สถานที่บางแห่ง เช่น ร้านอาหาร ห้างสรรพสินค้า กลับมาเปิดให้บริการได้บ้างในเดือนกันยายน แต่การควบคุมยังค่อนข้างสูง เนื่องจากร้านอาหารเปิดได้เพียง 50 - 75% ของจำนวนที่นั่ง และยังมีมาตรการห้ามออกนอกเคหสถานเวลากลางคืนอยู่ ดังนั้น ตราบใดที่มาตรการควบคุมยังไม่ผ่อนคลายลงมากกว่านี้ อาจส่งผลให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยยังมีแนวโน้มฟื้นตัวได้ช้า
2. อัตราเงินเฟ้อไทยทรงตัวต่ำ โดยล่าสุดเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา อัตราเงินเฟ้อหดตัวครั้งแรกในรอบ 4 เดือนที่ -0.02% โดยตัวเลขที่ชะลอตัวลงบ่งชี้ว่ากำลังซื้อของคนในประเทศยังไม่ฟื้นตัว เป็นอีกเหตุผลหนึ่งให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในระดับต่ำเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจต่อไป
3. การปรับเพิ่มเพดานหนี้สาธารณะ ช่วงปลายเดือนกันยายนที่ผ่านมา ภาครัฐประกาศกรอบเพดานหนี้สาธารณะต่อ GDP เป็นไม่เกิน 70% (จากเดิมกำหนดไม่เกิน 60%) ประเด็นดังกล่าวเพิ่มโอกาสที่ภาครัฐจะมีการกู้เงินเพื่อนำมาใช้จ่ายในการกระตุ้นเศรษฐกิจมากขึ้น จึงคาดว่าธนาคารแห่งประเทศไทยจะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่ำต่อไป ซึ่งจะมีส่วนช่วยให้ต้นทุนการกู้เงินของรัฐอยู่ในระดับต่ำและเสริมให้กลไกการส่งผ่านของนโยบายการคลังสามารถทำงานได้อย่างคล่องตัว
ดังนั้น ในระยะสั้นจะยังคงเห็นการใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายต่อไปเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ส่วนหากจะมีการเปลี่ยนแปลงนโยบายดังกล่าวเมื่อใดนั้นยังขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ซึ่งต้องจับตากันอย่างใกล้ชิดต่อไป
สำหรับนักลงทุนและผู้ที่สนใจ เรียนรู้พื้นฐานการวิเคราะห์ภาพรวมเศรษฐกิจมหภาค การวิเคราะห์ GDP รวมไปถึงการใช้นโยบายการเงินและนโยบายการคลังของภาครัฐ เพื่อให้สามารถวิเคราะห์และจับทิศทางการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมที่จะได้ประโยชน์จากภาวะเศรษฐกิจนั้น ๆ ได้ และค้นหาหุ้นเด็ดในแต่ละช่วงเวลา สามารถเรียนรู้เพิ่มเติม ผ่าน e-Learning หลักสูตร “Macro Analysis” ได้ฟรี!!! >> คลิกที่นี่